การทำร้ายร่างกาย/เบียดเบียนทางกายผู้อื่น
การมีเจตนาเบียดเบียนทำร้ายร่างกายผู้อื่น แต่ไม่มีเจตนาฆ่า(อาทิเช่น ตบตี ชกต่อย) เป็นอกุศลกรรมทางกาย(กายทุจริต)อย่างไรบ้าง และการที่จะเป็นอกุศลกรรมนั้น ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอกุศลเป็นองค์ประกอบด้วยใช่มั้ยครับ เช่น ต้องมีโทสะที่จงใจ/มีเจตนาที่จะเบียดเบียนด้วย? แล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า หากมีเจตนาตี/ต่อยให้เจ็บ แต่ทำเพื่อสั่งสอนอย่างแม่สั่งสอนลูกด้วยการตี เพื่อให้จดจำแต่หวังดีกับลูก อย่างนี้เป็นอกุศลกรรมทางกายหรือไม่?... กราบเรียนถามครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 58] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ ๑๒
ติลมุฏฐิชาดก
อารยชนใด ย่อมข่มขี่คนที่ไม่ใช่อารยชน ผู้ทำกรรมชั่วด้วยอาชญากรรมของอารยชนนั้น เป็นการสั่งสอนหาใช่เป็นเวรไม่ บัณฑิตทั้งหลายรู้ชัดข้อนั้นอย่างนี้แล
ข้าแต่มหาราช ชื่อว่า การเฆี่ยนตี กีดกันบุตรธิดาหรือศิษย์ ผู้กระทำสิ่งไม่ควรทำด้วยอาการอย่างนี้ เป็นการสั่งสอนในโลกนี้ คือ เป็นการพร่ำสอน เป็นโอวาท หาใช่เป็นการก่อเวรไม่
เจตนาที่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น กับ เจตนาที่จะอบรมพร่ำสอนให้ออกจากความชั่ว ให้ตั้งอยู่ในความดี ก็ย่อมแตกต่างกัน เจตนาเบียดเบียน ก็เป็นอกุศลกรรมบถอย่างแน่นอน แต่จะครบองค์หรือไม่นั้น ก็ตามกำลังของเจตนาที่ไม่ดี นั้น เมื่อถึงคราวที่กรรมจะให้ผล ก็ให้ผลตามควรแก่เหตุ ส่วนเจตนา ในการอบรมพร่ำสอน ไม่ใช่การก่อเวร
แต่เป็นการมุ่งเกื้อกูลผู้นั้น ซึ่งจะต้องคำนึงถึงเจตนาเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ธรรมเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่เฆี่ยนตี ก็เป็นคนละขณะกันกับขณะที่มีความหวังดี ที่ยังมีการเฆี่ยนตี ก็เพราะยังมีอกุศลอยู่นั่นเอง อกุศล เป็น อกุศล กุศล เป็น กุศล ไม่ปะปนกัน ความเป็นจริงของธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงความจริงนี้ไม่ได้เลย ครับ
ขอเชิญคลิกศึกษาเพิ่มเติมจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี......?
แนวทางเจริญวิปัสสนา แผ่นที่ ๓๔ (ครั้งที่ 2016-2081)
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
อยู่ที่เจตนาตีเพราะต้องการให้เด็กเป็นคนดีหรือตีเพราะโกรธ แต่ก็มีตัวอย่างที่อาจารย์ตีลูกศิษย์ที่ไปขโมยเม็ดงา แล้วอำมาตย์เตือนว่าที่ได้เป็นพระราชาเพราะอาจารย์สั่งสอนให้เป็นคนดีค่ะ