สิกขา ๓ และ สมาบัติ ๘
รบกวนเรียนถาม จาก [เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ หน้าที่ ๖๓๗ - ๖๓๘ ข้อความว่า ...ผู้ไม่ยังสิกขา ๓ ให้บริบูรณ์ เป็นผู้ชื่อว่าไม่มีความเคารพในสิกขา ผู้ไม่ยังสมาบัติ ๘ ให้เกิด หรือไม่ทำความเพียร เพื่อให้เกิดสมาบัติเหล่านั้น ชื่อว่าไม่เคารพในสมาธิ... สิกขา ๓ และ สมาบัติ ๘ หมายความว่าอย่างไรคะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สิกขา 3 (ไตรสิกขา) คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ศีล มีหลายอย่าง หลายระดับ ทั้งศีลที่เรามักเข้าใจกันทั่วไป คือ การงดเว้นจากการทำบาป ทางกาย วาจา เป็นต้น แต่มีศีลที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ที่เป็นศีล ที่เรียกว่า อธิศีล อันเป็นศีลที่เกิดพร้อมกับสมาธิและปัญญา
สมาธิ โดยทั่วไป ก็เข้าใจกันว่า คือ การนั่งสมาธิ ให้สงบ แต่ในทางพระพุทธศาสนา จะใช้คำว่า อธิจิตสิกขา หรือ บางครั้งใช้คำว่า สัมมาสมาธิ ที่มุ่งหมายถึง การเจริญสมถภาวนา และ สมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาในปัญญาขั้นวิปัสสนา
ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ก็มีหลายระดับ แต่ คือ ความเห็นถูก เช่น เชื่อกรรม และผลของกรรม ปัญญาขั้นการฟัง การศึกษา ปัญญาขั้นสมถภาวนา และปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา
เมื่อพูดถึงหนทางการดับกิเลส จะใช้คำว่า การอบรม ไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา ดังนั้น ศีลโดยทั่วไป ที่งดเว้นจากบาป ศาสนาอื่นๆ ก็มี ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส ไม่ใช่อธิศีลสิกขา สมาธิ ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน แม้ก่อนพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น ก็มีการเจริญสมถภาวนา แต่สมาธินั้นไม่ใช่ อธิจิตสิกขา ส่วนปัญญา ที่จะเป็นไตรสิกขา อันเป็นหนทางการดับกิเลส ก็จะต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนาครับ ดังนั้น เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว ไม่ได้หมายความว่า การจะเจริญหนทางการดับกิเลส ที่เรียกว่าไตรสิกขา จะต้องรักษาศีลก่อน แล้วค่อยอบรมสมาธิ และจึงจะไปเจริญวิปัสสนาที่เป็นปัญญาได้ครับ ต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า จิตเมื่อเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง แม้ขณะที่เป็นสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง ขณะที่ สติปัฏฐาน เกิด ขณะนั้นมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ทั้ง 2 นี้ เป็นอธิปัญญา และมี สัมมาวิริยะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นอธิจิต หรือ สมาธิ) และมีเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับ สติปัฏฐาน ที่เป็นองค์ของสมาธิ ด้วย และมีศีลด้วย ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ อินทรียสังวรศีล ศีลที่เป็นการสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในขณะนั้น ครับ เป็นอธิศีล หรือ สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นอธิศีล ก็เกิดพร้อมกับสมาธิและปัญญาในขณะที่อริยมรรคเกิด
ดังนั้น มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดพร้อมกันในการอบรมเจริญวิปัสสนา ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด และ ขณะมรรคจิตเกิด พร้อมกันครับ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของธรรมและความละเอียดลึกซึ้งของหนทางการดับกิเลส ครับ
สมาบัติ 8 อฏฺฐ (แปด) + สํ (พร้อม) + อาปตฺติ (การต้อง , การถึงทั่ว)
การถึงทั่วพร้อม , การเข้าฌาน ๘ อย่าง หมายถึง รูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔
โดยนัยของพระสูตร ทรงแสดงรูปฌานว่ามี ๔ (จตุกนัย) ตามอัธยาศัยของบุคคลผู้บรรลุเร็ว คือ ...
ฌานที่ ๑ มีองค์ฌาน ๕ องค์
ฌานที่ ๒ ละองค์ฌาน ๒ องค์ คือ วิตกและวิจาร เหลือองค์ฌาน ๓
ฌานที่ ๓ ละปีติ เหลือองค์ฌาน ๒ คือ สุขกับเอกัคคตา
ฌานที่ ๔ ละสุข เหลือองค์ฌาน ๒ คืออุเบกขากับเอกัคคตา
อรูปฌาน 4 คือ ปัญจมฌานที่ไม่มีรูปเป็นอารมณ์ ผู้ที่จะเจริญอรูปฌานได้นั้น ต้องบรรลุรูปปัญจมฌานก่อน เมื่อเห็นโทษของรูปปัญจมฌานว่าถึงแม้จะเป็นรูปฌานขั้นสูงสุด คือขั้นรูปปัญจมฌานก็จริง แต่เมื่อยังมีรูปเป็นอารมณ์อยู่ ก็ยังใกล้ชิด หวั่นไหวต่อการที่จะน้อมไปสู่รูปที่เป็นกามอารมณ์ได้ง่าย ควรที่จะเพิกรูปที่เป็นอารมณ์ แล้วน้อมจิตไปสู่อารมณ์ที่ไม่ใช่รูป ซึ่งสงบประณีตกว่ารูป เมื่อเพิกรูปและระลึกถึงความไม่มีที่สุดของอรูปเป็นอารมณ์ จนอัปนาสมาธิเกิด ก็เป็นอรูปฌานกุศลโดยวิถีจิตเกิดดับสืบต่อกันทางมโนทวารเช่นเดียวกับฌานวิถี และต้องประกอบด้วยวสี ๕ จึงจะบรรลุถึงอรูปฌานขั้นสูงขึ้นๆ ได้
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ ครับ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยตลอด ทุกคำเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์ให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่พ้นไปจากคุณความดีในพระพุทธศาสนา ที่เป็นไปเพื่อการข้ดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด ซึ่งก็คือไตรสิกขา (สิกขา ๓) หรือมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ไม่พ้นไปจากหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเลย แต่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ดำเนินตามหนทางอันประเสริฐ คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา ประโยชน์ย่อมเกิดมีแก่ผู้นั้นตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงสามารถดับกิเลสได้ ตามลำดับ
การศึกษาอบรมเจริญปัญญา ควรเป็นไปตามลำดับ ที่ขาดไม่ได้เลยนั้น คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ
การถึงพร้อมด้วยฌานขั้นต่างๆ นั้น ที่เป็นรูปฌาน และอรูปฌาน ซึ่งเป็นความสงบของจิตตามระดับขั้นของฌานขั้นนั้นๆ เป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ คือ ขณะนี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ มีสภาพธรรม คือ จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นเป็นไป ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมเหล่านี้ตามความเป็นจริง เพราะจิต เจตสิก และรูป ไม่ได้อยู่ในตำรา แต่มีจริงทุกขณะ ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษา สะสมปัญญาไปตามลำดับ ธรรม เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่ตั้งใจศึกษา เพื่อความเข้าใจจริงๆ เพราะสิ่งที่สามารถรู้ได้ สามารถเข้าใจได้ ก็คือสภาพธรรมที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้นั่นเอง ครับ
ขอเชิญเปิดอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...