พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑๐. มลสูตร ว่าด้วยมลทิน ๓ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38631
อ่าน  444

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 18

ปฐมปัณณาสก์

พาลวรรคที่ ๑

๑๐. มลสูตร

ว่าด้วยมลทิน ๓ ประการ

๑๐. มลสูตร ว่าด้วยมลทิน ๓ ประการ 449/18

อรรถกถามลสูตร 19

ความหมายของมลทิน 19


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 18

๑๐. มลสูตร

ว่าด้วยมลทิน ๓ ประการ

[๔๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ไม่ละมลทิน ๓ ย่อมเป็นผู้อุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปเก็บไว้ฉะนั้น ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ เป็นผู้ทุศีลและไม่ละมลทินคือความทุศีลด้วย เป็นผู้ริษยาและไม่ละมลทินคือความริษยาด้วย เป็นผู้ตระหนี่และไม่ละมลทินคือความตระหนี่ด้วย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ นี้ ไม่ละมลทิน ๓ นี้แล ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปเก็บไว้ฉะนั้น.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ละมลทิน ๓ ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ เป็นผู้มีศีลและมลทินคือความทุศีลก็ละได้แล้วด้วย เป็นผู้ไม่ริษยาและมลทินคือความริษยาก็ละได้แล้วด้วย เป็นผู้ไม่ตระหนี่และมลทินคือความตระหนี่ก็ละได้แล้วด้วย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ นี้ ละมลทิน ๓ นี้แล ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น.

จบมลสูตรที่ ๑๐

จบพาลวรรคที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 19

อรรถกถามลสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในมลสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

ภาวะของบุคคลทุศีล ชื่อว่า ทุสสีลยะ. ทุสสีลยะนั้นแหละเป็นมลทิน จึงชื่อว่า ทุสสีลยมละ.

ความหมายของมลทิน

ถามว่า ที่ชื่อว่ามลทิน เพราะหมายความว่าอย่างไร.

ตอบว่า เพราะหมายความว่า ตามเผาไหม้ ๑ เพราะหมายความว่า มีกลิ่นเหม็น ๑ เพราะหมายความว่า ทำให้เศร้าหมอง ๑.

อธิบายว่า มลทินนั้น ย่อมตามเผาไหม้สัตว์ในอบายทั้งหลายมีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่า ตามเผาไหม้บ้าง.

บุคคลเกลือกกลั้วด้วยมลทินนั้น เป็นที่น่ารังเกียจ ทั้งในสำนักมารดาบิดา ทั้งภายในภิกษุสงฆ์ ทั้งในโพธิสถาน และเจดียสถาน และกลิ่นอันเกิดจากความไม่ดีของเขาย่อมฟุ้งไปในทุกทิศว่า ผู้นั้นทำบาปกรรมเห็นปานนี้ เหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่า มีกลิ่นเหม็นบ้าง.

บุคคลผู้เกลือกกลั้วด้วยมลทินนั้น ย่อมได้รับความเดือดร้อนในที่ที่ไปถึง และกายกรรมเป็นต้นของเขาก็ไม่สะอาด ไม่ผ่องใส เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่า ทำให้เศร้าหมองบ้าง.

อีกอย่างหนึ่ง มลทินนั้น ย่อมทำเทวสมบัติ มนุษยสมบัติ และนิพพานสมบัติให้เหี่ยวแห้งไป เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่า เป็นมลทิน เพราะหมายความว่า ทำให้เหี่ยวแห้งบ้าง.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 20

แม้ในมลทิน คือ ริษยา และมลทิน คือ ความตระหนี่ ก็มีนัยอย่างนี้เหมือนกัน.

จบอรรถกถามลสูตรที่ ๑๐

จบพาลวรรควรรณนาที่ ๑

รวมพระสูตรที่มีในพาลวรรคนี้ คือ

๑. ภยสูตร ๒. ลักขณสูตร ๓. จินตสูตร ๔. อัจจยสูตร ๕. อโยนิโสสูตร ๖. อกุสลสูตร ๗. สาวัชชสูตร ๘. สัพยาปัชชสูตร ๙. ขตสูตร ๑๐. มลสูตร และอรรถกถา.