ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๖
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๖
~ ชีวิตของแต่ละคนไม่ได้จำกัดในเรื่องของการเจริญกุศล ไม่ว่าท่านจะเป็นบุคคลใด มีกิจที่จะต้องกระทำ แต่ก็ให้เป็นไปในเรื่องของกุศลได้ ถ้าท่านยังมีมารดาบิดาที่จะต้องอุปการะ ท่านก็เป็นอุบาสก อุบาสิกาที่ขัดเกลาจิตใจของท่านด้วย แล้วก็เจริญกุศลในการที่ได้อุปการะตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาด้วย
~ เรื่องศีล ก็เป็นเรื่องของการขัดเกลาขั้นกาย วาจาแล้ว แต่ว่าถ้าผู้ใดก็ตามไม่มีการเจริญปัญญาด้วย ก็ยากเหลือเกินที่จะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ หรือศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์ได้ เพราะเหตุว่าการที่จะล่วงจากศีลนั้น เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส
~ เรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาให้ชัดว่า กุศลก็เป็นกุศล อกุศลก็เป็นอกุศล ความกตัญญูกตเวที การอุปการะในทางที่ดีเป็นกุศลทั้งหมด แต่ความผูกพันไม่ว่ากับบุคคลใดก็เป็นอกุศลทั้งสิ้น
~ ในขณะนี้เอง ในช่วงชีวิตหนึ่งของสังสารวัฏฏ์ ให้ทราบว่ากำลังศึกษาพระธรรมโดยการฟัง และโดยการพิจารณา ซึ่งถ้าฟังบ่อยๆ ก็จะทำให้เข้าใจขึ้น แล้วก็จะเป็นปัจจัยให้มีการปฏิบัติธรรมด้วย โดยที่ว่าเมื่อเข้าใจอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้นไม่ใช่ว่ายังไม่เข้าใจเลย ก็ปฏิบัติโดยที่ไม่เข้าใจ
~ พระพุทธศาสนาไม่เหมือนศาสนาอื่นที่มีบัญญัติ หรือข้อห้าม แต่ว่าเป็นศาสนาที่ชี้แจงในเรื่องเหตุและผล และแล้วแต่ว่าใครจะเลือกมีฉันทะสะสมมาที่จะทำกุศล หรือจะทำอกุศล แต่ว่าไม่เป็นข้อห้าม แม้แต่ศีล ก็เป็นการสมาทาน หมายความว่าผู้นั้นเจตนาวิรัติ งดเว้นด้วยตนเอง ไม่มีใครบังคับ เพราะว่าบังคับไม่ได้ เมื่อบังคับไม่ได้ เมื่อยังมีกิเลส มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ บังคับไม่ได้ แล้วจะบังคับทำไม ไร้ประโยชน์
~ มิตรหรือไมตรี คือ ความเป็นเพื่อน ไม่ใช่ศัตรู เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะเห็นใคร แล้วก็มีความรู้สึกว่า เขาเป็นเพื่อนของเรา ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างประเทศ ต่างวัย ต่างความรู้ ต่างฐานะ แต่มีความเสมอกัน เข้ากันได้เหมือนเพื่อนสนิท เพราะเหตุว่าใครก็ตามที่จะเป็นเพื่อนกันแล้ว หมายความว่าคนนั้นต้องไม่มีความรู้สึกว่าเป็นเขาหรือเป็นเรา หรือว่ามีความต่างกัน เพราะฉะนั้นจิตใจในขณะที่กำลังมีเพื่อน พร้อมที่จะเกื้อกูลช่วยเหลือผู้หนึ่งผู้ใด ขณะนั้นคือเมตตา
~ ไม่มีอะไรที่จะให้เหตุผลดียิ่งกว่าพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้ เป็นความจริงจะช้าหรือจะเร็วขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย ไม่ใช่ปลอบใจให้เร่งและให้บรรลุในชาตินี้ได้ โดยที่เหตุไม่สมควรแก่ผล แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุผล พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงแสดงธรรมอะไรที่จะปลอบใจคน ให้ชักชวนให้มาหาพระธรรมวินัยของพระองค์ แต่ว่าทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงด้วยเหตุผล
~ ถ้าท่านมีศรัทธาในพระรัตนตรัย บูชาด้วยการปฏิบัติ หมายความว่าอะไร หมายความว่า ขณะใดที่มีสติระลึกได้ รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะใด ในขณะนั้นเป็นปฏิปัติบูชา เป็นการบูชาด้วยการเจริญสติ เป็นการบูชาด้วยศรัทธา เชื่อในการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคว่า หนทางนี้เป็นทางเดียวที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ เพราะเหตุว่า พระผู้มีพระภาค ก็ตาม สาวกของพระผู้มีพระภาค ก็ตาม ไม่ได้ปรารถนาอะไรจากผู้ฟังเลย นอกจากประโยชน์ของผู้ฟัง
~ ถ้าใครทำสิ่งที่ไม่ดีไม่มีใครอนุโมทนา ตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือข่าววิทยุ ซึ่งเป็นเรื่องทั้งหลายที่ไม่ดี ไม่มีใครอนุโมทนาเลย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ดีแล้ว แม้นิดแม้หน่อย การช่วยเหลือคนอนาถา หรือว่าคนบาดเจ็บหรือว่าอะไรก็ตามแต่ทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แม้แต่คนไข้ เราทำให้คนไข้รู้สึกสบายขึ้นมาด้วยประการใดๆ ก็ตาม ด้วยจิตใจที่อยากให้เขาเป็นสุข ขณะนั้นก็เป็นกุศล
~ ตราบใดที่เขาไม่เห็นว่า อกุศลของเขาเป็นโทษ เขาก็ยังโกรธเรา ยังไม่ชอบเราอยู่นั่นเอง ทั้งๆ ที่ใจของเราไม่ได้ทำร้ายเขาเลย นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่า จิตต่างกัน เราเมตตาเขาได้ แต่เขาจะเมตตาเราหรือเปล่า แล้วแต่การสะสมของเขา เราไม่เบียดเบียนเขา แต่เขาจะคิดเบียดเบียนเราหรือเปล่า นั่นก็เป็นเรื่องจิตใจของเขา
~ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นสัจจธรรม เป็นความจริง ซึ่งทำให้ผู้ฟังเริ่มเกิดปัญญาที่จะรู้จักตัวเอง และรู้จักโลก รู้จักสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริง จนกระทั่งดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ก็เป็นเลิศ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่เป็นสาวกทุกท่านต้องฟังพระธรรม เพราะเหตุว่าตนเองไม่ได้สะสมบารมีมาที่จะเป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระปัจเจกพุทธเจ้า
~ ความพอใจมีหลายทาง ทางตาก็ชอบสิ่งที่สวยๆ ทางหูก็ชอบเสียงเพราะๆ ทางจมูกก็ชอบกลิ่นหอมๆ ทางลิ้นก็ชอบรสอร่อยๆ ทางกายก็ชอบสัมผัสสิ่งที่สบาย ผู้ที่จะละความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ได้ต้องเป็นพระอริยบุคคลขั้นพระอนาคามีบุคคล เหลืออีกเพียงขั้นเดียวจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ~ เรื่องบุญนี่เรื่องใหญ่ เพราะโดยมากไม่ทราบจริงๆ ว่า ขณะไหนเป็นบุญคือ จิตมีหลายชนิด จิตที่โลภก็ไม่ใช่บุญ จิตที่โกรธก็ไม่ใช่บุญ จิตที่หลงก็ไม่ใช่บุญ ขณะใดที่จิตไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง ขณะนั้นจึงเป็นบุญ ของใครก็ของคนนั้น ยกบุญของเราให้คนอื่นไม่ได้ แต่บอกให้เขารู้ เพื่อให้เขาอนุโมทนาได้
~ อนัตตาไม่ใช่อยู่ในหนังสือ หรือไม่ใช่อยู่ที่อื่น แต่ทุกขณะทุกอย่างที่เกิดขึ้นดับไป ให้พิสูจน์ได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตน ของเรา
~ ชีวิตของแต่ละคนดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว ไม่มีใครมีจิตสองขณะเกิดพร้อมกันได้เลย ขณะจิตหนึ่งต้องดับไปก่อน แล้วก็เป็นปัจจัยให้ขณะจิตต่อไปเกิดขึ้นทีละขณะ
~ ผู้ที่ศึกษาพระธรรมแล้วเข้าใจเท่านั้น จึงสามารถที่จะรู้ได้ว่า สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร สิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งใดเป็นมงคล และสิ่งใดเป็นมงคลตื่นข่าว
~ ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ตาม ไม่เกื้อกูลที่จะให้ปัญญาเกิด และกุศลทั้งหลายเกิด ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ และการที่จะเกื้อกูลแต่ละบุคคล เกื้อกูลให้เขาฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจและปัญญาของเขาเอง จะทำให้อกุศลของเขาค่อยๆ ลดคลายลง
~ ในแต่ละวันจะไม่พ้นจากสภาพธรรมเลยสักขณะเดียว ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ ถ้าศึกษาแล้วก็จะรู้แล้วว่า เป็นธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสัจจธรรม เป็นของจริง เป็นสิ่งซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น จึงอยู่ในความหมายของ “อนัตตา” เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนามีหลักสำคัญที่ไม่เหมือนกับศาสนาอื่น คือ อนัตตา
~ ลักษณะของโทสะ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนที่มีความขุ่นเคืองใจ แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน หรือจะเกิดในภพภูมิใด สภาพของโทสะเกิด ก็มีลักษณะหยาบกระด้าง ลองสังเกตจิตใจเวลาโกรธ ผิดปกติ รู้สึกกระด้าง และหยาบผิดจากธรรมดา ขณะนั้นก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง
~ ถ้ามีปัญญารู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงแล้ว ละความเห็นผิด ความไม่รู้ ความสงสัย ในสิ่งที่ปรากฏตลอดเวลาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำให้หมดความยึดถือ ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน
~ ในครั้งพุทธกาล เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว ผู้ที่จะบวชเป็นผู้ที่จริงใจที่จะขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิตซึ่งสูงกว่าเพศคฤหัสถ์เพราะว่าก่อนจะบวชก็มีกิเลส คฤหัสถ์ก็มีกิเลส และคนที่จะบวชก็จะต้องเห็นโทษกิเลสเป็นสิ่งที่ละยากในเพศคฤหัสถ์ และสะสมอัธยาศัยใหญ่ที่จะสละ ไม่ลืมคำนี้ "สละ" ละทุกอย่างที่เคยติดข้อง สละหมดด้วย ไม่เหลือเลย ครอบครัว วงศาคณาญาติ ทรัพย์สมบัติ ไม่ผูกพันไม่ติดข้องในสิ่งเหล่านั้น
~ พระภิกษุรูปใด ไม่รู้พระธรรมวินัย ไม่ใช่ภิกษุในพระธรรมวินัย ไม่มีใครเปลี่ยนพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ได้เลย พระภิกษุทุกรูปในสมัยพุทธกาล ทั้งหมด และ ทุกสมัยต้องเคารพในพระวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้
~ ในเมื่อไม่สามารถน้อมประพฤติตามพระธรรมวินัยได้ แล้วจะบวชทำไม?
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๓๕
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...