สัคคสาสมาธิ คืออะไร

 
แต้ม
วันที่  18 พ.ค. 2559
หมายเลข  27798
อ่าน  4,877

ผมได้ทราบจากสื่อ ว่า มีการเปิดหลักสูตร สัคคสาสมาธิ (สมาธิเพื่อยกใจสู่สวรรค์) ผมขอเรียนถามว่า ในพระไตรปิฎก มีคำนี้ด้วยหรือครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 18 พ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สัคคสาสมาธิ ไม่มีคำนี้ในพระไตรปิฎก ครับ

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน
สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป ไม่มีใครบังคับให้สมาธิเกิดหรือไม่เกิดได้ เพราะทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น ไม่ปราศจากสมาธิเลย
ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา แสดงถึงมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นไปกับอกุศลแล้ว เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด ถ้าเป็นไปกับกุศล เป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นสัมมาสมาธิ

ตัวอย่างคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ เกี่ยวกับสมาธิ
ส. สมาธิเป็นสภาพที่ตั้งมั่นคงที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดเท่านั้นเอง ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตและเกิดกับจิตทุกๆ ขณะด้วย แม้ขณะนี้ก็มีเอกัคคตาเจตสิกเกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต แต่เวลาที่ปรากฏอาการของสมาธิ หมายความว่า จิตขณะนั้นรู้อารมณ์นานๆ จนกระทั่งปรากฏลักษณะที่ตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้น เช่น คนที่กำลังตั้งใจทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ตั้งใจอย่างมากที่จะไม่ให้ผิด ขณะนั้นจะเห็นลักษณะอาการของสมาธิได้
เพราะฉะนั้น สมาธิมีทั้งที่เป็นมิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยขณะใด ขณะนั้นเป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด เช่น ขณะที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ ขณะนั้นก็มีสมาธิ อ่านรู้เรื่อง และเข้าใจเรื่อง พิจารณาเรื่องที่กำลังอ่านด้วย แต่ขณะนั้นไม่มีปัญญา ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ
ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน สภาพที่ตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ยังคงตั้งมั่นอยู่ที่สิ่งนั้น ขณะที่เดินเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นั่งเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่นอนเป็นสมาธิก็ได้ ขณะที่ยืนเป็นสมาธิก็ได้ แต่สมาธิไม่ใช่ปัญญา
เพราะฉะนั้น ถ้าใครกำลังตั้งใจทำอะไร จดจ่อ ขณะนั้นก็รู้ได้ว่า ลักษณะอาการของสมาธิปรากฏ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน ก็ตาม.

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ
สมาธิ
การปฏิบัติสมาธิ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 18 พ.ค. 2559

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 18 พ.ค. 2559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่ควรตื่นเต้นกับคำที่ไม่รู้จัก, สำคัญอยู่ที่ค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับเพราะเหตุว่า ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจแล้ว ปฏิบัติผิดแน่นอนยังไมเข้าใจเลยว่าสมาธิคืออะไร? ก็ไปทำแล้ว จะถูกได้อย่างไร พระธรรมคำสอนทั้งหมดที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่มีแม้แต่บทเดียวที่สอนให้ไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ด้วยความเป็นตัวตนจดจ้องต้องการ คำสอนทั้งหมดเป็นไปเพื่อปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอดแม้แต่ในเรื่องของสมาธิ ควรที่จะเป็นเรื่องเข้าใจให้ถูกว่าเป็นธรรมที่มีจริงเกิดได้กับจิตทุกขณะ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นจิตประเภทใด สมาธิจึงไม่ใช่การไปทำ ขณะที่ไปทำอะไรด้วยความเห็นผิดโดยที่เข้าใจว่าถูก นั่นก็เป็นสมาธิเหมือนกันแต่เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเกิดร่วมกับอกุศล พร้อมทั้งเกิดร่วมกับความเห็นผิดเพราะฉะนั้นจึงควรเริ่มต้นที่การฟังพระธรรม ให้เข้าใจ ยังไม่ได้ศึกษา ก็ต้องศึกษาก่อน ครับ.

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 18 พ.ค. 2559

สาวกแปลว่าผู้ฟัง ถ้าไม่มีปัญญาขั้นฟัง ปัญญาขั้นอื่นๆ ก็ไม่เกิดค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แต้ม
วันที่ 18 พ.ค. 2559

ขอขอบพระคุณในการให้ความรู้เรื่องนี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่ 20 พ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ