ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗๗

 
khampan.a
วันที่  11 ธ.ค. 2559
หมายเลข  28421
อ่าน  2,375

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗๗

~ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องละความไม่ดี คือ อกุศลธรรม ทั้งหลาย

~ บวช ด้วยความไม่จริงใจ จะเป็นโทษมาก

~ ความต่างของคฤหัสถ์กับบรรพชิต คือ พระวินัย เพราะคฤหัสถ์ก็ศึกษาธรรมได้ บรรพชิตก็ศึกษาธรรมได้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะศึกษาธรรมในเพศพระภิกษุ ซึ่งเป็นเพศบรรพชิต ก็จะต้องประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย ไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกาลสมัยไหน เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ทรงบัญญัติสิ่งที่ควรแก่พระภิกษุ

~ ไม่ว่าใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน มีผู้คนนับถือมากน้อย มีชื่อเสียงอย่างไร ถ้าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ผู้นั้น ทำผิด และเป็นโทษอย่างยิ่ง สำหรับตนเอง และสำหรับหมู่คณะด้วย

~ หนทางเดียวที่จะละความติดข้อง อันเกิดจากความไม่รู้ ก็คือ รู้เมื่อไหร่ ก็ละความไม่รู้เมื่อนั้น และก็ค่อยๆ ละอกุศลไป

~ เพราะขาดความเข้าใจธรรม ก็คิดเองหมดว่า พระภิกษุควรที่จะรับเงินทองเพื่อความสะดวก แต่ว่า ผู้ใดก็ตาม ที่ยินดีในเงินและทอง ผู้นั้น ไม่ได้ขัดเกลากิเลส ยังมีความพอใจในรูป ในเสียง กลิ่น รส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ทั้งหมด เหมือนคฤหัสถ์ คฤหัสถ์ยินดีในเงินและทอง เงินและทองนำมาซึ่งความปลื้มใจ ในฐานะของคฤหัสถ์ แต่สิ่งที่บรรพชิตปลื้มใจ ไม่ใช่เงินและทอง แต่ต้องเป็นความเข้าใจพระธรรม เพราะฉะนั้น ทรัพย์ที่ประเสริฐกว่าเงินและทอง ก็คือความเห็นถูก ความเข้าใจถูก

~ พระภิกษุไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินและทอง พระภิกษุที่ท่านศึกษาพระธรรมวินัย ไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นอยู่ ฆราวาส (คฤหัสถ์ ชาวบ้าน) รู้คุณ ฆราวาส อนุเคราะห์พระภิกษุ พระภิกษุเห็นคุณที่ชาวบ้านรู้คุณของพระภิกษุ ต้องมีคุณให้เขา คือ ต้องศึกษาธรรม และประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย จึงจะสมควรแก่ข้าวน้ำที่เขาให้ จึงจะไม่เป็นโจร

~ ถ้าเป็นผู้ที่มีกิเลส และก็ไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยได้ แล้วจะเป็นพระภิกษุทำไม เพราะเป็นคฤหัสถ์ที่ดี ก็แสนยาก

~ ถ้าเป็นข้อปฏิบัติที่ผิด ทำให้ข้อปฏิบัติที่ถูกไม่เกิดขึ้น แล้วก็ยังเป็นการเผยแพร่ในข้อปฏิบัติที่ผิด ก็ย่อมจะเป็นการทำลายข้อปฏิบัติที่ถูก ซึ่งก็เป็นโทษมากสำหรับตนเอง กับทั้งผู้อื่นด้วย

~ การศึกษาธรรมต้องเป็นเรื่องละเอียดจริงๆ ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น แต่เพื่อที่จะให้พิจารณาจนกว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้ามิฉะนั้นแล้ว การศึกษาธรรมจะไม่มีประโยชน์ ถ้าไม่ใช่ศึกษาเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้

~ ถ้าได้ศึกษาเรื่องของสภาพธรรมโดยละเอียดขึ้น เท่าที่สามารถจะเข้าใจได้ ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร) ยิ่งขึ้น

~ มีความสำคัญมาก ที่ว่า เมื่อศึกษาแล้ว ต้องพิจารณาจึงจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง มิฉะนั้นแล้ว อาจจะเข้าใจธรรมผิด เป็นเหตุให้ประพฤติปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นโทษ เป็นทุกข์สิ้นกาลนาน เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาธรรมแล้วต้องพิจารณา เพื่อที่จะได้ประพฤติปฏิบัติให้ถูก ต้องเข้าใจว่าที่ศึกษานี้ เพื่อประพฤติปฏิบัติถูก

~ การที่กุศลจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่เห็นคุณจริงของกุศลธรรมที่จะเป็นไปเพื่อการขัดเกลาอกุล จึงไม่ว่างเว้นจากโอกาสที่จะไดสะสมความดีในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของความดีประเภทใดก็ตาม

~ พระธรรมจะชี้ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า อกุศลเป็นอกุศล แยบยลหลากหลายและละเอียดมากด้วย ยากที่จะรู้ได้ แต่ปัญญาสามารถรู้ทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ขณะนั้นเบิกบานที่ได้รู้ความจริงและได้พ้นจากการไม่รู้ความจริง

~ ทุกคนย่อมเคยโกรธ แต่ถ้าใครมีสติที่จะระลึกได้ในขณะที่กำลังโกรธว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมที่เป็นอันตรายกับตนเอง เพราะเหตุว่าบุคคลอื่นไม่สามารถที่จะทำให้เราโกรธได้ ถ้าเราไม่มีกิเลส เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลยว่า ขณะใดที่ความโกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นการประทุษร้ายตนเอง ซึ่งบุคคลอื่นไม่ได้กระทำ นอกจากกิเลสของตนเองเป็นผู้กระทำ ถ้าคิดได้อย่างนี้ ในขณะนั้น ก็จะเห็นโทษของอกุศล

~ ธรรมที่จะเป็นที่พึ่งได้จริงๆ นั้นต้องเป็นกุศล แต่ว่ายากที่จะเกิด เพราะเหตุว่าเมื่อสะสมอกุศลมามาก ก็ย่อมมีปัจจัยให้อกุศลธรรมเกิดมากกว่ากุศลธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นว่าธรรมใดเป็นที่พึ่งอย่างแท้จริง ก็จะเข้าใจในคุณของธรรมนั้น กล่าวคือคุณของกุศลธรรม ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้ได้เจริญกุศลในชีวิตประจำวัน

~ คนที่กำลังศึกษาธรรม ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า ยังมีกิเลส แต่ว่าศึกษาเพื่อที่จะดับกิเลส แต่ถ้าไม่ศึกษาเพื่อจะละกิเลสแล้ว ก็อาจจะทำให้กิเลสเพิ่มมากขึ้น จนถึงกับมีความเห็นผิดได้ ซึ่งอุปมาเหมือนกับผู้แสวงหางูพิษ แล้วจับงูพิษที่หาง ก็ย่อมจะถูกงูพิษกัด

~ กุศลกรรม ไม่หักประโยชน์ใดๆ เลย ในขณะที่กุศลกรรมเกิด มีการช่วยเหลือเกื้อกูลเป็นประโยชน์ทั้งตนเองและบุคคลอื่น และเวลาที่กุศลกรรมให้ผล ก็ย่อมนำมาซึ่งทรัพย์สมบัติ สิ่งของให้เป็นของของตน ซึ่งแต่ก่อนนี้ไม่ใช่ของตนเลย แต่เวลาที่กุศลกรรมให้ผลขณะใด ทรัพย์สมบัติสิ่งของทั้งหลายก็เป็นของตนเมื่อนั้น

~ เป็นผู้ที่ว่าง่าย เป็นผู้ที่อดทน ที่จะเจริญกุศลทุกประการ เพื่อที่ให้พ้นจากการที่จะตกไปในทางฝ่ายอกุศล

~ เหตุของความทุกข์ย่อมมาจากความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย) ผู้ที่ดับความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะแล้ว จะดับโทสมูลจิต (จิตที่มีโทสะเป็นมูล) ได้ แต่ถ้ายังเป็นผู้ที่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ย่อมหนีทุกข์ไม่พ้น เพราะเหตุว่าความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นเหตุทำให้โทสมูลจิตเกิด ถ้าไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา

~ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเพื่อเกื้อกูลตลอด ๔๕ พรรษา ซึ่งกว่าจะได้ทรงแสดง ต้องบำเพ็ญบารมีที่จะทรงประสูติ และทรงแสวงหาทางที่จะได้ตรัสรู้หนทางที่จะทรงสามารถแสดงธรรมโดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลพุทธบริษัทให้เห็นประโยชน์ของกุศล และให้เห็นโทษของอกุศล

~ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ว่าจะทรงแสดงกับใครในยุคนั้นสมัยนั้น ก็เป็นเสมือนว่าทรงแสดงกับแต่ละคนที่กำลังได้ฟังในยุคนี้สมัยนี้

~ พระพุทธศาสนาเป็นพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งผู้ที่เป็นสาวก คือ ผู้ฟังพระธรรมของพระองค์ จะต้องพิจารณาให้เกิดปัญญาของตัวเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด โดยไม่ใช่ปัญญา ไม่ใช่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างนี้ ก็จะไม่ใช่การประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย

~ ไม่ควรที่จะประมาทในเรื่องของอกุศล และก็จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ย่อมเป็นประโยชน์ในทุกทางที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาธรรมโดยละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าถ้าต้องการที่จะเจริญปัญญา เจริญกุศล ก็ต้องไม่ประมาทที่จะรู้จักอกุศลของตนเองด้วย

~ เมื่อเกิดมาแล้ว มีโอกาสได้พบกัน จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกัน หรือว่าจะทำร้ายกัน?

~ ไม่รั้งรอที่จะกระทำความดีเท่าที่สามารถจะกระทำได้ เพราะเหตุว่าแม้ว่าจะกระทำความดีสักเท่าไรก็ยังไม่พออยู่นั่นเอง ตราบใดที่เมื่อไม่กระทำความดีจิตก็ต้องเป็นอกุศล

~ ความเห็นผิด เป็นโทษอย่างยิ่ง นำไปในสิ่งที่ผิด ทั้งหมด

ขอเชิญผู้ศึกษาพระธรรมร่วมกัน (สหายธรรม) ร่วมแบ่งปันธรรมด้วยครับ

ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ

ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๒๗๖

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
kukeart
วันที่ 11 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พรสุข
วันที่ 11 ธ.ค. 2559

สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทนามิค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
lack
วันที่ 11 ธ.ค. 2559

สาธุๆ ๆ ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 12 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
thilda
วันที่ 12 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Boonyavee
วันที่ 12 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 13 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Noparat
วันที่ 13 ธ.ค. 2559

ความเห็นผิด เป็นโทษอย่างยิ่ง นำไปในสิ่งที่ผิด ทั้งหมด

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ปาริชาตะ
วันที่ 17 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
เมตตา
วันที่ 19 ธ.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 7 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ