ปุญญกิริยาวัตถุสูตร - ทำบุญ ๓ ประการ - ๑๑-o๔-๒๕๕๘

 
มศพ.
วันที่  5 เม.ย. 2558
หมายเลข  26423
อ่าน  2,067

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ

สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๘

เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.

ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

...จาก...

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๘๖

...นำสนทนาโดย...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๘๖

ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

(ว่าด้วยเรื่องทำบุญ ๓ ประการ)

[๒๓๘] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้ ๓ ประการ เป็นไฉน? คือ ทานมัยบุญกิริยาวัตถุ (บุญกิิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน) ๑ ศีลมัยบุญญกิิริยาวัตถุ (บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล) ๑ ภาวนามัย บุญกิริยาวัตถุ (บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา) ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการนี้แล.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษา บุญนั่นแล อันให้ผลเลิศต่อไป ซึ่งมีสุข เป็นกำไร คือ

เจริญทาน ๑

ความประพฤติเสมอ ๑

เมตตาจิต ๑

บัณฑิต ครั้นเจริญธรรม ๓ ประการอันเป็นเหตุให้ เกิดความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลก อันไม่มีความเบียดเบียน

เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล.

จบ ปุญญกิริยาวัตถุสูตรที่ ๑

อรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตร (นำมาเพียงบางส่วน)

บทว่า ปุญฺญกิริยาวตฺถูนิ ความว่า กุศลทั้งหลาย ที่ให้เกิดผลในภพ ที่ควรบูชา หรือ ชำระสันดานของตน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าบุญ บุญเหล่านั้น ด้วย ชื่อว่า เป็นกิริยา เพราะต้องทำด้วยเหตุด้วยปัจจัยทั้งหลายด้วย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า บุญกิริยา. และ บุญกิริยานั่นเอง ชื่อว่าบุญกิริยาวัตถุ เพราะความเป็นที่ตั้งแห่งอานิสงส์นั้นๆ .

บทว่า ทานมยํ ได้แก่ เจตนาเป็นเครื่องบริจาคไทยธรรมของตน แก่ผู้อื่น ด้วยสามารถแห่งการอนุเคราะห์ หรือด้วยสามารถแห่งการบูชาของผู้ที่ ตัดราก คือ ภพยังไม่ขาด ชื่อว่า ทาน เพราะเป็นเหตุให้เขาให้ ทานนั่นเองชื่อว่า ทานมัย.

บทว่า สีลมยํ ได้แก่ เจตนาที่เป็นไปแล้ว แก่บุคคลผู้สมาทาน ศีล ๕ ศีล ๘ หรือศีล ๑๐ ด้วยสามารถแห่งการกำหนดให้เป็นนิจศีล และอุโบสถศีลเป็นต้น (หรือ) ผู้ที่คิดว่า เราจะบวชเพื่อบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ แล้วไปวิหาร บวช เจตนานั้น จึงชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล

อนึ่ง เจตนาของภิกษุผู้พิจารณาเห็นแจ้งซึ่ง จักษุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มนะ โดยไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาด้วยวิปัสสนามรรค ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ ที่สำเร็จด้วยภาวนา

อีกอย่างหนึ่ง ในเวลาที่ผู้ให้ข้าวเป็นต้นให้ (ทาน) โดยคิดว่า เราจะให้ข้าวและ น้ำเป็นต้นก็ดี โดยระลึกถึงทานบารมีก็ดี บุญกิริยาวัตถุเป็นทานมัย. เมื่อให้ทาน โดยดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติ บุญกิริยาวัตถุเป็นสีลมัย. เมื่อให้ (ทาน) โดยเริ่ม ตั้งการพิจารณา (นามรูป) โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไปโดยกรรม บุญกิริยาวัตถุ เป็นภาวนามัย. บุญกิริยาวัตถุ อย่างอื่นอีก ๗ คือ บุญกิริยาวัตถุ ที่สหรคต (ประกอบ) ด้วยความยำเกรง (อ่อนน้อม) ๑ ที่สหรคตด้วยการขวนขวาย ๑ การเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ ๑ การพลอยอนุโมทนา ๑ สำเร็จด้วยการแสดงธรรม ๑ สำเร็จด้วยการฟังธรรม ๑ ความเห็นตรง ๑. ก็แม้การถึงพระรัตนตรัย ว่าเป็นสรณะ ย่อมสงเคราะห์เข้าด้วยการทำความเห็นให้ตรงนั่นเอง ... บรรดาบุญกิริยาวัตถุ ๗ อย่างนั้น บุญกิริยาวัตถุที่สำเร็จด้วยความอ่อนน้อม พึงทราบด้วยสามารถแห่ง การเห็นภิกษุผู้อาวุโสกว่า แล้วต้อนรับรับบาตร และจีวร กราบไหว้ และหลีก ทางให้เป็นต้น.

บุญกิริยาวัตถุที่สหรคตด้วยความขวนขวาย พึงทราบด้วยสามารถแห่ง การทำวัตรปฏิบัติ แก่ภิกษุผู้มีอาวุโสกว่า ด้วยสามารถแห่งการที่เห็นภิกษุ เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาต รับบาตร (ของท่าน) แล้ว บรรจุภิกษาแม้ในบ้านให้ เรียบร้อย นำเข้าไปถวาย และด้วยสามารถแห่งการรีบนำเอาบาตรมาให้

เป็นต้นโดยที่ได้ยิน (คำสั่ง) ว่าจงไปนำเอาบาตรของภิกษุทั้งหลายมา ดังนี้. บุญกิริยาวัตถุ คือ การพลอยอนุโมทนา (บุญ) ก็อย่างนั้น พึงทราบ ด้วยสามารถแห่งการอนุโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้แล้ว หรือบุญที่ผู้อื่นทำแล้ว ทั้งสิ้นว่า สาธุ (ดีแล้ว) . ข้อที่ภิกษุไม่ปรารถนาความช่ำชองในธรรมเพื่อ ตนแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ด้วยอัธยาศัยที่เต็มไปด้วยความเกื้อกูล นี้ชื่อว่า บุญกิริยาวัตถุ สำเร็จด้วยการแสดงธรรม. แต่ว่าการที่ภิกษุรูปหนึ่งตั้งความ ปรารถนาไว้ว่า ชนทั้งหลายจักรู้ว่า เราเป็นธรรมกถึกด้วยวิธีอย่างนี้ แล้ว อาศัยลาภสักการะและการยกย่องแสดงธรรมไม่มีผลมากเลย. การที่คนฟังธรรม ด้วยจิตอ่อนโยน มุ่งแผ่ประโยชน์เกื้อกูล มีโยนิโสมนสิการไปว่า นี้เป็นอุบายให้ ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น แน่นอน นี้เป็นบุญกิริยาวัตถุที่ สำเร็จด้วยการฟังธรรม. แต่การที่คนๆ หนึ่ง ฟังธรรมด้วยคิดว่า ชนทั้งหลาย จักรู้จักเราว่า เป็นผู้มีศรัทธาด้วยวิธีนี้ ไม่มีผลมากเลย. การที่ทิฏฐิดำเนิน ไปตรงชื่อว่าความเห็นตรง (ทิฏฐิชุกรรม) คำว่าทิฏฺฐุชุคตํ นี้ เป็นชื่อของสัมมา ทัสสนะอันเป็นไปแล้วโดยนัยมีอาทิว่า ทานที่ให้แล้วมีผล. บรรดาบุญกิริยา วัตถุทั้ง ๗ อย่างนั้นความอ่อนน้อม (อปจายนมัย) ความขวนขวาย (เวยยาวัจจมัย) สงเคราะห์เข้าในสีลมัย การเพิ่มให้ซึ่งส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) และการพลอย อนุโมทนาส่วนบุญ (อนุโมทนามัย) สงเคราะห์เข้าในทานมัย. การแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) และการฟังธรรม (ธัมมัส สวนนัย) สงเคราะห์เข้าในภาวนามัย. (ส่วน) ความเห็นตรง (ทิฏฐิชุกรรม) สงเคราะห์เข้าในบุญกิริยาวัตถุทั้ง ๓ อย่าง. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุญกิริยาวัตถุ เหล่านั้น มี ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน? คือบุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยทาน บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยศีล บุญกิริยาวัตถุสำเร็จด้วยภาวนา ดังนี้.

จบ อรรถกถาปุญญกิริยาวัตถุสูตร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 5 เม.ย. 2558

ขอนบอน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปุญญกิริยาวัตถุสูตร

(ว่าด้วยเรื่องทำบุญ ๓ ประการ)

พระผูู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการได้แก่ บุญที่สำเร็จด้วยการให้ทาน บุญที่สำเร็จด้วยศีล และบุญที่สำเร็จด้วยภาวนา

ในอรรถกถาได้อธิบายถึงความละเอียดของบุญกิริยาวัตถุแต่ละประการ และ จำแนกเป็น ๑๐ ประเภท ได้แก่ ทาน (การให้) ปัตติทาน (การให้ส่วนบุญ) และ ปัตตานุโมทนา (การอนุโมทนาในส่วนบุญของผู้อื่น) สงเคราห์ลงในทาน

ศีล การขวนขวายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน สงเคราะห์ลงในศีล การอบรมเจริญภาวนา (อบรมเจริญความสงบของจิตและอบรมเจริญปัญญา) การฟังธรรมและการแสดงธรรม สงเคราะห์ลงในภาวนา

ส่วน ทิฏฐุชุกรรม ซึ่งเป็นการกระทำความเห็นให้ตรง เป็นไปได้ในบุญญกิริยาวัตถุทั้งหมด.

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

มองมุมมุ่งธรรม ๐๗ - บุญกิริยาวัตถุเป็นอย่างไร

บุญ บาป หรือ ไม่บุญไม่บาป

บาป - บุญ [คาถธรรมบท]

บุญ

…ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Chuapaeng
วันที่ 6 เม.ย. 2558

ขออนุโมทนาในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ladawal
วันที่ 6 เม.ย. 2558

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 8 เม.ย. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ประสาน
วันที่ 9 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ