ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๖

 
khampan.a
วันที่  25 ก.ย. 2559
หมายเลข  28227
อ่าน  2,922

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๖

~ บำรุงพระพุทธศาสนาก็ต้องเข้าใจพระธรรม ศึกษาพระธรรมถ้าไม่เข้าใจพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม ทำอะไร? บำรุงความไม่รู้ของตัวเองด้วย และของคนอื่นด้วย แล้วมีประโยชน์อะไร?เพราะฉะนั้น พระธรรมทั้งหมดทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกระจ่างชัดเจนจากความที่หลงงมงายและไม่รู้ เพราะฉะนั้น ถ้าสืบสวนไตร่ตรองดีๆ พระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่พิฆเนศ ไม่ใช่ลูกเทพ ไม่ใช่อะไรทั้งหมดเลย แล้วนับถือใคร?

~ ถ้านับถือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ละคำเข้าใจหรือยัง? พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีตรัสรู้ความจริงเดี๋ยวนี้เลย ทุกอย่างเพื่อให้คนที่ไม่รู้ได้เข้าใจขึ้นจนกระทั่งรู้ว่าความจริงเป็นอย่างนี้ อย่างที่พระองค์ได้ทรงแสดง เพราะฉะนั้น จึงกราบไหว้ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต เพราะเหตุว่าเห็นคุณ เห็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงเรื่องบำรุงพระศาสนา ก็คือ เข้าใจธรรม ศึกษาธรรม เมื่อเข้าใจธรรม ศึกษาธรรมแล้ว จะไม่ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือ? จะไม่กราบไหว้บูชาในคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นหรือ?

~ ชาวพุทธก็ต้องเข้าใจพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ประพฤติปฏิบัติตาม โดยฐานะของบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็ไม่ทำอกุศลกรรมบถ ทุจริตกรรมต่างๆ และก็ต้องศึกษาธรรมให้เข้าใจ ถ้าเป็นพระภิกษุก็จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย

~ กายก็ไม่ควรที่จะให้ประพฤติทุจริต พร้อมกันนั้นก็ควรประพฤติสุจริตด้วย วาจาก็ไม่ควรที่จะให้ล่วงไปเป็นวจีทุจริต และควรที่จะประพฤติสุจริตด้วยวาจา แม้ทางใจก็พึงรักษาความกำเริบทางใจ ขณะใดที่หวั่นไหวไปด้วยกิเลส ทางเดียวที่จะรักษาความกำเริบทางใจในขณะนั้นได้ ก็คือสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น

~ เรื่องของความโกรธเป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ซึ่งควรที่จะได้พิจารณาสภาพจิตใจของท่านเอง ถ้าท่านจะเกิดอาฆาตหรือผูกโกรธในบุคคลใดขึ้น ก็ควรที่จะได้พิจารณาบุคคลที่ท่านโกรธ หรือที่ท่านผูกอาฆาตว่า เป็นบุคคลประเภทใด และท่านควรหรือไม่ ที่จะเกิดอกุศลจิต แต่ว่าจะมนสิการ (ใส่ใจ) อย่างไร เพื่อที่จะให้จิตไม่เป็นอกุศล

~ ควรที่จะเกื้อกูล อนุเคราะห์ด้วยความเอ็นดู ด้วยความกรุณาในบุคคลนั้น ที่จะให้บุคคลนั้น ละกายทุจริต แล้วประพฤติกายสุจริต ละวจีทุจริต แล้วอบรมวจีสุจริต ละมโนทุจริต แล้วอบรมมโนสุจริต เพราะเหตุว่าถ้าบุคคลนั้นยังไม่ละ เมื่อตายไป ก็ย่อมจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

~ ไม่ควรมีเจตนาที่อยากจะให้บุคคลอื่นไปสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก เลย เพราะเหตุว่าถ้าท่านมีเจตนาอย่างนั้น จะเป็นอกุศลเจตนา หวังร้ายกับบุคคลอื่น อยากให้บุคคลอื่นได้รับทุกข์ทรมานในอบายภูมิ

~ ไม่ใส่ใจถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น แล้วก็พยายามระลึกถึงความดีของบุคคลอื่นที่มี แต่ถ้าบุคคลนั้นไม่มีเลย ทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจไม่บริสุทธิ์ ก็ควรจะเกิดความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ความกรุณาที่ใคร่ที่จะให้บุคคลนั้นละกายทุจริต อบรมกายสุจริต ละวจีทุจริต อบรมวจีสุจริต ละมโนทุจริต อบรมมโนสุจริต เพื่อว่าเมื่อเขาตายไปก็จะได้ไม่เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก อย่าเกิดอกุศลจิตที่อยากจะให้เขาไปสู่นรก เพราะเหตุว่าถ้าคิดอย่างนั้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิตของท่านเอง

~ เรื่องของคำพูดมีมากเหลือเกินในวันหนึ่งๆ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สำหรับท่านเอง วจีทุจริตอย่างไหนที่ยังคงมีอยู่มากหรือน้อย สติเกิดขึ้นก็จะได้วิรัติ (งดเว้น) วจีทุจริตนั้นๆ ให้เบาบางลง และเรื่องของคำพูดก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในสถานการณ์อย่างเดียวกัน ในสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเดียวกัน บุคคลใดจะพูดอย่างไร ต้องแล้วแต่สภาพของจิตใจของบุคคลนั้น

~ วาจาหยาบทั้งหมด ไม่มีประโยชน์เลย ถ้าเว้นได้ ละได้ และเปลี่ยนเป็นวาจาที่ไม่มีโทษ เพราะหู ชวนให้รัก จับใจ เป็นที่นิยม ตามความนิยมของชาวเมือง ก็เป็นการกล่าววาจาที่รู้จักกาลเวลา รู้จักบริษัท บุคคล สถานที่ ซึ่งก็จะทำให้ขณะนั้นบุคคลที่ได้ยินได้ฟัง ไม่เดือดร้อนใจ

~ กุศลนี้แม้เพียงชั่วขณะเล็กน้อยอย่างไรก็ตาม ที่ท่านรู้สึกว่า เป็นกุศลที่ไม่ใหญ่โตอะไรเลย เพียงแต่วาจาที่อ่อนหวาน และไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนใจ ก็อย่าประมาทในกุศลเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งควรที่จะอบรมเจริญจริงๆ ถ้าท่านเป็นผู้ที่อบรมการละเว้นผรุสวาจา จิตใจของท่านไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าไม่กล่าวผรุสวาจา และไม่เดือดร้อน เพราะเหตุว่าคนที่รับฟังคำของท่านไม่เดือดร้อนใจ จึงไม่นำความเดือดร้อนใจมาให้ท่านซึ่งเป็นผู้กล่าวด้วย

~ ขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก แล้วกว่าจะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท (ถอนขึ้นได้อย่างเด็ดขาด) ก็จะต้องอบรมเจริญกุศลทุกประการ ประการที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือ การอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

~ การที่ปัญญาจะเจริญนี้จะเห็นได้ ว่าไม่ใช่ง่ายเลย แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นผู้ที่สอบถามข้อสงสัยเพื่อความเข้าใจชัดเจนขึ้น เป็นผู้ที่พิจารณาผลจากการฟังพระธรรมของตนเอง เป็นผู้ที่สำรวมระวัง และก็เป็นผู้ที่มีปกติเห็นภัยในโทษแม้มีประมาณน้อย ก็ยังต้องเป็นผู้ที่ต้องอาศัยการฟังต่อไปอีก

~ กุศลทุกประการที่จะเจริญขึ้น ก็จะพ้นจากการอบรมเจริญปัญญาไม่ได้ เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญา ความเข้าใจในพระธรรม กุศลทั้งหลายก็เจริญไม่ได้ แต่ที่กุศลทั้งหลายจะเจริญได้ ก็เพราะมีความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น

~ ถ้าไม่เคารพผู้ที่มีความรู้ในธรรม จะทำให้ผู้นั้นตั้งใจที่จะฟังแล้วก็ศึกษา แล้วก็พิจารณาจนกระทั่งเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นไหม ลองคิดถึงความรู้สึกในใจของแต่ละท่าน ถ้าท่านไม่เคารพผู้แสดงธรรมท่านหนึ่งท่านใด ท่านย่อมไม่ฟังบุคคลนั้น ใช่ไหม? แต่เพราะเหตุว่าท่านรู้ว่าผู้นั้นสามารถที่จะให้ความเข้าใจที่ถูกต้องได้ นี่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเคารพในบุคคลนั้น ซึ่งจะทำให้การฟังเป็นไปด้วยความเคารพ พิจารณาในเหตุผล แล้วก็ย่อมเป็นเหตุให้ได้ปัญญาหรือเพื่อความบริบูรณ์แห่งปัญญาที่ได้แล้ว

~ เกิดมาแล้ว คิดถูก รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด สมควรหรือไม่สมควร พูดถูก พูดสิ่งที่จริงและมีประโยชน์ แล้วก็ทำถูกต้องด้วยเกิดมามีประโยชน์มากเพราะเหตุว่าได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น


~ ธรรมทั้งหมดสำหรับแต่ละท่านเองที่จะพิจารณาตัวเองจริงๆ แม้ในเรื่องของอหิริกะ (ความไม่ละอายต่อบาป) และอโนตตัปปะ (ความไม่เกรงกลัวต่อบาป) ด้วย ขณะนี้มีไหม? ข้อสำคัญที่สุด ขณะที่เป็นกุศล ไม่มีอหิริกะอโนตตัปปะ แต่ขณะใดที่เป็นอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย ก็มี อย่าประมาทต่ออหิริกะและอโนตตัปปะ เพราะเหตุว่าถ้ามี แล้วไม่เห็นว่าเป็นอกุศล อหิริกะและอโนตตัปปะก็จะเพิ่มกำลังขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะกระทำทุจริตกรรมได้

~ ถ้าใครก็ตามยังทำความดีทุกอย่าง แต่ไม่ใช่เพื่อปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้ว ยังไม่เป็นบารมี ถ้าทำบุญแล้วปรารถนาสิ่งอื่น ไม่ใช่บารมี แต่เมื่อรู้ว่า การอบรมเจริญปัญญาต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แล้วการเจริญกุศลทุกประการ เพื่อจุดนั้นจุดเดียว คือ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม กุศลทั้งหลายที่บำเพ็ญจึงจะเป็นบารมี เพราะเหตุว่าต้องการเพื่อที่จะถึงฝั่ง

~ ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้ด้วยความไม่รู้ ด้วยความยึดถือ ด้วยความเป็นตัวตน ไม่ใช่หน้าที่ของมิจฉาทิฏฐิที่จะดับกิเลส แต่มิจฉาทิฏฐิทำให้เกิดกิเลสเพิ่มขึ้น อวิชชาก็ทำให้เกิดทั้งโลภะ โทสะได้ ทำให้เกิดมิจฉาทิฏฐิได้ เพราะฉะนั้น ปัญญาเท่านั้นซึ่งจะทำกิจละคลายจนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้จริงๆ เพราะฉะนั้น ต้องอบรมเจริญปัญญา ถ้าไม่มีปัญญา หรือปัญญายังไม่เกิด หรือปัญญายังไม่เจริญ ก็ไม่มีทางที่จะไปดับกิเลสได้

~ ถ้าวันหนึ่งๆ มีโอกาสจะฟังมาก ก็จะทำให้คิดถึงเรื่องของธรรมมาก และถ้าฟังจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยแล้ว เวลาที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็ยังอาจจะคิดเรื่องธรรมแทนที่จะคิดเรื่องอื่นก็ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังของการสะสม ซึ่งควรที่จะไม่ประมาทเลย

~ เมื่อแสดงธรรมกับใคร ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือใครก็ตาม ก็ให้เขาเข้าใจได้ถูกในเรื่องของเหตุที่เป็นกุศลว่า จะต้องนำซึ่งผล คือ กุศลวิบากมาให้แน่นอน ถ้าเขาทำอกุศล แม้ว่าเขาจะขอร้องสักเท่าไร ย่อมไม่ได้ตามความปรารถนา แต่เมื่อกุศลเป็นเหตุมี ผล คือ กุศลวิบากย่อมมี แม้ไม่ขอก็ต้องมี ทำไมต้องขออีก ในเมื่อมีเหตุแล้ว ผลก็ต้องมี จะเอาผลไปทิ้งไว้ที่ไหน

~ ตราบใดที่พระธรรม คือ คำสอนของพระองค์ยังดำรงอยู่ ก็ยังมีผู้สามารถศึกษา สามารถเข้าใจ สามารถที่จะไม่หลงผิด สามารถประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ตราบใดที่พระสัทธรรมยังไม่อันตรธาน

~ พระธรรมที่ทรงพระมหากรุณาแสดง เพื่อให้แต่ละบุคคลที่ได้ฟังพิจารณาเห็นประโยชน์เพื่อ ประพฤติปฏิบัติตาม ก็จะทำให้จิตใจอ่อนโยนแล้วเป็นผู้ว่าง่ายที่จะประพฤติตามพระธรรม ขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น

~ ถ้าจะพิจารณาถึงวาจาของแต่ละบุคคล รวมทั้งวาจาของท่านเองด้วย ก็จะเห็นได้ว่า แสดงถึงกิเลสที่สะสมที่มีอยู่ในใจมากน้อยแค่ไหน คำพูดซึ่งเป็นที่น่าชื่นใจ กับ คำพูดที่หยาบคาย แสดงถึงจิตใจที่ต่างกันแล้ว ใช่ไหม? คำพูดที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ต่างๆ ส่องให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของกิเลสที่สะสมมีอยู่ในใจนั่นเอง

~ เห็นโทษของกิเลสที่มีสะสมอยู่ในใจ แล้วรู้ว่าหนทางเดียวที่จะละได้ ก็ด้วยการที่สติระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สภาพของกิเลส สภาพของอกุศลทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรจะสะสมให้มากขึ้น

~ อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นมลทินของจิต ทำให้จิตไม่สะอาด ทำให้จิตแปดเปื้อนด้วยอกุศลธรรมทั้งหลาย

~ เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ฟังพระธรรม ฟังอีก ก็เข้าใจขึ้นอีก

~ ในสังสารวัฏฏ์ จะมีใครที่ทำให้สัตว์โลกที่ไม่รู้ ให้รู้ ได้ ถ้าไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

~ หลงโกรธ หลงเกลียด หลงรัก ในสิ่งที่เพียงปรากฏแล้วหมดไป

~ ตั้งแต่เช้ามา อกุศล กับ การได้ฟังพระธรรม อย่างไหนมากกว่ากัน?

~ ดี เท่าไหร่ พอไหม? ฟังพระธรรม เท่าไหร่ พอไหม? เข้าใจพระธรรม เท่าไหร่ พอไหม? ยังไม่พอ ทั้งนั้น

~
ปัญญา (ความเข้าใจถูกเห็นถูก) นำไปที่จะถือเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์

~ คนที่มีเมตตา จะไม่มีโทษใดๆ ทั้งสิ้น และเป็นผู้ประเสริฐด้วยในขณะที่มีเมตตาต่อคนอื่น

~ อกุศลทั้งหลาย การล่วงศีล ก็ต้องมาจากกิเลส ตราบใดที่ยังมีความไม่รู้
ยังมีกิเลส ก็ต้องมีการล่วงศีลไม่วันนี้ก็วันหน้า ใครจะรู้?

~ สนทนาธรรม เพื่อให้เข้าใจธรรมหรือเปล่า? เพื่อเข้าใจธรรม เข้าใจธรรม เป็นความดีหรือเปล่า? ป็นความดี ความดีที่เหนือความดีอื่น ก็คือ ความเข้าใจธรรม เมื่อมีความเข้าใจธรรมแล้ว มีหรือที่จะไม่มีความดีอื่นๆ ทั้งทาน ศีล ภาวนา ทั้งบารมีทั้ง ๑๐ ก็ต้องเกิดขึ้นเพราะความเข้าใจ

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๖๕

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
thilda
วันที่ 25 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
j.jim
วันที่ 25 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
rrebs10576
วันที่ 25 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Noparat
วันที่ 26 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
jaturong
วันที่ 26 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 29 ก.ย. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Boonyavee
วันที่ 3 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 12 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
สิริพรรณ
วันที่ 27 ก.พ. 2567

ไม่ใช่ว่าทุกคนมีปัญญาอยู่แล้ว แต่ปัญญาจะเกิดมีขึ้นได้โดยอาศัยการฟังพระธรรม แล้วพิจารณาไตร่ตรอง สนทนาธรรมเพื่อเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เมื่อความเข้าใจเพิ่มขึ้นปัญญาก็จะเจริญขึ้น

ส่วนหนึ่งจาก ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 8

ขอถวายความนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า

กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.พ. 2567

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ