การตัดสินใจช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย
การตัดสินใจช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยผู้ป่วยไม่มีโอกาสตัดสินใจด้วยตนเองด้วยการที่ญาติอนุญาตไม่ให้ทางโรงพยาบาลปั๊มหัวใจและใส่เครื่องช่วยหายใจ ด้วยเจตนาให้ผู้ป่วยจากไปอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด และทางการแพทย์เห็นว่าเป็นวิธีที่สมควรที่สุด จึงอยากเรียนถามว่าในทางธรรมพิจารณาอย่างไรคะ ถือว่าผิดศีลข้อที่ ๑ หรือไม่ เนื่องจากทราบว่าถ้าผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือก็จะยังมีชีวิตอยู่ได้สักระยะหนึ่งถึงแม้จะไม่นานก็ตาม
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
บาปไม่บาป หรือจะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ ดังนั้น หากมีเจตนาให้ผู้เป็นแม่จากไปอย่างสบาย ก็คือพูดง่ายๆ คือให้สิ้นชีวิตนั่นเอง จะได้ไม่ทุกข์ทรมาน โดยให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ ขณะนั้นมีเจตนาฆ่า แม้จะมีความหวังดี ดังนั้น ขณะที่มีความหวังดี เป็นจิตขณะหนึ่ง แต่ขณะที่เจตนาให้ผู้เป็นแม่จากไป คือเจตนาให้สิ้นชีวิต โดยการให้ถอดเครื่องหายใจ ก็เป็นอีกขณะหนึ่งครับ ดังนั้นเมื่อมีเจตนาฆ่าและผู้เป็นมารดา บิดา ตายเพราะการถอดเครื่องช่วยหายใจ กรรมนั้นเป็นอนันตริยกรรมครับ
ดังนั้นจึงสำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญ และแม้ผู้เป็นลูกได้ถามถึงความประสงค์ถึงคนไข้ว่าต้องการให้ถอดเครื่องช่วยหายใจไหม แม้คนไข้จะบอกว่าให้ถอด ก็ต้องดูเจตนาของผู้เป็นลูกว่า มีเจตนาให้แม่จากไป มีเจตนาฆ่าเมื่อบอกกับคุณหมอหรือไม่ด้วยครับ ดังนั้น เรื่องของจิตที่เกิดดับรวดเร็วละเอียดมากครับ และโดยทั่วไปแล้ว การที่อยากให้ผู้เป็นบิดา มารดา ไม่ทรมาน จากไปอย่างสบายโดยมากแล้วก็มีเจตนาที่จะให้เขาจากไป คือสิ้นชีวิตนั่นเองครับ ดังเช่น เมื่อสัตว์เลี้ยงทรมาน หรือ ม้าบาดเจ็บมาก เมื่อสงสารม้า สัตว์เลี้ยง ก็ฆ่ามันเพื่อจะได้สบาย แม้การถอดเครื่องช่วยหายใจ รู้อยู่ว่าการถอดจะทำให้ผู้นั้นต้องตายและก็มีความประสงค์เจตนาให้เขาจากไปก็เป็นเจตนาฆ่า เมื่อกรรมสำเร็จ คือ มารดาหรือบิดาสิ้นชีวิตเพราะการถอดเครื่องช่วยหายใจก็เป็นอนันตริยกรรมครับ ดังนั้น ความสงสารจิตขณะหนึ่ง เจตนาให้จากไป ก็จิตขณะหนึ่งครับ สำคัญที่เจตนาเป็นสำคัญครับ
บางครั้งเรามองเหตุการณ์สั้นๆ เห็นว่าเขาทรมาน แต่ในภพภูมิต่างๆ นั้น มีภพภูมิที่น่ากลัวและทรมานมากกว่านี้หลายร้อยหลายแสนเท่าครับ ดังนั้น ความทรมานในโลกมนุษย์เทียบไม่ได้กับอบายภูมิ มี นรก เป็นต้นเลยครับ ดังเช่น ในพระไตรปิฎก มีคนๆ หนึ่งอยากให้คนนั้นมีชีวิตอยู่แม้รู้ว่าเขาทรมานตอนนี้เพราะเขารู้ว่าคนนั้นจะต้องไปนรก ซึ่งมีความทรมานมากกว่าปัจจุบันหาประมาณมิได้นั่นเองครับ
เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ
แพทย์ตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยหายใจคนป่วยเป็นปาณาติบาตหรือไม่ครับ
เกี่ยวกับเรื่องกายรุณยฆาต (Euthanacia)
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องที่ระวังยากจริงๆ และ เป็นอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ด้วย อกุศลเกิดขึ้นมากกว่ากุศล แต่ละคนที่เกิดมา ล้วนต้องการที่จะมีชีวิตอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้สะสมความดี เกิดกุศลจิตได้ ถ้าจะปลอดภัย ไม่นำมาซึ่งความเดือดร้อนใจในภายหลังอันเนื่องมาจากการกระทำกรรมหนักอย่างใหญ่หลวงนั้น ก็จะต้องดูแลช่วยเหลือให้ถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือ บิดามารดา ก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วสำหรับมารดาบิดา ผู้ที่เป็นบุตรธิดาควรกระทำหน้าที่ของบุตรธิดาให้ดีที่สุด รักษาให้ถึงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พระคุณที่ท่านมีต่อลูกนั้น มีมากมาย ควรดูแลตอบแทนท่านให้ถึงที่สุด เหมือนอย่างที่ท่านเลี้ยงเรามา ลูกจะเจ็บป่วยอย่างไร ท่านก็จะทำทุกวิถีทาง รักษาทุกทางเพื่อให้ลูกหายป่วย และมีชีวิตรอดต่อไป ควรอย่างยิ่งที่จะคิดถึงตรงนี้ด้วย เพราะถ้ามีความประสงค์จะให้ตาย ด้วยการกระทำต่างๆ เช่น ไม่ปั๊มหัวใจ ให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น ก็เป็นการกระทำอกุศลกรรมที่หนัก คือ เป็นอนันตริยกรรม แต่ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่มารดาบิดา ก็ไม่ใช่อนันตริยกรรม แต่ผิดศีลข้อที่ ๑ เป็นเหตุที่ไม่ดี ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่านเป็นอย่างยิ่ง ครับ.
จิตเกิด ดับ สลับกันอย่างรวดเร็ว ยากอย่างนี้นี่เอง สมัยครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์ไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะสอนสัตว์โลก เพราะสัตว์สะสมกิเลสมามากยิ่ง
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม ค่ะ