ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๕
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๕
~ การพูดความจริงที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่ด้วยความหวังดีหรือ? ใครจะรักใครจะชัง ไม่ได้สำคัญเลย แต่ใจของผู้ที่อนุเคราะห์คนอื่นให้เข้าใจถูกในพระธรรมวินัย เป็นความดี ซึ่งบังคับไม่ได้ที่จะไม่ให้เขาทำ ถ้าเป็นกุศลแล้ว ทำ กุศลทุกชนิด กล้าที่จะทำกุศล
~ พระภิกษุไม่ได้มีชีวิตอย่างคฤหัสถ์ ชัดๆ มีรถยนต์ มีเงินทอง มีที่ดิน มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ นั่นคือ คฤหัสถ์ ไม่ใช่พระภิกษุ แล้วจะไปไหน ถ้าไม่เป็นผู้ตรง เพราะว่า เพศเป็นพระภิกษุ แต่ความประพฤติทุกวัน ไม่ใช่พระภิกษุ ด้วยเหตุนี้ เป็นการถูกต้องไหม ที่จะให้พุทธบริษัทได้เข้าใจถูกต้องในพระธรรมวินัย ด้วยความหวังดีต่อบุคคลนั้นๆ ด้วย และด้วยความหวังดีที่จะให้พระธรรมวินัยมั่นคงสืบต่อไปด้วย
~ พระภิกษุที่ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า โมฆบุรุษ (ว่างเปล่าจากคุณความดี)
~ ที่เป็นพระภิกษุเพื่อต้องการพ้นจากภาระของคฤหัสถ์ และสละชีวิตเพื่อศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เพราะเห็นประโยชน์สูงสุดว่าการที่จะเป็นผู้ที่ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ก็คือ ประพฤติปฏิบัติต่างจากคฤหัสถ์โดยสิ้นเชิง ตามพระธรรมวินัย เพราะฉะนั้น ก็ต้องสำนึกแล้วก็รู้ตัวว่าเป็นพระภิกษุทำไม?
~ ถ้าไม่มีพระภิกษุที่ศึกษาพระธรรมวินัย ก็ต้องไม่มี จะบอกว่า มี ได้อย่างไร ไม่มี ก็คือ ไม่มี แล้วยังคิดว่ายังมีหรือ เพราะฉะนั้น ความจริงต้องเป็นความจริง และต้องเป็นผู้ตรง มิฉะนั้นจะไม่ได้สาระจากพระธรรม
~ เรื่องของความตายก็เป็นเรื่องธรรมดา เรื่องของความเจ็บไข้ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นความเป็นธรรมดาอย่างนี้ ก็จะคลายความกลัวตาย เป็นบุคคลที่ไม่กลัวที่จะตายจริงๆ เพราะว่าเป็นบุคคลที่อบรมเจริญกุศลธรรมพอที่จะไม่หวั่นไหวในเรื่องของความตาย แล้วก็รู้ความจริงของสภาพนามธรรมและรูปธรรมว่า ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก แล้วแต่ว่าจะเกิดในภพใดภูมิใด ก็เป็นไปตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว เมื่อเป็นผู้ที่อบรมเจริญกุศลอยู่ ก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่หวั่นไหว
~ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็เป็นเหตุให้ประพฤติอกุศลกรรม แต่ผู้ที่เห็นโทษนี้ก็ยังมีเจตนาที่จะวิรัติ (งดเว้น) เท่าที่สามารถจะกระทำได้
~ การดื่มสุราที่เป็นเหตุให้ก่อการทะเลาะวิวาทก็เป็นได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่ยังไม่ได้ดื่มสุรากับผู้ที่ดื่มสุรามากๆ จนกระทั่งมึนเมาแล้ว ก็คงมีลักษณะอาการที่ต่างกันไป คือ ผู้ที่ก่อนจะดื่มสุราก็อาจจะไม่ทำอะไรหลายอย่างที่น่าละอาย แต่ว่าผู้ที่ดื่มสุราแล้วก็สามารถที่จะกระทำกรรมต่างๆ ได้ แม้แต่การฆ่ามารดา การฆ่าบิดา หรือพูดคำซึ่งเมื่อไม่ได้ดื่มสุราก็คงจะพูดไม่ได้ แต่ว่าเมื่อดื่มสุราแล้ว ก็พูดคำที่ไม่สามารถจะพูดได้นั้น
~ เราจากโลกก่อนมา โดยไม่รู้เลยว่าเราจะมาเป็นอย่างนี้ในโลกนี้ ฉันใด ถึงเวลาที่จะจากโลกนี้ไปก็ธรรมดา เพราะฉะนั้น ก็สะสมความดีสะสมปัญญาความเห็นถูกเพราะเหตุว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ความดีก็แสนยากที่จะมากขึ้นเจริญขึ้นได้
~ แม้ว่าพระธรรมจะได้ทรงแสดงให้ละกิเลส ให้เห็นโทษของอกุศล เช่น โทสะ แต่ว่าผู้นั้นก็ยังคงจะพอใจที่จะโกรธต่อไป ที่จะผูกโกรธต่อไป ที่จะไม่อภัยต่อไป ที่จะเป็นผู้ที่ละอกุศล นั่นคือผู้ว่ายาก เพราะฉะนั้นผู้ว่าง่ายไม่ใช่ผู้เชื่อง่าย ในเรื่องของความเชื่อ ในเรื่องของความเห็น ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาความถูกต้อง ความผิด และความถูกว่าสิ่งใดผิดก็ผิด สิ่งใดถูกก็ถูก อย่างอกุศล ต้องเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่งาม นี่ถูกขั้นหนึ่ง แต่ทั้งๆ ที่เห็นว่าไม่ดีไม่งาม แต่ยังอยากจะมีหรือยังคงมีต่อไป นี่ผิด นี่คือผู้ว่ายาก
~ ยิ่งเป็นผู้มีความรู้ในทางธรรม ยิ่งต้องเป็นผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตน นี่เป็นสิ่งที่จะต้องคู่กัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดก็ตามเป็นผู้ฟังมาก มีความรู้ความเข้าใจธรรม แต่ไม่ใช่ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่ผู้ที่ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นธรรมที่ได้ฟัง ไม่ได้เป็นประโยชน์ นอกจากจะทำให้เกิด อกุศลประเภทอื่น เช่น ความสำคัญตน
~ เรื่องโกรธเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่ว่าอย่าผูกโกรธ เรื่องไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ชอบอย่างนั้น ไม่ชอบอย่างนี้ ไม่ชอบการกระทำหรือคำพูดอย่างนั้นอย่างนี้ แต่อย่าให้ถึงกับเกลียด เพราะเหตุว่านั่นเป็นความลึกของกิเลสซึ่งสะสมมากทีเดียวที่แสดงออก เพราะฉะนั้นถ้าไม่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีเหตุการณ์ที่จะทำให้ลักษณะอาการของอกุศลขั้นต่างๆ นั้นปรากฏ ก็ย่อมจะไม่รู้จักตัวเองว่า มีอกุศลมากมายหนาแน่นแค่ไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่โกรธ แต่ไม่พยาบาท อภัยได้ และไม่ผูกโกรธ ก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องของผู้ว่ายาก ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ยอมจะอภัย และยังพอใจที่ยังโกรธอยู่ เป็นผู้ไม่น้อมที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม นั่นคือผู้ที่ว่ายาก
~ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องของความไม่โกรธ ทุกคนที่ยังโกรธอยู่ คิดอย่างไร? ยังจะเป็นผู้ว่ายาก คือว่าอยากจะโกรธต่อไปอีก หรือว่าเป็นผู้น้อมไปที่จะไม่โกรธ เพราะเหตุว่าจะไม่โกรธทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่แม้กระนั้นพระธรรมที่ได้ฟังก็ทำให้จิตอ่อนโยน แล้วก็มีศรัทธาที่จะน้อมไปที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ที่ใช้คำว่า “น้อมประพฤติปฏิบัติตาม” เพราะเหตุว่าทุกคนยังปฏิบัติตามทันทีไม่ได้ตรงตามที่ได้เข้าใจ เช่นเข้าใจว่า โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี แต่ว่าใครจะละโลภะ โทสะ โมหะ ได้ในเมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้นถึงขั้นที่จะละได้
~ การที่จะรักษาพระศาสนาไว้ได้ ต้องเริ่มจากบุคคลซึ่งเป็นผู้ฟังพระธรรม คนที่ไม่เข้าใจพระธรรมหรือไม่ฟังพระธรรม ไม่ใช่ผู้ที่จะดำรงพระศาสนา
~ ทุกคนฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจในเหตุในผล อกุศลเป็นอกุศล เป็นโทษ กุศลเป็นกุศล ไม่เป็นโทษ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วก็น้อมไปที่จะละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ใช่ยังเป็นผู้ที่แข็งกระด้าง ว่ายาก ไม่ว่าพระธรรมจะว่าอย่างไร แต่ใจยังต้องการที่จะเป็นอกุศลต่อไปอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นผู้ที่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมก็ตั้งแต่ในขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้าย คือ ปฏิบัติธรรมในขั้นที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้
~ ถ้าไม่เข้าใจแล้ว จะทำให้ปฏิบัติธรรมที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม ก็ไม่ได้ ถ้ายังเป็นผู้ที่ว่ายาก ไม่อดทน มักโกรธ ก็ไม่สามารถที่จะเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้ว่าง่าย อดทน และน้อมไปที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น
~ ถ้าใครที่ยังคงไม่คิดที่จะเป็นผู้ที่มีเมตตาเพิ่มขึ้นๆ ก็ไม่มีทางที่จะถึงฝั่ง คือ พระนิพพานได้ เพราะฉะนั้น จะขาดบารมี (คุณความดีที่ทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ข้อหนึ่งข้อใดก็ไม่ได้
~ พระธรรมเริ่มจะส่องเป็นกระจกอย่างดีที่จะเห็นทุกซอกมุมของจิตใจของตนเองว่า เป็นบุคคลประเภทใด แต่ต้องเป็นผู้ตรงด้วย
~ ธรรมเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ตั้งแต่เกิดจนตาย พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ เรื่องของการเห็น แล้วก็ชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดการกระทำทางกาย ทางวาจาที่เป็นด้วยกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้าง นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็ย่อมเป็นผู้ที่เข้าใจสภาพธรรมที่ตัวเองชัดเจนถูกต้อง ถ้าเป็นการศึกษาเพื่อที่จะขัดเกลากิเลส เพราะฉะนั้นลืมจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรมไม่ได้เลย มิฉะนั้นแล้วการศึกษานั้นจะเป็นการศึกษาแบบจับงูพิษที่หาง และงูพิษนั้นก็จะกัด เพราะเหตุว่าเมื่อมีความรู้มากขึ้น ก็มีความสำคัญตน มีความทะนงตน แต่ว่าไม่ได้น้อมที่จะเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมด้วยการขัดเกลากิเลส
~ ทุกท่านมีความรักตนเป็นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น สิ่งใดก็ตามที่จะทำให้ตนเองได้ดี มีสุข แต่ไม่ประกอบด้วยเหตุผล ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดง ขณะนั้นเป็นมงคลตื่นข่าว
~ การที่จะเป็นพุทธศาสนิกชนจริงๆ ก็จะต้องพิจารณาให้รู้ว่า ธรรมใดเป็นคำสอนที่แท้จริงของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่พิจารณาจริงๆ ก็จะไม่พ้นไปจากความเห็นผิด หรือมงคลตื่นข่าว ซึ่งถ้ามีความสนใจนิดหนึ่ง ก็จะพาไปสู่ความสนใจ และความขวนขวายยิ่งขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนในที่สุดก็จะไม่แสวงหาพระธรรมที่แท้จริง และจะไม่พิจารณาเหตุผลโดยละเอียด
~ ผู้ที่เป็นชาวพุทธ จะไม่มีการพึ่งวัดหนึ่งวัดใดทั้งสิ้น แต่พึ่งพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึ่งพระรัตนตรัย
~ พระภิกษุ คือ ผู้ที่เห็นภัยในสังสารวัฏฏ์ ใครก็ตามที่ไม่เห็นโทษเห็นภัยของสังสารวัฏฏ์ แล้วจัดให้มีการบวช นั่นบวชเป็นพระภิกษุหรือ? เพราะไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย ไม่ได้เห็นโทษเห็นภัยของสังสารวัฏฏ์เลย
~ ศาสนทายาท ไม่ใช่อยู่ที่ผู้ไม่ศึกษาพระธรรม ไม่ใช่อยู่ที่ผู้ไม่ได้น้อมประพฤติตามพระธรรมวินัย
~ บังคับให้มีการบวชได้หรือเปล่า ในโอกาสนั้น โอกาสนี้ มีในพระไตรปิฎกหรือเปล่า ความเป็นอนัตตาอยู่ที่ไหน?
~ ไม่ศึกษาพระธรรมวินัย จะเป็นพระภิกษุได้อย่างไร?
~ การทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ไปสวรรค์ แต่ไปนรก
~ พระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อพุทธบริษัทศึกษาพระธรรม เข้าใจ และประพฤติปฏิบัติขัดเกลากิเลสตามเพศบรรพชิต และ คฤหัสถ์
ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๔
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...