ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๙
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๙
~ ผู้ที่จะสละอาคารบ้านเรือน ละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิต แสดงให้เห็นว่า จะต้องเป็นผู้มีสัจจะ คือ เป็นผู้ที่มีความจริงใจต่อการขัดเกลากิเลสยิ่งกว่าเพศของคฤหัสถ์
~ คฤหัสถ์ผู้ใดก็ตามที่ถวายเงินแก่พระภิกษุ ผู้นั้นทำลายพระภิกษุ
~ พระภิกษุไม่มีกิจใดๆ ทั้งสิ้นที่เกี่ยวกับเงินและทอง ทุกประเภท จึงสมควรแก่เพศบรรพชิต
~ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย บวชทำไม? เป็นผู้ที่ไม่ตรง ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม และไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย เพราะฉะนั้น สมควรอย่างยิ่งที่จะกล่าวพระธรรมวินัย เพื่ออนุเคราะห์พุทธบริษัทให้เข้าใจถูกต้อง ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ที่จะได้ทำสิ่งที่ถูก ด้วยความเคารพในพระบรมศาสดา
~ ถ้าเพียงมีแต่เพศภิกษุแต่ไม่ได้ประพฤติตามพระธรรมวินัย เป็นบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา แล้วคฤหัสถ์ที่ส่งเสริม ร่วมกันทำลายหรือเปล่า?
~ ตราบใดก็ตามที่ยังมีผู้นำเงินไปเกี่ยวข้องกับพระภิกษุ ผู้นั้นไม่เป็นมิตรกับพระภิกษุแน่นอน เพราะทำให้ผู้กำลังจะละคลายกิเลส กลับต้องหมกมุ่นเพราะกิเลส
~ พุทธบริษัท ต้องอุปการะกัน สิ่งใดที่สมควรที่คฤหัสถ์จะปฏิบัติต่อบรรพชิต ควรเข้าใจให้ถูกต้องว่า อย่านำพิษ โทษ ไปให้กับผู้ที่พยายามที่จะละ (กิเลส) เพราะเป็นความผิดของคฤหัสถ์ พระเอาเงินมาจากไหน ถ้าคฤหัสถ์ไม่ให้
~ ชาวบ้าน อุบาสกอุบาสิกาอนุเคราะห์ภิกษุโดยไม่ให้ท่านต้องยุ่งหรือเดือดร้อนกับกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งเกี่ยวกับเงินทองดีไหม? สมควรไหม? ถูกไหม? แล้วจะทำไหม?
~ ไม่ว่าภิกษุใดทั้งสิ้น ไม่ยกเว้น เมื่อมีความเคารพในพระบรมศาสดาต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยและต้องศึกษาพระธรรม เพราะถ้าไม่ศึกษาพระธรรมไม่มีการที่จะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยได้ถูกต้องเพราะไม่เข้าใจธรรม
~ พุทธบริษัท ควรที่จะรู้พระวินัยบัญญัติพอสมควรที่จะเป็นผู้เอื้อเฟื้อต่อพระวินัย และไม่เป็นการไม่ทำลายภิกษุผู้รับด้วย เรื่องของแต่ละคนก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนต้องศึกษาและเกิดปัญญาของตนเอง ชาวบ้านอาจจะทำหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งทำไปโดยที่ไม่เข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ไม่สมควร แต่คิดว่าเป็นสิ่งที่สมควร โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับพระภิกษุ แต่ว่าผู้ใดตระหนักถึงการที่จะเอื้อเฟื้อต่อพระวินัย ก็ควรที่จะทราบเรื่องของพระวินัย เพื่อที่จะได้ไม่ทำลายผู้รับ
~ ถ้าอุบาสกอุบาสิกาจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จะเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยโดยการถวายความสะดวกแก่พระภิกษุ แล้วแต่ที่สามารถจะเป็นไปได้ในกรณีต่างๆ เรื่องการเดินทาง เรื่องความเป็นอยู่ เรื่องการป่วยไข้ ทุกอย่างเพียบพร้อม ก็ไม่มีทางที่ท่านจะต้องเดือดร้อน หรือเงินทองก็ไม่เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับท่าน เพราะฉะนั้นถ้าเป็นผู้หวังที่จะเกื้อกูลต่อพระธรรมวินัย และเพื่อไม่ทำลายพระภิกษุ ก็ควรที่จะอุปัฏฐากท่านโดยไม่ถวายเงิน
~ ควรจะมีมิตรสหาย ที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์สงเคราะห์ในกิจการงาน ในธุรกิจต่างๆ แต่ว่าบางท่านขาดมิตรไม่มีผู้สงเคราะห์ เกื้อกูล ช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ท่านเองอาจจะไม่ได้กระทำอะไรที่จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแตกแยกกับมิตรเลย แต่เพราะอดีตกรรม คือ ปิสุณาวาจา (การพูดส่อเสียด) ที่ได้กระทำแล้ว ย่อมทำให้มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือว่าเป็นเหตุให้เกิดแตกแยกกับมิตรสหาย โดยที่ท่านเองไม่ได้เป็นผู้กระทำความแตกแยกกับมิตรนั้น แต่ก็มีบุคคลอื่นที่จะทำให้เข้าใจผิด แล้วก็มีการแตกแยกกันได้
~ ถ้าท่านเสพสุราเมรัยจนกระทั่งเมามาย รู้ตัวบ้างไหมว่า ท่านได้กระทำอกุศลกรรมอะไรบ้าง ฆ่าก็ได้ ถือเอาทรัพย์ของบุคคลอื่นก็ได้ กระทำกาเมสุมิจฉาจาร (ประพฤติผิดในกาม) ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ กระทำอกุศลกรรมทุกอย่างได้ เพราะการเสพสุราเมามาย เพราะฉะนั้น เมื่ออกุศลกรรมได้กระทำลงไปแล้ว ผล ก็คือ ย่อมทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิได้
~ บางครั้งก็ยังมีการกระทำทุจริตกรรม ตามกำลังของกิเลส แต่ธรรมก็ยังเกื้อกูลอนุเคราะห์ให้ละคลายกำลังที่แรงกล้า ความเพียรที่แรงกล้าในทางทุจริตกรรมลง
~ การเป็นมนุษย์ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ มีโอกาสที่จะฟังธรรม เจริญกุศล ถ้าสิ้นชีวิตแล้วไม่ทราบว่าจะไปเกิดปฏิสนธิในภูมิใด ถ้าไปปฏิสนธิในอบายภูมิ ไม่มีโอกาสจะฟังธรรม พิจารณาธรรม ไม่มีโอกาสจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้สภาพธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริงได้
~ ถ้าบุคคลใดก็ตามเข้าใจว่า กรรมดีให้ผลไม่ดี กรรมชั่วให้ผลดี ผู้นั้นไม่ตรงต่อเหตุผล ผู้นั้นไม่สามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าได้ เพราะเหตุว่าเข้าใจผิด แม้ในเบื้องต้น
~ ใครที่ให้ความรู้ความเข้าใจ ผู้นั้นให้ทานที่เลิศประเสริฐที่สุด คือ ไม่ให้ความเห็นผิด ไม่ใช่สิ่งที่ต่างไปจากความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ธรรมทาน ก็คือ ให้คนได้เข้าใจธรรมที่ถูกต้อง
~ พุทธศาสนาเป็นคำสอนที่ทำให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่ให้เกิดความไม่รู้เลย ยิ่งศึกษาก็จะต้องเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมและเหตุผลของสภาพธรรมนั้นๆ ยิ่งขึ้น
~ เวลาที่บุคคลอื่นกระทำปาณาติบาต (ฆ่าสัตว์) อทินนาทาน (ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้) คนอื่นทำน่ารังเกียจมาก แต่เวลาที่ท่านกระทำปาณาติบาต ฆ่าสัตว์เล็ก สัตว์น้อย สัตว์ใหญ่ ติเตียนตนเองหรือไม่ ขณะนั้นกิเลสของใคร ไม่ใช่ของคนอื่น แต่เมื่อเป็นธรรมที่มีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดก็เกิด แล้วก็เกิดแล้วตามกำลังของปัจจัยนั้นๆ เพราะฉะนั้น ควรติตนเอง ถ้าท่านรังเกียจอกุศลกรรม แล้วก็ไม่ใช่การกระทำของคนอื่นที่ไม่ดี แต่เป็นการกระทำของตัวท่านเองแท้ๆ ที่ไม่ดี ควรอย่างยิ่งที่ตนเองจะพึงติเตียนตนเองโดยศีล แล้วก็จะได้ละเว้นทุจริตกรรมนั้น
~ รักตัวเองไหม? ไม่ใช่ (เพียง) พูดว่ารัก แต่ต้องทำ คือ ประพฤติกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ถ้าบอกว่ารักตัวเอง แต่สะสมกิเลส อกุศลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นชื่อ ไม่รักตัวเอง
~ ถ้าไม่ได้อบรมตั้งแต่เป็นเด็กจริงๆ ให้เห็นว่า การที่จะถือเอาวัตถุของบุคคอื่นนั้น เป็นสิ่งไม่ควรกระทำ ท่านก็อาจจะมีอุปนิสสัยสะสมมาในการที่จะถือเอาวัตถุของบุคคลอื่น ทีละเล็ก ทีละน้อย จนกระทั่งเมื่อโตขึ้นมีกิจการงานหน้าที่ ที่ท่านสามารถจะถือเอาวัตถุของบุคคลอื่นที่เจ้าของไม่ได้ให้ กิเลสที่มีกำลังก็ย่อมจะทำให้ท่านสามารถจะกระทำทุจริตกรรม เบียดเบียน ถือเอาวัตถุของผู้อื่นมาเป็นของท่าน ได้
~ ปัญญาประเสริฐสุด เพราะว่าถ้าเมื่อ (ปัญญา) มีกำลังแล้ว ก็สามารถดับกิเลสได้ ซึ่งทุกคนกำลังมีกิเลส แต่ไม่เห็นโทษของกิเลส ไม่เห็นโทษของอกุศล จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เมื่อเห็นโทษแล้วก็ยังยากที่จะดับอกุศล เพราะเหตุว่าอกุศลมีกำลังมาก เพราะว่าสะสมมานานมาก ต้องอาศัยปัญญาที่มีกำลัง จึงสามารถที่จะดับอกุศลได้
~ เข้าใจธรรม ก็คือ มั่นคงว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาด้วย ตั้งแต่เริ่มฟัง จนถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็คือ ธรรมทั้งหลาย ไม่ใชสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง ไม่ใช่เป็นบุคคล ไม่ใช่เป็นสัตว์ ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่เป็นธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ
~ วันหนึ่งๆ ก็มีเรื่องที่จะคุยกันมากเหลือเกิน หลายเรื่อง แต่ว่าเรื่องใดซึ่งเป็นการสงเคราะห์กันด้วยธรรม ย่อมมีประโยชน์ที่สุด เพราะทำให้บุคคลนั้นเจริญปัญญา ไม่ใช่แต่เพียงทำให้สบายใจเพราะเป็นเพียงถ้อยคำอันเป็นที่รัก แต่ว่านอกจากจะเป็นถ้อยคำอันเป็นที่รักแล้ว ก็ยังเป็นถ้อยคำที่มีประโยชน์เกื้อกูลแก่การอบรมเจริญปัญญายิ่งขึ้น
~ ผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ก็ย่อมจะรู้ว่า ไม่ควรที่จะเป็นผู้ที่ทะนงตนหรือสำคัญตน แต่ควรเป็นผู้อ่อนน้อม และสะสมการกระทำทุกอย่างที่ถูกที่ควร เพื่อละคลายอกุศล
~ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตนเองไม่ดีแค่ไหน โกรธดีไหม? ติดข้องดีไหม? ริษยาดีไหม? พูดจาไม่น่าฟัง ดีไหม? ไม่ดีทั้งหมดเลย
~ ถ้ากุศลไม่เกิด ไม่เห็นโทษของอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย อกุศลก็เกิดต่อไป
~ ปัญญาจะเกิดได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมแต่ละคำ แล้วก็มีความเข้าใจ รอบรู้ในคำนั้น แทงตลอดในคำนั้น จนเป็นสัจจญาณ (ความเข้าใจความจริงอย่างมั่นคง) ว่า ธรรม เป็นธรรมแน่นอน เป็นอย่างอื่นไม่ได้
~ คนที่ไม่รู้ธรรม เราควรพูดให้เขาเข้าใจธรรมไหม? (ควรพูด) ซึ่งหารู้ไม่ว่าขณะนั้นเป็นการสละกิเลสของตนเอง
~ เสียสละ เพื่อคนอื่น แต่ในขณะนั้นเป็นการสละกิเลสของตน
~ จากการที่ได้เกื้อกูลธรรมต่อผู้อื่น เป็นประโยชน์ถ้าเขาเข้าใจ ถ้าเขาประพฤติตามถูกต้อง เป็นประโยชน์ใหญ่ที่ได้ช่วยคนซึ่งเข้าใจผิดทำผิดให้กลับเห็นถูก เข้าใจถูก
~ เมตตาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า อภัยได้ไหม เรื่องที่ไม่น่าอภัยมีเยอะ แต่อภัยได้ไหม แล้วจะอภัยหรือไม่อภัย ยังดื้อไม่อภัย หรือรู้ว่า ดื้อไปทำไม โทษอยู่ที่ไหนไม่ใช่อยู่ที่คนที่เราไม่อภัย แต่อยู่ที่ความไม่อภัยของตนเอง
~ ต้องเป็นผู้ตรงต่อพระธรรม และมีความจริงใจต่อการศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจพระธรรม และละคลายขัดเกลาอกุศลของตนเอง เพราะเหตุว่าทุกคนที่ศึกษาพระธรรมย่อมรู้ว่า ตนเองมีอกุศล ถ้าไม่มีอกุศล คงจะไม่ศึกษาพระธรรมแน่ แต่อกุศลที่คิดว่ารู้แล้ว ความจริงแล้วละเอียดมากกว่านั้นมากทีเดียว ซึ่งถ้าไม่พิจารณาโดยรอบคอบ ก็อาจจะไม่เห็นความละเอียด
~ เกิดมาทุกคนต้องตายแน่ จะอายุยืนยาวมากน้อยสักเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ แล้วอะไรจะดีที่สุดสำหรับชีวิตที่ยังเหลืออยู่?
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๕๘
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...