ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ

 
papon
วันที่  16 เม.ย. 2558
หมายเลข  26452
อ่าน  986

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

"ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ" ท่านอาจารย์บรรยายบ่อยๆ หมายความว่าอย่างไรครับ ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่านิมิต นิมิตฺต (การกำหนด , เครื่องหมาย) เครื่องหมายให้เกิดกิเลส หมายถึง ส่วนหยาบที่เป็นรูปร่าง สัณฐาน ความหมายที่จิตคิดถึงสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น เห็นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เป็นโต๊ะเก้าอี้ ได้ยินเสียงผู้หญิงหรือผู้ชาย ได้กลิ่นดอกไม้ ลิ้มรสเป็ดไก่ ถูกต้องสัมผัสสำลี คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นไปด้วยอกุศลจิต เป็นการยึดนิมิต แต่ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐาน ความหมายต่างๆ ด้วยกุศลจิต ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการยึดนิมิต แต่เป็นบัญญัติอารมณ์ของกุศลจิตเท่านั้นครับ

ส่วนคำว่าอนุพยัญชนะ มาจากคำว่า อนุ (น้อย , ภายหลัง , ตาม) + พฺยญฺชน (แจ้ง , ปรากฏ) แปลได้ว่า ส่วนละเอียดที่ทำให้กิเลสปรากฏ หมายถึง ส่วนละเอียดของรูปร่างสัณฐาน หรือความหมาย ที่จิตคิดถึงจากสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่นปาก คอ คิ้ว คาง ริ้วรอยของใบหน้า ที่เป็นส่วนละเอียดของร่างกาย หรือส่วนปลีกย่อยของวัตถุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ทำให้กิเลสเกิดขึ้น ในขณะนั้นเป็นการยึดอนุพยัญชนะ แต่ในขณะที่พิจารณาส่วนละเอียดด้วยกุศลจิต ไม่เป็นการยึดอนุพยัญชนะ ยกตัวอย่างเช่น พิจารณาความเหี่ยวย่นของผิวพรรณ และรู้ถึงความไม่เที่ยงของร่างกายซึ่งเป็นรูปธรรม เป็นต้น

ดังนั้นขณะใดที่เห็นเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ รวมทั้งเห็นส่วนละเอียด เช่น มือและเท้า เป็นต้น แล้วเกิดอกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ขณะใดที่เห็นเป็นสิ่งต่างๆ เป็นสัตว์ บุคคล หรือเห็นส่วนละเอียด แต่ไม่ติดข้องไม่เป็นอกุศลแต่จิตเป็นกุศล ขณะนั้นชื่อว่า ไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะครับ แต่ถึงแม้ว่าไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะในขณะนั้น แต่ก็ไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น การไม่ยึดถือในนิมิต อนุพยัญชนะที่ประเสริฐจริงๆ คือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ขณะนั้น ไม่ยึดถือด้วยปัญญา ไม่ยึดถือว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล มีรูปร่างสัณฐานส่วนละเอียด ส่วนหยาบ เพราะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

"ขณะใดที่เห็นแล้ว สนใจ เพลินในนิมิตคือ รูปร่างสัณฐาน และอนุพยัญชนะคือส่วนละเอียดของสิ่งที่ปรากฏ ให้ทราบว่าขณะนั้น เพราะสีปรากฏ จึงทำให้คิดนึกเป็นรูปร่างสัณฐาน และส่วนละเอียดของสิ่งต่างๆ ขึ้น เมื่อใดที่สติเกิดระลึกรู้และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณา ก็จะเริ่มรู้ว่านิมิตและอนุพยัญชนะทั้งหลาย ซึ่งเป็นสีต่างๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น นี่คือปัญญาที่เริ่มเข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เมื่อสติเกิดระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ก็จะเข้าใจอรรถที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ (ด้วยการอบรมเจริญปัญญา รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง) และเริ่มละคลายอัตตสัญญา ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามขั้นของปัญญาที่เจริญขึ้น"

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

(คัดลอกจาก) --- ไม่ใส่ใจ ใน นิมิต และ อนุพยัญชนะ คืออย่างไร ---

และขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ได้ที่นี่ครับ

ไม่ติดในนิมิต อนุพยัญชนะ

ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
papon
วันที่ 16 เม.ย. 2558

เรียนอาจารย์ทั้งสองท่าน

รูปนิมิต กระผมพอเข้าใจ แต่ เวทนานิมิต สังขารนิมิต เป็นอย่างไรครับ? ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 16 เม.ย. 2558

เรียนความเห็นทื่ 3 ครับ

เชิญอ่านคำบรรยาท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

ถ้าไม่มีสภาพธรรมจะมีนิมิตไหม? เพราะมีสภาพธรรมที่เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว จึงปรากฏเป็นนิมิต เป็นรูปร่างสัณฐานเช่น ทันทีที่เห็นก็เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา เป็นคน แม้ได้ยินเสียงว่าต้นไม้ สัญญาจำคำต้นไม้ จิตคิดเป็นต้นไม้ทันที จึงได้ยินเพียงนิมิตของเสียง แท้จริงเป็นเพียงจิตได้ยินเกิดขึ้นได้ยินเสียง ถ้าไม่มีเสียงก็ไม่มีนิมิตของเสียง สำหรับอนุพยัญชนะก็เป็นส่วนละเอียด เช่น คิ้วจมูก กิ่งไม้ ใบไม้

แต่เพราะการเกิดดับอย่างรวดเร็วจึงไม่สามารถรู้แต่ละขณะที่เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ปรากฏก็เป็นนิมิตเช่นสิ่งที่ปรากฏทางตา เสียง กลิ่น รส เป็นรูปนิมิต จิตเห็นก็เช่นเดียวกัน ขณะที่เห็นจึงเป็นนิมิตของจิตเห็นเป็นวิญญาณนิมิต โดยนัยเดียวกัน เวทนา สัญญา สังขาร (เจตสิก ๕๐ ที่ปรุงแต่ง) ที่เกิดขึ้นเกิดดับสืบต่ออย่างเร็ว ทุกครั้งที่ปรากฏจึงเป็นเวทนานิมิต สัญญานิมิต สังขารนิมิต

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 16 เม.ย. 2558

เวทนานิมิต คือความรู้สึกดีใจ หรือ ความรู้สึกเสียใจ ส่วนสังขารนิมิต คือ สังขารขันธ์ 50

นิมิตเป็นเครื่องหมาย เช่น สี เกิดดับอย่างรวดเร็วก็ปรากฏเป็นนิมิตขณะนั้น ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 16 เม.ย. 2558

ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจยากอย่างยิ่ง ก็ตั้งต้นที่ว่า สภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย คือ จิต เจตสิก และรูป นั้น เกิดดับอย่างรวดเร็ว เวทนา ความรู้สึก ก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว สัญญาก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว สังขารขันธ์ คือ เจตสิกธรรมทั้งหลายที่นอกเหนือจากสัญญาและเวทนา ก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว และทุกขณะ ก็คือ จิตที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย แต่เพราะเกิดดับอย่างรวดเร็ว เป็นเพียงนิมิตคือเพียงสิ่งที่ปรากฏเหมือนเที่ยง เหมือนไม่ดับเลย แต่ความจริง เกิดดับอย่างรวดเร็ว ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

เกิดมาหลงวนในโลกของนิมิต

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
papon
วันที่ 16 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 16 เม.ย. 2558

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูงยิ่ง

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาอาจารย์ทั้งสองท่าน

เป็นคำตอบที่ละเอียดชัดเจนอย่างยิ่ง ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 18 เม.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Jarunee.A
วันที่ 2 ธ.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ธ.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ