ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๒
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๒
~ ทำไมถึงจะสงสารเพียงเฉพาะตอนที่บุคคลนั้นๆ ได้รับผลของกรรม ที่เป็นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ทำไมไม่สงสารก่อนนั้น คือในขณะที่บุคคลนั้นๆ ทำอกุศลกรรม ทำไมต้องรอจนกระทั่งบุคคลนั้นได้รับผลของอกุศลกรรม แล้วถึงจะสงสาร เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้ที่ละเอียด สงสารตั้งแต่บุคคลหนึ่งบุคคลใดทำอกุศลกรรม คือไม่ต้องไปรอจนกระทั่งได้รับภัยพิบัติต่างๆ แล้วก็เกิดความเมตตาสงสาร แต่สงสารตั้งแต่เริ่มที่บุคคลนั้นทำเหตุ คือ อกุศลกรรม เพราะเหตุว่าคนที่ทำอกุศลกรรมเป็นหนี้ความทุกข์ยากลำบากจากกรรมของตน ซึ่งวันหนึ่งวันใดจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น
~ มีทางที่จะพิจารณาเพื่อที่จะให้เกิดขันติ ความอดทน และเป็นกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำความเสียหาย ความเดือดร้อนให้ การกระทำของเขาอย่างนั้น ก็ดับไปในที่นั้นๆ ทำไมเราถึงจะยังโกรธต่อ ในเมื่อการกระทำนั้นหมดแล้ว จบแล้ว ดับแล้ว ขณะนี้เขาไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว แต่ยังอุตส่าห์ไปคิดถึงเรื่องเก่าที่เขาทำ เพื่อที่จะให้ตนเองโกรธต่อไปอีก
~ ชีวิตประจำวันทั้งหมด จะสังเกตได้ว่า ทุกคนจะต้องมีอกุศลในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชาติหนึ่งชาติใด วันหนึ่งวันใด เหตุการณ์หนึ่งเหตุการณ์ใดก็ตาม ขณะที่ไม่จริงใจ และก็เสแสร้งแม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นก็เป็นอกุศล
~ เรื่องของกิเลสมีมาก และกิเลสเกิดขึ้นทำกิจการงานของกิเลส กิเลสจะทำกิจการงานของกุศลไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าในสมัยไหนทั้งสิ้น กิเลสเกิดขึ้นขณะใดก็ทำกิจของกิเลสขณะนั้น และก็สมมติเรียกชื่อของอกุศลธรรมและกุศลธรรมเป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ แต่ว่าบางท่านก็มีวิริยะในการอบรมเจริญปัญญา เห็นโทษของกิเลสและละคลายกิเลสได้ แต่ก็ต้องอาศัยวิริยะอย่างมากจริงๆ ในการเป็นผู้อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
~ โลภะ โทสะ โมหะ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของเรา แม้แต่ความโกรธในขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา และไม่ใช่ของเรา ถ้าสามารถจะรู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ทุกข์ก็จะลดน้อยลง เพราะว่าไม่ยึดถือโลภะ โทสะ โมหะ และธรรมทั้งหลายว่าเป็นของเรา เมื่อไม่มีเรา ก็ไม่มีบุคคลอื่น เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
~ ถ้าเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของกุศลธรรมและเห็นโทษของอกุศลธรรมจริงๆ แล้วก็จะรู้ได้ว่า ถ้ายังคงมีอกุศลมากมาย การที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) นี่ก็ยากแสนยากที่จะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นในเรื่องของการฟังพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ ที่จะต้องฟังแล้วพิจารณาใคร่ครวญไตร่ตรองเพื่อประโยชน์อันแท้จริง
~ สำหรับผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม และเข้าใจพระธรรมแล้ว ก็ยังต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยที่ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ก็จะพิจารณาเห็นสภาพความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมได้มากขึ้นว่า แม้ว่าเห็นว่ากิเลส อกุศลธรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้
~ วันหนึ่งๆ จะเห็นได้ถึงความต่างกันของขณะที่อวิชชาเกิดกับขณะที่ปัญญาเกิด ถ้าเป็นอวิชชา เป็นสภาพที่มืด ทำให้ไม่รู้ความจริง ไม่เห็นว่าอกุศลเป็นอกุศล และก็ไม่เห็นหนทางที่ถูกที่ชอบที่ควรจะกระทำ เพราะฉะนั้นก็ทำให้คิดก็คิดผิด ทำก็ทำผิด พูดก็พูดผิด แต่ว่าถ้าในขณะใดที่ปัญญาเกิดขึ้น ขณะนั้นเห็นอกุศล แล้วก็ยังเห็นความน่ารังเกียจของอกุศล เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้นในขณะนั้นก็เป็นผู้ที่คิดถูก ทำถูก พูดถูก
~ ถ้าเป็นคนที่ไม่สำคัญเลยในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ ขณะนั้นจะสบายใจไหม ถ้าเป็นคนที่ไม่สำคัญเลย ที่จริงแล้วสบายมาก แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีความสำคัญตนที่สะสมมามาก ก็จะเป็นผู้ที่เดือดร้อน กระสับกระส่าย ไม่สบายใจเลย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า วิถีชีวิตของแต่ละคนที่ได้ฟังพระธรรม มีการสะสมอบรมเหตุที่จะให้ปัญญาเกิดแล้วก็อบรมจนกระทั่งถึงขั้นที่จะละคลายกิเลสบ้างไหม เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เริ่มเห็นความละเอียดของกิเลสขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ
~ ถ้าจะเกิดการรังเกียจหรือหิริ (ละอายต่ออกุศล) จริงๆ ต้องเป็นความรังเกียจหรือหิริในอกุศลของตนเอง ไม่ใช่รังเกียจอกุศลของคนอื่น เพราะบางคนก็เห็นกายวาจาของคนอื่นที่ไม่ดีงาม ที่น่ารังเกียจ แต่ว่าขณะใดที่คิดรังเกียจอกุศลของคนอื่น ที่จะไม่เกื้อกูล ไม่เมตตา ไม่สงเคราะห์ ไม่กรุณา ขณะนั้นก็ลองพิจารณาดูว่า การรังเกียจอกุศลของคนอื่นเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล ดีหรือไม่ดี?
~ จากชีวิตประจำวันจริงๆ ที่เราได้ยิน ๓ คำนี้บ่อยๆ โลภะ โทสะ โมหะเป็นอกุศล แต่ก็ต้องไตร่ตรองด้วยว่า เป็นโทษจริงๆ ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก แล้วธรรมที่เป็นประโยชน์ เป็นคุณ ไม่ให้โทษเลย ก็คืออโลภะ (ความไม่ติดข้อง) ถ้าเป็นได้จริงๆ ทีละเล็กทีละน้อยจะสบายสักแค่
~ ไม่ว่าใครจะกล่าวความจริ
~ การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ยากยิ่งที่จะได้ยินได้ฟัง แล้วความเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้
~ ถ้าบุคคลนั้นกระทำกายทุจริตหรือวจีทุจริตก็ตาม ทำไมเราจะต้องโกรธ ในเมื่อที่จริงแล้วบุคคลนั้นน่าสงสารที่สุด ที่ว่าเขาจะต้องได้รับผลของกรรม ถ้านึกถึงภาพของบุคคลนั้นที่จะต้องอยู่ในนรก ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จะเกิดความกรุณาในผู้กระทำกายทุจริตและวจีทุจริต ในขณะนั้นท่านก็จะไม่โกรธเหมือนกัน เพราะรู้สึกเห็นใจ สงสารจริงๆ
~ ผู้ที่มีกุศลหรือเป็นกุศลในขณะนั้น เป็นผู้ดี สภาพธรรมที่เป็นอกุศลไม่ใช่สภาพธรรมที่ดี ถ้าในขณะนั้นบุคคลใดก็ตามมีอกุศลธรรมเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ใช่ผู้ดี ไม่สามารถที่จะเป็นสภาพธรรมที่ดีได้ในขณะที่เป็นอกุศลธรรม
~ เมตตา หมายความถึงความหวังดีกับบุ
~ พระธรรมทั้งหมดเพื่อไม่ประมาท เพื่อเข้าใจถูกว่า กิเลสมีมาก และการค่อยๆ เข้าใจ ธรรมเป็
~ ความตายเป็นของธรรมดา มีใครไม่ตายบ้าง? แต่ก่อนตายทำอะไร ความดีหรือความชั่ว?
~ วันหนึ่งๆ ทุกคนก็คิดเรื่องอื่น มีเรื่องอื่นที่จะให้คิดมาก แต่ถ้ามีใจที่ผูกไว้กับความละเอียดของธรรม ที่จะทำให้คิดถึงบ่อยๆ และพิจารณาเนืองๆ ก็จะทำให้ปัญญาค่อยๆ อบรมเจริญขึ้น เพราะรู้ว่า จิตคิดนึก ไม่มีใครสามารถห้ามได้ และวันหนึ่งๆ คิดตามเรื่องอื่นก็มาก ทำไมไม่ให้ประโยชน์ คือ คิดตามเรื่องความละเอี
~ ภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยไม่ใช่บรรพชิต ไม่ใช่ผู้กำจัดกิเลส แต่เมื่อเป็นบรรพชิตแล้ว ต้องรู้ว่า มีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้
~ อกุศลเป็นโรคของจิตใจ ยิ่งถ้าเป็นกิเลสที่มีกำลังมาก ก็เหมือนโรคกำเริบที่ทำความเสียหายอย่างมาก การศึกษาและอบรมเจริญปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เท่านั้น ที่เป็นเสมือนยาที่จะรักษาจิตใจให้ปราศจากโรค คือ กิเลส
~ ชาวพุทธ คือ ผู้เข้าใจธรรม จากใคร จากไหน? จากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๑
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...