ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๕
~ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโทษของกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต และทรงแสดงคุณของกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แต่ว่าก็ยังมีผู้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตอยู่ เพราะอะไร? เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถึงแม้ว่าจะทรงแสดงโทษไว้อีกหลายประการอย่างไรก็ตาม นั่นเป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟัง แต่กิเลสที่สะสมมามีกำลังเมื่อไร ก็แสดงความเป็นอนัตตาเมื่อนั้น คือ กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตไปในขณะนั้นเอง
~ ผู้ที่จะดับอกุศลกรรมที่จะทำให้เกิดในอบายภูมิ ก็ต้องเป็นผู้ที่อบรมเจริญปัญญาบรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เกิดการกระทำด้วยอกุศลจิตทางกาย ทางวาจา ซึ่งจะทำให้ตนเองติเตียนตนเองได้ ถ้าได้กระทำไปแล้วเกิดการระลึกได้ ก็จะรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเลยที่ได้กระทำแล้ว หรือว่านอกจากนั้นบุคคลอื่นก็ยังติเตียนได้อีกด้วย เพราะเหตุว่าเป็นการกระทำซึ่งไม่เหมาะสม
~ กายหรือวาจาก็ต้องเป็นไปตามจิต เมื่อจิตขัดเกลาขึ้น ใจอ่อนโยนขึ้น และเป็นผู้ที่ไม่ปราศจากสติ ปากก็ไม่ร้าย เปลี่ยนแปลงตามความคิดอันเป็นประโยชน์ของตนและผู้อื่น ไม่ดื้อรั้น ไม่สำคัญในตนเอง หรือในความคิดของตัวเอง แต่พิจารณาตามเหตุตามผล
~ ถึงใครจะมีอกุศลมากสักเท่าใด ก็ไม่ใช่เขา เป็นเพียงอกุศลธรรมเท่านั้นที่สะสมมามาก จนกระทั่งออกมาทางกาย ทางวาจาอย่างนั้นๆ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมมากเท่าใด ความเป็นเรา เขา ใคร ก็จะลดน้อยลง เพราะเห็นว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม เสมอกันทั้งหมด แล้วก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยต่างๆ กันด้วย เพราะฉะนั้น การที่จะคิดถึงบุคคลอื่น การที่จะแสดงกาย วาจา ต่อบุคคลอื่น ก็ย่อมเป็นไปด้วยเมตตา ด้วยกุศลและขัดเกลาอกุศลให้เบาบางลงไป
~ พระธรรมของพระผู้มีพระภาคทั้งหมดเพื่อที่จะได้ให้ผู้ฟังพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นคุณเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ แล้วละสิ่งที่เป็นโทษ แล้วก็ขัดเกลาอัธยาศัยในสิ่งที่เป็นคุณ จนกระทั่งเป็นอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ ไม่ใช่ฝืนและไม่ใช่บังคับ แต่ว่าให้เห็นคุณ ให้เห็นโทษ แล้วก็ฝึกจนเป็นอัธยาศัยของผู้นั้น
~ คงไม่มีใครที่ต้องการจะไปทุคติอบายภูมิเป็นแน่ แต่ถึงจะไม่อยากไปอย่างไรก็ตาม ถ้ามีทุจริตกรรมแล้วก็ย่อมเป็นเหตุที่จะให้ปฏิสนธิในทุคติ แต่ถ้าเป็นผลของกุศลก็จะไม่ทำให้ปฏิสนธิในทุคติอบายภูมิเลย นี่ก็เป็นเรื่องภัยของกิเลสอกุศล ซึ่งถ้าผู้ใดพิจารณาตนเองมากก็ยิ่งมีโอกาส ที่จะขัดเกลากิเลสละเอียดมากขึ้น
~ บุคคลผู้รักษาตน คือ รักษาด้วยการกระทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ใช่การที่จะมีบุคคลแวดล้อมพิทักษ์รักษา แต่เวลาที่อกุศลกรรมให้ผล ถึงแม้ว่าจะมีคนคุ้มครอง แวดล้อมรักษาป้องกัน อกุศลวิบากซึ่งเป็นการที่จะได้รับความทุกข์เดือดร้อน เพราะผลของอกุศลกรรมของตนเองก็ย่อมเกิดขึ้น แต่ว่าถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่มีใครแวดล้อมปกป้องรักษาเลย แต่เป็นผู้ได้กระทำกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต และกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริตยังให้ผลอยู่ ก็ย่อมไม่มีผู้หนึ่ง ผู้ใด สามารถที่จะไปประทุษร้ายเบียดเบียนให้เดือดร้อนได้
~ คนที่จะไม่ติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ นี้น้อย ไม่ใช่มาก เมื่อได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ ขึ้น ประณีตขึ้น ที่จะไม่ให้ติดไม่ยินดีในโภคทรัพย์ที่ยิ่งขึ้น และ ประณีตขึ้นนั้นย่อมไม่มี เพราะว่าสัตว์เหล่าใดที่ได้โภคทรัพย์ยิ่งๆ ขึ้นแล้ว ย่อมไม่มัวเมา ไม่ประมาท ไม่ถึงความติดอยู่ในกามคุณ และ ไม่ประพฤติผิดในสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น มีจำนวนน้อยในโลก
~ คนที่มีกิเลส มีความยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็เหมือนเหยื่อที่ล่อให้กระทำทุจริตกรรม แล้วก็ได้รับผลของกรรมในภายหลัง ซึ่งเป็นวิบากที่เลวทราม เป็นวิบากที่ไม่เป็นสุขเลย เป็นวิบากที่เป็นทุกข์อย่างยิ่ง
~ สิ่งใดที่ท่านผู้ฟังพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นเหตุผล เป็นถ้อยคำอันควรฝังไว้ในใจ ไม่ควรที่จะลืม เพราะเหตุว่าเกื้อกูลแก่กุศลธรรมนานาประการทีเดียว
~ เรื่องของความอยากได้มากก็แสดงออกมาโดยวิธีการต่างๆ ที่แยบคายก็ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นความล้ำลึกของจิตใจของแต่ละคน ซึ่งท่านเองเป็นผู้รู้ดีว่า มีกิเลสประเภทอย่างนี้ๆ หรือไม่ เมื่อรู้ ควรละไหม สำหรับผู้รู้? เพราะเหตุว่ากิเลสทั้งหลายเป็นภัยที่ยิ่งใหญ่ โดยเหตุที่ว่าอยู่ภายในตัวเอง ไม่ได้อยู่ไกลเลย เป็นสิ่งไม่ดีที่มีอยู่ในจิตใจ เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมต่างๆ และก็จะเป็นผู้ได้รับผลวิบากของอกุศลกรรมนั้นๆ เอง
~ ขณะใดคำพูดนั้นเป็นไปเพราะอกุศลจิตแล้ว คำพูดเหล่านั้นจะเป็นวจีทุจริต ในทางที่พูดเพราะหวังลาภบ้าง มีไหม คำพูดอย่างนี้? เมื่อหวังลาภ บางครั้งบางขณะก็มีการพูดยกยอ นี่ไม่ใช่การชมด้วยความจริงใจ แต่เพราะเหตุว่าเป็นไปด้วยกิเลส ทำให้มีวาจาที่เป็นไปเพราะหวังในลาภ เป็นการพูดยกยอบ้าง หรือว่าเป็นการพูดผูกพันต่างๆ บ้าง หรือว่าบางครั้งก็เป็นการพูดโอ้อวด บางครั้งก็เป็นการพูดเปรียบเปรย บางครั้งก็พูดกระทบ บางครั้งก็พูดเสียดแทงให้เจ็บช้ำน้ำใจ บางครั้งก็ด่าว่าสบประมาทต่างๆ หวังที่จะให้อัปยศ บางครั้งก็พูดเหน็บแนม หรือแม้คำพูดที่ล้อ เมื่อเป็นอกุศลจิตที่มีกำลัง ก็เป็นล้อเปรยกระทบ บางครั้งก็เป็นคำพูดที่อำพรางความจริง เป็นคำพูดที่บ่นว่า พูดประชด หรือว่าพูดโพนทะนา นี่เป็นเรื่องของวาจาที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส
~ เวลาพูดด้วยอกุศลจิต มีคำพูดที่แรงเกินไปบ้าง หรือว่าไม่ควรจะเป็นในลักษณะกระทบกระเทียบเปรียบเปรยเสียดแทงให้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ก็เป็นไปแล้วด้วยอกุศลจิต เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าถ้าเป็นอกุศลจิตแล้ว ไม่อาจทำให้ถ้อยคำของตนที่พูดออกไปแล้วให้สมควรได้
~ ที่จะละกิเลสได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้แจ้งลักษณะที่ปรากฏตามความเป็นจริง ละความไม่รู้ ละความสงสัย จึงจะละความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามรูปนั้นว่าเป็นตัวตนเป็นลำดับขั้น ไม่ใช่ละด้วยการทรมานตนแล้วก็ผิดปกติ แล้วไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง
~ ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน ตามปกตินามรูปก็เกิดดับ ฉะนั้น ปัญญาจะต้องพิจารณาเจริญเหตุให้สมควรกับผล และรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกตินั้นตาม ความเป็นจริง ไม่ใช่ด้วยความต้องการที่จะไปทรมานตน หรือว่าประกอบการขวนขวายในการทรมานตน แล้วก็เข้าใจว่าต้องทรมานเช่นนั้นจึงจะรู้ความจริงได้ หรือว่าจึงจะรู้ทุกข์ได้ แต่หมายความว่าการจะรู้ทุกข์ได้นั้น ต้องเป็นการเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปเป็นลำดับขั้นตามความเป็นจริง ~ การอยู่กับคนพาลเห็นผิด ก็เหมือนกับอยู่ร่วมกับศัตรูหรือสัตว์ ร้าย ส่วนการคบกับบัณฑิตนั้น ก็เหมือนสมาคมกับหมู่ญาติ ซึ่งมีแต่จะนำความสุขมาให้ แต่คบกับคนพาลนั้นท่านอุปมาว่า เหมือนกับการอยู่ร่วมกับศัตรูหรือสัตว์ร้าย เพราะเหตุว่าถ้ามีความเห็นผิด ก็ย่อมจะทำให้เสื่อมจากประโยชน์ทั้งชาตินี้ ชาติหน้า บุคคลที่ทำความเสื่อมให้ ผู้นั้นจะเป็นมิตรหรือว่าเป็นศัตรู? ~ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุผล พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมอะไรที่จะปลอบใจคน ให้ชักชวนให้มาหาพระธรรมวินัยของพระองค์ แต่ว่าทรงแสดงธรรมตาม ความเป็นจริงด้วยเหตุผล
~ เมื่อมีเหตุปัจจัยให้สภาพธรรมใดเกิด สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้น ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น
~ ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ก็ฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพราะไม่รู้ว่าต่อไปจะได้ฟังพระธรรมอีกหรือไม่?
~ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเรื่องละ
~ ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ คือ ประโยชน์สูงสุด
~ ความเห็นผิด มีจริง ความเห็นถูกมีจริง ความเห็นผิด เห็นผิดจากความเป็นจริงของสิ่งนั้น ความเห็นถูก เห็นถูกในสิ่งนั้นตามที่เป็นจริง
~ เมื่อเห็นว่าสิ่งไหนดี เป็นกุศล น้อมไปทันที ว่าง่ายที่จะเป็นกุศลด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูก.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๔
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...