ธรรมจริยสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ธรรมจริยสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๒๑๐
[เล่มที่ 47] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๖ - หน้าที่ ๒๑๐
ธรรมจริยสูตรที่ ๖
(ว่าด้วยการประพฤติธรรม) (๓๒๑) พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวความประพฤติทั้งที่เป็นโลกิยะ และโลกุตตระ ทั้งสองอย่างนี้ คือ ธรรมจริยา และพรหมจรรย์ ว่าเป็นธรรมเครื่องอยู่อันสูงสุด ถึงแม้บุคคลออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต ถ้าบุคคลนั้น เป็นชาติปากกล้า ยินดีแล้วในความเบียดเบียนแสวงหาอยู่ ความเป็นอยู่ของบุคคลนั้นเลวทราม ย่อมยังกิเลสธุลีมีราคะเป็นต้นของตนให้เจริญ,
ภิกษุยินดีแล้วในความทะเลาะ ถูกธรรมคือโมหะหุ้มห่อแล้ว ย่อมไม่รู้ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว,
แม้อันเหล่าภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รักบอกแล้ว ภิกษุผู้ถูกอวิชชาหุ้มห่อแล้ว ทำตนที่
อบรมแล้วให้ลำบากอยู่ ย่อมไม่รู้ความเศร้าหมอง ย่อมไม่รู้ทางอันให้ถึงนรก, เมื่อไม่รู้ก็เข้าถึงวินิบาต จากครรภ์เข้าถึงครรภ์ จากที่มืดเข้าถึงที่มืด ภิกษุผู้เช่นนั้นแล ละไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความทุกข์ ก็บุคคลใด ผู้มีการงานเศร้าหมองเห็นปานนี้ตลอดกาลนาน พึงเป็นผู้เต็มแล้วด้วยบาป เหมือนหลุมคูถที่เต็มอยู่นานปี พึงเป็นหลุมเต็มด้วยคูถ ฉะนั้น,
บุคคลนั้น เป็นผู้มีกิเลสเครื่องยียวน หมดจดได้โดยยาก ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงรู้จักบุคคลผู้อาศัยเรือน ผู้มีความปรารถนาลามก ผู้มีความดำริลามก ผู้มีอาจาระและโคจรลามกเห็นปานนี้, เธอทั้งปวง พึงเป็นผู้พร้อมเพรียงกัน เว้นบุคคลนั้นเสีย จงกำยัดบุคคลผู้เป็นเพียงดังแกลบ จงคร่าบุคคลผู้เป็นเพียงดังหยากเหยื่อออกเสีย แต่นั้นจงขบบุคคลลีบผู้ไม่ใช่สมณะ แต่มีความสำคัญว่าเป็นสมณะไปเสีย
ครั้นกำจัดบุคคลผู้มีความปรารถนาลามก มีอาจาระและโคจรลามกออกไปแล้ว
เธอทั้งหลายผู้บริสุทธิ์แล้ว มีความเคารพกันและกัน จงสำเร็จการอยู่ร่วม ด้วยบุคคลผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย แต่นั้น เธอทั้งหลายผู้พร้อมเพรียงกัน มีปัญญาเครื่องรักษาตน จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้.
จบธรรมจริยสูตรที่ ๖.
สำหรับข้อความอธิบายในอรรถกถา ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่นี่
อรรถกถา ธรรมจริยสูตร [สุตตนิบาต]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ธรรมจริยสูตร
(ว่าด้วยการประพฤติธรรม)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงพระธรรม ว่าด้วยการประพฤติธรรม ได้แก่ การประพฤติสุจริต มีกายสุจริต เป็นต้น และการประพฤติพรหมจรรย์ ได้แก่ การประพฤติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ (มรรคพรหมจรรย์) เป็นรัตนะอันสูงสุด ถ้ากุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แต่ไม่ประพฤติธรรม ไม่ประพฤติพรหมจรรย์ เป็นผู้ทุศีล ย่อมไปเกิดในอบายภูมิ แต่ถ้าเป็นผู้อบรมเจริญปัญญา มีปัญญารักษาตน ก็จะสามารถกระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ ในบริษัทซึ่งมีทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต.
เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ คือ ทรงปรารภครอบครัวหนึ่งคือ มารดา (ชื่อสาธนี) พี่ชาย (ชื่อโสธนะ) น้องชาย (ชื่อ กปิละ) และ น้องสาว (ชื่อว่าตาปนา) ออกบวชเป็นบรรพชิต ในกาลสมัยของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ, พระโสธนะ อบรมเจริญปัญญาได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ส่วนพระกปิละ อาศัยการศึกษาพระปริยัติ ถูกลาภสักการะครอบงำ เมาในความเป็นพหูสูต แสดงสิ่งที่ไม่ควรว่าควร แสดงสิ่งที่มีโทษว่าไม่มีโทษ เป็นต้น เมื่อถูกภิกษุผู้มีศีล ตักเตือน ก็ด่าว่าพระภิกษุผู้มีศีล มารดาและน้องสาว ก็มีความเห็นคล้อยตามพระกปิละ พระโสธนะ ดับขันธปรินิพพาน ไม่มีการเกิดอีกในสังสารวัฏฏ์ ส่วนพระกปิละ มารดาและน้องสาว เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ได้ไปเกิดในนรก ในสมัยนั้น มีโจร ๕๐๐ เที่ยวปล้นชาวบ้าน ถูกเจ้าของทรัพย์ติดตาม หนีเข้าไปในป่า เห็นพระภิกษุรูปหนึ่ง จึงเข้าไปหาพร้อมทั้งกล่าวว่าขอให้เป็นที่พึ่งด้วย พระภิกษุก็ได้กล่าวว่าขอให้มีศีล เป็นที่พึ่ง แล้วให้ศีล โจร ๕๐๐ ได้รักษาศีล ในขณะต่อมาก็ถูกเจ้าของทรัพย์ฆ่าตายทั้งหมด โจร ได้เป็นไปในสวรรค์ ท่องเที่ยวไปในเทวโลก พอมาถึงกาลสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ คือ พระสมณโคดม ก็ได้เกิดในตระกูลชาวประมง
กล่าวถึง พระกปิละ เมื่อเคลื่อนจากนรกแล้ว ได้เกิดเป็นปลาทอง (แต่ปากเหม็น) บุตรชาวประมง ๕๐๐ ไปหาปลา จับปลากปิละ ได้ จึงนำไปมอบถวายแด่พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศล พาบุตรชาวประมง ๕๐๐ พร้อมกับนำปลากปิละไปที่พระวิหารเชตวัน เพื่อกราบทูลถามว่า ปลาตัวนี้ มีสีเหมือนทอง เพราะกรรมอะไร พอปลาอ้าปากเท่านั้น กลิ่นเหม็นก็ฟุ้งออกจากปากของปลากปิละ ปกคลุมทั่วพระวิหารเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงกราบทูลถามว่า เพราะเหตุใด ปลาจึงมีสีทองและปากเหม็น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า เพราะกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ เมื่อครั้งเป็นกปิลภิกษุ จึงทำให้เกิดเป็นปลามีสีเหมือนทอง แต่ที่ปากเหม็น เพราะไปด่าว่าพระภิกษุผู้มีศีล และต่อมา ปลากปิละได้ตายลงแล้วได้ไปเกิดในนรกอีก ทำให้มหาชนเกิดความขนลุกชูชันเป็นอย่างยิ่ง บุตรของชาวประมงทั้งหมด มีความสลดใจ ประสงค์จะกระทำซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ (พ้นทุกข์) จึงขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา และในที่สุดพระภิกษุทั้ง ๕๐๐ (มีพระโยสชะ เป็นต้น) ก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง.
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นได้ที่นี่ ครับ
...ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมจริยา [ธรรมจริยาสูตรที่ ๖]
ความประพฤติเสมอ
ประพฤติพรหมจรรย์
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...