เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์ ... วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
สนทนาธรรมที่ มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๐
คือ เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์
จาก[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๗๒
[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๗๒
๒. เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์
ข้อความเบื้องต้น พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพวกภิกษุฉัพพัคคีย์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺเพ สนฺติ" เป็นต้น.
เหตุให้ทรงบัญญัติตลสัตติกสิกขาบท
ความพิสดารว่า ในสมัยหนึ่ง พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ เงือดเงื้อหอก คือฝ่ามือ แก่พวกภิกษุสัตตรสพัคคีย์เหล่านั้น ด้วยเหตุที่ตนประหารพวกสัตตรสพัคคีย์ในสิกขาบทก่อนนั้นนั่นแล แม้ในเรื่องนี้ พระศาสดาทรงสดับเสียงของภิกษุเหล่านั้นแล้ว ก็ตรัสถามว่า "นี่อะไรกัน" ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า "เรื่องชื่อนี้" แล้วตรัสว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จำเดิมแต่นี้ไป ธรรมดาภิกษุไม่ควรทำอย่างนี้ ภิกษุใดทำ ภิกษุนั้นย่อมต้องอาบัติชื่อนี้" ดังนี้แล้ว ทรงบัญญัติ ตลสัตติกสิกขาบท ตรัสว่า "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาภิกษุทราบว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา อย่างเดียวกับเราเหมือนกัน อนึ่ง ชีวิตก็ย่อมเป็นที่รักของสัตว์เหล่านั้น เหมือนของเราโดยแท้ ไม่ควรประหารเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นให้ฆ่า" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
"สัตว์ทั้งหมด ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา ชีวิตย่อมเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหมด บุคคลควรทำตนให้เป็นอุปมาแล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ฆ่า"
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า สพฺเพสํ ชีวิตํ ปิยํ ความว่า ชีวิตย่อมเป็นที่รักยิ่งของเหล่าสัตว์ที่เหลือ เว้นพระขีณาสพเสีย พระขีณาสพ ย่อมเป็นผู้วางเฉยในชีวิตหรือในมรณะโดยแท้ คำที่เหลือ เช่นกับคำอันมีในก่อนนั่นแล
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมาก ได้บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.
เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์ จบ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
☺ข้อความโดยสรุป☺
เรื่องภิกษุฉัพพัคคีย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปรารภภิกษุฉัพพัคคีย์ ที่เงื้อฝ่ามือขึ้นจะตีภิกษุสัตตรสวัคคีย์ พระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทว่า เป็นอาบัติปาจิตตีย์สำหรับภิกษุที่เงื้อฝ่ามือจะตีภิกษุด้วยกัน พร้อมทั้งทรงแสดงว่า แม้สัตว์เหล่าอื่นย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา (การลงโทษ) อย่างเดียวกับเราเหมือนกัน และ ชีวิตก็ย่อมเป็นที่รักของสัตว์เหล่านั้น เหมือนของเราโดยแท้ จึงไม่ควรประหารเอง ไม่ควรใช้ผู้อื่นให้ฆ่า
(ดังข้อความที่ปรากฏในพระสูตร)
ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ
ผู้รักตนไม่ควรเบียดเบียนผู้อื่น
ความเข้าใจพระธรรมเป็นสาระสำคัญที่สุดในชีวิต
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...