คำถามทบทวนปรมัตถธรรม

 
khampan.a
วันที่  29 ส.ค. 2563
หมายเลข  32711
อ่าน  1,028

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น


ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ จึงเรียกว่า ปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น

ปรมัตถธรรม มี ๔ ประเภท ได้แก่

จิตปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ จิตแม้จะมีหลากหลายประเภท ตามเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมด้วย บ้าง หลากหลายตามอารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้ บ้าง หลากหลายตามภูมิคือระดับขั้นของจิต บ้าง แต่ก็มีลักษณะเดียวคือมีการรู้แจ้งอารมณ์เป็นลักษณะ ตัวอย่างของจิต เช่น เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องกระทบสัมผัสทางกาย เป็นต้น

เจตสิกปรมัตถ์ เป็นนามธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีอารมณ์เดียวกับจิต และในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต ตัวอย่างเจตสิก เช่น ผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ที่จิตรู้ เวทนา ความรู้สึก โลภะ ความติดข้องต้องการ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ศรัทธา ความเลื่อมใส ความผ่องใส สติ ความระลึกเป็นไปในกุศลธรรม หิริ ความละอายต่อบาป โอตตัปปะ ความเกรงกลัวต่อบาป ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นต้น

รูปปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่สภาพรู้ ไม่ใช่ธาตุรู้ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะสมุฏฐานต่างๆ กล่าวคือ บางรูปเกิดขึ้นเพราะกรรมมีกรรมเป็นธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิดขึ้น บางรูปเกิดขึ้นเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดขึ้นเพราะอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐาน บางรูปเกิดเพราะอาหารเป็นสมุฏฐาน ตัวอย่างของรูปปรมัตถ์ เช่น สี เสียง กลิ่น รส ธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม จักขุปสาทะ (ตา) โสตปสาทะ (หู) ฆานปสาทะ (จมูก) ชิวหาปสาทะ (ลิ้น) กายปสาทะ (กาย) เป็นต้น

และมีปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ นิพพานปรมัตถ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับสภาพธรรมที่เกิดดับอย่างสิ้นเชิง

ในขณะนี้เอง ปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต เจตสิก รูป กำลังเกิดดับอย่างรวดเร็ว เมื่อไม่รู้ปรมัตถธรรมตามความเป็นจริง จึงถืออาการของรูปและนาม ซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน หรือ เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

เมื่อไม่รู้ลักษณะของปรมัตถธรรม จึงมีการยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏโดยอาการ โดยสัณฐาน ว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เกิดขึ้น แต่เมื่อศึกษาปรมัตถธรรมแล้ว และรู้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะเป็นเหตุให้ค่อยๆ ศึกษาลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จนกว่าลักษณะของปรมัตถธรรมนี้จะปรากฏโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน และเมื่อปัญญาอบรมเจริญขึ้นก็สามารถที่จะประจักษ์แม้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ จึงจะไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนจริงๆ เป็นแต่เพียงปรมัตถธรรมแต่ละลักษณะตามที่ได้ศึกษามาตามความเป็นจริง เพราะเหตุว่า ตราบใดที่ปัญญายังไม่ประจักษ์แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนของจิต เจตสิก รูป ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ตราบนั้นก็ยังเห็นสภาพธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ยังมีความยึดถือว่า เป็นวัตถุ เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนต่างๆ

เพราะฉะนั้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ในที่สุด ซึ่งจะขาดการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ในขณะนี้ไม่ได้เลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย

เพื่อจะได้ทบทวน และเป็นเครื่องย้ำเตือนให้ไม่ลืมในความเป็นจริงของธรรม จึงขอโอกาสนำเสนอคำถามทบทวน
ประมวลจากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๑๐๗๑ - ๑๐๗๒ บรรยายโดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ให้ทุกๆ ท่านได้ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ไตร่ตรอง คำตอบใดที่ผู้ร่วมสนทนาได้เป็นตัวแทนตอบ แล้ว ยังไม่ชัดเจน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ก็ได้อธิบายไว้เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง ดังต่อไปนี้ .-


ส. ปรมัตถธรรม มีกี่อย่าง อะไรบ้าง?

ตอบ ปรมัตถธรรม มี ๔ อย่าง ได้แก่ จิตปรมัตถ์ ๑ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ รูปปรมัตถ์ ๑ และนิพพานปรมัตถ์ ๑

ส. ปรมัตถธรรมอะไร เป็นสังขารธรรม

ตอบ จิต เจตสิก รูป เป็นสังขารธรรม

ส. ปรมัตถธรรมอะไร เป็นอสังขตธรรม

ตอบ นิพพานเป็นอสังขตธรรม

ส. จิตเป็นสังขารธรรมใช่ไหม

ตอบ ใช่

ส. สังขารธรรมเป็นจิตใช่ไหม

ตอบ ใช่

ส. สังขารธรรมไม่ใช่จิตอย่างเดียว เจตสิกและรูปก็เป็นสังขารธรรมเพราะเป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ

ส. รูปเป็นสังขารธรรมใช่ไหม

ตอบ ใช่

ส. สังขารธรรมเป็นรูปใช่ไหม

ตอบ ใช่

ส. ไม่ใช่รูปอย่างเดียว จิตและเจตสิกก็เป็นสังขารธรรมด้วย

ส. ปรมัตถธรรมอะไร ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ตอบ จิต เจตสิก รูป

ส. จิต เจตสิก รูป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานก็เป็นอนัตตาด้วย นิพพานเที่ยง เป็นสุข

ส. วิญญาณขันธ์ ได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไรบ้าง

ตอบ จิตปรมัตถ์ ๘๙ หรือ ๑๒๑ (โดยนัยที่โลกุตตรจิตเกิดร่วมกับองค์ฌานต่างๆ นั้น)

ส. รูปขันธ์ ได้แก่ ปรมัตถธรรมอะไร

ตอบ รูปปรมัตถ์

ส. เป็นเรื่องของปรมัตถธรรมกับขันธ์ ๕ เท่านั้นเอง แต่ว่าถ้าคิด แทนที่จะคิดเรื่องอื่น ก็มาสนใจคิดเรื่องนี้ เป็นปัจจัยที่จะให้พิจารณาธรรมละเอียดขึ้น

ส. รูปขันธ์ ได้แก่ รูปปรมัตถ์เท่าไรคะ? ๒๘ รูป เท่านั้นหรือคะ?

ตอบ เท่านั้นครับ

ส. ปรมัตถธรรมอะไร เป็นเวทนาขันธ์บ้าง

ตอบ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ ดวง คือ เวทนาเจตสิก

ส. ปรมัตถธรรมอะไร เป็นสัญญาขันธ์บ้าง?

ตอบ เจตสิกปรมัตถ์ ๑ ดวง คือ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง

ส. สังขารขันธ์ ได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

ตอบ ได้แก่ เจตสิกปรมัตถ์ ๕๐ ดวง (ที่เหลือเว้นเวทนาเจตสิกและสัญญาเจตสิก)

ส. รูปขันธ์เป็นรูปใช่ไหม

ตอบ ใช่

ส. เพราะอะไร

ตอบ เพราะเป็นธรรมที่ไม่รู้อะไร

ส. รูปเป็นรูปขันธ์ใช่ไหม

ตอบ ใช่

ส. เพราะอะไร

ตอบ เพราะรูปไม่รู้อารมณ์

ส. โดยนัย ๑๑ อย่าง คือ เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายใน เป็นภายนอก หยาบ ละเอียด ทราม ประณีต ไกล ใกล้ โดยนัยของขันธ์ สามารถจะจำแนกออกได้โดยลักษณะ ๑๑ ประการ

ส. นิพพานเป็นขันธ์ ใช่ไหม

ตอบ ไม่ใช่

ส. เพราะอะไร?

ตอบ เพราะนิพพานเป็นขันธวิมุติ (พ้นจากขันธ์) เพราะนิพพานเที่ยง เป็นสุข ไม่เกิดดับ

ส. สังขารธรรม เป็นสังขารขันธ์ ใช่ไหม?

ตอบ ไม่ใช่

ส. สังขารธรรมเป็นสังขารขันธ์ก็มี ไม่ใช่สังขารขันธ์ก็มี ที่เป็นสังขารขันธ์ ได้แก่ เจตสิก ๕๐ เท่านั้น นอกจากนั้นไม่ใช่สังขารขันธ์ เวทนาเจตสิก ๑ ดวง ไม่ใช่สังขารขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวง ไม่ใช่สังขารขันธ์ รูปทั้งหมด ไม่ใช่สังขารขันธ์ และจิตทั้งหมดไม่ใช่สังขารขันธ์

ส. สังขารขันธ์เป็นสังขารธรรมใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. เวทนาขันธ์ เป็นสังขารธรรมใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. สังขารธรรมเป็นเวทนาขันธ์ใช่ไหม?

ตอบ ใช่ก็มี ไม่ใช่ก็มี

ส. สังขารธรรมที่เป็นเวทนาขันธ์ มี ๑ คือ เวทนาเจตสิก สังขารธรรมอื่น คือ จิต เจตสิก ๕๑ และรูป ไม่ใช่เวทนาขันธ์

ส. ปรมัตถธรรม ๔ เป็นขันธ์กี่ขันธ์

ตอบ ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ เป็นขันธทั้ง ๕ และมีขันธวิมุติด้วย

ส. ปรมัตถธรรม ๓ เป็นขันธ์ ๕ นิพพานปรมัตถ์ไม่ใช่ขันธ์ ขันธ์ ๕ ได้แก่ ปรมัตถธรรมกี่ปรมัตถ์

ตอบ ๓ ปรมัตถ์

ส. คือ จิต เจตสิก รูป

ส. รูปปรมัตถ์ เป็นขันธ์กี่ขันธ์?

ตอบ ๑ ขันธ์

ส. นามปรมัตถ์ เป็นขันธ์กี่ขันธ์?

ตอบ ๔ ขันธ์

ส. นามปรมัตถ์ มี ๒ คือ จิตและเจตสิก เป็นนามขันธ์ ๔

ถาม นามขันธ์มีเท่าไร?

ส. นามขันธ์มี ๔

ส. อะไรบ้าง?

ตอบ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ส. นามปรมัตถ์มีเท่าไร

ตอบ มี ๒ คือ จิต เจตสิก

ส. ปรมัตถธรรมมีเท่าไร?

ตอบ มี ๔

ส. นามปรมัตถ์มีเท่าไร?

ตอบ มี ๒ ถ้าสงเคราะห์นิพพานก็เป็น ๓

ส. ไม่ต้องสงเคราะห์หรอกค่ะ ถ้าแยกโดยนามกับรูป สภาพของปรมัตถ์ที่เป็นนามธรรมมี ๓ คือ จิต เจตสิก นิพพาน แต่ต้องแยกว่า สำหรับจิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามปรมัตถ์นั้น เป็นสังขารธรรม ส่วนนิพพาน ซึ่งเป็นนามปรมัตถ์นั้นเป็นวิสังขารธรรม

ส. นามปรมัตถ์เป็นนามขันธ์ใช่ไหม?

ตอบ ใช่ก็มี ไม่ใช่ก็มี

ส. ใช่ ๒ ไม่ใช่ ๑ นามปรมัตถ์ ๒ คือ จิต เจตสิก เป็นนามขันธ์ แต่นิพพานซึ่งเป็นนามปรมัตถ์ ไม่ใช่นามขันธ์

ส. นามขันธ์ เป็นนามปรมัตถ์ใช่ไหม

ตอบ ใช่

ส. คือ จิตและเจตสิก

ส. ปรมัตถธรรมอะไร ไม่รู้อารมณ์

ตอบ รูปปรมัตถ์ทั้งหมด และนิพพานด้วย

ส. อย่าลืมนะคะ คือ เพียงปรมัตถธรรม ๔ กับขันธ์ ๕ จะต้องไม่ขาดการพิจารณาโดยรอบคอบว่า ถ้าถามว่าปรมัตถธรรมอะไรไม่รู้อารมณ์ ก็มีปรมัตถธรรม ๒ คือ รูปปรมัตถ์กับนิพพานปรมัตถ์ นิพพานไม่ใช่จิต เจตสิก เพราะฉะนั้น นิพพานปรมัตถ์ก็เป็นปรมัตถธรรมที่ไม่รู้อารมณ์ และรูปปรมัตถ์ก็ไม่รู้อารมณ์ด้วย

ส. ขันธ์อะไรไม่รู้อารมณ์

ตอบ รูปขันธ์

ส. ปรมัตถธรรมอะไร เป็นอารมณ์

ตอบ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดเป็นอารมณ์ได้

ส. อีกครั้งนะคะ ปรมัตถธรรมอะไรเป็นอารมณ์

ตอบ ก็ยังยืนยันว่า จิต เจตสิก รูป เป็นอารมณ์ได้

ส. คิดอีกทีได้ไหมคะ

ตอบ นิพพานด้วยครับ

ส. เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมทั้ง ๔ เป็นอารมณ์ ไม่มีอะไรเลยที่จิตจะรู้ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นจิต เจตสิก รูป นิพพานก็ตาม สภาพธรรมที่ทรงแสดงทั้งหมด พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอารมณ์

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกอย่างเป็นอารมณ์ ถึงแม้ไม่ใช่ปรมัตถ์ เช่น สมมติบัญญัติต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ทุกชนิด ทุกอย่าง

ส. ขันธ์อะไร เป็นอารมณ์

ตอบ จิต เจตสิก รูป เป็นอารมณ์

ส. ถามถึงขันธ์ค่ะ

ตอบ ขันธ์ทั้ง ๕

ส. ถ้าถามถึงขันธ์ ต้องตอบว่า ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นอารมณ์

ทีนี้จะถามเฉพาะเรื่องจิต ทบทวนเฉพาะเรื่องจิต

ส. จิตเป็นอภิธรรมใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. จิตเป็นปรมัตถธรรมใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. จิตเป็นสังขารธรรมใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. จิตเป็นวิสังขารธรรมใช่ไหม?

ตอบ ไม่ใช่

ส. จิตเป็นสังขตธรรมใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. จิตเป็นอสังขตธรรมใช่ไหม?

ตอบ ไม่ใช่

ส. จิตเป็นเวทนาขันธ์ใช่ไหม?

ตอบ ไม่ใช่

ส. จิตเป็นสังขารขันธ์ใช่ไหม?

ตอบ ไม่ใช่

ส. จิตเป็นวิญญาณขันธ์ใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. โลกุตตรจิตเป็นอสังขตธรรมใช่ไหม?

ตอบ ไม่ใช่

ส. ถูกต้องนะคะ อย่าลืมว่า จิตไม่ใช่นิพพาน เพราะโลกุตตรจิตไม่ใช่อสังขตธรรม เฉพาะนิพพานเท่านั้นที่เป็นอสังขตธรรม เพราะไม่เกิดดับ แต่โลกุตตรจิตเป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม เพราะเกิดดับ

ส. จิตเป็นขันธวิมุติ คือ พ้นจากขันธ์ใช่ไหม?

ตอบ ไม่ใช่

ส. นิพพานเป็นอารมณ์ของสังขตธรรมใช่ไหม?

ตอบ ใช่

ส. เป็นอารมณ์เฉพาะสังขตธรรมที่เป็นจิต เจตสิก

ส. จิตเป็นอารมณ์ได้ไหม?

ตอบ ได้

ส. นี่ก็เป็นเรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคำบางคำที่ได้ผ่านไปแล้วเท่านั้น ต่อไปจะทบทวนเรื่องของวิบาก เรื่องของธรรมที่เป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพพยากตธรรม

ส. ขันธ์อะไรเป็นวิบากได้

ตอบ วิญญาณขันธ์

ส. ต้องคิดนิดหน่อย แล้วต้องรอบคอบ คือ อย่าหลงลืม ถามถึงขันธ์นะคะ ขันธ์มี ๕ ขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ขันธ์อะไรเป็นวิบากได้

ตอบ วิญญาณขันธ์

ส. ท่านผู้ฟังจะมีคำตอบอย่างอื่นไหมคะ ขันธ์อะไรเป็นวิบากได้ ถ้าท่านไม่ลืม ขันธ์ ๕ กับปรมัตถธรรม ๔

ตอบ วิบากจิตและเจตสิกที่ประกอบ

ส. เพราะฉะนั้น นามขันธ์ ๔ ทั้งจิตและเจตสิก เป็นวิบาก

ถ้าจิตเป็นวิบากเกิดขึ้น เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยต้องเป็นวิบากด้วย เวลาที่กุศลจิตเกิด เจตสิกทั้งหมดต้องเป็นกุศล อโลภะ อโมหะ ต้องเป็นกุศล แต่เวลาที่เป็นอัพยากตะ คือ วิบากจิตหรือกิริยาจิต เจตสิกที่เกิดกับวิบากจิต เจตสิกนั้นก็เป็นวิบาก เจตสิกที่เกิดกับกิริยาจิต เจตสิกนั้นก็เป็นกิริยา

เพราะฉะนั้น ทั้งจิตและเจตสิก เมื่อเป็นวิบากก็เป็นวิบากด้วยกัน เมื่อเป็นกุศลก็เป็นกุศลด้วยกัน เมื่อเป็นอกุศลก็เป็นอกุศลด้วยกัน เมื่อเป็นกิริยาก็เป็นกิริยาด้วยกัน

กุศลเจตสิกจะไปเกิดกับอกุศลจิตไม่ได้ กุศลเจตสิกจะไปเกิดกับวิบากจิตไม่ได้ กุศลเจตสิกจะไปเกิดกับกิริยาจิตไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า โสภณเจตสิก เพราะเกิดกับกุศลวิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ กุศลก็ได้ จึงเป็นโสภณ ไม่ใช่เป็นแต่เฉพาะกุศลเจตสิกเท่านั้น

ถ้าท่านผู้ฟังสงสัยตอนไหน กรุณาถามด้วยนะคะ

ส. อกุศลธรรมได้แก่ปรมัตถธรรมอะไรบ้าง?

ตอบ ได้แก่ จิต เจตสิก

ส. เวทนาขันธ์เป็นชาติอะไรบ้าง

ตอบ เวทนาขันธ์ เป็นทั้ง ๔ ชาติ

ส. เป็นกุศล อกุศล วิบาก กิริยา ได้ทั้ง ๔ ชาติ เพราะเวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง กุศลจิตก็มีเวทนาเจตสิกเกิดด้วย อกุศลจิตก็มีเวทนาเจตสิกเกิดด้วย วิบากจิตก็มีเวทนาเจตสิกเกิดด้วย กิริยาจิตก็มีเวทนาเจตสิกเกิดด้วย เพราะฉะนั้น เวทนาขันธ์ก็เป็นชาติกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง

ส. อกุศลธรรมมีกี่ขันธ์?

ตอบ มีนามขันธ์ ๔

ส. อัพยากตธรรมมีกี่ขันธ์

ตอบ มีนามขันธ์ทั้ง ๔

ส. โดยหมวด ๓ นะคะ กุสลา ธมฺมา, อกุสลา ธมฺมา, อพฺยากตา ธมฺมา

กุสลา ธมฺมา ได้แก่ กุศลจิตและกุศลเจตสิก

อกุสลา ธมฺมา ได้แก่ อกุศลจิตและอกุศลเจตสิก

อพฺยากตา ธมฺมา ได้แก่ ธรรมอื่นทั้งหมด ที่ไม่ใช่กุศลและอกุศล

เพราะฉะนั้น รูปทั้งหมดเป็นอัพยากตะ รูปไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่มีเจตนาเป็นกุศล หรือทำกุศลกรรมใดๆ ไม่ได้เลย นิพพานก็เป็นอัพยากตะ เพราะฉะนั้น ถ้าถามเรื่องขันธ์ว่า อัพยากตธรรมมีกี่ขันธ์?

ตอบ มีทั้ง ๕ ขันธ์ เพราะรูปเป็นอัพยากตะ

ส. ขันธ์อะไรเป็นอัพยากตะ?

ตอบ ได้แก่ขันธ์ทั้ง ๕

ส. แต่ต้องจำแนกให้ละเอียด รูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ ที่เป็นวิบากและกิริยาจึงจะเป็นอัพยากตะ

ส. ขันธ์ที่ไม่ใช่อัพยากตะ มีไหม?

ตอบ ไม่มี

ส. ต้องคิด เห็นไหมคะ เรื่องของการศึกษาอภิธรรม หรือปรมัตถธรรม ต้องคิดๆ ๆ พิจารณา จะหลับจะนอน จะตื่นขึ้นมาก็คิดอีก พิจารณาอีกถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังมา จนกว่าจะแจ่มแจ้งจริงๆ นี่เป็นปัจจัยอันหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังซึ่งเห็น ได้ยิน แทนที่จะเป็นอกุศล ก็เป็นกุศล โดยการคิดถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังบ่อยๆ เนืองๆ และพิจารณาจนกว่าจะเข้าใจแจ่มแจ้ง มิฉะนั้นแล้ว พอเห็นอกุศลจิตเกิด คิดตามสิ่งที่เห็น แต่เมื่อได้ยินได้ฟังธรรม แทนที่จะคิดเรื่องอื่น ก็ยังมีปัจจัยที่จะให้คิดพิจารณาในความละเอียดของธรรมว่า ขันธ์ที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม

ตอบ มีครับ ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และเจตสิกที่ประกอบด้วย

ส. ถูกต้องค่ะ แต่ตอบตามคำถามก็ได้ว่า กุศลขันธ์และอกุศลขันธ์ ซึ่งได้แก่ กุศลจิต และอกุศลจิต และเจตสิกนั่นเอง

ส. อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์มีไหม?

ตอบ มี คือ นิพพาน

ส. อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่ขันธ์ คือ นิพพาน เพราะปรมัตถธรรมมี ๔ คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมื่อจิต เจตสิก รูป เป็นขันธ์ นิพพานเท่านั้นที่ไม่ใช่ขันธ์ แต่เป็นอัพยากตธรรม

ส. อัพยากตธรรมเป็นสังขารธรรม หรือวิสังขารธรรม

ตอบ อัพยากตธรรมเป็นสังขารธรรมก็มี เป็นวิสังขารธรรมก็มี

ส. ถูกต้อง อันนี้ท่านผู้ฟังก็คิดรายละเอียดเองได้ รูปทั้งหมดเป็นสังขารธรรม วิบากจิต วิบากเจตสิก กิริยาจิต กิริยาเจตสิกเป็นสังขารธรรม เฉพาะนิพพานซึ่งเป็นอัพยากตะเท่านั้นที่เป็นวิสังขารธรรม

เสียง ทุกท่านกำลังได้ยินเสียงตามธรรมดา เสียงเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม หรืออัพยากตธรรม

ตอบ เป็นอัพยากตธรรม

ส. เพราะเป็นรูปธรรม

ส. สังขารธรรมเป็นอัพยากตะใช่ไหม

ตอบ เป็นอัพยากตธรรมก็มี ไม่เป็นก็มี

ส. คือ รูปทั้งหมดเป็นอัพยากตธรรม วิบากจิตและวิบากเจตสิกเป็นอัพยากตธรรม กิริยาจิตและกิริยาเจตสิกเป็นอัพยากตธรรม

ส. อัพยากตธรรมเป็นสังขารขันธ์ใช่ไหม?

ตอบ เป็นสังขารขันธ์ก็มี ไม่เป็นสังขารขันธ์ก็มี

ส. อะไรล่ะคะที่เป็นสังขารขันธ์

ตอบ รูปเป็นสังขารขันธ์

ส. ตอนนี้งงแล้ว รูปเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้แล้ว ต้องมั่นคงและต้องคิด ช้าๆ ก็ได้ ไม่เป็นไร เพราะอาจจะเป็นเรื่องปวดศีรษะ แต่ธรรมต้องเป็นเรื่องตรง ยิ่งคิดละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งไม่หลงลืม ที่ว่าอัพยากตธรรมเป็นสังขารขันธ์ใช่ไหม? อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์มีอะไรบ้าง?

ตอบ วิบากจิต และกิริยาจิต และเจตสิกที่ประกอบ

ส. เอาจิตเข้ามาเป็นสังขารขันธ์อีก เห็นไหมคะ ต้องกันออกไปอีก เพราะจิตไม่ใช่สังขารขันธ์ อีกครั้งหนึ่งนะคะ อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง?

ตอบ ได้แก่ วิบากจิตและกิริยาจิต

ส. จิตไม่ได้ค่ะ ถามถึงสังขารขันธ์ จิตเป็นสังขารขันธ์ไม่ได้เลย อาจจะน่าเบื่อและน่างง แต่แทนที่จะคิดถึงเรื่องอื่น วันนี้ขอให้คิดเรื่องนี้ค่ะ ทบทวน กลับไปถึงบ้านคิดอีก ขอให้เห็นประโยชน์ของการที่กุศลจิตจะเกิด แทนที่เป็นอกุศล และจะทำให้เข้าใจธรรมประการต่อๆ ไป โดยที่ไม่หลงลืม

อีกครั้งคะ อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ได้แก่อะไรบ้าง? ถามถึงอัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์ เจาะจงด้วยว่า อัพยากตธรรมที่เป็นสังขารขันธ์

ตอบ ได้แก่เจตสิกที่ประกอบในวิบากจิตและกิริยาจิต

ส. เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า วิบากเจตสิก และกิริยาเจตสิก ที่เป็นสังขารขันธ์ก็ได้ เพราะเข้าใจกันอยู่แล้วว่า เฉพาะเจตสิก ๕๐ เท่านั้นที่เป็นสังขารขันธ์ แต่เมื่อเป็นสังขารขันธ์ ที่เป็นอัพยากตะ ก็ต้องหมายเฉพาะที่เป็นวิบากเจตสิก และกิริยาเจตสิก เท่านั้น

ส. สังขารขันธ์เป็นกุศลใช่ไหม?

ตอบ กุศลธรรมก็มี ไม่เป็นก็มี

ส. ถ้าศึกษาละเอียดต่อไป จะทราบได้ว่า สังขารขันธ์ คือ กุศลเจตสิก ๒๕ เป็นกุศลธรรม

ส. สัญญาขันธ์ เป็นอกุศลธรรมใช่ไหม?

ข้อไหนอยากคิดก็คิด ข้อไหนไม่อยากคิด ไม่คิดก็ได้ สำหรับบางท่านอาจจะเบื่อ แต่เป็นการทบทวน ก่อนที่จะกล่าวถึงธรรมต่อไป

ตอบ เป็นอกุศลธรรมก็ได้ ไม่เป็นก็ได้

ส. สัญญาขันธ์ที่เกิดกับอกุศลจิต เป็นอกุศลธรรม

ส. กิริยาจิตเป็นขันธ์อะไร?

ตอบ วิญญาณขันธ์

ส. เจตสิกที่เป็นชาติกิริยา เป็นขันธ์อะไร

ตอบ เป็นสังขารขันธ์

ส. เดี๋ยวนะคะ เจตสิกที่เป็นชาติกิริยาเป็นขันธ์อะไร ถ้าไม่กล่าวถึงธรรมเหล่านี้ ก็เข้าใจ พูดถึงเรื่องอัพยากตธรรม กุศลธรรม อกุศลธรรม พูดถึงเรื่องขันธ์ ๕ พูดถึงเรื่องปรมัตถธรรม ๔ พูดถึงเรื่องสังขารธรรม วิสังขารธรรม พูดถึงเรื่องสังขตธรรม อสังขตธรรม ก็เข้าใจ พูดไปเรื่อยๆ เข้าใจไปเรื่อยๆ แต่ถ้าจะต้องคิด ก็ยิ่งจะทำให้เข้าใจและไม่ลืม ข้อสำคัญคือไม่ลืม ที่จะต้องสงเคราะห์กันด้วย ที่ว่าเจตสิกที่เป็นชาติกิริยา เป็นขันธ์อะไร

ตอบ เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์

ส. วิญญาณขันธ์มีกี่ชาติ?

ตอบ มี ๔ ชาติ คือ ชาติกุศล ชาติอกุศล ชาติวิบาก ชาติกิริยา

ส. อกุศลจิตเป็นชาติอะไร?

ตอบ เป็นอกุศลชาติ

ส. อกุศลจิตในรูปพรหมภูมิ เป็นชาติอะไร?

ตอบ อกุศลชาติ

ส. อกุศลจิตในอรูปพรหมภูมิ เป็นชาติอะไร?

ตอบ อกุศลชาติ

ส. ต้องเป็นอกุศล ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน อกุศลจิตในกามภูมิ ในโลกมนุษย์ โลภมูลจิตในโลกสวรรค์ โลภมูลจิตในรูปพรหมภูมิ โลภมูลจิตในอรูปพรหมภูมิ ก็เป็นอกุศล คือ โลภมูลจิตนั่นเอง จะเปลี่ยนชาติไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ก็ยังคงเป็นชาติอกุศล

ส. อกุศลวิบากจิตเป็นขันธ์อะไร?

ตอบ วิญญาณขันธ์

ส. อัพยากตธรรมเป็นจิตใช่ไหม?

ตอบ เป็นจิตก็มี ไม่ใช่จิตก็มี

ส. อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่จิต คือ รูป เจตสิก และนิพพาน

ส. จิตเป็นอัพยากตธรรมใช่ไหม?

ตอบ เป็นก็มี ไม่เป็นก็มี กุศลจิตและอกุศลจิตไม่ใช่อัพยากตธรรม

ส. อัพยากตธรรมเป็นชาติกิริยาใช่ไหม?

ตอบ อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่กิริยา ก็ได้แก่ รูปและนิพพาน วิบากจิตและวิบากเจตสิก เฉพาะกิริยาจิตและกิริยาเจตสิกเท่านั้นที่เป็นอัพยากตธรรมที่เป็นชาติกิริยา

ส. อัพยากตธรรมที่ไม่ใช่นามธรรมมีไหม?

ตอบ มี คือ รูปทั้งหมด

ส. นามธรรมที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม?

ตอบ มี ได้แก่ กุศลจิต อกุศลจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย

ส. ขันธ์ที่ไม่ใช่กุศลมีไหม

ตอบ มี ได้แก่ รูปขันธ์ และอกุศลจิต วิบากจิต และกิริยาจิต กับเจตสิกที่ประกอบ ถ้าถามถึงขันธ์

ส. ก็ตอบได้ว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอกุศล วิบาก กิริยา เพราะถามว่า ขันธ์ที่ไม่ใช่กุศล ก็ต้องได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่เป็นอกุศล วิบาก กิริยา และรูปขันธ์ทั้งหมด

ส. กุศลที่ไม่ใช่ขันธ์มีไหม?

ตอบ ไม่มี

ส. รูปที่เป็นวิบาก มีไหม?

ตอบ ไม่มี

ส. การทบทวนจะเป็นการแสดงว่า บางครั้งอาจจะหลงลืมความเข้าใจบางตอน เพราะธรรมที่เป็นวิบากต้องเป็นนามธรรมเท่านั้น ต้องเป็นจิต เจตสิก ธรรมอื่นๆ เช่น รูป นิพพาน เป็นวิบากไม่ได้ เพราะธรรมที่เป็นธรรมที่ดี คือ กุศล เป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก ซึ่งได้แก่ จิตและเจตสิก

ธรรมที่เป็นอกุศล คือ อกุศลจิต เป็นปัจจัยให้เกิดอกุศลวิบาก คือ จิตและเจตสิก เพราะฉะนั้น รูปที่เป็นวิบากไม่มี รูปที่เป็นผลของกรรมมี แต่รูปที่เป็นผลของกรรมนั้นไม่ใช่วิบาก คำว่า “วิบาก” เคยเรียนให้ทราบแล้วนะคะว่า หมายเฉพาะจิตและเจตสิกเท่านั้น

ส. ปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่อัพยากตธรรมมีไหม?

ตอบ มีครับ

ส. ปรมัตถธรรมกว้าง มีทั้งจิต เจตสิก รูป นิพพาน เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่อัพยากตะก็มี คือ กุศลจิตและเจตสิก อกุศลจิตและเจตสิก

ส. อารมณ์เป็นกุศล หรืออกุศล หรือเป็นอัพยากตะ

ตอบ อัพยากตะ

ส. คิดอีกที นี่ต้องคิดแล้วนะคะ คิดหน่อย เป็นกุศล หรืออกุศล หรืออัพยากตะ

ตอบ อารมณ์เป็นกุศลก็มี อกุศลก็มี อัพยากตะก็มี

ส. เพราะอารมณ์เป็นทุกอย่างที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

เพราะฉะนั้น ปรมัตถธรรม ๔ ถ้าไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ ไม่สามารถที่จะปรากฏเป็นอารมณ์ได้ พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงแสดง แต่ที่ทรงแสดงรูปทั้งหมด จิตทุกประเภท เจตสิกทุกชนิด และนิพพาน เพราะเป็นธรรมที่สามารถปรากฏให้รู้ได้ เป็นอารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น อารมณ์ต้องเป็นสภาพธรรมทุกอย่าง ไว้เว้นเลย เพราะฉะนั้น เมื่อจำแนกแล้ว อารมณ์ที่เป็นกุศลก็มี ได้แก่ กุศลจิตและกุศลเจตสิก อารมณ์ที่เป็นอกุศลก็มี ได้แก่ อกุศลจิตและอกุศลเจตสิก ส่วนอารมณ์อื่นที่ไม่ใช่กุศลและอกุศลก็เป็นอัพยากตะ

ขอเชิญคลิกฟังทบทวนได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1071

ชุด แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1072

...กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

และยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
orawan.c
วันที่ 30 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ