พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

วรรคที่ ๑ ว่าด้วยอนุสสติ ๑๐

 
บ้านธัมมะ
วันที่  17 ต.ค. 2564
หมายเลข  38420
อ่าน  643
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 175

เอกธัมมาทิบาลี นัยอื่น

วรรคที่ ๑

ว่าด้วยอนุสสติ ๑๐

[๑๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร คือ พุทธานุสสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

[๑๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งที่บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน ธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร คือ ธัมมานุสสติ ... สังฆานุสสติ ... สีลานุสสติ ... จาคานุสสติ ... เทวตานุสสติ ... อานาปานสติ ... มรณสติ ... กายคตาสติ ... อุปสมานุสสติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว การทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน.

จบวรรคที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 176

อรรถกถาเอกธัมมาทิบาลี

อรรถกถาวรรคที่ ๑ (๑)

พึงทราบวินิจฉัยในเอกธรรมบาลี ต่อไป.

ความเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ชื่อว่าเอกธรรม ธรรมอย่างหนึ่ง. บทว่า เอกนฺตนิพฺพิทาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่ความหน่าย คือ เพื่อประโยชน์แก่ความเบื่อระอาในวัฏฏะโดยส่วนเดียว. บทว่า วิราคาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การคลายกำหนัดในวัฏฏะ. อีกอย่างหนึ่ง เพื่อสำรอก คือ เพื่อความไปปราศแห่งกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น. บทว่า นิโรธาย ได้แก่ เพื่อความดับกิเลสทั้งหลายมีราคะเป็นต้น คือ เพื่อประโยชน์แก่การทำกิเลสมีราคะเป็นต้นมิให้ดำเนินต่อไป. อีกอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์แก่ การดับวัฏฏะ. บทว่า อุปสมาย เพื่อประโยชน์แก่การเข้าไปสงบกิเลส. บทว่า อภิญาย คือ เพื่อประโยชน์แก่การยกขึ้นสู่ไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้นแล้วรู้ยิ่ง. บทว่า สมฺโพธาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การตรัสรู้สัจจะทั้ง ๔. อีกอย่างหนึ่ง คือ เพื่อประโยชน์แก่การแทงตลอดญาณในมรรคทั้ง ๔ ซึ่งพระองค์ตรัสไว้อย่างนี้ว่า ญาณในมรรคทั้ง ๔ เราเรียกว่า โพธิ การตรัสรู้. บทว่า นิพฺพานาย ได้แก่ เพื่อประโยชน์แก่การทำให้แจ้งพระนิพพานซึ่งหาปัจจัย (ปรุงแต่ง) มิได้.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพรรณนาพุทธานุสสติกรรมฐาน ด้วยบททั้ง ๗ นี้ ด้วยประการดังนี้ เพราะเหตุไร. เพราะพระองค์เป็น


(๑) บาลีข้อ ๑๗๙ - ๑๘๐.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 177

บัณฑิต ตรัสพรรณนาไว้เพื่อให้มหาชนเกิดความอุตสาหะ เหมือนพ่อค้าชื่อว่าวิสกัณฏกะผู้ค้ำน้ำอ้อยงบฉะนั้น. คุฬวาณิช พ่อค้ำน้ำตาลก้อน ชื่อว่าวิสกัณฏกวาณิช พ่อค้าน้ำอ้อยงบ.

ได้ยินว่า พ่อค้านั้น ได้บรรทุกสินค้ามีน้ำตาลก้อนและน้ำตาลกรวดด้วยเกวียนแล้ว ไปยังหมู่บ้านชายแดนแล้วร้องโฆษณา (ขาย) ว่า พวกท่านจงมาซื้อเอาวิสกัณฏกะไป พวกท่านจงมาซื้อเอาวิสกัณฏกะไป ดังนี้. ฝ่ายพวกชาวบ้าน ครั้นฟังคำโฆษณาแล้วจึงคิดกันว่า ชื่อว่ายาพิษ เป็นก้อนก็มีพิษร้ายแรง ผู้ใดเคี้ยวกินก้อนยาพิษนั้น ผู้นั้นย่อมตาย, แม้หนาม (ที่มีพิษ) แทงแล้วก็ย่อมตาย, สินค้าแม้ทั้งสองเหล่านั้นก็เป็นก้อนแข็งๆ. บรรดาสินค้าที่เป็นก้อนแข็งๆ เหล่านั้น จะมีอานิสงส์อะไร ดังนี้แล้ว ให้ปิดประตูเรือน และไล่ให้เด็กๆ หลบหนีไป. พ่อค้าเห็นเหตุนั้นแล้ว คิดว่า พวกชาวบ้านเหล่านี้ไม่เข้าใจในถ้อยคำ เอาละ เราจะให้พวกเขาซื้อสินค้าไปด้วยอุบาย ดังนี้แล้ว จึงร้องโฆษณาว่า พวกท่านจงมาซื้อสินค้าอร่อยมากไป พวกท่านจงมาซื้อสินค้าดีมากไป พวกท่านจะได้น้ำตาลงบ น้ำอ้อย น้ำตาลกรวดอันมีราคาแพงไป พวกท่านจะซื้อแม้ด้วยทรัพย์มีมาสกเก่าหรือกหาปณะเก่าเป็นต้นก็ได้. พวกชาวบ้านครั้นฟังคำโฆษณานั้นแล้ว ต่างก็ชื่นชมยินดี จับกลุ่มกันเป็นพวกๆ ไปให้ทรัพย์มูลค่าคาสูง ซื้อเอาสินค้ามาแล้ว.

ในเรื่องกรรมฐานนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนกรรมฐานมีพุทธานุสสติเป็นอารมณ์ เปรียบเหมือนพ่อค้าชื่อว่าวิสกัณฏกะโฆษณาว่า พวกท่านจงซื้อเอาวิสกัณฏกะไป ดังนี้. การที่ทรงกระทำมหาชนให้เกิดความอุตสาหะในกรรมฐานนั้น ด้วยการตรัสสรรเสริญคุณของพุทธา-

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 178

นุสสติกรรมฐานด้วยบททั้ง ๗ นี้ เปรียบเหมือนพ่อค้ากล่าวสรรเสริญคุณวิสกัณฏกะ ทำให้มหาชนเกิดอุตสาหะเพื่อต้องการจะซื้อเอาวิสกัณฏกะนั้น ฉะนั้น.

ปัญหาว่า กตโม เอกธมฺโม ดังนี้ เป็นกเถตุกัมยตาปุจฉา คำถามที่พระองค์ตรัสถามเพื่อทรงตอบด้วยพระดำรัสว่า พุทฺธานุสฺสติ นี้ เป็นชื่อของอนุสสติซึ่งเกิดขึ้นเพราะปรารภพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์. ก็พุทธานุสสติกรรมฐานนั่นนั้นเป็น ๒ อย่าง คือ เป็นประโยชน์แก่การทำจิตให้ร่าเริง และเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนา.

คำที่กล่าวนั้นเป็นอย่างไร. คือ ในขณะใดภิกษุเจริญอสุภสัญญาในอสุภารมณ์ จิตตุปบาทถูกกระทบกระทั่ง เอือมระอา ไม่แช่มชื่น ไม่ไปตามวิถี ซัดส่ายไปทางโน้นทางนี้เหมือนโคโกงฉะนั้น ในขณะนั้น จิตตุปบาทนั้นละกรรมฐานเดิมเสีย แล้วระลึกถึงโลกิยคุณและโลกุตรคุณของพระตถาคตโดยนัยว่า อิติปิ โส ภควา ดังนี้เป็นต้น. เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่ จิตตุปบาทย่อมผ่องใส ปราศจากนิวรณ์. ภิกษุนั้นฝึกจิตนั้นอย่างนั้นแล้ว จึงมนสิการกรรมฐานเดิมนั่นแหละอีก.

ถามว่า มนสิการกรรมฐานเดิมอีกอย่างไร. ตอบว่า มนสิการกรรมฐานเดิม เหมือนบุรุษกำลังตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อต้องการเอาไปทำช่อฟ้าเรือนยอด เมื่อคมขวานบิ่นไปเพราะเพียงตัดกิ่งและใบไม้เท่านั้น แม้เมื่อไม่อาจตัดต้นไม้ใหญ่ได้ก็ไม่ทอดธุระ ไปโรงช่างเหล็กให้ทำขวานให้คม แล้วพึงตัดต้นไม้ใหญ่นั้นอีก ฉันใด พึงทราบข้ออุปไมยนี้ฉันนั้น ภิกษุฝึกจิตด้วยอำนาจพุทธานุสสติอย่างนี้ได้แล้ว จึงมนสิการถึงกรรมฐานเดิมอีก ทำปฐมฌานมีอสุภเป็นอารมณ์ให้เกิดขึ้น พิจารณาองค์ฌานทั้งหลาย ย่อมหยั่ง

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 179

ลงสู่อริยภูมิได้อย่างนั้น. พุทธานุสสติกรรมฐานย่อมเป็นประโยชน์แก่การทำจิตให้ร่าเริง ด้วยประการอย่างนี้ก่อน.

ก็ในกาลใด ภิกษุนั้นระลึกถึงพุทธานุสสติแล้ว ตามระลึกถึงโดยนัยเป็นต้นว่า โก อยํ อิติปิ โส ภควา แปลว่า บุคคลผู้นี้คือใคร แม้เพราะเหตุนี้ บุคคลผู้นั้น คือ พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้เป็นต้น. กำหนดอยู่ว่า เขาเป็นสตรีหรือเป็นบุรุษ เป็นเทวดา มนุษย์ มาร พรหม คนใดคนหนึ่งหรือ ก็ได้เห็นว่า ผู้นี้หาใช่ใครอื่นไม่ จิตที่ประกอบด้วยสติเท่านั้นระลึกได้ ดังนี้ แล้วกำหนดอรูปว่า ก็จิตนี้นั่นแล ว่าโดยขันธ์เป็นวิญญาณขันธ์ เวทนาที่สัมปยุตด้วยจิตนั้นเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาอันสัมปยุตด้วยจิตนั้นเป็นสัญญาขันธ์ ธรรมมีผัสสะเป็นต้นที่เกิดพร้อมกันเป็นสังขารขันธ์ (รวมความว่า) ขันธ์ ๔ เหล่านี้เป็นอรูปขันธ์ แล้วค้นหาที่อาศัยของอรูปนั้น ก็ได้พบหทัยวัตถุ จึงพิจารณามหาภูตรูปทั้ง ๔ อันเป็นที่อาศัยของอรูปนั้นและอุปาทารูปที่เหลือซึ่งอาศัยมหาภูตรูปนั้นเป็นไป แล้วกำหนดรูปและอรูปโดยสังเขปว่า นี้เป็นรูป อันก่อนเป็นอรูป และกำหนดทุกขสัจในขันธ์ ๕ โดยเป็นประเภทอีกว่า โดยย่อขันธ์แม้ทั้ง ๕ เหล่านี้เป็นทุกขสัจ ดังนี้ ในเบื้องต้นกำหนดสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า ตัณหาเป็นที่เกิดของทุกข์นั้นเป็นสมุทยสัจ ความดับของทุกข์นั้นเป็นนิโรธสัจ ปฏิปทาเป็นเครื่องรู้ความดับเป็นมรรคสัจ แล้วก้าวลงสู่อริยภูมิโดยลำดับ. ในกาลนั้น กรรมฐานนี้ทั้งหมดย่อมชื่อว่า เป็นประโยชน์แก่วิปัสสนา. ในบทว่า อยํ โข เป็นต้น พึงทราบวาระแห่งอัปปนา โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 180

แม้ในธัมมานุสสติเป็นต้นก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ก็ในข้อที่ว่าด้วยธัมมานุสสตินั่น มีความหมายของถ้อยคำดังต่อไปนี้ :- อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภพระธรรม ชื่อว่า ธัมมานุสสติ. คำว่า ธัมมานุสสติ นี้ เป็นชื่อของสติซึ่งมีพระธรรมคุณที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้วเป็นต้นเป็นอารมณ์.

อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภพระสงฆ์ ชื่อว่า สังฆานุสสติ. คำว่า สังฆานุสสติ นี้ เป็นชื่อของสติซึ่งมีพระสังฆคุณ มีความเป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วเป็นต้นเป็นอารมณ์.

อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภศีล ชื่อว่า สีลานุสสติ. คำว่า สีลานุสสติ นี้ เป็นชื่อของสติอันมีคุณของศีล มีความมีศีลไม่ขาดเป็นต้นเป็นอารมณ์.

อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภจาคะ การบริจาค ชื่อว่า จาคานุสสติ. คำว่า จาคานุสสติ นี้ เป็นชื่อของสติอันมีความเป็นผู้มีทานอันตนบริจาคแล้วเป็นต้นเป็นอารมณ์.

อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภเทวดา ชื่อว่า เทวตานุสสติ. คำว่า เทวดานุสสติ นี้ เป็นชื่อของสติอันมีศรัทธาของตนเป็นอารมณ์ โดยตั้งเทวดาไว้ในฐานะเป็นสักขีพยาน.

สติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภลมหายใจเข้าออก ชื่อว่า อานาปานสติ. คำว่า อานาปานสติ นี้ เป็นชื่อของสติอันมีลมหายใจเข้าและลมหายใจออกเป็นนิมิตเป็นอารมณ์.

สติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภความตาย ชื่อว่า มรณสติ. คำว่า มรณสติ นี้ เป็นชื่อของสติอันมีการตัดขาดชีวิตินทรีย์เป็นอารมณ์.

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 30 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาคที่ ๒ - หน้า 181

เมื่อควรจะกล่าวว่า สติที่เป็นไปสู่รูปกายอันต่างด้วยผมเป็นต้น หรือที่เป็นไปในกาย ชื่อว่า กายคตา, กายคตาด้วย สตินั้นด้วย ชื่อว่า กายคตาสติ แต่ท่านไม่ทำการรัสสะให้สั้น กลับกล่าวว่า กายคตาสติ ดังนี้ คำว่า กายคตาสติ นี้ เป็นชื่อของสติอันมีส่วนของกายมีผมเป็นต้นเป็นนิมิตเป็นอารมณ์.

อนุสสติที่เกิดขึ้นเพราะปรารภความเข้าไปสงบระงับ ชื่อว่า อุปสมานุสสติ. คำว่า อุปสมานุสสติ นี้ เป็นชื่อของสติอันมีความเข้าไปสงบระงับทุกข์ทั้งปวงเป็นอารมณ์. อีกอย่างหนึ่ง ความเข้าไปสงบระงับมี ๒ อย่าง คือ อัจจันตุปสมะ ความเข้าไปสงบระงับโดยสุดยอด และขยูปสมะ ความเข้าไปสงบระงับโดยความสิ้นกิเลส. ใน ๒ อย่างนั้น พระนิพพานชื่อว่าความสงบระงับโดยสุดยอด มรรคชื่อว่าความสงบระงับโดยความสิ้นกิเลส. ความหมายในอธิการนี้มีว่า สติอันเกิดขึ้นแก่ผู้ระลึกถึงความสงบระงับแม้ทั้งสองนี้ ด้วยประการอย่างนี้ ชื่อว่า อุปสมานุสสติ.

ในกรรมฐาน ๑๐ เหล่านี้ กรรมฐาน ๓ อย่างนี้ คือ อานาปานสติ มรณสติ กายคตาสติ ย่อมเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอย่างเดียว กรรมฐานที่เหลือ ๗ อย่าง เป็นประโยชน์แก่การทำจิตให้ร่าเริงด้วย เป็นประโยชน์ แก่วิปัสสนาด้วย ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาวรรคที่ ๑