ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา ๓๐ เมษายน - ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  9 ม.ค. 2562
หมายเลข  30370
อ่าน  2,035

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ถึงวันที่ ๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา และวิทยากร รศ.สงบ เชื้อทอง ผศ.อรรณพ หอมจันทร์ อาจารย์กุลวิไล สุทธิลักษณวนิช อาจารย์ธีรพันธ์ ครองยุทธ อาจารย์ธิดารัตน์ หอมจันทร์ และ อาจารย์คำปั่น อักษรวิลัย ได้รับเชิญจากคุณประสาร คุณรัชนีวรรณ บุญชู และครอบครัว เพื่อไปสนทนาธรรม ที่ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา รีสอร์ทใหม่ของท่านเจ้าภาพทั้งสอง ที่เพิ่งสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อไม่นานมานี้

พี่ประสารและพี่เจี๊ยบ (รัชนีวรรณ บุญชู) เป็นสหายธรรมชาวสมุทรสงครามที่ฟังท่านอาจารย์มานานแล้ว ทั้งสองท่านเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ทำดีและศึกษาพระธรรม มีการเจริญกุศลทุกประการไม่เคยขาด ในทุกๆ วันสำคัญๆ ทางพระพุทธศาสนาที่มีการจัดสนทนาธรรมที่มูลนิธิฯ จะเห็นพี่เจี๊ยบและพี่ประสาร เป็นเจ้าภาพนำอาหารทั้งคาวหวาน เช่น ปลาทูซาเตี๊ยะ เจ้าดังของมหาชัย และอาหารอื่นๆ หลายรายการมาร่วมเจริญกุศลด้วยทุกครั้ง

พี่ประสารและพี่เจี๊ยบ ทำธุรกิจโรงเลื่อยไม้และค้าวัสดุก่อสร้าง ปัจจุบันพี่ประสารเองได้วางมือจากธุรกิจแล้ว และได้มอบหมายให้ลูกสาวและลูกชายเป็นผู้ดูแลแทน ใช้เวลาที่เหลืออยู่เป็นไปกับการศึกษาพระธรรมและเจริญกุศลทุกประการ ซึ่งธุรกิจล่าสุดที่ครอบครัวของท่านทำคือ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา แห่งนี้

เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอนุโมทนาอย่างยิ่ง ที่ทั้งสองท่านเป็นตัวอย่างอันดีสำหรับท่านอื่นๆ ในการเจริญกุศลเปิดรีสอร์ทใหม่แห่งนี้ ด้วยการกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากรของมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ทั้งกราบเรียนเชิญท่านผู้ใหญ่ของมูลนิธิฯ ที่ท่านเคารพนับถือ ตลอดจนเพื่อนสหายธรรมที่ท่านคุ้นเคย มาพักผ่อนและร่วมสนทนาธรรมในวันพิเศษนี้ด้วยกัน ความเข้าใจในพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่เพียงจะเป็นกุศลสูงสุด เป็นบุญอันยิ่งกว่าบุญกุศลใดนี้ ไม่เพียงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้มีโอกาสได้ฟังเข้าใจ แต่ย่อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะธำรงรักษาพระศาสนาคือคำสอนจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ให้มีความมั่นคงยั่งยืนสืบต่อไป เพราะพระศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองมั่นคงต่อไปได้นั้น หาใช่ด้วยสิ่งก่อสร้าง ถาวรวัตถุ วัดวาอารามที่ใหญ่โตสวยงามไม่ แต่พระศาสนาจะรุ่งเรืองมั่นคงได้ ก็เพราะมีผู้ที่เข้าใจพระธรรมคำสอนที่ถูกต้อง ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงได้อย่างแท้จริง พร้อมทั้งเผยแพร่ให้ผู้ที่มีความสะสมมา มีโอกาสได้ฟังและพิจารณา และสะสมความเข้าใจความจริงจากการทรงตรัสรู้ ในหนทางที่ถูกต้องนี้อีกต่อไปในสังสารวัฏฏ์ นี้คืออริยทรัพย์อันประเสริฐที่ได้ทรงมีพระมหากรุณาแสดงไว้ ความเข้าใจธรรมเป็นทรัพย์ที่มีค่าเหนือทรัพย์แลรัตนใดในโลก ซึ่งจะสะสมต่อไปในจิต เป็นที่พึ่งแก่บุคคลในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งไม่มีใครจะสามารถลักขโมยไปได้ เป็นอริยทรัพย์ที่ท่านเจ้าภาพได้เมตตาเกื้อกูลโอกาสนี้ แก่ทุกๆ ท่าน ไม่แม้เพียงท่านที่ได้มีโอกาสฟังในวันนั้น แต่ยังเป็นโอกาสอันเยี่ยม สำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะได้อ่านข้อความการสนทนาในภายหลัง ทั้งโอกาสที่ได้ชมและฟังบันทึกการสนทนาธรรม ตามคลิปทางยูทูปที่ทางมูลนิธิฯ ได้ทำการเผยแพร่ไว้ในโลกออนไลน์ ซึ่งได้แนบลิงค์การสนทนาธรรมครั้งนี้ ไว้ในตอนท้ายของกระทู้นี้ด้วยแล้วนะครับ

เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา มีการออกแบบและการก่อสร้างอย่างพิถีพิถัน โดยการสอดแทรกเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของท้องถิ่น ไว้ในทุกๆ รายละเอียดของรีสอร์ท มีบรรยากาศร่มรื่นสวยงาม ภายในห้องพักก็พรั่งพร้อมไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน ทำให้การพักผ่อนที่นี่ เต็มไปด้วยความสะดวกสบาย เป็นที่น่ารื่นรมย์อย่างยิ่ง ทั้งนี้ ในวันแรกของการสนทนาธรรม ท่านเจ้าภาพได้จัดเลี้ยงอาหารมื้อค่ำสุดพิเศษอย่างยิ่ง ในอาคารริมน้ำที่มีทรงกลมแปลกตา ประดับประดาตกแต่งภายใน ด้วยงานศิลปจากไม้ไผ่จักสาน ที่สวยงาม สุดแสนประณีต ดูโอ่อ่าอลังการในงานฝีมือที่เป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง ทราบว่าออกแบบโดยศิลปินของไทยที่มีชื่อเสียงที่ได้รับรางวัลมากมายจากทั้งในและต่างประเทศ ท่านที่สนใจรายละเอียดของ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา สามารถคลิกชมได้ที่นี่ ...

The Buffalo Amphawa เรื่องของ “ควาย” กลายเป็นงานศิลป์แบบ “คราฟต์ๆ ”

ในโอกาสของการเจริญกุศลเพื่อเปิด เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา คราวนี้ พี่ประสารและพี่เจี๊ยบ ปิดรีสอร์ททั้งหมดเพื่อให้การต้อนรับท่านอาจารย์และคณะฯ อย่างเต็มที่ ทุกท่านต่างชื่นชม ปีติยินดี ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมในวันสำคัญของท่านเจ้าภาพและครอบครัวในครั้งนี้ ซึ่งทางท่านเจ้าภาพได้จัดให้ทุกท่านพักในรีสอร์ทใหม่แสนสวย ที่มีการตบแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างยิ่งของอัมพวา พร้อมทั้งจัดเตรียมเครื่องดื่ม อาหารคาวหวานนานาชนิด ที่ทำการปรุงอย่างประณีตสุดฝีมือ เพื่อให้บริการอย่างเต็มที่แก่ทุกท่านที่เข้าร่วมการสนทนาธรรมในคราวนี้ เป็นอีก ณ กาลครั้งหนึ่ง ของการสนทนาธรรม ที่มีความพรั่งพร้อม สมบูรณ์ งดงาม ภายในบรรยากาศและการบริการที่ยอดเยี่ยม เป็นกันเอง เป็นที่ประทับใจของทุกคนในวันนั้นมากจริงๆ ครับ กราบอนุโมทนาในกุศลจิต กุศลเจตนาและกุศลศรัทธาอันยิ่ง ของพี่ประสาร พี่เจี๊ยบ (รัชนีวรรณ) และครอบครัว ตลอดจนพนักงานของ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา ทุกท่าน มา ณ โอกาสนี้ ด้วยนะครับ

ข้อความบางตอนจาก ...

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 143

๙. ทานสูตร

ดูก่อน สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวัง ให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสม ให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วก็ได้เสวยผลทานนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดา ปู่ย่าตายายเคยให้ เคยทํามา เราไม่ควรทําให้เสียประเพณี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ไม่สมควร

ไม่ได้ไห้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จําแนกแจกทาน เหมือนอย่าง ฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน เช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นธรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้

ดูก่อนสารีบุตร นี้เหตุปัจจัย เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้น ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก.

จบ ทานสูตรที่ ๙

ข้อความบางตอนจาก ...

[เล่มที่ 48] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ ๒

เกิดในสวรรค์ เป็นผลของกุศลกรรม [วิมานวัตถุ]

... เทพธิดานั้นดีใจ ครั้นถูกท่านพระมหาโมคคัลลานเถระถามแล้ว จึงพยากรณ์ปัญหาของกรรมที่มีผลอย่างนี้ว่า “ ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ในหมู่มนุษย์ ดิฉันได้ถวายอาสนะแก่เหล่าภิกษุที่มาถึงเรือน ได้กราบไหว้ ได้ทำอัญชลี (ประนมมือ) และได้ถวายทานตามกำลัง เพราะบุญนั้น วรรณะของดิฉันจึงเป็นเช่นนี้ เพราะบุญนั้น ผลนี้จึงสำเร็จแก่ดิฉัน และโภคะทุกอย่างที่น่ารัก จึงเกิดแก่ดิฉัน ข้าแต่ท่านภิกษุผู้มีอานุภาพมาก ดิฉันขอบอกแก่ท่าน ครั้งเกิดเป็นมนุษย์ ดิฉันได้ทำบุญอันใดไว้ เพราะบุญอันนั้น ดิฉันจึงมีอานุภาพรุ่งเรืองอย่างนี้ และวรรณะของดิฉันจึงสว่างไสวไปทุกทิศ ”

อันดับต่อไป ขออนุญาตนำความการสนทนาธรรมบางตอนในครั้งนี้ มาบันทึกไว้เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ของการเจริญกุศลอันยิ่งใหญ่ของท่านเจ้าภาพในครั้งนี้ เฉพาะอย่างยิ่ง กราบอนุโมทนาในกุศลทุกประการของพี่เจี๊ยบ (รัชนีวรรณ บุญชู) ซึ่งบัดนี้ได้จากพวกเราไปแล้ว ภายหลังการสนทนาธรรมครั้งนี้ไม่นาน ขออุทิศกุศลทุกประการที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญไว้ดีแล้วทั้งหมดในชาตินี้ ให้พี่เจี๊ยบได้ร่วมอนุโมทนาด้วยนะครับ ขอจงมีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในส่วนกุศลนั้น ด้วยเทอญ (คิดถึงพี่เจี๊ยบครับ ดีใจที่ได้พบกันนะครับ)

พี่เจี๊ยบ (คุณรัชนีวรรณ) กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ กราบคุณย่าสงวน (สุจริตกุล) กราบคุณน้าศุกล (กัลยาณมิตร) และคณะวิทยากรทุกท่าน และเพื่อนสหายธรรมทุกๆ ท่าน นะคะ

วันนี้มีความยินดีมากที่ทุกท่านมา ธรรมดาหนูเคยทำบุญ เลี้ยงพระ แต่ตั้งแต่ไปที่มูลนิธิฯ หนูไม่เคยเลี้ยงพระอีกเลย เลยจัดสนทนาธรรม หนูพูดไม่เก่ง จะพูดอย่างไรต่อแอ๊ว (หัวเราะ-พูดกับคุณนภา จันทรางศุ ที่นั่งอยู่ข้างๆ) หนูมีเรื่องอยากพูดเยอะ คือ หนูมีความรู้น้อย ตอนแรกคือ ขันธ์ ๕ หนูก็ไม่รู้จัก ยังไม่รู้จัก รูป เวทนา สัญญา สังขาร ไม่รู้จัก พอท่านอาจารย์ถาม หนูคอแห้งเลย ตอบไม่ถูก (หัวเราะ)

หนูก็ได้แต่พิจารณามาเรื่อยๆ ว่า ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน พิจารณาถึงคำที่ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็ค่อยๆ พิจารณา แต่หนูเห็นท่านอาจารย์ไปสนทนาที่อื่น คนบางทีเขาก็แข็งขืนกับท่านอาจารย์ คล้ายๆ ว่า เขาไม่ค่อยจะเข้าใจ เขาไม่ได้ศึกษา อย่างหนูศึกษาน้อย แต่หนูก็ค่อยๆ พิจารณาดูว่า ถ้าขออะไร ไม่เคยได้

สมัยก่อนหนูขอทั้งนั้น (หัวเราะ) ขอให้รวย ขอให้ขายดี ขายของก็ขอให้ขายดี แต่ตั้งแต่ไปศึกษากับท่านอาจารย์ หนูก็ค่อยๆ ละ แต่หนูก็เคยไป แต่ไปปฏิบัติธรรมอะไรนี่ไม่เคยไป แต่เคยไปแก้กรรมอะไรนี่เคย บังสุกุลเป็น บังสุกุลตาย นี่เคยค่ะ แต่ปฏิบัติธรรมนี่ไม่เคย

หนูมาทางนี้ หนูก็แน่ใจ มั่นใจในคำของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านี่แน่ใจมาก มาทางท่านอาจารย์นี่คือ ไม่ไปไหนแล้ว ชาตินี้นะ แต่ชาติหน้าไม่รู้!! (หัวเราะ สหายธรรมก็หัวเราะกันครืน) แต่ตั้งมั่นไป ตั้งจิตไป ก็จะไปในทางนี้ค่ะ

แต่มีการตัดกรรมค่ะท่านอาจารย์ เขาจะมีพระรูปหนึ่ง มีงาน เอากรรไกรมาตัดผมแล้วใส่ดอกบัว โยนทิ้งน้ำ ของจังหวัดนี้ด้วย คือ ไปตัดกรรม เขาจะมีดอกบัว แล้วพระก็จะนั่งตัดผมคนละนิด ละนิด แล้วจะใช่ไหม? จะตัดได้หรือ?

ท่านอาจารย์ ตัดผมได้ แต่ตัดกรรมไม่ได้!!

พี่เจี๊ยบ ถ้าตัดได้ หนูยอมตัดหมดหัวเลย (หัวเราะ) จะถามอะไร (ลืมคำถาม) คุณแสงมาเลย ปัญญามาเลย (เรียกน้องชายของพี่ประสารทั้งสองท่าน มาร่วมสนทนา)

ท่านอาจารย์ ที่จริงก็ดีนะคะ แทนที่จะเลี้ยงพระ ก็บำรุงพระศาสนา ด้วยการที่เข้าใจธรรมะ ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะว่า ยุคนี้ เป็นยุคที่ทุกอย่างกำลังวิกฤตจริงๆ เพราะเหตุว่า คนที่คิดว่าตนเองนับถือพระพุทธศาสนา ไม่ได้เข้าใจธรรมะ!!

เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่ทำ อย่างเรื่อง "ตัดกรรม" ก็เป็นเรื่องที่น่าอนาถใจ เพราะเหตุว่า ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย แต่ก็หลงเข้าใจผิด แล้วก็เป็นผู้ที่เป็นพระภิกษุด้วย ใช่ไหม? ที่ทำ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง

พี่เจี๊ยบ เป็นเจ้าอาวาสด้วยนะคะ คนก็ไปเยอะมาก

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็กำลังจะวิกฤตยิ่งขึ้น ใช้คำว่า เลวร้ายยิ่งขึ้นก็ได้ เพราะว่า อย่างมีคนที่คิดว่า จะแก้พระวินัยบัญญัติ ลืมสนิทว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า "คำของพระองค์" ไม่มีใครเปลี่ยนได้!! คำใดที่ตรัสแล้ว คือพระธรรมทั้งหมด และพระวินัยด้วย!! เป็นคำที่ตรัสด้วยพระองค์เอง เพื่อประโยชน์แก่ชาวโลกจริงๆ

เพราะฉะนั้น ถ้าใครคิดว่า เขาสามารถที่จะเปลี่ยนแปลง แก้ไขพระธรรมวินัยได้ คนนั้นก็ต้องเป็นการที่ ลบหลู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระรัตนตรัย นี่เป็นสิ่งซึ่ง คนที่ได้เข้าใจธรรมแล้ว ก็สามารถที่จะรู้หน้าที่ของแต่ละคนว่า เราในฐานะที่ได้เข้าใจธรรมแล้ว ก็ควรที่จะช่วยให้คนอื่นได้เข้าใจถูกต้องด้วย!! มิฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะดำรงพระศาสนาไว้ได้

เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีความสามารถ หรือมีเวลา หรือมีโอกาสเมื่อไหร่ ก็พยายามทำ อย่างวันนี้ เราก็ช่วยกัน ให้คนอื่นได้เข้าใจว่า ขณะนี้มีอะไรบ้าง? ซึ่งหลายคนไม่รู้ อย่างเรื่องตัดผมแล้วก็ไปโปรยน้ำ ทิ้งลงไปในน้ำ เอาดอกบัวมาเกี่ยวข้อง เรื่องอะไรกัน? ทุกอย่างเป็นไปด้วยความไม่รู้ทั้งหมด

ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าอะไรถูก นั่นคือปัญญา เพราะฉะนั้น ปัญญาจะไม่นำไปในทางผิด และที่คุณรัชนีวรรณพูดก็ถูกนะคะ คือเราไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาบาลีเลย เพราะเหตุว่า เพียงได้ยินคำว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา นี่ก็คือคำในภาษาบาลีที่ว่า "อนัตตา" เราไม่จำเป็นต้องไปยึดติดกับคำว่าอนัตตา ขณะนี้ "เห็น" เป็นอนัตตา "ได้ยิน" เป็นอนัตตา แต่ไม่ใช่เรา แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนใดๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่เพียงสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ไม่มีใครรู้

เพราะฉะนั้น ถ้าค่อยๆ ปลูกฝังความมั่นคงว่า "ไม่ใช่เรา" ไม่มีเรา ทั้งหมดเป็นธรรมะ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อันนี้ก็ค่อยๆ นำไปสู่การที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่า ถ้าเราได้ฟังธรรมะนิดหน่อย อยากเหลือเกินที่จะประจักษ์ความจริง จนกระทั่งไปมีสำนักปฏิบัติ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติที่ไม่ได้เข้าใจธรรมะเลย อันนั้นก็คือว่า หลงทาง แล้วก็ ทำให้คนอื่นเข้าใจผิดด้วย!!

แต่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็คือว่า ไม่ใช่เรา!! แล้วก็ ไม่มีเรา!! และ เป็นธรรมะแต่ละอย่าง ที่มีจริงๆ ค่อยๆ เข้าใจ ในภาษาของตน ของตน เพราะว่า ธรรมะก็ไม่มีภาษาเฉพาะ แต่จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ ที่จะทำให้เข้าใจ คือ ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา ขณะนี้เป็นธรรมะทั้งหมด!!
คุณรัชนีวรรณ แต่หนูก็ยอมรับ ภาษาบาลีหนูจำไม่ค่อยได้ แต่ว่าพยายามคิดในคำไทยไปว่าอย่างไรๆ ค่ะ

ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่าไม่ใช่เรา ก็ยังดีกว่าพูดคำว่าเป็นอนัตตา โดยไม่เข้าใจคำว่าอนัตตาคืออะไร?

คุณรัชนีวรรณ ก็ศึกษา ก็ได้แต่แค่ฟังแล้วก็คิดไปเท่านั้น ว่า อย่างไร ยังไม่ได้ ...

ท่านอาจารย์ ที่จริง ก็แค่นี้กันทุกคน ใช่ไหม? หรือใครมากกว่านี้? ก็แค่นี้กันทุกคน ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ทีละน้อย นั่นคือ "ละ" แต่ถ้าอยากได้มากๆ ก็ติดข้อง!! ไม่ใช่ละ!! ก็ปรกติ เป็นเรื่องจริงใจ เป็นเรื่องมั่นคง เป็นเรื่องที่เห็นประโยชน์ เป็นเรื่องที่รู้ว่า ลึกซึ้ง แต่ก็สามารถที่จะเข้าใจถึงที่สุดได้ จาก "ค่อยๆ เข้าใจขึ้น" เป็นปกติ ก็เป็นการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจธรรมะขึ้น!!

คุณรัชนีวรรณ มีคนถามหนูว่า พระไตรปิฎก นี่ใครแต่งคะ หนูจะได้ไปตอบถูก

ท่านอาจารย์ ตอบเขาเลยค่ะ ใครก็แต่งไม่ได้!!

คุณรัชนีวรรณ ใช่ค่ะ คนที่มีความรู้นะคะ ที่ถามหนู คือพี่น้องหนูทั้งนั้นเลย มาถาม เพราะหนูชวนไปที่ตึกของลูกชาย ( ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ อาคารพัฒน์ธนะ บุญชู ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ ) และพอมานี่ ชวนเขาเท่าไหร่ เขาก็จะเก่งกว่าหนูเพราะเขาเรียนมาก เขาจบปริญญากันทั้งนั้น แต่หนูจบแค่ ป.๔ ก็เลยชวนไม่ถูก เขาถามว่าใครแต่ง? แม้กระทั่งทำบุญกระดูกเตี่ย-แม่ เคยทำทุกปี เราก็ต้องไป แต่ปีนี้เขาไม่บอกหนูเลย หนูก็เลยไม่ไป รู้ แต่ไม่ไป

ท่านอาจารย์ ฟังธรรมะ เป็นบุญไหม?

คุณรัชนีวรรณ เป็นค่ะ หนูก็ถือว่า เป็นบุญแล้ว หนูไม่ไปก็ได้

ท่านอาจารย์ อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้วได้อนุโมทนา เพราะเป็นบุญจริงๆ

คุณรัชนีวรรณ ใช่ค่ะ หนูถึงได้จัด (สนทนา) หนูก็ยังมีบุญได้มาฟังท่านอาจารย์เยอะ ก็คิดอย่างนี้ ... .หนูเคยไปชวน (พี่น้องมาฟัง) เขาก็ไม่มา วันนั้นที่ไปสนทนาธรรมที่ตึกลูกชาย ก็ไปคุยเสียงดัง หนูก็เลยไม่ชวนเขามา คราวนี้ก็ไม่ได้ชวน พี่น้องทางหนูไม่เหมือนพี่น้องคุณประสาร พี่น้องคุณประสารมาเพียบ มาทุกคน (หัวเราะ) เข้าใจหรือไม่เข้าใจไม่รู้ (หัวเราะกันครืน)

ท่านอาจารย์ แต่เห็นไหม? การสะสม คนที่ไม่มา อย่างไรก็ไม่มา แต่คนที่สะสมมา ที่จะฟัง เริ่มฟัง เริ่มเข้าใจ ก็มา เพราะฉะนั้น แม้แต่มาหรือไม่มา ยังต้อง "ไม่ใช่เรา" แต่เป็นธรรมะ!!

คุณรัชนีวรรณ เป็นธรรมะ เราก็เข้าใจ ขั้นฟังเข้าใจว่ามันเป็นธรรมะ

ท่านอาจารย์ แค่นี้ เป็นประโยชน์มากแล้ว ให้มั่นคงจริงๆ ว่า "เป็นธรรมะ"

อ.กุลวิไล และที่สำคัญ คำใดเป็นคำจริง คำนั้นเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ศึกษาจากพระไตรปิฎกที่ทรงแสดง ก็ไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่รู้จักความเป็นธรรมะ และเป็นอนัตตา

ผศ.อรรณพ พี่เจี๊ยบถูกถามว่า ใครแต่งพระไตรปิฎก ท่านอาจารย์ก็ตอบไปแล้วว่า ใครก็แต่งไม่ได้ แต่ถ้าจะพูดให้เขาคิดว่า ยังไม่ต้องสนใจได้ไหมว่าใครแต่ง แต่ว่าพระไตรปิฎก แสดงอะไร? และมีผู้ที่จะอธิบายความหมายให้เข้าใจพระไตรปิฎกได้ สนใจไหม? อ่านเองไม่รู้เรื่อง เขาบอกเขาไม่สนใจ อ่านไม่รู้เรื่อง แต่มีผู้ที่เข้าใจ ที่จะอธิบายและสนทนาให้เข้าใจข้อความในพระไตรปิฎก สนใจไหม?

คุณรัชนีวรรณ บางทีหนูคิดว่าท่านอาจารย์มา หนูยังอยากจะนิมนต์พระวัดแถวนี้มาฟัง อยากจะให้มาฟังจริงๆ

ท่านอาจารย์ แต่คิดว่า การที่เรามีรายการออกอากาศ ก็เป็นหนทางหนึ่ง ซึ่งผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์หรือเป็นพระภิกษุ ท่านก็สามารถที่จะรับฟังได้ เพราะฉะนั้น การที่รับฟังแล้ว จะมาหรือไม่มา ก็ตามอัธยาศัย

คุณรัชนีวรรณ เวลาหนูฟังในนั้น ท่านอาจารย์ก็โดนต่อว่าน่าดูเหมือนกัน แต่ท่านอาจารย์ก็มีความอดทน ถ้าฟังตามเวปตามอะไร เขาต่อว่าท่านอาจารย์ พูดเริ่มแรกดีเลย พอตอนหลัง พระต้องรับเงินได้ พอสรุปแล้วทีหลังทุกรายการที่ออกเลย จะต้องมีความอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องรับเงินได้

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมีความมั่นคง ที่จะให้เขารู้ว่า เขานับถือใคร? ถ้าเขานับถือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เป็นพระศาสดา คำของพระองค์เปลี่ยนไม่ได้เลย และคำของพระองค์ก็คือ ทั้งพระธรรมและพระวินัย ไม่ใช่แต่เฉพาะพระธรรมเท่านั้น เพราะว่าคำของพระองค์ที่ตรัส ด้วยพระมหากรุณา การที่ทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับพระภิกษุ ไม่ใช่ไปทรมานภิกษุ หรือว่าไม่ใช่ไปทำให้ภิกษุเดือดร้อน ไม่หวังร้ายต่อใครเลยทั้งสิ้น เป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้คนอื่นลำบาก แต่เพื่อให้เขาได้อยู่สบาย ในเพศของผู้ที่สงบระงับจากกิเลส เพราะว่า จุดประสงค์ของการเป็นพระภิกษุ ต้องชัดเจน ว่าเพื่อขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ไปเพิ่มกิเลส!!

เพราะฉะนั้น พฤติกรรมทั้งหลาย ตั้งแต่ตื่นจนหลับของพระภิกษุ จะเหมือนอย่างคฤหัสถ์ไม่ได้เลย เพราะว่าคฤหัสถ์ ฟังธรรมได้ และสามารถรู้ความจริงถึงการเป็นพระอริยบุคคลได้ เป็นพระอรหันต์เมื่อไหร่ ไม่อยู่อย่างคฤหัสถ์อีกต่อไป เพราะฉะนั้น เพศภิกษุเป็นเพศของพระอรหันต์ ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ว่า ถ้าใครไม่สามารถดำรงเพศภิกษุได้ ไม่สามารถที่จะประพฤติตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเพื่ออนุเคาระห์ให้อยู่สบายได้ เขาก็ลาสิกขาบทเป็นคฤหัสถ์ แล้วก็ฟังธรรมเข้าใจได้ ไม่มีปัญหา!!

ดีกว่าคิดที่จะเปลี่ยนแปลงคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะผู้ที่คิดอย่างนั้น ไม่มีความเคารพในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บวชโดยอาศัยคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เข้าใจธรรมะจึงบวช ไม่เข้าใจธรรมะ บวชทำไม?

เพราะฉะนั้น ต้องรู้เลย ใครให้เข้าใจธรรม? ต้องเป็นผู้ที่เขาควรจะเคารพ และทุกคำที่ได้ฟัง เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ต้องมั่นคงว่า คำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครก็เปลี่ยนไม่ได้ ถ้ามีความเคารพจริงๆ จะไม่คิดที่จะเปลี่ยน ทั้งพระธรรมและพระวินัย และเป็นโทษด้วย!! ลองคิดดู ถ้าจะอ้างว่า พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า ถ้าสงฆ์ประสงค์ที่จะถอนสิกขาบทหรือเพิ่มเติมสิกขาบท ก็ทำได้ ตรัสไว้อย่างนี้จริง คนที่ไม่เคารพ คิดอย่างไร? และคนที่เคารพ คิดต่างกันไหม? นี่ก็แสดงความต่างกันแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่เคารพจนมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งจริงๆ ไม่คิดแม้แต่ที่จะเปลี่ยนพระธรรม พระวินัย สักคำหรือสักข้อเดียว เพราะเหตุว่า รู้ว่า ไม่มีใครสามารถที่จะรู้อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลยทั้งสิ้น!!

เพราะฉะนั้น เขาเป็นใคร? แล้วยังคิดที่จะทำลายพระธรรมวินัยด้วย ก็ต้องเป็นโทษ และถ้าเกิดจะมีพระภิกษุรวมกัน สงฆ์คือคณะของภิกษุหลายๆ รูปรวมกัน ถ้าแต่ละหนึ่งก็เป็นภิกษุบุคคล ถ้ารวมกันแล้วมีความคิดที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติม ถอนสิกขาบทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเขาทำได้ โดยชาวพุทธคิดว่าทำได้ตามไปด้วย เขาก็เพิกถอนพระวินัยทีละข้อสองข้อจนหมดไม่เหลือได้ แล้วจะมีภิกษุตามพระธรรมวินัยหรือ?

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้จริงๆ ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร และผู้ที่เคารพจริงๆ ในพระปัญญาคุณ ในพระบริสุทธิคุณ ในพระมหากรุณาคุณ ไม่คิดแม้แต่ที่จะเปลี่ยน พระธรรมและพระวินัย ถ้าปล่อยให้เป็นไปเกิดขึ้น เขาก็ถอนสิกขาบททั้งหมด

ผศ.อรรณพ ผมก็ได้รับทราบข้อมูลอย่างที่พี่เจี๊ยบได้รับทราบมา ก็คือ มีผู้ที่เขามีความเห็นว่า สิ่งที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยท่านอาจารย์สุจินต์และคณะฯ ที่ได้เผยแพร่ เขาไม่เห็นด้วย เพราะว่าเขาก็อยากให้เป็นไปตามที่เขาคิดว่าควรจะเป็น ตามยุคตามสมัย พูดอะไรก็แล้วแต่ สรุปแล้วก็คือ รับเงินได้ ผมก็คิดว่า ใครเขาจะว่าอย่างไร ถ้าเรากล่าวคำจริง ความจริง ก็ไม่สมควรที่จะหยุดกล่าว แล้วท่านอาจารย์ท่านก็มั่นคงกว่าพวกเรามากมาย ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้หวั่นไหวสำหรับความเห็นต่างเหล่านี้ แต่ว่า การที่จะมีใครที่ได้เข้าใจ ก็มีคนที่เข้าใจในเหตุในผล ที่เขาสะสมมาที่จะละเอียดและตรง เขาก็เข้าใจ ก็เผยแพร่กันต่อไป ผมก็คิดว่า อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตไปแล้ว ก็คือ การกล่าวคำจริง

ท่านอาจารย์ เขาลืมหรือเขาไม่รู้ ว่าดิฉันพูดทุกคำตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ไม่ใช่คำของดิฉันเลยสักข้อ แม้แต่ "ภิกษุ ไม่รับและไม่ยินดี ในเงินและทอง" ก็แสดงถึงความเป็นภิกษุ ซึ่งต่างกับคฤหัสถ์ มิฉะนั้นแล้ว จะต่างกันตรงไหน?พราะเหตุว่า เงินทองนำมาซึ่งอะไร? พระภิกษุจะเอาเงินนั้นไปทำอะไร? ถ้าจะพูดว่า ไปสงเคราะห์ ไปช่วยเหลือสังคม พระภิกษุช่วยเหลือสังคมยิ่งกว่าใครทั้งสิ้น เมื่อเข้าใจธรรมะและกล่าวคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ผู้ที่เป็นทุกข์เพราะกิเลส ได้ค่อยๆ เข้าใจความจริง ที่จะค่อยๆ ละคลายกิเลส ไม่ใช่ไปส่งเสริมกิเลส!!

เพราะเหตุว่า "วัด" คือ ที่ๆ พระภิกษุทั้งหลายผู้สงบอยู่ ไม่ใช่อย่างบ้านเรือน มีโทรทัศน์ มีอะไรทุกอย่าง เต็มไปหมด เพราะว่า เราสามารถเข้าใจธรรมะตามความเป็นจริง ตามที่สะสมมาว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่ไปแกล้ง ไปพยายามที่จะฝืนอัธยาศัย แล้วก็ไม่ใช่เป็นความจริงใจ ถ้าภิกษุเป็นผู้ที่สละความยินดี ในเพศคฤหัสถ์ ก็ต้องจริงใจ เหมือนคฤหัสถ์ที่เขาเป็นคฤหัสถ์ด้วยความจริงใจ ว่าเขาเป็นคฤหัสถ์ แต่เขาฟังธรรมะ เพราะว่า ความจริง ไม่ว่าใครก็สามารถที่จะเข้าใจได้ สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระอริยบุคคล ถึงความเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เมื่อใดเป็นพระอรหันต์ เมื่อนั้นจึงไม่เป็นคฤหัสถ์อีกต่อไป

เพราะฉะนั้น เป็นผู้ที่ตรงและจริงใจ ภิกษุก็ต้องตรงและจริงใจด้วย ว่าต่างจากคฤหัสถ์ เพราะว่าสละเพศคฤหัสถ์ ไม่ทำกิจใดๆ ของคฤหัสถ์อีกต่อไป เพื่อที่จะได้ขัดเกลากิเลสในเพศบรรพชิต ซึ่งต้องศึกษาธรรมะ เพราะเหตุว่า ความเข้าใจธรรมะต่างหาก ที่ขัดเกลากิเลส มีใครเป็นพระโสดาบันโดยไม่ได้เข้าใจธรรมะบ้าง? เป็นไปไม่ได้เลย

เพราะฉะนั้น เป็นภิกษุเพื่ออะไร? เพื่อคันถธุระ และ วิปัสสนาธุระ ไม่ได้แยกกัน สองธุระนี้ เพราะเหตุว่า คันถธุระคือศึกษาธรรมะ ถ้าไม่ศึกษาธรรมะมีวิปัสสนาธุระไม่ได้ จุดประสงค์ของภิกษุไม่ใช่เพียงแค่คันถธุระ แต่จะต้อง ทั้งชีวิต ทั้งศึกษาและอบรมปัญญา ขัดเกลากิเลส เพื่อที่จะช่วยสังคมที่เป็นประโยชน์ ที่คฤหัสถ์ทำได้ไม่เท่าภิกษุ เพราะเหตุว่า ภิกษุ ตั้งแต่ตื่นจนหลับก็เป็นเรื่องของการละคลายกิเลสทั้งกาย วาจา ใจ ถ้าจะเป็นการช่วยสังคมจริงๆ ก็ช่วยในเพศของภิกษุซึ่งเข้าใจธรรมะ และให้สังคมได้เข้าใจธรรมะถูกต้องด้วย แต่ไม่ใช่ไปตัดกรรมหรือว่าไปทำในสิ่งซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎก อย่างนั้นจะชื่อว่าเป็นภิกษุในธรรมวินัยหรือ? ต้องเป็นผู้ตรง

ผศ.อรรณพ การติหนิผู้ที่กล่าวตามพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เท่ากับเป็นการตำหนิพระพุทธพจน์ ตำหนิพระธรรมวินัยนั่นเอง ใช่ไหมครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ราไม่ได้กล่าวเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามคฤหัสถ์เข้าใจธรรมะ ไม่ได้ห้ามคฤหัสถ์ฟังธรรมะ ไม่ห้ามคฤหัสถ์กล่าวธรรมะ!!! ไม่มีเลยในพระไตรปิฎก ซึ่งจะห้ามไม่ให้พุทธบริษัทกล่าวธรรมะ เพราะว่าผู้ที่เป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศในทางต่างๆ ที่เป็นคฤหัสถ์ก็มี อย่างท่านอนาถบิณฑิกะ ท่านก็เป็นเอตทัคคะ ผู้เลิศในการให้ทาน

ผศ.อรรณพ ก็มีท่านแสดงไว้ในพระสูตร สุสสูสาสูต ร ก็เตือนมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเองว่า " บุคคลใด เมื่อมีผู้กล่าวตามพระตถาคตอยู่ เป็นผู้ไม่ฟัง ไม่เงี่ยโสต ไม่ถือในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทิ้งในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และไม่มีขันติที่สมควร " ก็เป็นผู้ที่ไม่อาจที่จะเข้าถึงหรือหยั่งลงในธรรมะได้เลย แต่ถ้าตรงกันข้าม เป็นผู้ที่สะสมมาที่จะได้ยินได้ฟังผู้ที่กล่าวตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นผู้ที่ฟัง ตั้งใจฟัง จะใช้คำว่าเงี่ยโสตหรืออะไรก็แล้วแต่ คือ ตั้งใจฟังและได้เข้าใจในสิ่งที่เป็นสาระ และสิ่งผิดๆ อย่างที่เคยยึดถือมา อย่างเช่น เคยเอาเงินเอาทองให้ภิกษุ ซึ่งพวกเราก็เคยกันมาทั้งนั้น ก็ทิ้งไป แล้วก็เห็นประโยชน์ จึงมีความมั่นคง มีความเพียร ความอดทน ในการที่จะศึกษาธรรม

เพราะฉะนั้น ความอดทนนั้น ก็เป็นความอดทนอันสมควร เพราะว่าได้เข้าใจพระธรรม และที่ผมซาบซึ้งมากก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสว่า ฟังท่านเท่านั้น แต่ฟัง "ผู้ที่กล่าวตาม" คือ ประโยคนี้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครอบคลุมตลอดพระศาสนาเลยว่า ยุคใดสมัยใดที่มีผู้เข้าใจพระธรรม และ "กล่าวตามพระธรรม" ผู้ที่เห็นประโยชน์ที่จะฟังคำนั้น ซึ่งเป็นคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่า ใครก็ตามที่กล่าว และผู้นั้นเป็นผู้ที่เข้าใจถูก เห็นถูก ก็ต้องกล่าวตาม และถ้าไปติการกล่าวตามนั้น ก็เป็นการติพระธรรมวินัย ซึ่งเป็นศาสดาแทนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็มีโทษมาก เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ไตร่ตรองว่า ด้วยอำนาจกิเลสตัวเอง ที่ต้องการให้เป็นอย่างที่ตนเองต้องการ เช่น ต้องการที่จะให้รับเงินรับทองได้ เพื่อความสะดวกหรือเพื่ออะไรก็แล้วแต่

(ภาพยามค่ำ ณ เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา เอื้อเฟื้อโดย คุณชลชินี สะสมทรัพย์)

ท่านอาจารย์ ละถ้าภิกษุ จะทำอย่างคฤหัสถ์ทุกอย่าง มีเงินมีทอง ซื้อขาย สารพัดอย่าง แล้วจะมีภิกษุเพื่ออะไร? ก็เหมือนคฤหัสถ์ทุกอย่าง ยิ่งกว่านั้น เหมือนผู้ที่ทำผิดกฏหมาย มิจฉาชีพ โดยพ้นเงื้อมมือของกฏหมายด้วย!! เพราะเหตุว่า เงินที่ได้มา ก็ไม่ต้องเสียภาษี แล้วเอาไปทำอะไร? ไม่มีในพระไตรปิฎกว่า ให้ภิกษุสร้างวัด แล้วสร้างวัดทำไม? ทุกอย่างที่ภิกษุทำ โดยที่ว่า ไม่เป็นไปตามพระธรรมวินัย ไม่ใช่ภิกษุในธรรมวินัย แล้วจะเป็นภิกษุทำไม? คำตอบอยู่ที่ไหน? ว่าจะเป็นภิกษุทำไม? ในเมื่อทำอย่างคฤหัสถ์หมดทุกอย่างแล้ว เป็นภิกษุทำไม? ก็เป็นคฤหัสถ์สิ!!

ผศ.อรรณพ กราบท่านอาจารย์ครับ ซึ่งตรงนี้ ถ้าไม่ได้เข้าใจพระธรรมวินัย ชาวพุทธโดยทั่วไปก็จะเข้าใจว่า การสร้างวัด พระออกมาเป็นผู้อำนวยการในการสร้างวัด หรือดำเนินการในการสร้างวัดเอง คนก็ไม่รู้สึกอะไร เพราะไม่เข้าใจพระธรรมวินัย ตรงนี้ผมก็เคยได้รับข้อมูลจากพี่ประสารเล่าให้ฟังว่า ภิกษุที่เป็นเจ้าอาวาสอยากจะทำเองเสียมากกว่า แม้ว่าจะมีผู้ปวารณาว่าจะก่อสร้างให้

ท่านอาจารย์ แล้วขัดเกลากิเลสตรงไหน?

ผศ.อรรณพ เพิ่มกิเลสครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วัดควรจะเป็นที่สงบ ขัดเกลากิเลส แต่กลับกลายเป็นที่เพิ่มกิเลส ขัดเกลากิเลสตรงไหน? ถ้าไม่มีคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นไปไม่ได้เลย และเป็นการทำลายคำสอน ทำลายพระธรรมวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้วด้วย

เพราะฉะนั้น อันตรายที่มองไม่เห็น ยิ่งกว่าอันตรายอื่น ก็คือ ชาวพุทธที่เข้าใจว่าตนเองนับถือพระพุทธศาสนา ไม่เข้าใจธรรมะ เมื่อไม่เข้าใจธรรมะ ก็คล้อยตามสิ่งที่ผิดทั้งหมด โดยไม่เห็นว่านั่นเป็นภัยที่ช่วยกันทำลายพระพุทธศาสนา เพราะว่าไม่มีภิกษุในธรรมวินัย

ผศ.อรรณพ ผมก็ได้รับความละเอียดที่ท่านอาจารย์ได้แสดง ใน พระสูตรสุสสูสาสูตร ที่ผมได้กล่าวสรุปไป พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ต้องทรงดับขันธปรินิพพาน ไม่อย่างนั้นทุกคนก็จะบอกว่าต้องฟังธรรมจากพระโอษฐ์เท่านั้น หรือว่าต้องมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงโดยตรง ไม่ฟังผู้อื่น จะฟังแต่พุทธวจนอย่างเดียว แต่ข้อความ (ในสุสสูสาสูตร) นี้ชัดเจนว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสก็ต้องฟัง เป็นพุทธวจนแน่นอนว่า ผู้ที่กล่าวตามพระตถาคต ซึ่งเป็นผู้กล่าวตามอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ฟังด้วยดีและเข้าใจ ก็จะละทิ้งในสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ ถ้าไม่ได้ฟัง ไม่ได้เข้าใจ เราก็ติด ติดประเพณี ติดอะไรที่เราเคยทำกันมา และเราคิดว่า ไม่ได้ (ถ้านิมนต์ภิกษุมา) ก็ต้องถวายเงิน ไม่ถวายเงินก็ยังไงก็ไม่รู้ รู้สึกแปลกๆ รู้สึกว่าจะขาดอะไรไป แล้วพระท่านจะว่าอย่างไร บางทีพระท่านก็บอกว่า ปัจจัย โยมลืมหรือเปล่า ก็ยิ่งสร้างความไม่สบายใจกับผู้ที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา คือ ถ้าเข้าใจ ความเข้าใจเท่านั้น ผมซาบซึ้งในพระสูตรนี้ ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "ทิ้งสิ่งที่ไท่เป็นประโยชน์"

ท่านอาจารย์ ถ้าพูดด้วยความหวังดี แล้วฟังด้วยความเข้าใจ ก็ไม่เป็นโทษอะไร จะกล่าวว่าติเตียนพระภิกษุได้หรือ? ในเมื่อพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ คำที่เรากล่าว เราไม่ได้คิดเอง แต่งเอง เข้าใจเอง แต่เป็นคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ เป็นคำของพระองค์ แล้วจะว่าใคร? ถ้าว่าเรา ก็หมายความว่า ว่าผู้ที่เรากล่าวตามใช่ไหม? เราไม่ได้คิดเอง แต่เรากล่าวตามคำที่ได้ตรัสไว้ดีแล้ว

ผศ.อรรณพ จริงๆ แล้ว เรื่องสิกขาบทที่ไม่รับเงินรับทอง เป็นสิกขาบทที่ชัดเจนมาก ชัดเจนที่สุด ไม่มีอนุบัญญัติด้วยใช่ไหมครับอาจารย์คำปั่น ไม่มีอะไรที่จะมาเทียบเคียง จะเอามหาปเทสมาอ้าง อนุบัญญัติก็ไม่มี ชัดที่สุด แล้วก็ สังคายนาครั้งที่ ๒ ชัดเจนมากเรื่องเงินเรื่องทอง มีปรากฏชัดเจนในพระวินัยปิฎก เขาก็จะไม่เอามากล่าว แต่จะไปเอาพระพุทธพจน์ ที่ว่า สงฆ์จะพึงเปลี่ยนแปลงสิกขาบท จะเพิกถอนหรือเพิ่มเติมก็แล้วแต่ ไปเอาตรงนี้มา พระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไปคิดว่าจะเอาตรงนี้มาอ้าง ซึ่งท่านอาจารย์พูดชัดมากครับว่า ถ้าเอาตรงนี้มาอ้างว่าเป็นสิกขาบทเล็กน้อย เล็กน้อยแค่ไหน? ท่านอาจารย์ก็พูดชัดที่สุดแล้วว่า ถ้าเพิกถอนพระธรรมวินัย เหมือนกับเพิกถอนพระธรรมวินัยไปตามที่ตนเองต้องการ บางทีก็อ้างว่า พระวินัยไม่ใช่ธรรมะ ผมฟังพระภิกษุท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า พระวินัยไม่ใช่ธรรมะ ธรรมะเป็นความจริงเปลี่ยนไม่ได้ แต่พระวินัยไม่ใช่ธรรมะ เพราะฉะนั้น พระวินัยก็ต้องเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย อันนี้ก็เป็น สมัยก่อนเขาเรียกว่า อธิกรณ์ใหญ่ ที่คิดกันอย่างนี้

ท่านอาจารย์ ถ้าพระวินัยไม่ใช่ธรรมะ พระวินัยเป็นอะไร?

ผศ.อรรณพ พระวินัยเป็นกฏของภิกษุ เขาคิดอย่างนั้น

ท่านอาจารย์ และอะไรเป็นธรรมะ?

ผศ.อรรณพ ธรรมะก็คือ ที่แสดงไว้ในพระสูตร พระอภิธรรม

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น แสดงว่าคนนั้นไม่เข้าใจธรรมะ

รศ.สงบ อาจารย์อรรณพครับ เป็นภิกษุได้เพราะอะไร? เป็นภิกษุได้เพราะประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย จึงจะเป็นภิกษุได้ ถ้าหากว่าไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัยก็เป็นภิกษุไม่ได้ ก็เป็นเหมือนอาจารย์อรรณพ อาจารย์อื่นๆ หรือว่าท่านอื่นๆ ก็เป็นผมแล้วก็ห่มจีวร แต่ไม่รักษาพระวินัย จะเป็นพระภิกษุได้อย่างไร ฉะนั้น พระวินัยจึงเป็นรากแก้วของความเป็นภิกษุ ถ้าภิกษุไม่ปฏิบัติตามพระวินัยแล้ว ก็คือ ไม่ใช่ภิกษุคำที่พระองค์ประทานไว้ว่า ในกาลล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์พึงเห็นว่าสิกขาบทเล็กน้อยอยากจะถอนก็ให้สงฆ์พิจารณา สังคายนาครั้งที่ ๑ ท่านพระอานนท์ท่านยกพระดำรัสนี้เข้าสู่การพิจารณาของพระสงฆ์จำนวน ๕๐๐ รูป ซึ่งเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทา ลงมติยืนยันเรียบร้อยแล้วว่าไม่ถอน ไม่เพิ่ม ฉะนั้น ก็คือ สงฆ์ได้ลงมติสำทับในพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้นั้นว่า ไม่มีการเพิ่มไม่มีการถอน ก็สิ้นสุด ยุติ อย่างนี้ ท่านอื่นก็ไม่อาจจะต้องไปหยิบยกมาพูดอีก เพราะว่าจบไปแล้ว ก็เป็นเรื่องของความมั่นคง ถ้าไม่มั่นคงกับพระวินัย ก็คือ ไม่ได้มั่นคงในความเป็นภิกษุหรือสมณะ

อีกอย่างหนึ่ง ชาวบ้านเราควรรู้วินัยไหม? ควรรู้ธรรมะไหม? ควรรู้ และรู้แล้ว เราพูดว่า ถ้าภิกษุรูปนี้ ประพฤติอย่างนี้ๆ ผิดพระวินัยอย่างนี้ๆ ถ้ามีคำจะพึงกล่าวอ้างว่า เป็นคฤหัสถ์ทำไมต้องมาตำหนิติเตียนภิกษุ โปรดจงรู้ไว้เถิดว่า พระวินัยส่วนใหญ่เกือบ ๙๐ เปอร์เซนต์นั้น เกิดขึ้นจากการที่คฤหัสถ์ เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ว่า นี่ประพฤติปฏิบัติไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่ศิษย์ของพระพุทธเจ้า เป็นการปฏิบัติไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ปฏิบัติเช่นเดียวกับคฤหัสถ์ รับเงิน รับทอง คฤหัสถ์รับอย่างไร ภิกษุก็รับอย่างนั้น ก็แสดงว่า นี่ทำอย่างกับคฤหัสถ์

ฉะนั้น ในเรื่องของการเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา ด้วยจิตที่เป็นกุศล เพื่อที่จะรักษาพระธรรมวินัย ให้เป็นมรดกอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ตกทอดไปสู่ลูกหลานเหลน ก็เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์ เพราะว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้ฝากพระพุทธศาสนาคือคำสอนของพระองค์ พระธรรมวินัยนี้ ไว้ให้แก่เฉพาะภิกษุเท่านั้น มอบให้แก่ทั้งคฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ต้องช่วยกันรักษา จะไปโอนอ่อนผ่อนตาม โลภะ โทสะ โมหะ ของคนที่เข้ามาบวชไม่ได้!! ต้องตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างมั่นคง

ผศ.อรรณพ แล้วก็ไม่ยากเลย ตรงไปตรงมา ถ้ารักษาพระวินัยไม่ได้ ก็ไม่ต้องบวช เท่านั้นเอง ใช่ไหม? ถ้าพระวินัยอย่างนี้ แล้วก็ชัดเจนว่าสิกขาบทมีอย่างนี้ๆ เรื่องรับเงินรับทอง ชัดเจนว่า ภิกษุในธรรมวินัยไม่รับและไม่ยินดีในเงินและทอง ถ้ายังรับและใจยังยินดีในเงินและทอง ก็ไม่ต้องบวช ตรงที่สุด!! ง่ายๆ และหมดปัญหาเลย

คุณรัชนีวรรณ กราบท่านอาจารย์ หนูได้ฟังน้องๆ สนทนากับท่านอาจารย์ ก็เข้าใจ "ขันธ์" ขึ้นมาเยอะ แต่สมัยก่อนหนูไม่เข้าใจค่ะ คือว่า พระก็จะบอกว่า ให้ทำอย่างนี้ หนูก็ไม่รู้ ให้เอาขัน เอากระทง เย็บกระทง ๕ กระทง แล้วให้เอาไปไว้ตรงทางสามแพร่ง หนูก็อาย แต่คนเขาก็บอกว่า เขาว่าก็ไปทำ (หัวเราะ) ก็รีบไปเลย ไปลงทางสามแพร่งแล้วรีบวางแล้วก็กลับเลย (หัวเราะ) แต่วันนี้ พอเข้าใจ "ขันธ์" บ้างแล้วค่ะ

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น "ความเข้าใจ" กำลังมีมาก หรือว่า น้อยลง น้อยลง?

คุณรัชนีวรรณ ไม่ค่ะ ต้องเพิ่มขึ้นสิคะ

ท่านอาจารย์ สำหรับคนทั่วไป ที่เข้าใจว่านับถือพระพุทธศาสนา ถ้าไม่เข้าใจพระพุทธศาสนา ก็ไม่ชื่อว่า นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เข้าใจ และ เข้าใจผิดว่าเป็นพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาก็เสื่อม ในที่สุดก็อันตรธาน เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะดำรงไว้ซึ่งคำสอน ก็คือ "เข้าใจ" ไม่ใช่ ขันธ์ ๕ ก็ไปวางไว้ที่ทางสามแพร่ง ใช่ไหม?

คุณรัชนีวรรณ ไม่รู้ค่ะตอนนั้น มันก็นานมาแล้ว ลูกน้องชวน หนูก็ไป ไปเสร็จแล้ว พระก็แนะนำให้ ๕ กระทง ก็เข้าใจว่าขันธ์ ๕ (ขัน ๕) หนูไม่รู้จักจริงๆ ว่า ขันธ์ ๕ คือ อะไร? เขาก็บอกไปเย็บกระทง ๕ กระทง แล้วก็เอาของใส่ๆ ไปแล้วก็ให้นำไปไว้ทางสามแพร่ง หนูก็ไป แต่อายก็อาย เพราะว่าต้องวิ่งไปตรงทางสามแพร่ง (หัวเราสนุก)

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ผู้ที่พูดอย่างนี้ เป็นภิกษุในพระธรรมวินัยหรือเปล่า?

คุณรัชนีวรรณ ไม่ใช่ค่ะ พอได้มาฟังแล้วก็รู้ว่าไม่ใช่

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น หนทางเดียวที่จะรู้ว่า ภิกษุคือ ผู้ที่เข้าใจธรรมะและกล่าวธรรมะ ไม่ใช่เป็นคนที่ทำลายคำสอน โดยไม่ให้เข้าใจอะไรเลย และให้เข้าใจผิดด้วย!!

คุณรัชนีวรรณ ค่ะ ณ วันนี้ พอเข้าใจบ้างนะคะ ขั้นฟังเข้าใจค่ะ ได้เวลาแล้ว หนูกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่ให้ความเมตตากับหนูและครอบครัว ที่มาสนทนาธรรม และกราบพี่ๆ น้องๆ ที่มาสนทนาธรรมด้วยนะคะ มีความยินดีมากเลยค่ะ

" ... ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ และมีความจำอย่างมั่นคง เวลาที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะเกิดเฉพาะหน้า ก็สามารถเข้าใจความจริงของสิ่งนั้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อขณะนี้สภาพธรรมะกำลังเกิดดับ แล้วจะรู้ได้อย่างไร เป็นไปไม่ได้เลย นอกจากฟังเข้าใจขึ้น แล้วค่อยๆ มั่นคงขึ้น เป็นปกติอีกด้วย เพราะเหตุว่าทุกขณะไม่มีใครสามารถบันดาลตลให้เกิดขึ้นตามใจชอบได้เลย แต่ก็เกิดแล้วทุกวัน เมื่อวานนี้ ก็เป็น ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ผ่านไปแล้ว ตามวัน เดือน ปี จะผ่านไปนานเท่าไหร่ อีกไม่นานก็ถึง ๑๐๐๐ ปี ๒๐๐๐ ปีต่อๆ ไป ทุกขณะก็เป็นเพียง ณ กาลครั้งหนึ่ง ... "

คัดจาก คลิปเสียง ธรรมเตือนใจ คลิกฟังที่นี่ ...

ณ กาลครั้งหนึ่ง

... ขณะ อย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย ...

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณประสาร คุณรัชนีวรรณ บุญชูและครอบครัว และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมครั้งนี้ได้ที่นี่ ... ..

และ ขอเชิญคลิกชมกระทู้ครั้งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่ลิงค์ด้านล่าง

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ อาคารพัฒน์ธนะ บุญชู ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๖

ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ โรงเลื่อยจักรประสาร ต.นาโคก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐

ผู้เพิ่งจากไป ... .คุณรัชนีวรรณ บุญชู


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
napachant
วันที่ 9 ม.ค. 2562

กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nataya
วันที่ 19 ม.ค. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ