ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๐

 
khampan.a
วันที่  5 มิ.ย. 2559
หมายเลข  27855
อ่าน  3,189

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๐

~ ทำไมคนๆ เดียว (ซึ่งเป็นคนมีความเห็นผิด) ถึงมีโทษมากมายได้? เพราะเหตุว่าย่อมชักชวนคนอื่นให้เห็นผิดตามไปด้วย เมื่อตนเองมีความเห็นวิปริตคลาดเคลื่อนไปจากสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ยังจะชักชวนเผยแพร่ความคิดเห็นนั้นให้คนอื่นมีความเห็นอย่างนั้นได้ด้วย

~ พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงเรื่องความเห็นผิดและโทษของความเห็นผิด เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังที่จะพิจารณาแล้วพิจารณาอีก เห็นโทษอย่างยิ่งจริงๆ ของมิจฉาทิฏฐิหรือความเห็นผิด ความเห็นวิปริตหรือข้อปฏิบัติที่ผิด เพราะเหตุว่าบุคคลในครั้งนั้น ต่างก็แสดงข้อปฏิบัติที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่ว่าถ้าข้อปฏิบัติใดวิปริตคลาดเคลื่อน ก็ไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

~ การเห็นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สีที่ปรากฏทางตาไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การได้ยินไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เสียงที่ปรากฏไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป

~ จะต้องมีความละเอียดที่จะรู้เรื่องของอกุศลที่ทุกคนมีในวันหนึ่งๆ ที่จะต้องพิจารณาให้ละเอียดจริงๆ ว่า เป็นอกุศลธรรมประเภทไหน และมากอย่างไร เพราะเหตุว่าขณะใดที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ย่อมแล่นไปในที่นั้นทุกเมื่อ ใจห้ามไม่อยู่ที่จะเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ตามอารมณ์ที่ปรากฏนั้นๆ และอารมณ์ก็ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น อกุศลธรรมก็ต้องมากทีเดียว

~ เวลาน้ำท่วม กลัวมาก เวลาที่น้ำป่าพัดมาอย่างแรง ทุกคนก็เกือบที่จะเอาชีวิตไม่รอด แต่ว่ากิเลสพัดอยู่ตลอดเวลา ทำให้ไหลไปสู่สมุทร คือ อบายได้

~ ธรรมก็เป็นธรรม แต่ว่าธรรมที่เป็นอกุศลก็มี กุศลก็มี เพราะฉะนั้น กุศลและอกุศลนั้นจึงเป็นธรรมที่ต่างกัน

~ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วก็มีพระมหากรุณาทรงแสดงพระธรรม เพื่อที่จะให้บุคคลที่ได้ฟังพิจารณาแล้วเกิดปัญญา คือความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง

~ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลมากทีเดียว เพื่อให้เห็นโทษ ถ้าใครที่ยังไม่เห็นโทษของอกุศล ก็ยังประมาทอยู่เพราะคิดว่า มีกุศลพอแล้ว แต่ถ้าเห็นโทษของอกุศลมากๆ จะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท

~ สำหรับการฟังธรรม คือ ธัมมัสสวนะ ก็จะเห็นได้ว่า ต้องมีศรัทธาแน่นอน เพราะเหตุว่าบางวันอาจจะต้องตื่นแต่เช้ามาก เช่น ๐๔.๓๐ น. และบางท่านก็อาจจะบอกว่าตื่นไม่ได้ แต่ว่าถ้าได้ฟังแล้วก็สนใจ และก็มีศรัทธาที่จะพิจารณาข้อความที่ได้ยินได้ฟัง ขณะนั้นก็จะรู้ได้ว่า ศรัทธาเจริญขึ้น หรือว่าศรัทธายังไม่เจริญพอที่จะกระทำกุศล เช่น การฟังธรรมในเวลาที่ยังเช้าอยู่ได้

~ การสงเคราะห์ผู้ที่มีศรัทธาก่อน เป็นการสะดวก เป็นการที่จะทำให้เกิดประโยชน์โดยไม่ยาก ไม่เหมือนกับผู้ที่ไม่มีศรัทธา แม้ว่าจะพยายามชักจูงสักเท่าไร ก็อาจจะไม่มีความคิดที่จะเจริญกุศลก็ได้

~ ไม่รอกาลเวลาที่จะถึงอีกสมัยหนึ่งของพระพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่ง ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้

~ ขณะที่กำลังฟังธรรม จิตใจหันเหไขว้เขวไปทางไหนหรือเปล่า? กำลังฟังอยู่ หลงคิดเรื่องอื่นไปนิดหนึ่ง ขณะนั้นขาดสติ

~ โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) โทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) อิสสา (ความริษยา) มัจฉริยะ (ความตระหนี่) ความเกียจคร้าน ความเคลือบแคลงสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ทั้งหมดเป็นธรรมเว้นจากสติ

~ มิจฉาสติ หมายความถึงโลภมูลจิต ไม่ใช่สติแน่นอน ทรงแสดงไว้เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่า สัมมามรรค (ทางที่ถูก) มี ๘ และก็มีมิจฉามรรค (ทางผิด) ซึ่งคนเข้าใจว่าเป็นสติ แต่ลักษณะจริงๆ ไม่ใช่สติ ตามความเข้าใจของคนที่เข้าใจผิด เข้าใจว่าตนเองมีสติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นมิจฉาสติ แต่ว่าโดยลักษณะแล้วก็เป็นโลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) ทิฏฐิคตสัมปยุตต์ (ประกอบด้วยความเห็นผิด)

~ “ธรรมมัจฉริยะ” คือ ความตระหนี่ธรรม ถ้าเกิดความตระหนี่ธรรมแล้ว ทุกอย่างย่อมไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะว่าไม่แสดงธรรมนั้นให้บุคคลอื่นได้รู้ หรือเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ จะไม่ตระหนี่ธรรม เพราะรู้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และขณะใดที่ตระหนี่ ขณะนั้นก็แสดงถึงความเห็นแก่ตัว หรือความยึดมั่นในตัวตน ซึ่งยังไม่ได้ละคลาย

~ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงละเว้นพยัญชนะ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดเกิดสติระลึกได้ เพราะว่าทรงแสดงเรื่องของความประมาทว่า เป็นการปล่อยจิต เป็นการเพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต ถ้าสติไม่เกิดเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา เขาก็ทุจริตกันทั้งนั้น ก็อาจจะคิดว่าอย่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นกายทุจริต หรือวจีทุจริต แต่ผู้ที่มีสติ สติเกิด จะรู้ได้ว่า ไม่ควรที่จะคิดอย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่าไม่ควรที่จะปล่อยจิต หรือเพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต

~ ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมไม่พ้นจากการที่จะมีกายทุจริตบ้าง วจีทุจริตบ้าง มโนทุจริตบ้าง ถ้าเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง จะรู้ได้จริงๆ ว่าขณะไหนเป็นกายทุจริต ขณะไหนเป็นวจีทุจริต คำพูดที่ทำให้บุคคลอื่นไม่สบายใจ หรือว่าเป็นการเสียประโยชน์ของบุคคลนั้น ซึ่งถ้าสติไม่เกิดก็ดูเหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดาอีก เพราะฉะนั้น ผู้ที่ขัดเกลากิเลสก็จะพิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ ว่า ไม่เพิ่มการปล่อยจิตในกายทุจริต ในวจีทุจริต ในมโนทุจริต ในเบญจกามคุณ คือ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย)

~ ปรมัตถธรรมหมายถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ไม่เรียกชื่อ สิ่งนั้นก็มี หรือแม้ว่าจะเปลี่ยนชื่ออย่างไรก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็ยังคงเป็นสภาพธรรมนั้น อย่างภาษาบาลีใช้คำว่า โลภะ ภาษาไทยบอกว่า ความติดข้อง ความอยากได้ ความต้องการ ภาษาอังกฤษเรียกอีกคำหนึ่ง ภาษาอื่นก็เปลี่ยนไป แต่เปลี่ยนลักษณะของโลภะไม่ได้ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ ไม่เรียกก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้ นี่คือปรมัตถธรรม ปรมัตถธรรมคือสิ่งที่มีจริง ไม่เรียกชื่อเลยก็ได้ จะใช้ชื่ออะไรก็ได้ จะเปลี่ยนชื่ออะไรก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นไม่ได้

~ โลภะของคนสมัยก่อนกับโลภะของคนสมัยนี้ลักษณะต่างกันหรือ? โทสะของคนสมัยก่อนกับโทสะของคนสมัยนี้ต่างกันไหม? ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดของคนสมัยก่อน กับความเห็นผิด ความเข้าใจผิดของคนในสมัยนี้ต่างกันไหม?

~ พิจารณาดูสภาพของความโลภ ให้เห็นว่าเป็นจริงอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสได้ไหม ว่าเมื่อเป็นความโลภแล้ว ผู้ที่ถูกความโลภครอบงำ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้

~ แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้บำรุงอุปัฏฐากพระศาสนาฝ่ายอุบาสก วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้อุปัฏฐากบำรุงพระศาสนา เป็นเลิศ เป็นเยี่ยม ฝ่ายอุบาสิกา ก็ไม่เคยที่จะสร้างสำนักปฏิบัติสำหรับฆราวาส ข้อความในพระไตรปิฎก ไม่มีเลยสักตอนเดียว ที่จะกล่าวถึงสำนักปฏิบัติของฆราวาส ในครั้งโน้นไม่มีใครเพิ่มเติมข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อน ทุกท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ (ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน)

~ ถ้าได้พิจารณาตัวเองอย่างละเอียด แล้วเห็นอกุศลธรรม เห็นกิเลสของตนเอง ก็จะเป็นประโยชน์ที่จะทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท และจะไม่คิดว่าตัวเองดีพอแล้ว เพราะเหตุว่าถ้าคิดว่าดีพอแล้ว กุศลธรรมก็ทำมากแล้ว ก็จะไม่ทำให้เจริญกุศลยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ซึ่งความจริงแล้ว ถ้าเทียบกันแล้วระหว่างกุศลและอกุศล โดยสภาพของความเป็นปุถุชน กุศลมากเท่าไรก็ยังไม่พอ

~ ทุกคนเร่าร้อนและไม่สงบใจอยู่บ่อยๆ บางคนก็พากันไปแสวงหาว่า ทำอย่างไรจิตใจถึงจะสงบ มีข้อปฏิบัติอะไรที่ทำให้สงบได้ แต่ว่าจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องจริงๆ ว่า การสงบจริงๆ นั้น จะมีได้ เมื่อปัญญาเกิดขึ้น เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง

~ ผู้มีปัญญา ถึงจะรู้ตัวว่า ขณะที่กำลังปรารถนารูป อยากได้เสียง อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้โผฏฐัพพะต่างๆ ทุกขณะนั้น เหมือนปลาที่กินเหยื่อ แต่ว่าถ้าไม่พิจารณา ก็ย่อมกินเหยื่ออย่างเพลิดเพลิน เอร็ดอร่อย

~ ผู้ที่พิจารณาธรรม ย่อมเห็นอวิชชาของตนเอง คือ เห็นความไม่รู้ของตนเอง ที่ทำให้ยังมีความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะทุกๆ วัน ก็เหมือนกับการกินเหยื่อทุกวัน แล้วก็จะทำให้เกิดทุกข์ คือ ชาติ ชรา มรณะ ไม่สิ้นสุด บางคนก็บอกว่า กินเหยื่อ ก็อ้วนพีดี เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปเรื่อยๆ ทุกขณะที่มีความต้องการในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

~ ศรัทธาพึงเห็นราวกะว่ามือ เพราะเหตุว่าศรัทธานั้นมีสภาพถือไว้ซึ่งกุศลธรรม ไม่ปล่อยกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดทั้งสิ้น ขณะนั้นเมื่อศรัทธาเกิดศรัทธาก็เหมือนกับถือเอากุศลนั้น

~ วันหนึ่งๆ เวลาที่ได้ยินข่าวกุศล ก็เกิดอนุโมทนา ยินดีด้วย ในขณะนั้นก็เป็นมหากุศลที่มีศรัทธาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีกุศลจิตเกิดบ่อยๆ จนกระทั่งเป็นนิสัย ก็จะเห็นได้ว่า วันหนึ่งๆ ท่านเป็นผู้ที่มีศรัทธาในกุศล แม้ว่าขณะนั้นจะไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ก็เป็นกุศลแล้ว และขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นมีศรัทธาในกุศลนั้น กุศลนั้นจึงเกิด

~ พระพุทธพจน์ทั้งหมดทุกคำเป็นเรื่องของปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสะสมมาแสดงธรรมให้ผู้อื่นฟัง เพื่อผู้ฟังจะได้เกิดปัญญาด้วยอนุเคราะห์ให้เกิดปัญญา ให้มีความเห็นที่ถูกเพราะว่าจะอนุเคราะห์ด้วยทรัพย์สินเงินทองเครื่องอุปโภคบริโภคสักเท่าไหร่ ไม่มีวันจบเพราะเหตุว่ายังมีเหตุที่จะให้เกิดทุกข์นานาประการแต่ถ้าให้เข้าใจธรรม ก็ยังสามารถที่จะถึงความสิ้นทุกข์ได้


~ ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงทั้ง ๓ ปิฎก แต่ละคำสำหรับทุกคนที่ควรแก่การฟัง และประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่แค่ฟัง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจธรรมละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ตรัสแต่ละคำเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ พุทธบริษัทต้องรู้ธรรม ถ้าไม่รู้ธรรมจะเป็นพุทธบริษัทได้อย่างไร เป็นไม่ได้เลย แต่ที่ใครจะเป็นพุทธบริษัทก็คือต้องเป็นผู้ที่รู้ธรรม แม้แต่ธรรมก็รู้ว่าคืออะไร "ไม่ใช่..จะฟังธรรม จะศึกษาธรรม จะปฏิบัติธรรม แต่ธรรม คืออะไร ตอบไม่ได้ เพราะฉะนั้นผู้นั้นก็ไม่ใช่ผู้ที่รู้ธรรม" เพราะฉะนั้นรู้ธรรมก็คือเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงในแต่ละคำ

~ ผู้ที่ทำผิดเท่านั้น จึงแสวงหาผู้ที่จะปกป้อง แต่ถ้าพระภิกษุรูปนั้นประพฤติตามพระวินัย ไม่ต้องมีใครปกป้อง พระธรรมนั่นแหละปกป้อง กุศลธรรมนั่นแหละปกป้อง แต่ถ้าเป็นอกุศลธรรมใครก็ปกป้องไม่ได้ คิดว่าคนอื่นจะปกป้องได้ แต่ความจริงต้องมีกรรมเป็นของของตน

~ ศึกษาธรรมให้เข้าใจแล้วก็พูดคำจริงซึ่งเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ ประโยชน์ของการที่ถึงวันนี้หรือมีวันนี้ ก็คือ ผู้ที่มีปัญญา ย่อมเห็นว่า สามารถที่จะเข้าใจมีความรู้ ความเห็นถูก เพิ่มเติมจากเมื่อวานนี้ซึ่งหมดไปแล้วแต่ก็มีการสืบต่อจากการฟัง การเข้าใจเมื่อวานนี้จนถึงวันนี้

~ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร ชื่ออะไร ตำแหน่งอะไร ทำอะไรก็ตามแต่ พระภิกษุทุกรูป ต้องประพฤติตามพระวินัย และต้องเป็นผู้ที่ศึกษาธรรมด้วย เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการบวชเป็นพระภิกษุ เพื่ออบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิต
และประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยด้วย มิฉะนั้น ก็เหมือนกับคฤหัสถ์

~ ขณะใดที่กุศลธรรมเกิด ขณะนั้นเป็นคนดี

~ เป็นคนดีทั้งประเทศ ไม่มีใครจะเดือดร้อนเลย.

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๔๙

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เซจาน้อย
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

อนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบอนุโมทนาขอบพระคุณท่านอาจารย์วิทยากรทุกท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
peem
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Boonyavee
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Noparat
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

~ ขณะใดที่กุศลธรรมเกิด ขณะนั้นเป็นคนดี

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
thilda
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
เมตตา
วันที่ 5 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลจิตของ อ.คำปั่น ด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pulit
วันที่ 6 มิ.ย. 2559

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 6 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 6 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
siraya
วันที่ 6 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
jaturong
วันที่ 6 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
aurasa
วันที่ 7 มิ.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ