ปัจจนิกสูตร ... วันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑

 
มศพ.
วันที่  31 ก.ค. 2561
หมายเลข  29965
อ่าน  1,139

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๑

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๒๕ - หน้าที่ ๒๘๖

๖. ปัจจนิกสูตร

(ว่าด้วยคำอันเป็นสุภาษิต)

[๗๐๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้น พราหมณ์ มีนามว่าปัจจนิกสาตะ อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ปัจจนิกสาตพราหมณ์ มีความดำริ ว่า อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปเฝ้าพระสมณโคดมยังที่ประทับเถิด พระสมณโคดม จักตรัสคำใดๆ เราจักเป็นข้าศึกคำนั้นๆ ดังนี้

[๗๐๒] สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จจงกรมอยู่ในที่แจ้งลำดับนั้น ปัจจนิกสาตพราหมณ์ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว เดินตามพระผู้มีพระภาคเจ้าซึ่งกำลังเสด็จจงกรมอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ขอท่านพระสมณะ จงตรัสธรรม

[๗๐๓] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า คำอันเป็นสุภาษิต อันบุคคลผู้ยินดีจะเป็นข้าศึก มีจิตเศร้าหมอง มากไปด้วยความแข่งดี จะรู้แจ้งด้วยดี ไม่ได้ ส่วนว่า บุคคลใด กำจัดความแข่งดี และความไม่เลื่อมใสแห่งใจ ถอนความอาฆาตได้แล้ว ผู้นั้นแล พึงรู้คำอันเป็นสุภาษิต

[๗๐๔] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเช่นนี้แล้ว ปัจจนิกสาตพราหมณ์กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ท่านพระโคดม ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย ดุจหงายภาชนะที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่าคนมีจักษุจะมองเห็นรูปได้ ข้าแต่ท่านพระโคดม ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า กับพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

จบปัจจนิกสูตร

อรรถกถาปัจจนิกสูตร

ในปัจจนิกสูตรที่ ๖ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

เมื่อเขากล่าวว่า สิ่งทั้งปวงขาว พราหมณ์นั้นก็ทำการขัดแย้ง โดยนัยเป็นต้นว่า สิ่งทั้งปวงดำ ย่อมมีความสำราญ คือ มีความสุข เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า ปจฺจนิกสาโต. บทว่า โย จ วิเนยฺย สารมฺภํ ความว่า ผู้ใดกำจัดความแข่งดี มีลักษณะทำให้เกินหน้ากัน แล้วฟัง

จบอรรถกถาปัจจนิกสูตรที่ ๖


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 31 ก.ค. 2561

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

ปัจจนิกสูตร

(ว่าด้วยคำอันเป็นสุภาษิต)

เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พราหมณ์ชื่อ ปัจจนิกสาตะ (ผู้ยินดีที่จะเป็นข้าศึก) ได้คิดว่า เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระองค์ตรัสคำใด เราก็จะเป็นข้าศึกของคำนั้นๆ แล้วเข้าไปเฝ้าพระองค์กราบทูลให้พระองค์ตรัสธรรม แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ผู้ที่ยินดีจะเป็นข้าศึก มีจิตใจเศร้าหมอง แข่งดี จะรู้แจ้งคำสุภาษิต ไม่ได้เลย ส่วนผู้ใดที่กำจัดความแข่งดี ความไม่เลื่อมใส และถอนความอาฆาตแล้ว จึงจะฟังคำสุภาษิตได้

เมื่อปัจจนิกสาตพราหมณ์ ได้ฟังแล้ว ก็ได้กราบทูลชื่นชมพระภาษิตของพระองค์และได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดชีวิต

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

ความบริสุทธิ์แห่งวาจา

วาจาสุภาษิต

พระพุทธเจ้าสอนให้ตอบสนองผู้มักโกรธ อาฆาตไว้อย่างไรบ้าง

เพื่อนแท้ไม่แข่งดี

เกิดอกุศลจิตบ่อยมาก

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มกร
วันที่ 3 ส.ค. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Selaruck
วันที่ 4 ส.ค. 2561
กราบอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 19 เม.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ