ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๓
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุญาตแบ่งปันข้อความธรรม (ปันธรรม) ที่ได้จากการฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในแต่ละครั้ง รวบรวมเป็นธรรมเตือนใจเพื่อศึกษาและพิจารณาร่วมกัน เพื่อความเข้าใจธรรม (ปัญญ์ธรรม) ตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นข้อความที่สั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ก็มีอรรถที่สมบูรณ์ พอที่จะเข้าใจได้ควรค่าแก่การพิจารณาอย่างยิ่ง ดังนี้
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๓
~ ชาวพุทธ ก็ต้องเข้าใจธรรม ไม่ใช่ว่าคฤหัสถ์ชาวพุทธไม่รู้ว่าพระภิกษุคือใคร และผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุ ก็ไม่รู้ว่าพระภิกษุในธรรมวินัยคือใคร เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งเพราะความไม่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือว่าพระภิกษุเองก็ไม่สนใจที่จะรู้ความจริงว่าความเป็นพระภิกษุนั้นยากและบริสุทธิ์ สะอาด เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่จะขัดเกลากิเลสประพฤติปฏิบัติตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ภิกษุใดไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย นั่นไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย ไม่ใช่ศากยบุตร พูดง่ายๆ ก็คือไม่ใช่พระ
~ ก็เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้เข้าใจธรรมแล้วที่จะเปิดเผยความจริงให้รู้กันทั่วว่า ภิกษุในธรรมวินัยคือใคร ไม่ใช่ที่เรามองเห็นพฤติกรรมที่ไม่ได้เข้าใจพระธรรมเลยแล้วก็ไม่ศึกษาพระธรรมด้วยแล้วก็ไม่ขัดเกลากิเลสด้วย
~ พระธรรม เป็นสิ่งที่บริสุทธิ์ ลึกซึ้งมาก ต้องมีความเคารพอย่างสูงสุด ไม่ใช่ว่าใครจะดึงใครวิธีไหนก็ได้ ดึงเขามาทำอะไร ดึงให้คนมาฟังเรื่องตลก นั่นหรือคือพระภิกษุ?
~ เมื่อเป็นพระภิกษุแล้ว กาย วาจา ต้องคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระภิกษุจะต้องไม่ลืมว่าจะต้องขัดเกลากิเลส ที่สำคัญที่สุด คือ บวชเพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลส โดยการเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น เพศของบรรพชิต จึงแตกต่างไปจากเพศคฤหัสถ์อย่างสิ้นเชิง
~ พูดธรรม ตลก อย่างนั้นไม่ใช่พระภิกษุ ไม่ใช่กิจของพระภิกษุที่จะไปคลายเครียดใคร กิจของพระภิกษุ ก็คือ ศึกษาพระธรรมวินัย ถ้าพระภิกษุไม่ศึกษาพระธรรมวินัยแล้วจะให้ใครศึกษา เพราะว่า ชาวบ้านก็มีกิจธุระของชาวบ้าน มีหน้าที่การงานต่างๆ มากมาย แต่ผู้ที่สละเพศคฤหัสถ์สู่เพศบรรพชิตแล้ว ย่อมสละชีวิตและเวลาทั้งหมดเพื่อศึกษาพระธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อมีการศึกษาพระธรรมเข้าใจแล้วก็อนุเคราะห์ผู้ที่ไม่มีเวลาพอที่จะได้ศึกษามากอย่างพระภิกษุ ให้มีความเข้าใจพระธรรม ละเอียดขึ้น ถูกต้องขึ้น นั่นคือ ภิกษุในธรรมวินัย
~ พระภิกษุที่พูดธรรมตลก แสดงความเป็นบาปในใจ จึงล่วงออกมาเป็นคำพูด (ที่ไม่เหมาะสม)
~ ก็ขอให้ประชาชนตัดสิน ว่า ภิกษุในธรรมวินัย จะต้องประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ซึ่งละเอียดยิ่ง
~ เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไหม คำใดที่พระองค์ตรัสไว้แล้วเปลี่ยนไม่ได้ ใครที่คิดจะแก้ไขคำของพระองค์ เขา เคารพสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือเปล่า?
~ ถึงเวลาที่เราควรที่จะได้กล่าวถึงความถูกต้องให้ผู้ที่คิดว่าพระพุทธศาสนามีค่าสูงสุดได้ดำรงต่อไป ให้ได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นแล้ว ก็คือ เป็นการช่วยกันทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งพระธรรมและพระวินัย
~ หนทางเดียวที่จะดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ก็คือ ต้องเข้าใจทั้งพระธรรมและพระวินัย
~ พระภิกษุดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไร ก็ต้องอาศัย (ศรัทธาของ) ชาวบ้าน เพราะฉะนั้น ถ้าชาวบ้านเห็นว่าพระภิกษุ ประพฤติไม่เหมาะไม่ควร แล้วจะไปทะนุบำรุงให้ไปทำสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรต่อไปได้อย่างไร
~ แสดงธรรมก็คือแสดงให้คนได้เข้าใจธรรม เพราะขณะนั้น เป็นธรรม แต่เพราะไม่รู้ว่าเป็นธรรม จึงต้องแสดงธรรมให้เข้าใจถูกต้อง ว่า นั่นเป็นธรรม นั่นคือผู้แสดงธรรม ซึ่งเป็นผู้ที่พูดความจริงในสิ่งที่กำลังมี ให้คนอื่นได้เข้าใจอย่างถูกต้อง
~ คฤหัสถ์ ก็สามารถนำเงินไปให้โรงพยาบาลได้เลย ไม่ต้องเอามาให้วัด ไม่ต้องเอามาให้พระภิกษุ ทำไมต้องทำไปเป็นทอดๆ แล้วก็ผิดพระวินัยด้วย
~ ความห่วงใยภิกษุ ก็สามารถที่จะทำได้ โดยการที่ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัย ถึงจะชื่อว่าเป็นความห่วงใยทั้งพระธรรมวินัยและภิกษุบุคคลด้วย เพราะว่าถ้าพระภิกษุทำผิดพระวินัย ไม่พ้นอบายภูมิ
~ บุญคือความดี ทำได้ทุกวัน อะไรก็ได้ เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ ที่เป็นความดี เป็นบุญ ทั้งหมด, วันนี้ มีเวลาที่จะทำบุญได้ตั้งเยอะแยะ ถ้าเข้าใจ
~ ถ้าไม่ได้ทำความดี ก็บาปแล้วทั้งนั้น แล้วก็ยังทำบาปใหญ่อีก คือ ทำลายพระพุทธศาสนา ด้วยความที่เข้าใจผิด คิดว่าบาปเป็นบุญ เพราะฉะนั้น ก็เป็นการเพิ่มโทษให้กับชีวิตในแต่ละวัน
~ ธรรมเป็นธรรม ซึ่งคนไม่เข้าใจ เมื่อมีผู้ที่ได้ศึกษาแล้วเข้าใจแล้ว ก็กล่าวความจริงตามที่ได้เข้าใจถูกต้อง เพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น นั่นคือแสดงความเป็นธรรมให้คนอื่นได้เข้าใจให้ถูกต้อง จึงใช้คำว่าแสดงธรรม คือ การแสดงความเป็นจริงของธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ได้พูดเรื่องของธรรม ก็ไม่ใช่การแสดงธรรม
~ ธรรมทุกคำที่ผู้พูดต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจ ได้รู้ความจริง ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เป็นจิตที่ดีทำให้มีคำพูดนั้นออกมา ทำให้คนอื่นได้พิจารณาได้ไตร่ตรองให้เข้าใจ
~ ถ้าพระภิกษุ ไม่รู้พระธรรมวินัย ก็เท่ากับไม่เคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่า ความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ด้วยความเข้าใจพระธรรม
~ ต้องเข้าใจธรรม จึงจะประพฤติตามธรรมได้ เมื่อประพฤติตามธรรมแล้ว มีหรือที่ธรรมที่เป็นกุศลจะไม่คุ้มครองคนนั้น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็ตรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม ถ้าไม่เข้าใจธรรมจะประพฤติตามธรรมได้ไหม ผู้ที่ได้ประพฤติตามธรรม เพราะได้เข้าใจธรรม รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไร เป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ปัญญานำไปในกิจทั้งปวง (ที่เป็นกุศล)
~ ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นมงคล นำมาซึ่งความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่ไม่เคยเข้าใจถูกมาเลยในสังสารวัฏฏ์
~ พระภิกษุในสมัยพุทธกาลอยู่ได้โดยไม่มีเงิน ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหากัสสปะ ท่านทั้งหลายก็อยู่ต่อกันมาโดยที่ว่าไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง นี่สำหรับผู้ที่เคารพระธรรมวินัย
~ สูงสุดของกำลังใจ คือ มีปัญญาได้เข้าใจความจริงตามความเป็นจริง
~ ชีวิตที่พอเพียงในการที่จะดำรงชีวิตเป็นพระภิกษุในพระธรรมวินัย ก็ต้องตามพระธรรมวินัย
~ ชีวิตที่จะมีต่อไปข้างหน้า ซึ่งไม่รู้ว่า จะยาว จะสั้น จะมาก จะน้อยสักเท่าไร ก็คือ มีความมั่นคงที่ว่า เมื่อได้ฟังแล้วก็เห็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น ชาติใดมีโอกาสได้ฟังอีกก็จะฟังต่อไป ซึ่งสะสมเป็นแต่ปางก่อนที่ทำให้ชาติต่อไปมีปัจจัยทำให้ได้ยินได้ฟังและได้เข้าใจต่อไป
~ กว่าจะละความไม่รู้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่รู้ เมื่อวานก็ไม่รู้ ต่อไปก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีการฟังพระธรรม หรือถ้าฟังเพียงเล็กน้อย ก็ละความไม่รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นกว่าจะมีความรู้มากมายมหาศาลก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานมากในการอบรมกว่าจะค่อยๆ รู้ รู้เมื่อใด ก็ค่อยๆ ละความไม่รู้ในขณะที่เริ่มเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนหมดสิ้นได้
~ กุศล (ความดี) ทั้งหมด ควรกระทำ ไม่ควรเว้น แล้วสำหรับวันนี้ มีกุศลอะไรที่ตนเองเว้นหรือเปล่า เล็กๆ น้อยๆ ขณะใดก็ตามที่กุศลไม่เกิด อกุศล ก็เกิด จะเห็นได้ว่า เพราะไม่รู้ จึงไม่บำเพ็ญกุศล
~ ขณะที่คิดที่จะทำกุศล หวังอะไรหรือเปล่า บางคนบอกว่าจะได้เกิดในสวรรค์ บางคนกลัวการเกิดในอบายภูมิ แต่ต้องเข้าใจว่า การไปเกิดในอบายภูมิไม่ใช่ด้วยกุศลกรรม แต่ด้วยอกุศลกรรม, ในบรรดาธรรมทั้งหลาย ธรรมใดที่ควรเคารพ ก็ต้องเป็นกุศลธรรม ไม่มีใครด่าว่ากุศลธรรม เพราะว่ากุศลธรรม เป็นสิ่งที่ดีงาม
~ ตั้งต้นที่ไม่เว้นกุศลประการหนึ่งประการใด กุศลที่บริสุทธิ์จริงๆ ต้องเป็นผู้เคารพ เจริญกุศลด้วยความเคารพ ถ้าหวัง ไม่ใช่เป็นการกระทำด้วยความเคารพ
~ ใครก็ตามที่เคารพในกุศล ขณะนั้น ก็จะค่อยๆ ขจัดความไม่รู้ ความติดข้องและความเห็นผิด ได้
~ ต้องเจริญกุศลทุกประการ (สัพพสัมภารภาวนา) เพราะขณะใดที่กุศลไม่เกิด อกุศล ก็เกิด ต้องเจริญด้วยความเคารพในกุศล (สักกัจจภาวนา) และต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน (จิรกาลภาวนา) และ ก็คือ เดี๋ยวนี้ ตามเหตุปัจจัย เช่น ก่อนจะถึงวันนี้ ไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เมื่อฟังแล้ว เห็นประโยชน์ก็ไม่ทอดทิ้ง ต้องฟังต้องศึกษาต่อไป (ก็เป็นนิรันตรภาวนา)
~ เป็นคนดีกันหรือเปล่า? ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่รู้เลย คิดว่า ดี แต่ว่าความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ว่าความไม่ดีที่ทุกคนมีและยังมีอยู่ จะหมดสิ้นไปได้อย่างไรถ้าไม่รู้ว่าไม่ดีอย่างไร ถ้าเรารู้ว่าเราดีแล้วเราจะแก้ไขอะไรไหม เพราะดีแล้ว? แต่เพราะเข้าใจถูกต้อง ว่า ไม่ดีตรงไหน และเห็นโทษของสภาพธรรมที่ไม่ดี นั้น ปัญญาที่เข้าใจอย่างนั้นก็จะนำมาสู่การแก้ไขให้ดีขึ้น ทั้งหมดขึ้นอยู่กับปัญญาความเข้าใจถูก ซึ่งไม่มีใครที่จะเข้าใจได้ถึงที่สุดอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ จึงต้องมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ถ้ากล่าวว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่ไม่ศึกษาพระธรรมแล้วจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งได้อย่างไร
~ ความเข้าใจธรรม นำไปสู่กุศลทุกประการ ซึ่งคฤหัสถ์ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นในเพศของคฤหัสถ์ที่จะอนุเคราะห์พระพุทธศาสนาได้ ในขณะเดียวกันฝ่ายพระภิกษุที่เข้าใจ ก็ทำกิจของพระภิกษุเพิ่มขึ้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น จึงมีพุทธบริษัทที่เป็นพระภิกษุและอุบาสกอุบาสิกา
~ ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรม ไม่มีความรู้อะไรเลยทั้งสิ้นในสิ่งที่มีจริงในชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และจะไม่รู้อย่างนั้นไปตลอด ไม่มีใครที่จะสามารถให้ความจริงให้ความเข้าใจได้เลย แต่อานุภาพของธรรม (ธรรมเตชะ, ธรรมเดช) แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดในสังสารวัฏฏ์ คือ ความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มี และ รู้ว่าผู้ที่สามารถรู้ความจริงที่จะทรงสามารถแสดงความจริงนี้ได้ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
~ ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรมวินัยก็ไม่หยุดที่จะกล่าวถึงพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง เพื่อค่อยๆ พยุงคนที่สามารถเข้าใจได้ ให้มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น
ขอเชิญคลิกอ่านย้อนหลังครั้งที่ผ่านมาได้ที่นี่ครับ
ปันธรรม - ปัญญ์ธรรม ... ครั้งที่ ๓๕๒
...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...