อาจหาญ-ร่าเริง คือธรรมอะไร
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อาจหาญ-ร่าเริง คือธรรมอะไรคะ เกิดขึ้นกิจใด มีลักษณะอย่างไร บาลีใช้คำไหน ช่วยยกที่มาใน พระไตรปิฎก-อรรถกถา และ คำอธิบายของท่านอาจารย์สุจินต์ฯ ให้ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมกับบุคคลให้เห็นแจ้ง สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง ดังนั้น คำว่าอาจหาญ ร่าเริง ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ว่า (อิติวุตตกะ หน้า 660)
(อาจหาญ)
บทว่า สมุตฺเตชกา ความว่า ทำจิตของบุคคลทั้งหลายผู้ดำรงอยู่ในกุศลธรรมอย่างนี้ให้อาจหาญด้วยดี ด้วยการแนะนำในการบำเพ็ญอธิจิตขั้นสูงขึ้นไป คือทำจิตของเขาให้ผ่องใสด้วยการพิจารณา โดยประการที่เขาจะบรรลุคุณวิเศษได้
- อาจหาญ เพราะบุคคลนั้นฟังคำสอนแล้ว เกิดจิตผ่องใสอันเนื่องมาจากปัญญาเกิดและเข้าใจว่าสามารถไปถึงการบรรลุได้ด้วย หนทางนี้คือเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ในชีวิตประจำวัน ไม่มีหนทางอื่นและอาจหาญว่าเป็นหนทางที่จะนำไปสู่การดับกิเลสด้วยการเจริญขึ้นของปัญญา เมื่อเข้าใจหนทางก็ย่อมอาจหาญที่จะไปสู่หนทางนั้น ไม่ท้อถอย อุตสาหะ พากเพียร อดทนที่จะฟังพระธรรมต่อไป ครับ
(ร่าเริง)
บทว่า สมฺปหสกา ความว่า ทำจิตของบุคคลเหล่าอื่นนั้นให้ร่าเริงด้วยดี ด้วยคุณวิเศษตามที่ได้แล้ว และที่จะพึงได้ในขั้นสูง คือ ทำจิตของเขาให้ยินดีด้วยดี ด้วยอำนาจความพอใจที่ได้แล้ว
-ร่าเริง เพราะได้ฟังธรรมแล้วเกิดความเข้าใจถูก หรือ ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนั้น ซึ่งทำให้เกิดความยินดี ร่าเริง และรู้ว่าหนทางนี้ถูก สามารถนำไปสู่การดับกิเลสได้ จึงร่าเริงเพราะเข้าใจพระธรรมในขณะจิตนั้น
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องของปัญญาเมื่อปัญญาเกิดเข้าใจความจริงของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อรู้ความจริง ย่อมอาจหาญ ร่าเริงเพราะรู้ความจริงอาจหาญที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไป ร่าเริงเพราะเข้าใจถูกในความจริงของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา
เชิญคลิกอ่านพระไตรปิฎกและคำบรรยายท่านอาจารย์สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ
สมาทาน อาจหาญ ร่าเริง [อรรถกถาโคปาลสูตร]
ความจริงแห่งชีวิต ... ตอนที่ ๑๖๓ จิตตสังเขป (สมาทาน-อาจหาญ-ร่าเริง
อาจหาญ ร่าเริง ที่จะอบรมเจริญปัญญา
อาจหาญ ร่าเริง ที่จะรู้ความจริง
ขออนุโมทนา ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระผู้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นสภาพธรรมที่มีจริงทั้งหมดไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นไปในชีวิตประจำวัน การที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมนั้น ก็เพื่อให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูก เห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่เข้าใจผิด ไม่หลงผิดไปยึดถือในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่าเป็นเรา เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเพราะแท้ที่จริงแล้ว สภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีความอาจหาญ มีความเพียร มีความตั้งใจที่จะศึกษา ที่จะฟังพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ พิจารณา ไตร่ตรองตามเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งๆ ขึ้นไป จากความไม่รู้ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้นไปตามลำดับเมื่อมีความเข้าใจก็จะมีความเบิกบาน ผ่องใส ตามกำลังของความเข้าใจ ไม่เดือดร้อน เพราะขณะที่เข้าใจนั้นเป็นปัญญา เป็นกุศล เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ซึ่งจะแตกต่างไปจากขณะที่เป็นอกุศล ขณะที่ไม่เข้าใจอย่างสิ้นเชิง ครับ
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...