กุหนาสูตร ... วันเสาร์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๒

 
มศพ.
วันที่  9 ก.ย. 2562
หมายเลข  31158
อ่าน  1,340

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

•••..... ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย .....•••

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา (มศพ.)

พระสูตร ที่จะนำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๖๒

คือ

กุหนาสูตร

...จาก...

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๖๘๒

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๖๘๒

๙. กุหนาสูตร

(ว่าด้วยการหลอกลวง)

[๒๘๘] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เป็นผู้หลอกลวง มีใจกระด้าง ประจบประแจง ประกอบด้วยกิเลสอันปรากฏดุจเขาสัตว์ มีกิเลสดุจไม้อ้อสูงขึ้น มีใจไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่คนของเราตถาคต ภิกษุเหล่านั้น ปราศไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ไม่หลอกลวง ไม่ประจบประแจง เป็นนักปราชญ์ มีใจไม่กระด้าง มีใจตั้งมั่นดี ภิกษุเหล่านั้นแล เป็นคนของเราตถาคต ไม่ปราศไปแล้วจากธรรมวินัยนี้ และย่อมถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้

(พระคาถา)

ภิกษุเหล่าใด เป็นผู้หลอกลวง มีใจกระด้าง ประจบประแจง ประกอบด้วยกิเลสอันปรากฏดุจเขาสัตว์ มีกิเลสดุจไม้อ้อสูงขึ้น มีใจไม่ตั้งมั่น ภิกษุเหล่านั้นย่อมไม่งอกงามในธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว

ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นผู้ไม่หลอกลวง ไม่ประจบประแจง เป็นนักปราชญ์ มีใจไม่กระด้าง มีใจตั้งมั่นดี ภิกษุเหล่านั้นแล ย่อมงอกงามในธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว.

จบกุหนาสูตรที่ ๙

อรรถกถากุหนาสูตร

ในกุหนาสูตรที่ ๙ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า กุหา ได้แก่ เป็นผู้หลอกลวง ด้วยเครื่องหลอกลวง มีการร่ายมนต์เป็นต้น อธิบายว่า เป็นผู้ทำการลวง เพื่อต้องการประกาศคุณความดีที่ตนไม่มีแล้วให้ผู้อื่นเกิดความประหลาดใจ

บทว่า ถทฺธา ความว่า เป็นผู้มีใจกระด้าง เพราะความโกรธและมานะ คือ เป็นผู้ไม่ทำความยำเกรงอย่างยิ่งในครูทั้งหลายผู้ควรทำความเคารพ ไม่อ่อนน้อม เที่ยวไปมาเหมือนกลืนชิ้นเหล็กเข้าไปแล้วยืนแข็งทื่ออยู่ ฉะนั้น เพราะความโกรธที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ ว่า คนมักโกรธ เป็นผู้มากด้วยความแค้นใจ ถูกว่าแม้นิดเดียวก็ขัดใจ โกรธ พยาบาท ซ่านไปด้วยความโกรธ ดังนี้ด้วย เพราะความเป็นผู้ว่ายาก ที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ ว่า คนว่ายาก เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่ทำให้ว่ายาก ไม่อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนด้วยความเคารพดังนี้ด้วย เพราะความเมาแยก ออกเป็นความเมาในชาติเป็นต้น ที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ว่า ความเมาในชาติ ความเมาในโคตร ความเมาในเพศ ความเมาในความไม่มีโรค ความเมาในความหนุ่มสาว และ ความเมาในชีวิต ดังนี้ด้วย

บทว่า ลปา ความว่า เป็นผู้ประจบประแจง คือ เป็นผู้สงเคราะห์ตระกูลด้วยอำนาจมิจฉาชีพ. อีกอย่างหนึ่ง อธิบายว่า เป็นผู้พูด เพื่อปัจจัย ด้วยสามารถถ้อยคำที่ประดิษฐ์ประดอยแล้ว และด้วยสามารถแห่งอุบายโกง

บทว่า สิงฺคี ความว่า วาจาที่ประกอบด้วยกิเลสที่เด่นชัด เช่นกับเขาสัตว์ ที่ตรัสไว้อย่างนี้ว่า คำพูดดุจเขาสัตว์ เป็นไฉน การพูด มีแง่งอน ภาวะที่พูดแง่งอน การพูดเป็นสี่เหลี่ยมสี่คม กิริยาที่พูดเป็นสี่เหลี่ยมสี่คม การพูดมีเหลี่ยมมีคู ภาวะที่พูดมีเหลี่ยมมีคู อันใด นี้เรียกว่าคำพูดดุจเขาสัตว์

บทว่า อนฺนฬา ความว่า ผู้เป็นเหมือนไม้อ้อที่ชูขึ้น คือ เที่ยวไป ยกตนที่มีใจว่างเปล่าจากคุณวิเศษ คล้ายไม้อ้อชูขึ้น มาอ้าง

บทว่า อสมาหิตา ความว่า เป็นผู้ไม่ได้แม้เพียงเอกัคคตาจิต

บทว่า น เม เต ภิกฺขเว ภิกฺขู มามกา ความว่า ภิกษุเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นคนของเราตถาคต. พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำว่า มยฺหํ (ของเราตถาคต) นี้ เพราะภิกษุเหล่านั้น บวชอุทิศพระองค์ แต่เพราะเหตุที่ภิกษุเหล่านั้นไม่ปฏิบัติชอบ เพราะประกอบการหลอกลวงเป็นต้น ฉะนั้น พระองค์ จึงไม่ตรัสเรียกว่า มามกา (เป็นคนของเราตถาคต

ด้วยบทว่า อปคตา พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า ถึงแม้ว่า ภิกษุเหล่านั้นบวชแล้วในศาสนาของเราตถาคต แต่เพราะไม่ปฏิบัติตามที่เราตถาคตสอน จึงเท่ากับไปปราศแล้วจากพระธรรมวินัยนี้นั่นเอง คือ ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่า อยู่ไกลแสนไกลจากศาสนานี้ สมจริงดังที่ตรัสคำนี้ไว้ว่า

ท้องฟ้ากับพื้นปฐพี นักปราชญ์กล่าวว่าอยู่ไกลกัน และฝั่งมหาสมุทรทั้งสอง นักปราชญ์ก็กล่าวว่าอยู่ไกลกัน ข้าแต่พระราชา แต่ธรรมของสัตบุรุษกับของอสัตบุรุษ นักปราชญ์ กล่าวว่า ไกลกันยิ่งกว่านั้นเสียอีก

บทว่า วุฑฺมึ วิรุฬฺหึ เวปุลฺลํ อาปชฺชติ ความว่า และภิกษุเหล่านั้น ผู้มีสภาพหลอกลวงเป็นต้น จะไม่เข้าถึง อธิบายว่า ไม่ประสบ ซึ่งความเจริญด้วยความเจริญด้วยคุณความดีมีศีลเป็นต้น ไม่ประสบซึ่งความงอกงามตามสภาพด้วยความไม่หวั่นไหวอยู่ในคุณความดี มีศีลเป็นต้นนั้น ไม่ประสบซึ่งความไพบูลย์ด้วยความบริบูรณ์ด้วยธรรมขันธ์มีศีลเป็นต้น โดยความแผ่ไปในที่ทุกแห่ง

บทว่า เต จ โข เม ภิกฺขเว ภิกขู มามกา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แม้นอกนี้ว่า เม (ของเราตถาคต) เพราะบวชอุทิศพระองค์ อนึ่ง ตรัสเรียกว่า มามกา (เป็นคนของเราตถาคต) เพราะเป็นผู้ปฏิบัติชอบแล้ว. ธรรมฝ่ายขาวพึงทราบโดยปริยายที่ตรงกันข้ามไปจากที่กล่าวมาแล้ว ภิกษุเหล่านั้น ชื่อว่า งอกงามอยู่ในธรรมมีศีลเป็นต้นนั้น จนถึงอรหัตมรรค แต่เมื่อบรรลุอรหัตตผลแล้ว จึงจะชื่อว่า ถึงความงอกงามไพบูลย์

พระคาถา เป็นข้อความอันพึงรู้แจ้งด้วยดี นั่นแล

จบอรรถกถากุหนาสูตรที่ ๙


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 9 ก.ย. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความโดยสรุป

กุหนาสูตร

(ว่าด้วยการหลอกลวง)

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงความแตกต่างระหว่างผู้ที่ไม่เจริญ และ ผู้เจริญในพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว คือ

ผู้หลอกลวง มีใจกระด้าง ประจบประแจง ประกอบด้วยกิเลสอันปรากฏดุจเขาสัตว์ มีกิเลสดุจไม้อ้อสูงขึ้น มีใจไม่ตั้งมั่น ย่อมชื่อว่าไม่ใช่คนของพระองค์ เป็นผู้ปราศไปแล้วจากพระธรรมวินัย และเป็นผู้ไม่เจริญในพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ส่วนผู้ที่ไม่หลอกลวง ไม่ประจบประแจง เป็นนักปราชญ์ มีใจไม่กระด้าง มีใจตั้งมั่นดี ย่อมเป็นคนของพระองค์ เป็นผู้ไม่ปราศไปแล้วจากพระธรรมวินัยและเป็นผู้เจริญในพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว.

ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ

ฟังด้วยความเคารพ

ปัญญา

ฟังจนกว่าจะรู้ความจริง

มานะกับผ้าเช็ดธุลี ๑

เสมือนเขาสัตว์

มานะและธรรมที่จะละ

ปัญญารู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

ปัญญา รู้ สิ่งที่มีจริง ที่ กำลังปรากฏ (ถอดเทป)

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ประสาน
วันที่ 10 ก.ย. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Nataya
วันที่ 13 ก.ย. 2562

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Dusita
วันที่ 14 ก.ย. 2562

กราบ อนุโมทนา ใน กุศลจิต ของทุกท่าน วิทยากร , ท่าน อาจารย์สุจินต์ และ เจ้าหน้าที่ มูลนิธิ ฯ ทุกๆ ท่าน ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ