สูตรที่ ๖ แห่งทุกนิบาต ... วันเสาร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๐

 
มศพ.
วันที่  18 เม.ย. 2560
หมายเลข  28768
อ่าน  901

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ... ..•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ วันเสาร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๐

สูตรที่ ๖ แห่งทุกนิบาต

... จาก ...

[เล่มที่ 33] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๐๗

สูตรที่ ๖

(ว่าด้วยบริษัทที่ดื้อด้าน และ ไม่ดื้อด้าน)

[๒๙๒] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกนี้ ๒ จำพวก เป็นไฉน คือ บริษัทที่ดื้อด้าน ไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ ๑ บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้าน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่ดื้อด้าน ไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ เป็นไฉน? คือ ภิกษุ ในบริษัทใด ในธรรมวินัยนี้ เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่ตถาคตภาษิตไว้ซึ่งลึกล้ำ มีอรรถอันลึกล้ำ เป็นโลกุตตระ ปฏิสังยุตต์ด้วยสุญญตธรรม ไม่ตั้งใจฟังให้ดี ไม่เงี่ยหูลงสดับ ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง และ ไม่ให้ความสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรเล่าเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ แต่เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่กวีได้รจนาไว้เป็นคำกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร มีในภายนอก ซึ่งสาวกได้ภาษิตไว้ ย่อมตั้งใจฟังเป็นอย่างดี เงี่ยหูลงสดับ เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง และให้ความสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรเล่าเรียน ควรท่องจำให้ขึ้นใจ, ภิกษุเหล่านั้น เรียนธรรมนั้นแล้ว ไม่สอบสวน ไม่เที่ยวไต่ถามกันและกันว่า พยัญชนะนี้เป็นอย่างไร อรรถแห่งภาษิตนี้ เป็นอย่างไร ภิกษุเหล่านั้น ไม่เปิดเผยอรรถที่ลึกซึ้ง ไม่ทำอรรถที่ลึกซึ้งให้ตื้น และ ไม่บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายอย่างเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ เรียกว่า บริษัทดื้อด้าน ไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้าน เป็นไฉน? คือ ภิกษุ ในบริษัทใด ในธรรมวินัยนี้ เมื่อผู้อื่นกล่าวสูตรที่กวีได้รจนาไว้เป็นคำกวี มีอักษรวิจิตร มีพยัญชนะวิจิตร มีในภายนอก เป็นสาวกภาษิต ไม่ตั้งใจฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูลงสดับ ไม่เข้าไปตั้งจิตไว้เพื่อจะรู้ทั่วถึง และไม่ให้ความสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรเรียนควรท่องจำให้ขึ้นใจ แต่ว่า เมื่อผู้อื่นกล่าวพระสูตรที่ตถาคตภาษิตไว้ ซึ่งลึกล้ำ มีอรรถลึกล้ำ เป็นโลกุตตระ ปฏิสังยุตต์ด้วยสุญญตธรรม ย่อมตั้งใจฟังเป็นอย่างดี เงี่ยหูลงสดับ เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และให้ความสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรเรียนควรท่องจำให้ขึ้นใจ, ภิกษุเหล่านั้น เรียนธรรมนั้นแล้ว ย่อมสอนสวนเที่ยวไต่ถามกันว่า พยัญชนะนี้เป็นอย่างไร อรรถแห่งภาษิตนี้เป็นอย่างไร ภิกษุเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยอรรถที่ลึกซึ้ง ทำอรรถที่ลึกซึ้งให้ตื้น และบรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยหลายอย่างเสีย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้ เรียกว่าบริษัท ผู้ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้าน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๒ จำพวกเหล่านี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท ๒ จำพวกนี้ บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้าน เป็นเลิศ.

จบสูตรที่ ๖.

อรรถกถาสูตรที่ ๖

ใน สูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

โอกฺกาจิตวินีตา ได้แก่ ฝึกสอนยาก. บทว่า โน ปฏิปุจฺฉาวินีตได้แก่ ไม่เป็นผู้รับฝึกสอนโดยสอบถาม. บทว่า คมฺภีรา ได้แก่ ลึกโดยบาลี เช่น จุลลเวทัลลสูตร. บทว่า คมฺภีรตฺถา ได้แก่ ลึกโดยอรรถเช่น มหาเวทัลลสูตร. บทว่า โลกุตฺตรา ได้แก่ แสดงอรรถเป็น โลกุตตระ. บทว่า สุญฺญตปฏิสํยุตฺตา ได้แก่ ประกาศเพียงที่เป็นสุญญตธรรม เท่านั้น เช่น อสังขตสังยุตต์. บทว่า น อญฺญาจิตฺตํ อุปฏฺฐเปนฺติ ได้แก่ ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ คือ หลับเสียบ้าง ส่งใจไปที่อื่นเสียบ้าง. บทว่า อุคฺคเหตพฺพํ ปริยาปุณฺตพฺพํ ได้แก่ ที่จะพึงถือเอาด้วย ที่จะพึงเล่าเรียนด้วย. บทว่า กวิกตา ได้แก่ ที่กวีแต่ง. บทว่า กาเวยฺยา นอกนี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า กวิกตา นั้นเอง. บทว่า จิตฺตกฺขรา แปลว่ามีอักษรวิจิตร. บทว่า จิตฺตพฺยญฺชนา นอกนี้ เป็นไวพจน์ของบทว่า จิตฺตกฺขรา นั้นเหมือนกัน. บทว่า พาหิรกา ได้แก่ เป็นสุตตันตะนอกพระศาสนา. บทว่า สาวกภาสิตา ได้แก่ ที่พวกสาวกของพาหิรกศาสดาเหล่านั้นกล่าวไว้. บทว่า สุสฺสูสนฺติ ความว่า มีใจแช่มชื่นตั้งใจฟังอย่างดี เพราะมีอักษรวิจิตร และสมบูรณ์ด้วยบท. บทว่า น เจว อญฺญมญฺญํ ปฏิปุจฺฉนฺติ ความว่า มิได้ถามเนื้อความ อนุสนธิ หรือ เบื้องต้นเบื้องปลายกัน และกัน. บทว่า น ปฏิวิจรนฺติ ความว่า มิได้เที่ยวไปไต่ถาม. บทว่า อิทํ กถํ ความว่า พยัญชนะนี้ พึงเข้าใจอย่างไร คือ พึงเข้าใจว่าอย่างไร. บทว่า อิมสฺส กฺวตฺโถ ความว่า ภาษิตนี้ มีเนื้อความอย่างไร มีอนุสนธิอย่างไร มีเบื้องต้นและเบื้องปลายอย่างไร. บทว่า อวิวฏํ ได้แก่ ที่ยังปกปิด. บทว่า น วิรวนฺติ ได้แก่ ไม่เปิดเผย. บทว่า อนุตฺตานีกตํ ได้แก่ ที่ไม่ปรากฏ. บทว่า น อุตฺตานีกโรนฺติ ความว่า มิได้ทำให้ปรากฏ. บทว่า กงฺขาฏฺฐานีเยสุ ได้แก่ อันเป็นเหตุแห่งความสงสัย. ธรรมฝ่ายขาว ก็พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.

จบอรรถกถาสูตรที่ ๖.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 18 เม.ย. 2560

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

สูตรที่ ๖ (ว่าด้วยบริษัทที่ดื้อด้าน และ ไม่ดื้อด้าน)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง บริษัท (กลุ่มชน) ๒ จำพวก คือ บริษัทที่ดื้อด้าน ไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ และ บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้าน

-บริษัทที่ดื้อด้าน ไม่ได้รับการสอบถามแนะนำ คือ ไม่สนใจที่จะศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่สนใจเรียนในคำกวีที่มีอักษรวิจิตร พยัญชนะวิจิตร ที่สาวกในภายนอกพระพุทธศาสนากล่าวไว้, ไม่มีการสอบถามข้อธรรมต่างๆ ที่ตนเองสงสัย เมื่อไม่มีการสอบถาม จึงไม่ได้รับการอธิบายเปิดเผยความจริงที่จะเป็นไปเพื่อความบรรเทาความสงสัย

-บริษัทที่ได้รับการสอบถามแนะนำ ไม่ดื้อด้าน คือ ไม่สนใจเรียนในคำกวีที่มีอักษรวิจิตร พยัญชนะวิจิตร ที่สาวกในภายนอกพระพุทธศาสนากล่าวไว้ แต่สนใจที่จะศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีการสอบถามข้อธรรมต่างๆ ที่ตนเองสงสัย เมื่อมีการสอบถามแล้วก็ได้รับคำอธิบายเปิดเผยความจริงจากผู้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก ทำให้บรรเทาความสงสัยได้.

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

พระพุทธพจน์ และ อรรถกถา

การเสื่อมของพระพุทธศาสนา

การปกป้องพระพุทธศาสนา

อนัตตา สุญญตา

ภิกษุควรหาความรู้และศึกษาวิชาการทางโลกหรือไม่

พระธรรมลึกซึ้ง

... อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มานิสาโข่งเขียว
วันที่ 18 เม.ย. 2560

อนุโมทนาสาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ประสาน
วันที่ 18 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Kornhatai
วันที่ 20 เม.ย. 2560

สาธุ อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ํํญาณินทร์
วันที่ 20 เม.ย. 2560

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มกร
วันที่ 22 เม.ย. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ