นางขุชชุตตรา เป็นอุบาสิกาเอตทัคคะ ผู้เลิศในการแสดงธรรม
สำหรับชีวิตของแต่ละท่านในขณะนี้ หากเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติก็สามารถจะทราบได้ถึงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดกับท่านตามความเป็นจริงว่า มีเศษของกรรมบ้างไหม มีเศษของอกุศลกรรมในอดีตชาติที่ได้กระทำแล้วและให้ผลในปัจจุบันชาตินี้บ้างไหม
เคยมีท่านที่สงสัยว่า ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้าไม่น่าจะยากจนขัดสน หรือว่ามีโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ นั่นเป็นผลของอดีตอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ถ้าท่านเห็นความวิจิตรของการสะสมของกรรมในอดีตที่เนิ่นนานมา จนกระทั่งท่านเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาตัวของท่านจริงๆ แม้ในปัจจุบันชาตินี้จะเห็นว่า ยังมีกรรมเล็กกรรมน้อย เป็นปัจจัยที่จะทำให้ได้รับผลข้างหน้าต่างๆ กัน ตามลักษณะของกรรมนั้นๆ
ขอกล่าวถึงเศษของอกุศลกรรมของพระอริยเจ้า เพื่อท่านจะได้ไม่เป็นผู้ที่ ประมาท และพิจารณากรรมของท่านอย่างละเอียดยิ่งขึ้น อุบาสิกาท่านหนึ่ง ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงตั้งไว้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าบรรดาอุบาสิกาสาวิกาผู้เป็นธัมมกติกา คือ ผู้แสดงธรรม อุบาสิกาท่านนั้น คือ ขุชชุตตราซึ่งเป็นทาสีของพระนางสามาวดี
พระธัมมปทัฏฐกถาแปล (ภาค ๒) อัปปมาทวรรควรรณนา
มีข้อความว่า
พระภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็นางขุชชุตตราเล่า เพราะกรรมอะไรจึงเป็นหญิงค่อมเพราะกรรมอะไรจึงเป็นผู้มีปัญญามาก เพราะกรรมอะไรจึงบรรลุโสตาปัตติผล เพราะกรรมอะไรจึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น
ถ้าท่านศึกษาประวัติของพระสาวกในครั้งนั้น ก็จะได้ทราบถึงอดีตกรรมของท่านเหล่านั้นด้วย ซึ่งจะทำให้ท่านขัดเกลายิ่งขึ้น ไม่ประมาทที่จะให้เกิดอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ในสมัยหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เป็นผู้มีธาตุแห่งคนค่อม หน่อยหนึ่ง หญิงผู้อุปัฏฐายิกาคนหนึ่งห่มผ้ากัมพล ถือขันทองคำ ทำเป็นคนค่อม แสดงอาการเที่ยวไปแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยพูดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าของพวกเราย่อมเที่ยวไปอย่างนี้แล อย่างนี้ เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นหญิงค่อม
ไม่ได้ทำอะไรมากเลย ล้อเล่น ล้อเลียนเพียงเท่านั้น แต่ว่าสมควรไหมที่จะกระทำอย่างนั้น ขอให้ท่านลองคิดดู สมควร หรือไม่สมควร บุคคลนั้นเป็นบรรพชิตเป็นถึงพระปัจเจกพุทธเจ้า การที่จะล้อเลียนลักษณะของบรรพชิตซึ่งควรที่จะเป็นที่เคารพนั้นด้วยจิตชนิดไหน ดูหมิ่น หรือว่าลบหลู่ หรือว่าเยาะเย้ย เป็นอกุศลจิต จะมากน้อยประการใดเป็นเรื่องของบุคคลนั้น ที่ว่า ห่มผ้ากัมพล ถือขันทองคำ ทำเป็นคนค่อม นี่ทางกายแสดงอาการเที่ยวไปแห่งพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยพูดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าของพวกเราย่อมเที่ยวไปอย่างนี้แล อย่างนี้ ทั้งทางกาย และทางวาจา จิตขณะนั้นเป็นชวนะมากสักเท่าไรที่ถึงกับจะแสดงกิริยาอาการที่ล้อเลียนบุคคลที่ควรเคารพได้ดังนั้น เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นหญิงค่อม
นี่เป็นความวิจิตร ความละเอียดของการสะสมกรรม บางครั้งก็เป็นกุศล บางครั้งก็เป็นอกุศล บางครั้งก็แสดงออกในรูปนั้น ในลักษณะนี้ บางครั้งก็ทางกาย ทางวาจา ไม่เฉพาะแต่ทางใจเท่านั้น เพราะฉะนั้น ผลปรากฏคือว่า อุปนิสสยปัจจัย กรรมใดๆ ที่ได้กระทำ เป็นปัจจัยที่มีกำลังอย่างหนึ่งที่จะทำให้ผลเกิดขึ้นตามควรแก่สภาพของกรรมนั้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของนางขุชชุตตราแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า
ในครั้งนั้น พระเจ้าพรหมทัตทรงครองราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระราชา ทรงนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ๘ องค์ ฉันอยู่ในพระราชวังเนืองนิตย์ อนึ่ง ในวันแรกพระราชาให้นั่งในพระราชมณเฑียร แล้วให้ราชบุรุษรับบาตร บรรจุบาตรให้เต็มด้วยข้าวปายาส แล้วรับสั่งให้ถวายพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายถือบาตรอันเต็มด้วยข้าวปายาสร้อน ต้องผลัดเปลี่ยนมือบ่อยๆ หญิงนั้นเห็นท่านทำอยู่อย่างนั้นก็ถวายวลัยงา ๘ วลัย (วลัย คือ กำไล หรือเสวียน) ซึ่งเป็นของๆ ตน กล่าวว่า ท่านจงวางไว้บนวลัยนี้แล้วถือเอา
พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นทำอย่างนั้น แล้วแลดูหญิงนั้น นางทราบความประสงค์ของท่านทั้งหลายจึงกล่าวว่า
ท่านเจ้าข้า ดิฉันหามีความต้องการวลัยเหล่านี้ไม่ ดิฉันบริจาควลัยเหล่านี้แล้วแก่ท่านทั้งหลายนั่นแล ขอท่านจงรับไป เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก เพราะผลอันไหลออกแห่งการอุปัฏฐากซึ่งนางกระทำแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย นางจึงได้บรรลุโสดาปัตติผล นี่เป็น บุพกรรมในสมัยพุทธันดรของนาง
การที่ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าถือบาตรอันเต็มไปด้วยข้าวปายาสร้อนต้องผลัดเปลี่ยนมือบ่อยๆ และเป็นผู้ที่รู้ความประสงค์ของบุคคลอื่น มีกุศลจิตคิดที่จะเกื้อกูล และถวายวลัยงาของตน นี่คือ ผู้ที่รู้ความประสงค์ของบุคคลอื่น และยังเกื้อกูลบุคคลอื่นให้พ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น ในบัดนี้นางจึงเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีปัญญามาก เพราะรู้ถึงความต้องการของบุคคลอื่น และเกื้อกูลด้วยปัญญา
การที่จะเป็นผู้ฉลาด รู้ความประสงค์ของบุคคลอื่น และมีวิธีที่จะเกื้อกูลให้บุคคลนั้นพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ก็ทำให้เป็นผู้ที่มนสิการ สามารถที่จะเป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฎกได้ เนิ่นนานมามากทีเดียวในการที่จะได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้า เพราะเหตุว่ากรรมนี้เป็นบุพกรรมในสมัยพุทธันดรของนาง
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอดีตกรรมของนางขุชชุตตราแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ส่วนในกาลแห่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ธิดาของเศรษฐีกรุงพาราณสีคนหนึ่งจับแว่นนั่งแต่งตัวอยู่ ในเวลามีเงาเจริญ ในเวลาบ่าย
ลำดับนั้น พระภิกษุณีขีณาสพ พระภิกษุณีอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยของนางได้ไปเพื่อเยี่ยมนาง ก็ในขณะนั้น หญิงรับใช้ไรๆ ในสำนักของธิดาเศรษฐีไม่มีเลย นางจึงกล่าวว่า
ดิฉันไหว้เจ้าข้า โปรดหยิบกระเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่ดิฉันก่อน
พระเถรีคิดว่า ถ้าเราจักไม่หยิบกระเช้าเครื่องประดับนี้ให้แก่นางไซร้ นางจักทำความอาฆาตในเรา แล้วบังเกิดในนรก แต่ว่าถ้าเราจักหยิบให้ นางจักเกิดเป็นหญิงรับใช้ของคนอื่น แต่ว่าเพียงความเป็นผู้รับใช้ของคนอื่นย่อมดีกว่าความเร่าร้อนในนรกแล พระเถรีนั้นอาศัยความเอ็นดู จึงได้หยิบกระเช้าเครื่องประดับนั้นให้แก่นาง เพราะผลอันไหลออกแห่งกรรมนั้น นางจึงเป็นคนรับใช้ของคนเหล่าอื่น
กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ทราบว่าสะสมกุศลกรรม อกุศลกรรมในลักษณะต่างๆ มากมายสักเท่าไรที่วิจิตรจนกระทั่งทำให้ชีวิตของพระอริยสาวกทั้งหลายมีในลักษณะต่างๆ กัน เป็นหญิงค่อม เป็นคนรับใช้ แต่เป็นผู้ที่มีปัญญาเป็นไปได้ไหม ใครทำให้ ทำเองตามที่ได้สะสมมา นอกจากชีวิตของอุบาสิกาสาวิกาแม้ว่าบุคคลนั้นจะเป็นบรรพชิต ก็ไม่พ้นจากอดีตกรรมที่ได้สะสมมา และยังคงมีเศษกรรมที่เป็นปัจจัยทำให้มีชีวิตต่างๆ กันด้วย
ที่มา ...
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 98
หนึ่ง หรือกุศลใหญ่ๆ เช่นการให้ของเวลามพราหมณ์เป็นต้น ก็ตาม
เถิด ถ้าปรารถนาวัฏฏสมบัติ จิต ชื่อว่าตั้งไว้ผิด ด้วยอำนาจอิง
วัฏฏะ สามารถนำวัฏฏะเท่านั้นมาให้ หาสามารถนำวิวัฏฏะมาให้ไม่
ฉันนั้นเหมือนกัน. แต่เมื่อบุคคลปรารถนาวิวัฏฏะอย่างนี้ว่า ขอทาน
ของเรานี้ จงนำมาซึ่งความสิ้นอาสวะ ชื่อว่าตั้งไว้ชอบด้วยอำนาจ
วิวัฏฏะ ย่อมสามารถให้ทั้งพระอรหัตทั้งปัจเจกโพธิฌาณทีเดียว.
สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
ปฏิสมฺภิทา วิโมกฺขา จ ยา จ สาวกปารมี
ปจฺเจกโพิ พุทฺธภูมิ สพฺพเมเตน ลพฺภติ.
ปฏิสัมภิทา ๑ วิโมกข์ ๑ สาวกปารมี ๑ ปัจเจกโพธิ ๑ พุทธภูมิ ๑ ทั้งหมดนั้น บุคคลย่อมได้
ด้วยจิตที่ตั้งไว้ชอบนั้น.
ก็ในสูตรทั้งสองนี้ ท่านกล่าวทั้งวัฏฏะ และวิวัฏฏะ.
จบ อรรถกถาสูตรที่ ๒