ปัญญาสูตร - ๑๔-o๓-๒๕๕๘

 
มศพ.
วันที่  8 มี.ค. 2558
หมายเลข  26284
อ่าน  1,131

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ

ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๘

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

ปัญญาสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้าที่ ๒๙๘

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ หน้าที่ ๒๙๘

๒. ปัญญาสูตร

[๙๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งปัญญา ที่ได้แล้วแล้ว ๘ ประการเป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรม วินัยนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ...ฯลฯ... เพื่อ ความบริบูรณ์แห่งปัญญาได้แล้ว.

เธออาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้านั้นแล้ว เธอเข้าไปหา แล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ข้าแต่ท่านเจริญ ภาษิตนี้ เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลาย ประการแก่เธอ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๒ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอฟังธรรมนี้แล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความ สงบกายและความสงบจิตให้ถึงพร้อม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็น เหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๓ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอเป็นผู้มีศีล สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วย อาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัยข้อที่ ๔ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อความ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

เธอเป็นพหูสูต ทรงจำสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ซึ่งธรรม ทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศ พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๕ ย่อมเป็นไปเพื่อ ได้ปัญญา ...ฯลฯ... เพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เธอย่อมปรารภความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความ พร้อมมูลแห่งกุศลธรรม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัย ข้อที่ ๖ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ...ฯลฯ... เพื่อความบริบูรณ์แห่ง ปัญญาที่ได้แล้ว.

อนึ่ง เธอเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องต่างๆ ไม่พูดเรื่อง ไม่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมเองบ้าง ย่อมเชื้อเชิญผู้อื่นให้แสดง บ้าง ย่อมไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๗ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา ฯลฯ เพื่อ ความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

อนึ่ง เธอพิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมใน อุปาทานขันธ์ ๕ ว่า รูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นดังนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดังนี้ เวทนาเป็นดังนี้... สัญญาเป็นดังนี้... สังขารทั้งหลายเป็นดังนี้... วิญญาณเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นแห่ง วิญญาณเป็นดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ดูกร ภิกษุ ทั้งหลาย นี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยข้อที่ ๘ ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญา อันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่าน ผู้มีอายุนี้ อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อม รู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็น ไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญ สมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน.

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุนี้อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า ท่านได้เข้าไปหาแล้ว ไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราวว่า ท่านผู้เจริญ ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้นย่อมเปิดเผยข้อที่ ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้แจ้งข้อที่ยังไม่ทำให้แจ้ง และย่อมบรรเทา ความสงสัยในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายประการ แก่ภิกษุนั้น ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน.

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ได้ฟังธรรมแล้ว ย่อมยังความสงบ ๒ อย่าง คือ ความสงบกายและความสงบจิตให้ถึงพร้อม ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้ สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ ก็เป็น ไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้น อย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นผู้มีศีล ... สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน.

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ เป็นพหูสูต ... แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ท่านผู้มีอายุ ผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรม ข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน. อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ปรารภความเพียร ... ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรม ทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน.

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้เข้าประชุมสงฆ์ ... ไม่ดูหมิ่นความนิ่งอย่างพระ- อริยเจ้า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็น เป็นแน่แท้ แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อความรัก ... เพื่อความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน.

อนึ่ง เพื่อนพรหมจรรย์ย่อมสรรเสริญภิกษุรูปนั้นอย่างนี้ว่า ท่านผู้มีอายุผู้นี้ ย่อมพิจารณาเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ ๕ ... ความดับแห่งวิญญาณเป็นดังนี้ ท่านผู้มีอายุ ผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ แม้ธรรม ข้อนี้ก็ย่อมเป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการนี้แล ย่อมเป็นไป เพื่อได้ปัญญาอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ที่ยังไม่ได้ เพื่อความ งอกงาม ไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว.

จบ ปัญญาสูตรที่ ๒


อรรถกถาปัญญาสูตร ที่ ๒

ปัญญาสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อาทิพฺรหฺมจริยากาย แปลว่า อันเป็นเบื้องต้นแห่งมรรคพรหมจรรย์.

บทว่า ปญฺญาย ได้แก่ วิปัสสนา ปัญญาอันเห็นแจ้ง.

บทว่า ครุฏฺฐานิยํ แปลว่า ผู้ควรแก่ความเป็นครูอันเป็นปัจจัยให้เกิดความเคารพ.

บทว่า ติพฺพํ แปลว่า หนา.

บทว่า ปริปุจฺฉิ ได้แก่ ถามถึงเงื่อนเบื้องต้นเบื้องปลายแห่งอรรถะบาลี.

บทว่า ปริปญฺหติ ได้แก่ ตั้งปัญหา คือ นึกว่าเราจักถามข้อนี้และข้อนี้.

บทว่า ทฺวเยน แปลว่า ๒ อย่าง.

บทว่า อนานากถิโก คือ เป็นผู้ไม่กล่าวเรื่องต่างๆ

บทว่า อติรจฺฉานกถิโก คือ ไม่กล่าวดิรัจฉานกถามีอย่างต่างๆ

บทว่า อริยํ วา ตุณฺหีภาวํ ความว่า จตุตถฌาน ชื่อว่า อริยดุษณีภาพ แม้มนสิการกรรมฐานที่เหลือก็ใช้ได้.

บทว่า ชานํ ชานาติ แปลว่า รู้สิ่งที่ควรรู้.

บทว่า ปสฺสํ ปสฺสติ แปลว่า เห็นสิ่งที่ควรเห็น.

บทว่า ปิยตาย แปลว่า เพื่อต้องการให้เขารัก.

บทว่า ครุตาย แปลว่า เพื่อต้องการให้เขาเคารพ.

บทว่า ภาวนาย แปลว่า เพื่อประโยชน์ให้เขาชม หรือเพื่อให้เขายกย่องคุณ.

บทว่า สามญฺญาย คือ เพื่อประโยชน์แก่สมณธรรม.

บทว่า เอกีภาวาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความไม่ห่างเหินกัน

จบ อรรถกถาปัญญาสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 8 มี.ค. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปัญญาสูตร

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงเหตุ ๘ ประการ ที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญาอัน เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ (ความประพฤติที่ประเสริฐ) ที่ยังไม่ได้ เพื่อความ งอกงามไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์ แห่งปัญญาที่ได้แล้ว ดังนี้ คือ

๑. อาศัยพระศาสดาหรือเพื่อนพรหมจรรย์ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู

๒. เข้าไปสอบถามเกี่ยวกับพระธรรมคำสอน

๓. ฟังพระธรรมแล้ว มีความสงบ

๔. เป็นพหูสูต

๕. มีศีล สำรวมในพระปาติโมกข์

๖. ปรารภความเพียรเพื่อละอกุศล เจริญกุศล

๗. เข้าสู่ที่ประชุมแล้ว ไม่พูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

๘. รู้ความเกิดและความดับในอุปาทานขันธ์ ๕

เพื่อนพรหมจรรย์ (ผู้ประพฤติประเสริฐร่วมกัน) ได้สรรเสริญพระภิกษุ ผู้ได้เข้าไปอาศัยพระศาสดา เป็นต้น ว่า ผู้นี้ ย่อมรู้สิ่งที่ควรรู้ ย่อมเห็นสิ่งที่ควรเห็นเป็นแน่แท้ ก็ย่อมจะเป็นไปเพื่อความรัก ความเคารพ ความสรรเสริญ เพื่อการบำเพ็ญสมณธรรม เพื่อความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ขอเชิญเปิดอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

อาศัยพระศาสดา

อยู่โดยอาศัยพระผู้มีพระภาค

ต้องอาศัยการฟังเป็นพหูสูต

ศีล

การทำความเพียรในพระพุทธศาสนา เพื่อการบรรลุธรรม

ได้ยินแล้วคิด_1

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
orawan.c
วันที่ 9 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 9 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
j.jim
วันที่ 9 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 12 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
หลานตาจอน
วันที่ 13 มี.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ