ศีล สมาธิ ปัญญา

 
ใหญ่ราชบุรี
วันที่  24 ม.ค. 2560
หมายเลข  28563
อ่าน  7,573

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอเรียนถามดังนี้ค่ะ

# "สมาธิ" สำหรับพระภิกษุในธรรมวินัย คืออะไร เริ่มต้นอย่างไร เป็นไปโดยลำดับอย่างไร

# ทำไม ไม่มี "สมาธิ" สำหรับคฤหัสถ์ แต่ เป็น ทาน ศีล ภาวนา

# ทำไม ไม่มี "ปัญญา" สำหรับคฤหัสถ์ "ภาวนา" และ "ปัญญา" คืออะไร และ ต่างกันอย่างไร

# ที่มา ของ ประโยค ศีล สมาธิ ปัญญา กับ ทาน ศีล ภาวนา มีปรากฏ ใน พระไตรปิฎกอย่างไร

ขอบพระคุณที่อนุเคราะห์ให้ความรู้ความเข้าใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 24 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะหนทางการดับกิเลส ดังนั้น ในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา ก็ต้องเข้าใจว่า คืออะไร

ศีล มีหลายอย่าง หลายระดับ ทั้ง ศีล ที่เรามักเข้าใจกันทั่วไป คือ การงดเว้นจากการทำบาป ทางกาย วาจา เป็นต้น แต่มีศีลที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ที่เป็นศีล ที่เรียกว่า อธิศีล อันเป็นศีลที่เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญา

สมาธิ โดยทั่วไป ก็เข้าใจกันว่า คือ การนั่งสมาธิให้สงบ แต่ในทางพระพุทธศาสนาจะใช้คำว่า อธิจิตสิกขา หรือ บางครั้งใช้คำว่า สัมมาสมาธิ ที่มุ่งหมายถึง การเจริญสมถภาวนา และ สมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาในปัญญาขั้นวิปัสสนา

ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ก็มีหลายระดับ แต่คือ ความเห็นถูกเช่น เชื่อกรรมและผลของกรรม ปัญญาขั้นการฟังการศึกษา ปัญญาขั้นสมถภาวนา และปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา

เมื่อพูดถึงหนทางการดับกิเลส จะใช้คำว่า การอบรม ไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และ อธิปัญญาสิกขา ดังนั้น ศีลโดยทั่วไป ที่งดเว้นจากบาป ศาสนาอื่นๆ ก็มี ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส ไม่ใช่ อธิศีลสิกขา สมาธิ ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน แม้ก่อนพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น ก็มีการเจริญสมถภาวนา แต่สมาธินั้นไม่ใช่ อธิจิตสิกขา ส่วนปัญญา ที่จะเป็นไตรสิกขา อันเป็นหนทางการดับกิเลส ก็จะต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนา ครับ ดังนั้น เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว ไม่ได้หมายความว่า การจะเจริญหนทางการดับกิเลส ที่เรียกว่าไตรสิกขา จะต้องรักษาศีลก่อน แล้วค่อยอบรมสมาธิ และจึงจะไปเจริญวิปัสสนาได้ที่เป็นปัญญาครับ ต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า จิตเมื่อเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง แม้ขณะที่เป็นสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง ขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ทั้ง 2 นี้ เป็น (อธิปัญญา) และมีสัมมาวิริยะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นอธิจิต หรือ สมาธิ) และมีเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับ สติปัฏฐาน ที่เป็นองค์ของสมาธิ ด้วย และมีศีลด้วยในขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ อินทรียสังวรศีล ศีลที่เป็นการสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในขณะนั้น เป็นอธิศีล หรือ สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นอธิศีล ก็เกิดพร้อมกับ สมาธิและปัญญาในขณะที่อริยมรรคเกิด

ดังนั้น มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดพร้อมกัน ในการอบรมเจริญวิปัสสนา ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด และ ขณะมรรคจิตเกิดพร้อมกันครับ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของธรรมและ ความละเอียดลึกซึ้งของหนทางการดับกิเลส ครับ

ที่สำคัญ หากไม่มีปัญญา ความเข้าใจเป็นเบื้องต้นแล้ว ศีล นั้น ก็ไม่ใช่อธิศีลที่เป็นไปในการดับกิเลส สมาธิ สมถภาวนา ก็ไม่ใช่อธิจิต ที่เป็นไปในการดับกิเลส เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จึงจะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนาภาวนาเกิด ขณะนั้น ก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไตรสิกขาในขณะนั้นแล้ว โดยไม่ต้องไปทำศีลก่อน เรียงลำดับเลยครับ เพราะฉะนั้น ปัญญา จึงเป็นธรรมที่มีอุปการะมากต่อการดำเนินหนทางการดับกิเลสครับ ดังนั้น มีศีล มีสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาได้ แต่เมื่อมีปัญญา ขั้นวิปัสสนา ก็มี ศีล มีสมาธิ ด้วยครับ ส่วนกุศลประการต่างๆ คือ บารมี มี ทาน ศีล ขันติ เมตตา เป็นต้น ที่เป็น บารมี ๑๐ เกื้อกูลต่อปัญญาที่จะทำให้มีกำลังในการเจริญอบรมปัญญามากขึ้น แต่กุศลเหล่านี้จะเจริญ จะมีมากขึ้น ก็เพราะมีปัญญาเป็นสำคัญ ครับ แต่ไม่ใช่การไปทำสมาธิ เพื่อมีปัญญา ตามที่เข้าใจกัน ครับ

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่เป็นคำบรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ได้ดังนี้ ครับ

ไตรสิกขา และ ความสำคัญของปัญญา

การเจริญสติปัฏฐาน...เป็นการเจริญไตรสิกขา

การเจริญสติปัฏฐานเป็นไตรสิกขา

ศีล สมาธิ ปัญญา

อธิศีลสิกขา

อธิจิตตสิกขา

อธิปัญญาสิกขา

เชิญคลิกฟังคำบรรยายและเนื้อหาคำบรรยาท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ

ศีล สมาธิ ปัญญา

ไตรสิกขาไม่แยกกัน

ไตรสิกขา

ไตรสรณะ - ไตรสิกขา - ไตรลักษณะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 24 ม.ค. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาโดยตลอด ทุกคำเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์ให้ได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงทาน ศีล ภาวนาหรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่พ้นไปจากคุณความดีในพระพุทธศาสนา ที่เป็นไปเพื่อการข้ดเกลาละคลายกิเลส จนกว่าจะดับได้อย่างหมดสิ้นในที่สุด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมตามอัธยาศัยของผู้ฟัง ในบางแห่งแสดงกับคฤหัสถ์ แสดงกุศล ๓ ระดับ ทาน (การสละวัตถุสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น) ศีล (การงดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่ดีงาม) ภาวนา (การอบรมเจริญความสงบของจิตและการอบรมเจริญปัญญา) แต่ถ้าแสดงกับบรรพชิต ส่วนใหญ่ไม่กล่าวถึงกุศลขั้นทาน เพราะท่านออกบวชสละวัตถุกามแล้ว จึงทรงแสดงกุศลที่ยิ่งขึ้นไป ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งก็คือไตรสิกขา ไม่พ้นไปจากหนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเลย แต่ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะเพศหนึ่งเพศใดโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ดำเนินตามหนทางอันประเสริฐ คือ หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาประโยชน์ย่อมเกิดมีแก่ผู้นั้น ตั้งแต่ขั้นต้น จนถึงสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ

การศึกษาอบรมเจริญปัญญา ควรเป็นไปตามลำดับ ที่ขาดไม่ได้เลยนั้น คือการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ และเมื่อมีความเข้าใจถูกเห็นถูกแล้วก็จะอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญขึ้นด้วย ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Tommy9
วันที่ 25 ม.ค. 2560

เป็นหัวข้อที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง เพราะคนส่วนมากเข้าใจผิดใน ศีล สมาธิ ปัญญา ฟังแค่นี้แล้วก็คิดว่าจะต้องมีศีลก่อน แล้วไปทำไปนั่งสมาธิ แล้วจึงจะเกิดปัญญา ทีนี้ก็ไปทำยืน เดิน นั่ง นอน กันใหญ่ตามสำนักต่างๆ

กราบขอบคุณท่าน อ.คำปั่น และ อ.ผเดิม ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 26 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ชัยญานพ
วันที่ 27 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
krumintdaroontham
วันที่ 28 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
kullawat
วันที่ 29 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
วิริยะ
วันที่ 30 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
kukeart
วันที่ 31 ม.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
doungjai
วันที่ 5 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ธนฤทธิ์
วันที่ 13 ก.พ. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ