ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ชาน บางกอกน้อย (CHAN Bangkok Noi) ๗-๘ สิงหาคม ๒๕๖๑

 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่  15 มี.ค. 2562
หมายเลข  30556
อ่าน  2,850

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อวันอังคารที่ ๗ ถึงวันพุธที่ ๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา ได้รับเชิญจาก คุณนิตยา อัชกุล สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ หมายเลข ๔๑๘ คุณบวรพรรณ อัชกุล สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ หมายเลข ๔๑๙ และครอบครัวอัชกุล เพื่อไปพักผ่อนและสนทนาธรรมที่ ชาน บางกอกน้อย (CHAN Bangkok Noi) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ปากคลองบางกอกน้อย ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กรุงเทพมหานคร

วันแรกของการพักผ่อนและสนทนาธรรม ท่านเจ้าภาพได้กราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ คุณป้าจี๊ด และเพื่อนๆ สหายธรรม ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน ในบรรยากาศแบบสบายๆ ที่ร้านอาหารแถวถนนราชพฤกษ์ ฝั่งธนบุรี ก่อนเดินทางเข้าพักที่ ชาน บางกอกน้อย ในตอนบ่าย

เมื่อครั้งแรก ที่ข้าพเจ้าได้รู้จักกับพี่นิตยา อัชกุล (พี่เอื้อย) ได้ทราบว่าสามีของพี่เอื้อยเป็นผู้พิพากษารุ่นเดียวกันกับพี่ชายของข้าพเจ้า ทราบว่าท่านทั้งสองสนิทกัน ไม่ทราบว่าเพราะเหตุนี้หรืออย่างไร ที่ทำให้ข้าพเจ้ามีความรู้สึกเคารพพี่เอื้อยเหมือนพี่สาวไปด้วย และความจริง พี่ๆ ทุกท่านที่มูลนิธิฯ ก็เป็นผู้ที่มีความเมตตา เป็นมิตรเป็นเพื่อน เป็นพี่ เป็นน้องที่น่ารักด้วยกันทั้งสิ้น ทั้งน้องแป้ง (บวรพรรณ อัชกุล) ลูกสาวของพี่เอื้อย เป็นน้องสาวที่น่ารักมากๆ (อันที่จริงอาจต้องแทนตัวเองว่าเป็นคุณอาของน้องแป้ง ฮี่ๆ ) เคยเดินทางไปอินเดียด้วยกัน และมีความชื่นชอบการถ่ายรูปเหมือนกันกับข้าพเจ้า

ครั้งนี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งของข้าพเจ้าที่มีโอกาสร่วมสนทนาธรรมและพักค้างคืนในกรุงเทพฯ (ครั้งก่อนได้เคยมีโอกาสไปพักและสนทนาธรรมที่ ศูนย์สุขภาพเชตวัน ศาลายา โดยอาจารย์สวนิต ยมาภัย ท่านเป็นเจ้าภาพกราบเรียนเชิญท่านอาจารย์ไปพักผ่อนและสนทนาธรรมที่นั่น ท่านที่สนใจสามารถคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมครั้งนั้น ได้ที่นี่ครับ ... ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ ศูนย์สุขภาพเชตวัน ศาลายา ๑๔-๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๖) ครั้งนี้ทราบว่าเป็นความดำริของท่านเจ้าภาพ ที่คิดว่า ควรให้ท่านอาจารย์ได้พักผ่อนและสนทนาธรรมใกล้ๆ ในบรรยากาศสบายๆ ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปไหนไกลๆ ชาน บางกอกน้อย แห่งนี้ จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในที่สุด

ชาน บางกอกน้อย ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อย ตรงข้ามกับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ มองเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ อยู่ไม่ไกล อีกทั้งได้เห็นภาพบรรยากาศของการจราจรทางน้ำ ที่มีเรือยาว เรือด่วนเจ้าพระยา และเรือโยง (เรือบรรทุกข้าว ทราย และสินค้า) วิ่งกันขวักไขว่ ไปมา

ที่พักสร้างขึ้นแบบเรือนไม้ริมคลอง พรั่งพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ทันสมัยครบครัน แต่กระนั้นก็ทำให้ผู้เข้าพัก นึกถึงภาพบรรยากาศเก่าๆ ในอดีตของมหานครแห่งสายน้ำแห่งนี้ได้ดีมากๆ ครับ ยิ่งหลังจากจบการสนทนาธรรมในบ่ายวันแรก ท่านเจ้าภาพได้เชิญทุกท่านไปรับประทานอาหารค่ำที่ ร้านอาหารไทย "สุพรรณิการ์" ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทราบว่าเป็นร้านของลูกชายพี่หมอธงชัย นาคพันธ์ สมาชิกชมรมบ้านธัมมะ หมายเลข ๕๗๘ ตั้งอยู่บริเวณตลาดท่าเตียน วัดพระเชตุพนฯ มองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยายามค่ำคืน โดยมีภาพเจดีย์วัดอรุณราชวรารามเป็นฉากหลัง ที่งดงามอย่างยิ่ง อาหารอร่อย บรรยากาศดีมากๆ ครับ กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาท่านเจ้าภาพครับ

อนึ่ง ในวันที่สองของการสนทนาธรรม ดร.อภินัติ อัชกุล ลูกชายของพี่นิตยาได้เชิญเพื่อนๆ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีด้วยกัน มาร่วมสนทนาธรรมด้วย เป็นการสนทนาธรรมที่ดีมากๆ ครับ ท่านที่มาทั้งหมดเป็นอาจารย์ระดับดอกเตอร์ของมหาวิทยาลัย ที่สนใจในพระพุทธศาสนา ทุกท่านสนทนากับท่านอาจารย์ด้วยความสนใจมาก เป็นการสนทนาที่ทุกท่านยอมรับในเหตุและผล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการสนทนา ถูกคือถูก ทิ้งสิ่งที่ผิด ที่เคยยึดถือ ดังในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ ท่านสามารถติดตามชมบันทึกการสนทนาทั้งสองวันได้ ตามลิงค์ยูทูปที่แนบไว้ให้ตอนท้ายของกระทู้นี้นะครับ สำหรับข้อความการสนทนาที่จะขอนำมาบันทึกไว้ เป็นข้อความบางตอนของการสนทนาในบ่ายวันแรก ซึ่งมีความที่น่าสนใจที่จะได้พิจารณา ดังนี้ครับ

อ.วิชัย ถ้าพูดถึงการศึกษาในทางพระพุทธศาสนา พระองค์แสดงถึง ไตรสิกขา เหมือนกับว่า เป็นการอบรมเจริญคุณความดีเพื่อจะให้ถึงการรู้ความจริงและดับกิเลส ดังนั้น ถ้ากล่าวถึง ลำดับของการเจริญขึ้นของกุศล โดยมากคนทั่วไปก็จะคิดถึง "ศีล" ว่าเป็นความประพฤติที่ดีงาม ที่เป็นไปทางกาย วาจา ที่พระองค์ตรัสถึงสิกขา ไม่ใช่มีอย่างเดียว แต่มีถึง ๓ อย่าง แต่ดูเหมือนทั้งหมดก็เพื่อเข้าใจธรรม แต่เหตุใดจึงแสดงถึงว่ามีถึงไตรสิกขา คือ สิกขา ๓ ครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ เพียงได้ยินคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คำนี้ เราเป็นใคร? มาจากไหน? นานเท่าไหร่? และคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ห่างไกลกับที่เราคิด มากมายสักแค่ไหน? ดูเหมือนว่า พอเราอ่านพระไตรปิฎก เราใกล้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้นเลย ยิ่งเข้าใกล้ก็ยิ่งรู้ว่า ... ห่างไกล ...

เพราะฉะนั้น ทุกคำ ในพระไตรปิฎก เหมือนเราจะตั้งหน้าตั้งตา เอามาใช้เลย ปฏิบัติเลย พอพูดถึง "ไตรสิกขา" ก็ ไตรคืออะไร? สิกขาคืออะไร? แต่ว่า "เราเป็นใคร?" อันนี้ลืมสนิทเลย เพราะเหตุว่า จากความไม่รู้ รู้ได้เลยว่า เราไม่รู้แค่ไหน ก่อนฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่รู้เลยว่าเราไม่รู้ ใช่ไหม? แต่พอฟังแต่ละคำ ถึงได้รู้ว่า เราไม่รู้ ไม่รู้จริงๆ มืดมาก พอได้ยินแต่ละคำ ก็รู้ได้เลยว่า กว่าเราจะถึงความเข้าใจ ในคำนั้นจริงๆ และหนทางนี้อีกไกลมาก ระหว่างที่จะถึงไตรสิกขา

เพราะฉะนั้น เราศึกษาธรรมด้วยความประมาทมากจริงๆ ประมาทว่าเราสามารถที่จะเข้าถึงคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยง่าย คล้ายๆ กับว่า พอพูดอะไรเราก็จะเข้าใจ เราก็จะปฏิบัติทันที แต่ความจริง นั่นผิด!! เพราะ ต้องรู้จักประมาณตน ว่าเราได้ยินคำว่าธรรม สิ่งที่มีจริง ถ้าถามคนที่ไม่เคยศึกษาเลย ตอบไม่ถูก "อะไรมีจริง?" แค่คำนี้คำเดียว "อะไรมีจริง?" กว่าจะศึกษาแล้วเข้าใจได้ ว่าสิ่งที่มีจริงคือสิ่งที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลย ไม่ได้บอกว่าคนมีจริง ไม่ได้บอกว่าโต๊ะ เก้าอี้ มีจริง แต่ถามว่า "เห็น" มีจริงไหม? ให้คิดถึงคำแต่ละคำที่พระองค์ตรัส อย่าง "เห็น" มี ก่อนฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนรู้จักทุกคนเลย ใครจะไม่รู้จัก "เห็น" บ้าง ใช่ไหม? แต่พอฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า "เห็น" ไม่ใช่เรา แค่นี้ เริ่มต้น "เห็น" เป็นเรามานานเท่าไหร่ แล้ว "เห็น" จะไม่ใช่เรา เป็นไปได้อย่างไร?

เพราะฉะนั้น ที่ว่าเห็นไม่ใช่เรา แล้ว "เห็น" เป็นอะไร? "เห็น" มีจริงๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครรู้เลย เพียงแค่เห็น เกิดขึ้นเพียงแค่เห็น แล้วก็ดับไป เพราะฉะนั้น เห็นก็ไม่รู้!! ว่าขณะนี้เห็นเพียงเกิดขึ้นเห็น คือรู้ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เป็นอย่างนี้ เห็นไหม? พูดให้เข้าใจว่า สิ่งที่มี ที่เราไม่เคยสนใจ ไม่เคยเข้าใจ แท้ที่จริงแล้ว มีทุกขณะ คือ สิ่งที่มีจริงให้เห็น เป็นอย่างนี้ ไม่ว่าที่ไหนก็เห็น อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏให้เห็น แต่ว่า "ไม่ใช่เรา"

เพราะฉะนั้น การฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ไม่ประมาท ที่จะรู้ว่า แต่ละคำ เพื่อเข้าใจ ในความเป็นสิ่งนั้น ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่ว่า ตัวเราฟังแล้ว ทำไมรู้นิดเดียว จะรู้มากๆ ได้อย่างไร ไม่ใช่อย่างนั้นเลย แต่ ฟังเพื่อให้รู้ว่า สิ่งที่มีจริงนี้ ไม่ใช่เรา!!

เพราะฉะนั้น หนทางนี้ ก็เป็นหนทางที่จะเข้าใจสิ่งที่มี ตามปรกติ ทุกขณะ เกิดแล้วทั้งนั้น เป็นอย่างนั้นแล้วทั้งนั้น เปลี่ยนไม่ได้ทั้งนั้น มืด คือ ไม่รู้ความจริงมานานเท่าไหร่ ก็ยังมืดต่อไปทั้งนั้น ถ้าเราขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าเราฟังธรรมเพื่ออะไร เพื่อรู้อะไร ก็เพื่อรู้ความเป็นจริงว่า ไม่มีเรา!! เพราะฉะนั้น ฟังแล้ว เราจะอยากรู้ไตรสิกขา เห็นไหม? แต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เรา!! เพราะฉะนั้น จะได้ยินคำอะไรทั้งหมด เพื่อนำไปสู่ความ "ไม่ใช่เรา" ซึ่งไม่ใช่ง่ายเลย ที่จะรู้ว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ก็ต้องฟังด้วยความเข้าใจว่า ขณะที่ฟัง ก็ไม่ใช่เรา

หนทางนี้ เป็นหนทางที่ ยากแสนยาก เมื่อทรงตรัสรู้ ไม่น้อมพระทัยที่จะทรงแสดง เพราะรู้ว่า ยากจริงๆ สำหรับคนที่ไม่ได้สะสมมา ที่จะเห็นประโยชน์ แต่เพราะมีคนที่ฟังสามารถเข้าใจ ในความเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อสิ่งนี้ยาก มี แต่ว่า ถ้าไม่ได้ฟังคำของผู้ที่ได้ตรัสรู้ ไม่มีทางที่จะคิดเองหรือว่าเข้าใจได้เลยทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้น แต่ละคำ คือ ฟังเพื่อเข้าใจ ต้องไม่ลืม ทุกคำ ฟังเพื่อเข้าใจ จะถึงไหน อย่างไร ไม่ต้องสนใจทั้งสิ้น!! เพราะถ้าสนใจก็คือ "เรา" เพราะว่า เป็นเรามานานแสนนาน ทุกคำ ย้อนมาหาเราหมด เราเป็นอย่างนั้น เรารู้อย่างนี้ เราเข้าใจน้อยไป เมื่อไหร่เราจะเข้าใจเพิ่มขึ้น ทำอย่างไรเราจะเข้าใจได้ถูกต้อง น้อมมาหา "เรา" ลืมว่า "ไม่ใช่เรา" อันนี้ต่างหาก ที่ถูกต้อง!! ฟังอย่างไรจึงจะค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ไม่ใช่เรา!!!

เพราะฉะนั้น ตลอดชีวิต คิดดู กว่าจะไม่ใช่เรา ตั้งแต่เกิดมา เป็นเราหมด แล้วกว่าจะ ไม่ใช่เราทั้งหมดเลย เดี๋ยวนี้ แต่ละหนึ่งตามปกติ ต้องเป็นผู้ที่ฟังด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ว่า ไม่มีอะไรที่จะเป็นจริงยิ่งกว่าคำที่ได้ฟัง ซึ่งถ้าไม่มีโอกาสได้ฟัง กี่แสนโกฏิกัปป์ต่อไปข้างหน้า ก็มืดสนิท!!

อ.วิชัย กราบท่านอาจารย์ครับ การศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ดูเหมือนว่า ต้องตั้งต้นด้วยความเข้าใจว่า ธรรมคืออะไร (ขอเชิญคลิกอ่าน E-book ธรรมคืออะไร) ท่านอาจารย์ ค่ะ
อ.วิชัย ไม่ว่าจะกล่าวเรื่องของ ไตรสิกขา หรือว่าเรื่องโดยประการอื่นๆ การอบรมเจริญปัญญา ทุกอย่าง ก็ต้องตั้งต้นด้วยความรู้ว่า ธรรมคืออะไร ก่อน

ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วก็ คือว่า ไม่ใช่เรา อันนี้ ต้องไม่ใช่เรา พราะเหตุว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อเป็นธรรมก็ต้องเป็นธรรม จะเป็นเราได้อย่างไร? กว่าจะมั่นคงจริงๆ ว่าเป็นธรรม มีจริงๆ แค่เพียงปรากฏ เร็วสุดที่จะประมาณได้ เหมือนมายากล ปิดบังความจริงไว้หมดเลย ว่าเป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง แต่ละหนึ่ง มีปัจจัยจึงเกิดขึ้น เป็นอย่างนั้นได้ ใครก็ไปทำไม่ได้ ไม่ว่าความดี ความชั่ว ความหลง ความฉลาด อะไรทั้งหมด มีปัจจัยที่จะเกิด จึงเกิด เป็นอย่างนั้นได้ แล้วก็ไม่เป็นอย่างอื่นด้วย จนกว่า ทุกอย่างจะไม่ใช่เรา อย่างมั่นคง นั่นคือได้เป็นผู้ที่รู้จักว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร และสอนอะไร เพื่ออะไร เพื่อให้คนที่ไม่เคยที่จะมีความเข้าใจที่ถูกต้องเลย ได้สามารถเข้าใจได้ รู้แน่เลยว่า มีคนที่สามารถเข้าใจได้ แต่ว่า ไม่ใช่โดยการที่ประมาท หมิ่นคำสอนว่าง่าย มีความเป็นตัวตน ที่พยายามจะเปลี่ยน และพยายามที่จะทำอย่างอื่น

อ.วิชัย ท่านอาจารย์ครับ ถ้ากล่าวถึงการอบรมเจริญปัญญาที่จะให้ถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จะขาดไม่ได้ก็คือ บารมี ต่างๆ ที่จะเป็นคุณความดี ที่จะค่อยๆ คลายจากอกุศล เพื่อให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ที่จะรู้ธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น ที่พระองค์แสดงเรื่องของ ไตรสิกขา ถ้ากล่าวถึงในเรื่องของศีลที่ทรงแสดงถึงธรรมที่ดีงาม หมายถึง เป็นการงดเว้นจากทุจริต ดังนั้น ถ้าเป็นการแสดงความเป็นจริงให้เกิดความเข้าใจ หมายความว่าบุคคลนั้นที่มีปัญญาเกิดขึ้นที่จะเห็นประโยชน์ที่จะประพฤติตามสิ่งนั้นครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์ ค่ะ แม้แต่ศีล ก็ "ยังเป็นเรา" เห็นไหม? ใช่หรือเปล่า?
อ.วิชัย ก็ยังเป็นเราครับ
ท่านอาจารย์ ก็ยังเป็นเรา เพราะฉะนั้น ไม่มีทางเลย ที่จะใครไปรู้เรื่องศีลแล้วก็จะละได้ เพราะเป็นเรา หนทางเดียวคือ ไม่ใช่เรา ฟังจนกระทั่ง "ศีลไม่ใช่เรา" การที่เราจะไปคิดถึงว่า จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่าคิดเลย!! ใครก็ตามที่ฟังธรรม จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรม อย่าคิดเลย เพราะอะไร? แม้แต่ธรรมก็ยังไม่รู้!! แล้วจะไปรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ไกลเท่าไหร่? เพียงแต่ว่า ฟังแล้ว สามารถรู้ความจริงว่า สะสมปัญญามาแค่ไหน

เพราะฉะนั้น คนที่ฟัง เป็นผู้ที่รู้ ว่าสามารถที่จะเข้าใจคำนั้น มั่นคง แน่นอน ชัดเจน เห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อนั้น เขาถึงสามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา ยิ่งขึ้น เพราะมีความเข้าใจขึ้น แต่ เพียงว่าจะพูดเรื่องศีล แต่ว่า "เป็นเรา" แน่ๆ เลย ไม่เป็นเราได้อย่างไร ยังไม่รู้ว่าศีลเป็นอะไร เห็นไหม? ทุกอย่างสอดคล้องกันอย่างละเอียด ลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อเห็นคุณ เปรียบไม่ได้เลยทั้งสิ้น ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราเห็นคุณแค่ไหน? แค่มาบอกให้เรามีศีล ๕ แค่นั้นหรือ? นั่นหรือคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า?

เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งซึ่งไกลมากสำหรับคนที่ไม่รู้จริงๆ ว่าฟังเพื่อเข้าใจ ฟังเพื่อละความไม่รู้ ฟังเพื่อรู้ว่า ไม่รู้เยอะมาก!! ตั้งแต่นั่งอยู่ ตั้งแต่เดินเข้ามา ความไม่รู้เท่าไหร่ เพราะว่า มีสิ่งที่มี มากเท่าไหร่ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าเกิดดับสืบต่อ ประมาณไม่ได้เลย แค่เป็นคนๆ เดียวนี้ ก็มากเท่าไหร่แล้ว แล้วยังเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ไปอีก ใช่ไหม? เหลือที่จะคณานับ

เพราะฉะนั้น ฟังด้วยความเห็นคุณ ว่า ทุกชาติ มีโอกาสที่สามารถที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็อบรมเจริญปัญญา เห็นคุณอย่างยิ่ง ที่จะไม่คลาดเคลื่อนจากคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว นี่คือความเคารพสูงสุด รู้ว่า วันหนึ่งซึ่งไกลมาก อย่าคิดเลย ชาตินี้แป๊บเดียว ศีล อะไรต่ออะไร ไตรสิกขา นี่อย่าหวัง อย่าคิด ยังเป็นเราทั้งหมดที่เรียน ยังเป็นเราทั้งหมด ที่พยายามจะเข้าใจ จนกว่า ความเห็นถูกนั้นแหละ ค่อยๆ ขัด ละความเป็นเรา ทีละน้อย แค่ไหน? ไม่ต้องกังวลอีกเหมือนกัน ถ้ารู้ว่ามันน้อยมาก ก็ต้องน้อยมาก น้อยเกินกว่าที่เราคิดอีก ว่าน้อยแค่ไหน เห็นไหม? นั่นถึงจะเป็นผู้ที่ตรง ตามความเป็นจริง ฟังแล้วเป็นอย่างไรคะ?

อ.วิชัย ก็รู้สึกว่า ถ้าคนที่เริ่มที่จะเห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องรู้ว่า ไม่เหมือนคำของคนที่กล่าวมาก่อนๆ หน้านั้น แต่ต้องเป็นคำที่แสดงความจริงให้เกิดความเข้าใจถูกครับ

ท่านอาจารย์ ค่ะ แล้วความจริงของพระองค์ที่ทรงตรัสรู้ กับความจริงของเราที่เริ่มเข้าใจ จะห่างกันไกลแค่ไหน?วามจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้กับความจริงที่เราเพิ่งเริ่มที่จะเข้าใจ จะห่างกันสักแค่ไหน? เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดอะไรเลยทั้งสิ้น เคารพสูงสุดว่ามีโอกาสที่จะได้ฟัง และ ศึกษาไป ค่อยๆ เข้าใจไป แต่ละชาติ จนกว่า เป็นชาตินี้ก็ได้ ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรม แต่กว่าจะถึงความเป็นชาตินี้ก็ ได้มาจากไหน? มาจาก "ฟังทีละคำ" ด้วยความไม่ประมาท

ดูเหมือนฟังแล้วอยากจะรู้เร็วๆ เป็นไปได้อย่างไร? คิดอย่างไร ไม่เห็นคุณของธรรมแต่ละคำเลย อย่างที่คุณวิชัยบอกว่า เรามานั่งที่นี่ก็มีความไม่รู้เยอะแยะ มีความมานะ มี ฯลฯ แค่วันเดียวนะ แล้วแต่ละวันล่ะ? และกว่าจะถึงชาติหนึ่งล่ะ และกี่ชาติมาแล้ว? เพราะฉะนั้น เป็นไปได้ไหม ที่ใครฟังแล้วคิดที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยเร็ว โดยไม่รู้เลยว่า ขณะนี้ แม้แต่ เป็นธรรม ก็ไม่รู้ ได้ยินแต่ "เป็นธรรม" เป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรา!! ใช่ไหม? แต่ เป็น ... อย่างไร?

อ.วิชัย โดยมาก คนที่เริ่มมาฟัง ก็จะคิดถึงว่า ทำไมไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของ ให้มี "ศีล" หรือว่า ให้มีการเจริญความสงบเลย มีแต่เรื่องว่า เห็นเป็นธรรมไหม? ได้ยินเป็นธรรมไหม?

ท่านอาจารย์ ก็ใครล่ะ มีศีล? พูดไปสิ ก็ใครล่ะมีศีล? ก็ตัวตนนั่นแหละมีศีล ใช่ไหม? แล้วจะมีประโยชน์อะไร? นอกจากให้เขารู้ว่า ไม่มีเขา เป็นธรรม ให้เข้าใจในความเป็นธรรม แต่เขาไม่เอา เขาจะมีศีล ใช่ไหม? ก็ตัวตนจะมีศีล แต่ไม่รู้ว่า ไม่ใช่เขา ทำอย่างไรถึงจะไม่ใช่เขาที่มีศีล

อ.วิชัย คือเป็นจุดที่สำคัญอย่างยิ่งครับท่านอาจารย์ ที่จะให้เห็นถึงความต่างของปัญญาของบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจจะมีปัจจัยของความดีเกิดได้ แต่ว่า ปัจจัยที่จะให้เกิดความเข้าใจถูกว่า ไม่ใช่ตัวเขานี่ เป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่มีการได้ฟังธรรม

ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น วันนี้ ก็เป็นวันที่พิเศษอย่างยิ่ง ที่จะได้รู้ว่า การฟังธรรม ไม่ได้หวังจะไปบรรลุอะไร จะไปมีศีล จะอะไรทั้งสิ้น แต่ "ไม่ใช่เรา" แค่คำนี้ และ ถ้าไม่มีคุณธรรมอย่างที่กล่าว ไม่มีทางที่จะ ไม่ใช่เรา แต่เขาไปมุ่งที่ ทำอย่างไรเขาจะมีศีล เป็นตัวตน แต่ไม่ใช่รู้ว่า ที่จะไม่ใช่เราได้ ต้องมีศีล แต่เพื่ออะไร? เพื่อไม่ใช่เรา!! แต่นี่กลายเป็น เราจะมีศีล เขาจะมีศีล!!

อ.วิชัย จากความเข้าใจ หมายความว่า ถ้าเรามีความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น เข้าใจความเป็นธรรมมากขึ้น ไม่ใช่ว่าบุคคลไม่ได้กระทำความดี แต่ มีความดีที่เกิดขึ้น ด้วยความเห็นถูก ด้วยความเข้าใจถูก ว่า ความดีคือความดี และเห็นด้วยว่า สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ แต่ไม่ใช่ เป็นไปด้วยความไม่รู้เหมือนอย่างก่อน ว่า เป็นเราที่กระทำความดี โดยที่ไม่เห็นเลย ว่าพระองค์แสดงความเป็นจริงของธรรมว่า ธรรมที่ดีงามแต่ละประเภทโดยละเอียดเป็นอย่างไร สติเป็นอย่างไร ศรัทธาเป็นอย่างไร หรือ หิริโอตตัปปะเป็นอย่างไร คือ ทุกอย่างที่พระองค์แสดงความเป็นธรรมแต่ละอย่างที่เขาทำกิจ ถึงแม้ว่าลักษณะของสิ่งนั้น ไม่ได้ปรากฏ แต่ว่า ก็เหมือนกับเป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้นว่า ขณะที่เป็นความดีหรือขณะที่กระทำความดี ก็มีธรรมที่เขาทำกิจหน้าที่ของเขา

ท่านอาจารย์ แต่ กว่าจะเข้าใจว่า เป็นธรรมที่ทำกิจ ไม่ใช่เราทำ!!
อ.วิชัย ดูเหมือนว่า ก็เข้าใจแค่การฟัง แล้วก็มั่นคงขึ้นเท่านั้นเองครับ
ท่านอาจารย์ พอไหม? ก็ยังเป็นเรา ความเป็นเราหนาแน่นมาก เพราะฉะนั้น หนทางเดียวคือ ธรรม รู้ว่า เพื่อประโยชน์ เพื่อถึงความรู้ว่า ไม่ใช่เรา กว่าจะเสียสละได้ คิดดู แต่ละคนติดในความเป็นตัวตนเท่าไหร่ ความรักตน แล้วความรักตนก็แสวงหาทุกอย่างให้ตน กำลังแสวงหาทุกอย่างให้ตนน่ะ รักตนใช่ไหม?

เพราะฉะนั้น กว่าจะไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา คิดดู ต้องฟังแยบคายอย่างยิ่ง ที่จะรู้ว่า ประโยชน์จริงๆ ก็คือว่า เข้าใจว่า ไม่มีเรา เพราะฉะนั้น ตัวปัญญาทำหน้าที่ แต่เขาจะไม่เอาตัวปัญญา เขาจะเอาตัวเขา แต่สำหรับผู้ที่มีปัญญา เขารู้เลยว่า กว่าปัญญาจะถึงการค่อยๆ ละความเป็นเราได้ ก็ต้องเพราะคุณความดี ซึ่งค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่ใช่เรา คือ ขาดการฟังธรรมและการเข้าใจจุดประสงค์ของการฟังไม่ได้เลยว่า เพื่อความไม่ใช่เรา!!!

เพราะฉะนั้น ความดีแม้สักนิดเดียว สังเกตุได้เลย เริ่มมีไหม? จากการที่เป็นคนที่ไม่ละเอียด ทำเพื่อคนอื่นไม่ได้ แม้แต่สักนิดเดียว ถ้าความดีเกิดขึ้นจริงๆ นั่นแหละ ไม่ใช่เขา ใช่ไหม? แต่ว่า จะถึงอย่างนั้นไหม?

กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของคุณนิตยา คุณบวรพรรณ อัชกุลและครอบครัวอัชกุล
และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่าน ครับ

... ... ...

ขอเชิญคลิกชมบันทึกการสนทนาธรรมในครั้งนี้ ได้ที่นี่ ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
nattawan
วันที่ 15 มี.ค. 2562
ฟังด้วยความเห็นคุณ ว่า ทุกชาติ มีโอกาสที่สามารถที่จะได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็อบรมเจริญปัญญา เห็นคุณอย่างยิ่ง ที่จะไม่คลาดเคลื่อนจากคำที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้ว นี่คือความเคารพสูงสุด ขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paengpuff
วันที่ 15 มี.ค. 2562

อนุโมทนา และขอบคุณมากค่า

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
yupa
วันที่ 15 มี.ค. 2562

กราบท่านอาจารย์สุจินต์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Jans
วันที่ 16 มี.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
papon
วันที่ 19 มี.ค. 2562

ขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chvj
วันที่ 5 เม.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ