ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๘
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๘
~ สภาพธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติ คือไม่ทรงแสดง ย่อมไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้ ทุกคนมีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) มีเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) แต่ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงบัญญัติสภาพธรรมทั้งหลายด้วยพระสติสัมปชัญญะ ซึ่งเป็นบัญญัติที่ถูกต้อง ตรงกับลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่มีใครสามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่มีอยู่ได้
~ จิตใจนี่มีลักษณะต่างๆ กัน เวลาที่เป็นเป็นกุศล จะมีลักษณะที่อ่อนโยน มีเมตตา แต่ว่าเวลาที่จิตใจเป็นอกุศล ความกระด้างของจิตราวกับผ้าแข็งกระด้าง
~ จะให้อะไรเกิดขึ้นตามใจชอบได้ไหม? ไม่ได้
~ ควรจะเห็นข้าศึกภายใน คือ ความโกรธของตนเอง แทนที่จะคิดว่า ท่านมีศัตรูหลายคน หรือว่าอาจจะมีคนที่ไม่ชอบท่าน ทำสิ่งที่ไม่ดีกับท่านหลายคน แต่ตามความเป็นจริงแล้วข้าศึกที่แท้จริงอยู่ภายใน คือ ความโกรธของท่านเอง, กิเลสของตนเองไม่ได้อยู่ที่คนอื่น และไม่ใช่คนอื่นนำมาให้
~ เวลาที่โกรธอาจจะไม่รู้สึกตัวว่า มีการคิดประทุษร้าย นิดหนึ่ง ได้ ทางวาจา หรือว่าทางกายก็อาจจะเป็นไปแล้วโดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ เพราะว่าบางท่านก็มือไว เท้าไว ก็อาจจะเป็นไปได้
~ เวลาที่รักตัวเองมาก ไม่อยากแม้แต่จะให้คนอื่นได้ดี เพราะเกรงว่าคนอื่นจะได้ดีกว่า นั่นคือลักษณะของความริษยา อยากจะให้ตัวของตัวเองดีที่สุดอยู่คนเดียว แล้วเวลาที่คนอื่นดีขึ้น ก็ไม่พอใจ ขณะนั้นก็เป็นความริษยา
~ บางครั้งอาจจะพูดไม่เพราะ ไม่เหมาะสมกับมารดาบิดา แล้วภายหลังกุกกุจจะ (ความเดือดร้อนรำคาญใจ) เกิดไหม นานไหม ก็อาจจะทำให้เกิดความทุกข์ได้หลายชั่วโมงทีเดียว เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรำคาญใจเกิดขึ้นขณะใด ก็ควรที่จะเป็นข้อเตือนใจที่จะสังวร ที่จะไม่ทำให้กาย วาจาเป็นไปในทางที่จะให้เกิดความรำคาญใจนั้นอีก โดยเฉพาะต่อผู้ที่มีคุณ
~ พุทธบริษัทจะชื่อว่าเป็นกตเวทีบุคคล (ผู้รู้คุณแล้วตอบแทนคุณ) ต่อเมื่อศึกษาพระธรรมโดยละเอียด ให้เข้าใจจริงๆ ปฏิบัติถูกจริงๆ จึงสามารถที่จะดับทิฏฐิ (คือ ความเห็นผิด) ได้ เพราะเหตุว่าทิฏฐิ (คือความเห็นผิด) และข้อปฏิบัติที่ผิดนี้ เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาโดยละเอียด มิฉะนั้นแล้ว ก็จะยึดถือในข้อปฏิบัติที่ผิดนั้นได้
~ ถ้าใครก็ตาม ซึ่งกิริยาอาการเต็มไปด้วยโทสะ หรือว่าใครก็ตาม ซึ่งอาจจะมีคำพูดที่เป็นคำติเตียนเพียงเล็กน้อย ไม่มากมายเลย แต่ก็มีการแสดงความโกรธ ความไม่พอใจ ความขัดใจอย่างรุนแรง ในขณะนั้นก็ย่อมเป็นที่รังเกียจของคนอื่น จนกระทั่งไม่เตือนก็ได้ เพราะเหตุว่าถ้าเตือนเข้า ก็แสดงกิริยาอาการซึ่งแสดงความแค้นเคืองมาก
~ เพียงอกุศลธรรมอย่างหนึ่งเกิดขึ้น ก็เป็นเครื่องเตือนให้ระลึกได้ว่า แม้อกุศลธรรมอื่นๆ ก็ยังมีอยู่มากด้วย จึงเป็นผู้ที่จะเห็นความน่ารังเกียจของอกุศลธรรม ซึ่งมีอยู่ในตนได้ เพราะเหตุว่ามักจะรังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในบุคคลอื่น แต่ว่าผู้ที่ฉลาดจะต้องเป็นผู้ที่รังเกียจอกุศลธรรมที่มีอยู่ในตน
~ ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ตั้งแต่ตรัสรู้จนกระทั่งถึงปรินิพพาน ก็เป็นเรื่องการทรงแสดงธรรมเพื่อให้บุคคลเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้ขัดเกลาอกุศลให้ลดน้อยลง จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า และสำหรับชีวิตของปุถุชน ทุกท่านก็จะเห็นได้ว่ามีกิเลสนานาประการมากมายที่ยังไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย เพราะการที่จะดับกิเลสได้จริงๆ จะต้องเป็นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าจึงสามารถที่จะดับกิเลสได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าพระผู้มีพระภาคจะได้ทรงแสดงเรื่องของอกุศลใดๆ ถ้าท่านผู้ฟังจะพิจารณา ท่านก็ย่อมจะเห็นได้ว่า อกุศลนั้นๆ ท่านยังมีอยู่มากหรือน้อย เพื่อที่จะได้ขัดเกลา
~ ถ้าท่านผู้ฟังศึกษาพระธรรมทั้งหมดที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จะเห็นได้ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประการเดียวแก่บุคคลทั้งหลาย คือ ให้เจริญกุศลทุกประการเท่าที่จะกระทำได้ ให้กระทำความดีทุกประการ แล้วก็ให้ละ ให้เว้นการกระทำความชั่ว จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด)
~ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของการเจริญกุศล ก็อบรมเจริญกุศลทุกประการ โดยไม่ประมาทว่า เป็นกุศลเพียงเล็กน้อย แล้วเวลาที่เห็นโทษภัยของอกุศล ก็ไม่ประมาทว่า เป็นโทษภัยของอกุศลเพียงเล็กน้อย
~ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องกุศลธรรมไว้มาก และทรงแสดงชี้แจงเรื่องของอกุศลธรรมทั้งหมดไว้โดยละเอียด เพื่อที่จะให้เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณของการอบรมเจริญกุศล โดยประการที่จะทำให้ผู้ฟังได้พิจารณาบ่อยๆ เนืองๆ มากๆ โดยประการทั้งปวง เพื่อที่จะเป็นปัจจัยให้กุศลจิตเกิดขึ้น
~ ถ้าเป็นผู้ที่อบรมเจริญเมตตายิ่งขึ้น อกุศลอื่นๆ ก็จะลดน้อยลง ความมานะ ความสำคัญตน ก็ย่อมจะเบาบางลงไป เพราะเห็นว่าในขณะใดที่มีความสำคัญตน ถือตน ในขณะนั้นไม่ได้เมตตาบุคคลนั้นเลย ถ้าเมตตาแล้ว ต้องไม่มีการสำคัญตน ต้องเป็นอาการที่สนิทสนม และเป็นไมตรีจริงๆ
~ ถึงใครจะโกรธ ก็ไม่โกรธตอบ รู้จักให้อภัย เห็นใครกำลังโกรธ ในขณะนั้นจะไม่มีความรู้สึกขุ่นเคืองใจ หรือไม่โกรธตอบ แต่ให้อภัยคนที่กำลังโกรธ ความโกรธไม่ว่าจะเป็นของใคร ก็มีอาการที่ไม่สงบ ประทุษร้าย เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นคนที่กำลังโกรธจริงๆ เห็นอาการประทุษร้ายจิตใจที่กำลังเกิดขึ้นกับบุคคลนั้น เห็นโทษทันที เวลาที่เห็นความโกรธของบุคคลอื่น แล้วตัวเองเมื่อเห็นโทษอย่างนั้น ยังอยากจะโกรธเหมือนอย่างนั้นหรือ ในเมื่อกำลังเห็นอาการของคนโกรธ ของความโกรธ เพราะฉะนั้น เมตตาเกิดได้ในขณะนั้น ซึ่งควรเจริญจนกว่าจะเป็นพื้นของจิตใจ ซึ่งสามารถที่จะให้อภัยได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการกระทำที่ไม่เหมาะสมทางกาย หรือทางวาจาก็ตาม
~ เวลาที่คิดจะโกรธบุคคลอื่น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลธรรมที่เบียดเบียนคนโกรธ หรือคนที่คิดอย่างนั้น
~ สำหรับประโยชน์ของเมตตา จะเกื้อกูลอุปการะแก่กุศลอื่นๆ เช่น สังคหวัตถุ (ธรรมเครื่องสงเคราะห์) ทำให้มีการให้ เป็นทาน ทำให้มีวาจาที่น่าฟัง เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ ไม่หยาบคาย ไม่เป็นโทษแก่บุคคลอื่น และเป็นผู้ที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นด้วยเมตตา พร้อมทั้งเป็นผู้ที่มีจิตใจเสมอกับคนอื่นฉันมิตร (เสมอเหมือนเพื่อน) จริงๆ ไม่มีความเห็นว่า ต่างกันเป็นเขา เป็นเรา หรือว่าสูงกว่า ต่ำกว่า ซึ่งการที่จะพิจารณาลักษณะสภาพของจิตใจ ซึ่งเป็นกุศลเกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า มีลักษณะต่างกับอกุศล
~ ผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ที่ฟัง แล้วประพฤติปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมอย่างไร ก็ค่อยๆ ประพฤติอบรมเจริญไปทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็จะสามารถประพฤติตามได้ยิ่งขึ้น
~ การเป็นบรรพชิตนั้น มีการสละทั้งหมด นอกจากสละวงศาคณาญาติ มิตรสหาย เพื่อนฝูง ยังสละโภคทรัพย์ทั้งหมด สมบัติทั้งหมด และยังพร้อมที่จะไม่มีสมบัติทางโลก แต่จะต้องเป็นผู้ที่พร้อมด้วยสมบัติทางธรรม ทั้งศรัทธา ทั้งศีล จาคะ (การสละกิเลส) สุตะ (การสดับตรับฟังพระธรรม) และปัญญา
~ ผู้ที่เป็นบรรพชิต อย่าลืมว่า เป็นตัวอย่างของความดีงาม พร้อมทั้งกาย วาจา ใจ จึงสมควรที่จะเป็น หรือว่าจึงสมควรจะบวช ซึ่งเป็นผู้ที่สูงกว่าคฤหัสถ์ เพราะคฤหัสถ์ไม่สามารถที่จะกระทำตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยละเอียด โดยครบถ้วนอย่างเพศบรรพชิตได้ เพราะฉะนั้น คฤหัสถ์จึงกราบไหว้นอบน้อมแสดงความเคารพต่อผู้ที่สามารถจะกระทำได้ คือ ผู้ที่บวชเป็นบรรพชิต เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง มีสัจจะ มีความจริงใจ ในการที่จะเป็นเพศหนึ่งเพศใดว่า ท่านสามารถจะเป็นเพศบรรพชิต หรือท่านสามารถเพียงเป็นเพศคฤหัสถ์
~ เรื่องของจิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าปล่อยให้จิตเป็นอกุศล มีกิเลสมีกำลังแล้วก็กระทำอกุศลกรรม เช่น ปาณาติบาต เป็นต้น ก็จะทำให้บุคคลนั้นเองเป็นผู้ที่ได้รับผลของการกระทำของตน ซึ่งเป็นการกระทำที่เลว ก็ได้ผลเลวด้วย
~ การที่จะตอบแทนพระคุณ ต้องด้วยคุณความดี ไม่ใช่เอาความไม่ดีไปตอบแทนคุณของใคร
~ ถ้าไม่ฟัง (พระธรรม) ด้วยดี ก็จะไม่เข้าใจคำที่ได้ฟัง
~ กิริยาอาการ และ วาจา ที่ไม่สมควร มาจากกิเลส
~ ถ้าบวชแล้ว ไม่ศึกษาพระธรรมและไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เป็นบาปหรือเป็นบุญ?
~ ถ้าจะบวชต้องไม่รับเงินรับทอง ไม่ว่ากรณีใดๆ ที่จะบอกว่ารับเพราะเหตุนั้น เพราะเหตุนี้เลย เมื่อศึกษาพระธรรม มีความเข้าใจในเรื่องของการขัดเกลากิเลส นำกิเลสออก โดยความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ละเอียดกว่าคฤหัสถ์ ขณะนั้นขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าเป็นบรรพชิตโดยที่ว่าไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัย เพราะไม่รู้ว่าจะขัดเกลากิเลสได้อย่างไร ก่อนบวช ควรที่จะให้ทุกคนที่จะบวชรู้ แต่...ปัจจุบัน ทันทีที่บวชเสร็จ ก็ถือบาตร แล้วก็มีผู้ใส่เงินทันที บาปตั้งแต่บวช ทันทีที่บวชก็บาป สมควรไหมที่จะให้เขาได้รู้ความจริง เพื่อจะได้ไม่เป็นโทษต่อไป
~ ความเป็นเราค่อยๆ ละคลาย เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
~ คุณความดีเพิ่มขึ้นเพราะปัญญาเห็นประโยชน์ ที่ทำคุณความดีกันก็ต้องเป็นเพราะปัญญาเห็นประโยชน์
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๗
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
กราบบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพอย่างสูง
ศึกษาพระธรรม เพื่อละความไม่รู้ และความรู้ที่มีกำลังยิ่ง จะทำหน้าที่ละอกุศล
กราบอนุโมทนา ขอบพระคุณอ.คำปั่น อักษรวิไลด้วยค่ะ
~ การที่จะตอบแทนพระคุณ ต้องด้วยคุณความดี ไม่ใช่เอาความไม่ดีไปตอบแทนคุณของใคร
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ