ปฐมอขันติสูตร ... วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
โม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
ปฐมอขันติสูตร
ทุติยอขันติสูตร
...จาก...
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ ๔๖๗
[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ หน้าที่ ๔๖๗
๕. ปฐมอขันติสูตร
(ว่าด้วยโทษของอขันติและคุณของขันติ)
[๒๑๕] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้, ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ไม่อดทน ย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ ของคนเป็นอันมาก ๑ ย่อมเป็นผู้มากด้วยเวร ๑ ย่อมเป็นผู้มากด้วยโทษ ๑ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเขาถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลายโทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้แล.
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการนี้, ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ผู้อดทน ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ๑ ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยเวร ๑ ย่อมเป็นผู้ไม่มากด้วยโทษ ๑ ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลายอานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการนี้แล.
จบปฐมอขันติสูตรที่ ๕
อรรถกถาปฐมอขันติสูตร
พึงทราบวินิจฉัยใน ปฐมอขันติสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้:-
บทว่า เวรพหุโล ได้แก่ เป็นผู้มีเวรมากด้วยบุคคลเวรบ้าง ด้วยอกุศลเวรบ้าง.
บทว่า วชฺชพหุโล คือ เป็นผู้มากไปด้วยโทษ.
จบอรรถกถาปฐมอขันติสูตรที่ ๕.
๖. ทุติยอขันติสูตร
(ว่าด้วยโทษของอขันติและคุณของขันติ)
[๒๑๖] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้, ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้ไม่อดทนย่อมไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจ ของคนเป็นอันมาก ๑ ย่อมเป็นผู้โหดร้าย ๑ ย่อมเป็นผู้เดือดร้อน ๑ ย่อมเป็นผู้หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โทษของความไม่อดทน ๕ ประการนี้แล.
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการนี้, ๕ ประการเป็นไฉน คือ ผู้อดทนย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนเป็นอันมาก ๑ ย่อมเป็นผู้ไม่โหดร้าย ๑ ย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อน ๑ ย่อมเป็นผู้ไม่หลงกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ของความอดทน ๕ ประการนี้แล. จบทุติยอขันติสูตรที่ ๖
อรรถกถาทุติยอขันติสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในทุติยอขันติสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า ลุทฺโท ได้แก่ ทารุณ ดุร้าย. บทว่า วิปฺปฏิสารี คือ ประกอบด้วยความเก้อเขิน.
จบอรรถกถาทุติยอขันติสูตรที่ ๖.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข้อความโดยสรุป
ปฐมอขันติสูตร
(ว่าด้วยโทษของอขันติ[ความไม่อดทน]และคุณของขันติ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโทษของความไม่อดทน และคุณของความอดทน ๕ ประการ โดยที่โทษของความไม่อดทน ได้แก่ ไม่เป็นที่รักของใครๆ มากไปด้วยเวร มากไปด้วยโทษ หลงทำกาละ (ตายอย่างไม่มีที่พึ่ง) และ มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ส่วน คุณของความอดทน มีนัยตรงกันข้าม
ข้อความโดยสรุป
ทุติยอขันติสูตร
(ว่าด้วยโทษของอขันติ[ความไม่อดทน]และคุณของขันติ)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโทษของความไม่อดทน และคุณของความอดทน ๕ ประการ โดยที่โทษของความไม่อดทน ได้แก่ ไม่เป็นที่รักของใครๆ เป็นผู้โหดร้าย เป็นผู้เดือดร้อน หลงทำกาละ และ มีอบายภูมิเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ส่วน คุณของความอดทน มีนัยตรงกันข้าม.
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อต่อไปนี้ครับ
อดทนเมื่อมีผู้ทำความเสียหาย
อดทนที่จะละ...ความไม่รู้
ปฏิบัติไม่อดทนเป็นอย่างไร
ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง
ขันติ...เป็นอาวุธ ไม่เบียดเบียนคนดี
ภัยเวร ๕ ประการ [เวรสูตร]
โทษของอกุศล
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
สำหรับผู้มีปัญญา จะพิจารณาชีวิตของตนเองในชาติหนึ่งๆ ได้ว่า ทุกสถานการณ์ต้องมีความอดทนอย่างมาก อดทนที่จะไม่เศร้าโศก อดทนที่จะไม่ขุ่นเคืองใจ เสียใจ น้อยใจในการกระทำในคำพูดของบุคคลอื่นในทุกสถานการณ์
ถ้าสามารถที่จะอดทนได้ในขณะนั้น โทสะก็ไม่เกิด วาจาที่ไม่ดีก็ไม่มี แม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่มี ไม่ต้องกล่าวถึงวาจาที่รุนแรง แม้แต่เพียงคำเล็กน้อยที่เกิดจากใจที่โกรธ ก็ไม่มี
ค่อยๆ อดทนไปทีละเล็กทีละน้อย ทีหลังก็จะเป็นผู้ที่มีความอดทนเพิ่มขึ้น แล้วอดทนดีไหม แต่ถ้าอดทนได้ดีไหม? ต้องคิดถึงประโยชน์ก่อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราต้องพิจารณาประโยชน์ของสิ่งนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นประโยชน์ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เพิ่มความอดทนขึ้น
https://www.dhammahome.com/webboard/topic/28954
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
กราบขอบพระคุณ อ.คำปั่นด้วยค่ะ