ปฐมขตสูตร ... พระสูตร วันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๑
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ
•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••
... สนทนาธรรมที่ ...
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)
พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๑
...จาก...
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๖
๓.ปฐมขตสูตร
(ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ ของคนพาลและบัณฑิต)
[๓] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล เป็นคนโง่เขลา เป็นอสัตบุรุษ ครองตนอันถูกขุด (รากคือความดี) เสียแล้ว ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นคนประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือบุคคลไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว ชมคนที่ควรติ ๑ ติคนที่ควรชม ๑ ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส ๑ แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส ๑ บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นคนพาล เป็นคนโง่เขลา เป็นอสัตบุรุษ ครองตนอันถูกขุด (รากคือความดี) เสียแล้ว ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่งแล้ว เป็นคนประกอบด้วยโทษ ผู้รู้ติเตียน และได้สิ่งอันไม่เป็นบุญมากด้วย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิตเป็นคนฉลาด เป็นสัตบุรุษ ครองตนอันไม่ถูกขุด ไม่ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่ง เป็นผู้หาโทษมิได้ ผู้รู้สรรเสริญ และได้บุญมากด้วย ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือบุคคลใคร่ครวญสอบสวนแล้ว ติคนที่ควรติ ๑ ชมคนที่ควรชม ๑ แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะอันไม่ควรเลื่อมใส ๑ ปลูกความเลื่อมใสในฐานะอันควรเลื่อมใส ๑ บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการนี้แล เป็นบัณฑิตเป็นคนฉลาด เป็นสัตบุรุษ ครองตนอันไม่ถูกขุด ไม่ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่ง เป็นผู้หาโทษมิได้ ผู้รู้สรรเสริญ และได้บุญมากด้วย
(พระคาถา)
ผู้ใดชมคนที่ควรติ หรือ ติคนที่ควรชม ผู้นั้น ชื่อว่าก่อ (กลี) ความร้ายด้วยปาก เพราะความร้ายนั้น เขาก็ไม่ได้ความสุข นี่ ร้ายไม่มาก คือการเสียทรัพย์ ในการพนัน แม้จนสิ้นเนื้อประดาตัว สิ่งนี้สิ ร้ายมากกว่า คือทำใจร้าย ในท่านผู้ดำเนินดีแล้วทั้งหลาย คนที่ตั้งใจและใช้วาจาลามก ติเตียนท่านผู้เป็นอริยะ ย่อมตกนรก ตลอดเวลา สิ้นแสนสามสิบหกนิรัพพุทะ กับอีกห้าอัพพุทะ
จบปฐมขตสูตรที่ ๓
อรรถกถาปฐมขตสูตร
ปฐมขตสูตรที่ ๓ กล่าวไว้ในอรรถกถาทุกนิบาตแล้ว. ส่วนในคาถาพึงทราบวินิจฉัยดังนี้
บทว่า นินฺทิยํ ได้แก่ผู้ ควรนินทา
บทว่า นินฺทติได้แก่ ย่อมติเตียน
บทว่า ปสํสิโย ได้แก่ ผู้ควรสรรเสริญ
บทว่าวิจินาติ มุเขน โส กลึ ความว่า ผู้นั้นประพฤติอย่างนี้แล้ว ชื่อว่าย่อมเฟ้นโทษด้วยปากนั้น
บทว่า กลินา เตน สุขํ น วินฺทติ ความว่าเขาย่อมไม่ได้ความสุขเพราะโทษนั้น
บทว่า สพฺพสฺสาปิ สหาปิ อตฺตนาความว่า การแพ้พนัน เสียทั้งทรัพย์ของตนทุกสิ่ง กับทั้งตัวเอง (สิ้นเนื้อประดาตัว) ชื่อว่าเป็นโทษประมาณน้อยนัก
บทว่า โย สุคเตสุ ความว่าส่วนผู้ใดพึงทำจิตคิดประทุษร้ายในบุคคลทั้งหลาย ผู้ดำเนินไปโดยชอบแล้ว ความมีจิตคิดประทุษร้ายของผู้นั้นนี้แล มีโทษมากกว่าโทษนั้น. บัดนี้ เมื่อ ทรงแสดงความที่มีจิตคิดประทุษร้ายนั้นมีโทษมากกว่า จึงตรัสคำว่า สตํ สหสฺสานํ เป็นอาทิ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตํ สหสฺสานํ ได้แก่สิ้นแสน โดยการนับตามนิรัพพุทะ
บทว่า ฉตฺตึสติ ได้แก่ อีกสามสิบหกนิรัพุพุทะ
บทว่า ปญฺจ จ คือห้าอัพพุทโดยการนับตามอัพพุทะ
บทว่า ยมริยํ ครหิ ความว่า บุคคลเมื่อติเตียนพระอริยะทั้งหลาย ย่อมเข้าถึงนรกใด ในนรกนั้น ประมาณอายุมีเท่านี้.
จบอรรถกถาปฐมขตสูตรที่ ๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหั
ข้อความโดยสรุป
ปฐมขตสูตร
(ว่าด้วยธรรม ๔ ประการ ของคนพาลและบัณฑิต)
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล โง่เขลา เป็นอสัตบุรุษ ครองตนอันถูกขุด (รากคือความดี) เสียแล้ว ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่งแล้ว มีโทษ ผู้รู้ติเตียน และประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก คือ
๑. ไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว ชมคนที่ควรติ
๒. ไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว ติคนที่ควรชม
๓. ไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว ปลูกเลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส
๔. ไม่ใคร่ครวญไม่สอบสวนแล้ว แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส
ในทางตรงกันข้าม บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิต ผู้ฉลาด เป็นสัตบุรุษ บริหารตนไม่ถูกขุด ไม่ถูกขจัดไปครึ่งหนึ่ง ไม่มีโทษ ผู้รู้สรรเสริญ และประสบบุญเป็นอันมาก คือ
๑. ใคร่ครวญสอบสวนแล้ว ติคนที่ควรติ
๒. ใคร่ครวญสอบสวนแล้ว ชมคนที่ควรชม
๓. ใคร่ครวญสอบสวนแล้ว แสดงความไม่เลื่อมใสในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส
๔. ใคร่ครวญสอบสวนแล้ว ปลูกความเลื่อมใสในฐานะที่ควรเลื่อมใส
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นึ่ครับ
พาล กับ มิใช่พาล
คบคนพาล ย่อมเป็นทางที่จะนำเราไปสู่ความเสื่อม
ขอเป็นกำลังใจให้ผู้ฟังพระธรรม กล้าหาญ ที่จะตำหนิอลัชชี
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยเศียรเกล้า
การได้ศึกษาพระธรรมเป็นคุณค่าที่สูงสุดในชาติที่ได้โอกาสนั้น
กราบขอบพระคุณมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่งที่ทำให้เข้าใจความลึกซึ้งในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงค่ะ