ปริยัติกับสัจญาณ

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  1 พ.ย. 2558
หมายเลข  27170
อ่าน  1,851

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเรียนถามค่ะ

๑. ปริยัติ คืออะไร หมายความว่าอย่างไร รอบรู้ในพระพุทธพจน์ หมายถึงอย่างนี้หรือไม่ (หรืออย่างไร) คือ ได้ ศึกษา อ่าน ฟัง พระไตรปิฎก อรรถกถา ทั้งหมด รวมทั้ง คำอธิบายของ ท่านผู้รู้ เช่น ท่านอาจารย์สุจินต์ฯ ทุกคำ แต่ละคำ รวมทั้ง ได้สังเกต พิจารณา ลักษณะสภาพธรรมะ ไปตามที่เคยฟังเคยอ่านคำอธิบายมา (แบบนึกคิดตาม แบบยัง"เป็นเรา" จนกว่าจะ "เป็นธรรมะ")

๒. สัจญาณ คืออะไร หมายความว่าอย่างไรเป็นปัญญา เป็นความรู้ถูก เป็นความเห็นถูก เป็นความเข้าใจถูก อย่างมั่นคง ไม่เปลี่ยน แปลง ว่า "ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะ" และต้องผ่านขั้น ปริยัติ มาแล้ว ใช่หรือไม่

๓. การที่ จำได้ กล่าวตามได้ นิดๆ หน่อยๆ เล็กๆ น้อยๆ ซึ่ง ข้อความที่ ท่านอาจารย์อธิบาย ขัอความในพระไตรปิฏก มีประโยชน์ หรือไม่ (แต่ยังไม่รู้จักตัวธรรมะ) หรือ เป็นการบ่นเพ้อไร้สาระ รวมทั้ง เป็น การติดอยู่ ในชื่อ ในคำ คือ จำเพื่อจะลืม แล้วยัง ปิดกั้น ขัดขวาง ทำให้เนิ่นช้า ทำให้ไม่รู้จักตัวธรรมะ เพราะ ยังไม่สามารถจริง ใน การสังเกต พิจารณา จนรู้จัก ตัวธรรม ได้จริง

หากจะอธิบายเพิ่มเติมประการใด นอกเหนือจากที่ถาม ก็ตามที่เห็นสมควรนะคะ

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้คำอธิบายค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปริยัติ ปริ (รอบ) + ยตฺติ (ศึกษา เล่าเรียน) ระเบียบคำอันควรศึกษาโดยรอบ หมายถึง พระพุทธพจน์ หรือ พระไตรปิฏก (รวมทั้งอรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และคำอธิบายต่างๆ เพื่อให้เข้าใจในหลักคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

การศึกษาปริยัติมี ๓ อย่างคือ

๑. อลคัททูปริยัติ การศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อ ลาภ สักการะ สรรเสริญ หรือเพื่อยกตนข่มผู้อื่น ย่อมเป็นโทษกับตนเอง เหมือนการจับงูพิษที่หาง งูย่อมแว้งขบกัดเอาได้

๒. นิสสรณัตถปริยัติ การศึกษาเพื่อประโยชน์แก่การออกไปจากทุกข์คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่ออบรมปัญญา เป็นการศึกษาของผู้ที่เห็นโทษภัยของกิเลส เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ปรารถนาจะออกไปจากวัฏฏทุกข์

๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ การศึกษาแบบขุนคลัง คือ ศึกษาพุทธพจน์เพื่อทรงพระศาสนาไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ เป็นการศึกษาของพระอรหันต์ซึ่งหมดกิจในการอบรมปัญญาเพื่อละกิเลสแล้ว แต่มีฉันทะและเห็นประโยชน์ในการศึกษาเพื่อถ่ายทอดพระธรรมคำสอนให้แก่ชนรุ่นหลัง

สัจจญาณ คือ ปัญญาที่รู้ความจริงในอริยสัจ ๔ เช่น รู้ว่านี้ทุกข์ รู้ด้วยปัญญา ด้วยความมั่นคงว่า ทุกข์ คือ สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ไม่ใช่เพียงความปวดเมื่อยเท่านั้น แต่เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ที่เกิดขึ้นและดับไป ปัญญาที่รู้ความจริงในความเป็นทุกข์อริยสัจ เป็นสัจจญาณ แต่สัจจญาณจะมีได้ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม จนปัญญามั่นคง เห็นถูกว่า สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้เองที่เป็นทุกข์ นี่คือสัจจญาณในทุกขอริยสัจ และปัญญาที่รู้ความจริงในสมุทัยสัจจะ ว่าเป็นอย่างนี้ คือ รู้ตัณหา โลภะ ตามความเป็นจริงว่าเป็นอย่างนี้ โดยสัจจะอื่นๆ ก็โดยนัยเดียว คือรู้ในพระนิพพานในขั้นการฟัง ตามความเป็นจริงและรู้ในหนทางดับทุกข์ คือ อริยมรรค ตามความเป็นจริงครับ นี่คือสัจญาณ ปัญญา ในอริยสัจ 4 ซึ่งสัจจญาณก็มีหลายระดับ ตามระดับปัญญา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ....

สัจจญาณ

กิจจญาณ คือ ปัญญาที่รู้หน้าที่ กิจที่ควรทำในอริยสัจ 4 เช่น ปัญญาที่รู้ว่าทุกขอริยสัจควรกำหนดรู้ รู้ว่าสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ควรกำหนดรู้ รู้ด้วยปัญญา ที่สติปัฏฐานเกิดรู้ความจริงในขณะนี้ของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใชเรา ดังนั้นจึงไม่มีเราที่ไปกำหนดรู้ แต่เป็นหน้าที่ของปัญญาว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือ ปัญญาเกิดรู้ความจริงของสภาพธรรมนั่นเอง ขณะที่สติปัฏฐานเกิด รู้ความจริงของสภาพธรรมและปัญญาที่เป็นระดับวิปัสสนาญาณ เป็นต้น เป็นกิจญาณในทุกขอริยสัจ

ปัญญาที่รู้กิจหน้าที่ใน สมุทัยสัจจะ ว่า โลภะ เป็นสิ่งที่ควรละ ด้วยปัญญาระดับสูง เป็นกิจญานในสมุทัยสัจจะ ปัญญาที่รู้ความจริงในนิโรธสัจจะ คือ รู้ความจริงว่าควรทำให้แจ้ง ให้ถึงพระนิพพาน ด้วยปัญญาระดับสูง เป็นกิจญานในนิโรธสัจจะ

ปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่า หนทางในการดับกิเลส คือ สติปัฏฐาน 4 อริยมรรคควรเจริญ ควรอบรมให้มาก ปัญญารู้เช่นนี้ เป็นกิจญาณในอริยสัจข้อสุดท้ายที่เป็นหนทางดับกิเลสครับนั่นคือ มรรคอริยสัจจะ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ ...

กิจญาณ

กตญาณ คือ ปัญญาที่รู้แจ้งในกิจ ที่ได้ทำแล้วในอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง อันหมายถึงการบรรลุธรรม ดับกิเลสได้นั่นเองครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

กตญาณ

ดังนั้นปัญญา ๓ ระดับ คือ สัจจญาณ กิจจญาณ และ กตญาณ ในอริยสัจ ๔ จึงหมายถึง การวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ คือ ปัญญาที่ สัจจญาณ รู้ในอริยสัจ ๔ ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (สัจจญาณ x อริยสัจ ๔ = ๔)

กิจจญาณ ปัญญาที่รู้ในอริยสัจ ๔ (กิจญาณ x อริยสัจ ๔ = ๔)

กตญาณ ปัญญาที่รู้ในอริยสัจ ๔ (กตญาณ x อริยสัจ ๔ = ๔)

ปัญญา ๓ อย่าง ๓ รอบ (สัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ) ในแต่ละอริยสัจ ในอริยสัจ ๔ จึงเป็นอาการ ๑๒ ครับ

การรู้แจ้งอริยสัจจ์มีญาณวน ๓ รอบ อาการ ๑๒ คือ

รู้ทุกขอริยสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

รู้สมุทัยอริสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

รู้นิโรธอริยสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

รู้มรรคอริยสัจจ์ ด้วยสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ

แต่ละสัจจะมีวน ๓ รอบ สัจจทั้งหมดมี ๔ จึงมีอาการ ๑๒

การจะถึงปัญญา ๓ ระดับตามที่กล่าวมาในอริยสัจ ๔ นั้น ที่สำคัญต้องเริ่มจากการฟังพระธรรมในหนทางที่ถูกต้องในเรื่องของสภาพธรรม เมื่อปัญญาเจริญขึ้นจากขั้นการฟัง ว่าขณะนี้เป็นธรรม การรู้ความจริงก็ต้องรู้ขณะนี้ ขณะนั้นกำลังอบรมสัจจญาณ ความมั่นคงในการรู้ความจริงของสภาพธรรมที่เป็นทุกขอริยสัจ ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องของชื่อปัญญา เพียงแต่อบรมเหตุคือการฟังพระธรรมไปเรื่อยๆ ธรรมจะทำหน้าที่ ปัญญาเจริญขึ้น สัจจญาณก็เจริญขึ้นตามลำดับ และย่อมทำให้ถึงปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมด้วยการประจักษ์แจ้งความเป็นนามธรรมและรูปธรรม ที่เป็นกิจจญาณและถึงการดับกิเลส บรรลุธรรมอันเป็นกตญาณได้ครับ ซึ่งก็ไม่พ้นจากการรู้ความจริงในขณะนี้เลยครับ

พระพุทธเจ้าและพระอริยสาวก ท่านก็รู้ความจริงในขณะนี้ อันเป็นการเจริญสัจจญาณ กิจจญาณและกตญาณตามความเป็นจริง จนได้บรรลุธรรมนั่นเองครับ แต่สำคัญ คือ อบรมเหตุคือฟังพระธรรม หากทำอย่างอื่น จะปฏิบัติ และจะไปหาธรรม นั่นก็เท่ากับว่า ขาดความเข้าใจเบื้องต้น และไม่ใช่สัจจญาณ เมื่อไม่มีสัจจญาณแล้ว ก็ไม่มีทางถึงการรู้ความจริงและการดับกิเลสที่เป็นกิจจญาณและกตญาณได้เลยครับ ขออนุโมทนาที่สนทนาเพื่อความเข้าใจครับ

เชิญอ่านคำบรรยายท่านอาจารย์ สุจินต์ได้ที่นี่ ครับ

กิมรส กราบนมัสการท่านอาจารย์ อยากถามที่ท่านอาจารย์พูดว่า ถ้าสัจญาณไม่มี กิจจญาณก็มีไม่ได้ อยากจะถามว่า สัจจญาณหมายความว่าอะไร

สุ. อริยสัจมี ๔ แต่มี ๓ รอบ เป็นอาการ ๑๒ ของอริยสัจ ๓ รอบ ก็คือ สัจจญาณ ๑ กิจจญาณ ๑ กตญาณ ๑ ในอริยสัจทั้ง ๔

เข้าใจหรือยังคะ

กิมรส เข้าใจชื่อ

สุ. เข้าใจชื่อนะคะ สัจจญาณในอริยสัจ ๔ กิจจญาณในอริยสัจ ๔ กตญาณในอริยสัจ ๔ รวมเป็น ๑๒ ซึ่งถ้าเราคิดถึงอริยสัจ ๔ เท่านั้น แล้วไม่รู้เรื่องสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ เราหลงทาง คือการที่จะหลงทางไม่ยาก ถ้าศึกษาไม่ละเอียด และประมาทและไม่รอบคอบ เราจะหลงทางง่ายที่สุด เพราะทุกคนคิดว่า อริยสัจ ๔ นี่ไม่ยาก ทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวก็รู้ นี่คือไม่รู้เรื่องของอาการ ๑๒ คือ ขั้นแรกต้องมีสัจจญาณ มีความเข้าใจในสัจจะ๔ อย่างมั่นคงว่า ขณะนี้ทุกขสัจ คือ เดี๋ยวนี้ที่เห็น เดี๋ยวนี้ที่ได้ยิน ทุกขณะเกิดขึ้นแล้วดับไป

เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้อริยสัจจะที่ ๑ คือ สามารถรู้ความเกิดดับของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ ไม่ใช่รู้อื่นเลย ขณะนี้อะไรที่ไม่ปรากฏ คุณกิมรสรู้ได้ไหมคะ อะไรที่ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้ว คุณกิมรสรู้ได้ไหม

กิมรส ไม่ได้ค่ะ

สุ. ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วก็ดับทันที เร็วมาก แต่ปัญญาก็ยังสามารถที่จะรู้ ถ้ามีความเข้าใจถูกที่จะอบรมโดยสติปัฏฐาน ไม่มีหนทางอื่นค่ะ มีหนทางเดียว

เพราะฉะนั้นเราบังคับให้สติปัฏฐานเกิดไม่ได้ นี่คือความเข้าใจถูกในความเป็นอนัตตา เราทิ้งส่วนหนึ่งส่วนใดในพระไตรปิฎกไม่ได้เลย ต้องประกอบกัน ขณะนี้ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้น ก็คือไม่เกิด ผ่านไปแล้ว หมดไปแล้วแต่การฟังแล้วมีความเข้าใจที่มั่นคงเพิ่มขึ้น จะทำให้สติปัฏฐานเกิดเมื่อไร ใครบอกได้คะ รู้อารมณ์อะไร ใครบอกได้ ก็บอกไม่ได้เลย แสดงความเป็นอนัตตาตั้งแต่ต้นจนตลอด

เพราะฉะนั้นถ้าเรารู้ว่า ขณะนี้สติปัฏฐานไม่เกิด แต่เราเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน แล้วเรารู้ว่า สติระลึกลักษณะของสภาพธรรม เป็นสัมปชัญญะอย่างไร แค่ไหน เราก็จะไม่ไปทำสมาธิ เพราะว่า ๒ อย่างนี่ใกล้กันมาก เพราะว่าเกิดร่วมกัน ต้องสามารถที่จะรู้สติสัมปชัญญะ คือ ปกติอย่างไร แม้จะเพียงเล็กน้อย แต่มีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏ แล้วเราก็จะรู้ความต่างของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่เป็นสติสัมปชัญญะ อันนี้ก็เป็นสัจจญาณ

และเวลาที่สติปัฏฐานเกิดเมื่อไร นั่นคือกิจจญาณ และเวลาที่รู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมเป็นวิปัสสนาญาณจนถึงที่สุด คือ เป็นพระอริยบุคคล นั่นคือกตญาณ

นีน่า การคิดที่ถูกต้องเป็นสัจญาณ ใช่ไหมคะ ที่มั่นคง สติปัฏฐานเป็นทางเดียว เป็นสัจจญาณด้วย ไม่ใช่ชื่อ

สุ. ไม่ใช่จำชื่อ แล้วก็บอกว่า อันนี้เป็นอริยสัจ

นีน่า แต่เราได้ยินเสมอตรงลักษณะอย่างไร โดยฟัง

สุ. เข้าใจว่ามีลักษณะอย่างนั้น และเวลาที่สติปัฏฐานระลึก ก็คือลักษณะตรงกับที่ได้เรียน

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

อยากขอความกระจ่างเรื่อง สัจญาณ กิจญาณ และ กตญาณ ครับ

รอบ 3 อาการ 12 ขอคำตอบที่ชัดเจนและรอบคอบ ครับ

เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ

สัจจญาณไม่ใช่เฉพาะปริยัติ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 พ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปริยัติ เป็นการศึกษาให้เข้าใจในพระพุทธพจน์คือพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ถ้าหากว่าไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่ต้นแล้วไม่มีทางที่จะมีปัญญาเจริญขึ้นในขั้นต่อไปที่เป็นขั้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จนถึงขั้นประจักษ์แจ้งความจริงดับกิเลสตามลำดับขั้น ได้เลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา ก็เพื่อประโยชน์คือความเข้าใจถูกเห็นถูกของผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะศึกษาจากส่วนใดของพระธรรมคำสอน ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในความเป็นจริงของธรรม ไม่ว่าจะได้ยินได้ฟังคำใด ก็ไม่พ้นไปจากเพื่อความเข้าใจถูกในความเป็นจริงของธรรม

สัจจญาณเป็นปัญญาที่เข้าใจความจริงอย่างมั่นคงว่าธรรมเป็นอย่างนี้ ทุกข์ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับเป็นอย่างนี้ เหตุแห่งทุกข์เป็นอย่างนี้ เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การไปติดที่คำ แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมก็จะทำให้เริ่มรู้ว่า ปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ต้องมาจากการฟังพระธรรม ขาดการฟังพระธรรมไม่ได้ เพราะความเข้าใจถูกในขั้นสัจจญาณ ก็เกื้อกูลต่อความเจริญของปัญญาในขั้นไปที่เป็นปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกิจจญาณ จนถึงวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ จนถึงการรู้แจ้งมรรคผลนิพพาน เป็นขั้นกตญาณ ทั้งหมดทั้งปวงนั้นต้องมีรากฐานมาจากความเข้าใจในขั้นการฟังรอบรู้ในพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

การศึกษาพระธรรม นั้น จะเข้าใจน้อยหรือมาก ก็เป็นประโยชน์ แตกต่างจากขณะที่ไม่ได้ฟังและไม่เข้าใจอย่างสิ้นเชิง ซึ่งถ้าไม่ขาดการฟัง ฟังบ่อยๆ สะสมบ่อยๆ ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น ที่สำคัญ ความไม่รู้ สะสมมานานแสนนาน จะให้ปัญญาเจริญขึ้นในทันทีทันใดนั้นเป็นไปไม่ได้ ก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ชาติ สองชาติเท่านั้น ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
tanrat
วันที่ 3 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
nong
วันที่ 3 พ.ย. 2558

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pulit
วันที่ 4 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
napachant
วันที่ 5 พ.ย. 2558

ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
nopwong
วันที่ 8 พ.ย. 2558

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 23 ก.พ. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
Witt
วันที่ 26 ต.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
Jarunee.A
วันที่ 2 ส.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ