พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๑. ญาตกสูตร ว่าด้วยปฏิบัติเพื่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38632
อ่าน  435

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 21

ปฐมปัณณาสก์

รถการวรรคที่ ๒

๑. ญาตกสูตร

ว่าด้วยปฏิบัติเพื่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

อรรถกถา ญาตกสูตร 22

พระเถระชาวทักษิณวิหาร 23

พระติสสเถระ 23


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 21

รถการวรรคที่ ๒

๑. ญาตกสูตร

ว่าด้วยปฏิบัติเพื่อประโยชน์และมิใช่ประโยชน์

[๔๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสิ่งอันไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อสิ่งอันมิใช่ความสุขแก่ชนมาก เพื่อความเสื่อม เพื่อไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์แก่ชนมาก ทั้งเทวดา ทั้งมนุษย์ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ชักชวนในกายกรรมอันไม่สมควร ชักชวนในวจีกรรมอันไม่สมควร ชักชวนในธรรมทั้งหลายอันไม่สมควร ภิกษุผู้มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อสิ่งอันไม่เกื้อกูลแก่ชนมาก ฯลฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก เพื่อความสุขแก่ชนมาก เพื่อความเจริญ เพื่อประโยชน์ เพื่อสุขแก่ชนมาก ทั้งเทวดา ทั้งมนุษย์ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน คือ ชักชวนในกายกรรมอันสมควร ชักชวนในวจีกรรมอันสมควร ชักชวนในธรรมอันสมควร ภิกษุผู้มีชื่อเสียง ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ชื่อว่าปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนมาก ฯลฯ

จบญาตกสูตรที่ ๑

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 22

รถการวรรควรรณนาที่ ๒

อรรถกถาญาตกสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในญาตกสูตร แห่งรถการวรรคที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม

บทว่า าตโก ได้แก่ ภิกษุผู้มีชื่อเสียง คือ ประชาชนรู้จักกันทั่วแล้ว ได้แก่ ปรากฏแล้ว. บทว่า อนนุโลมิเก ความว่า กายกรรม ชื่อว่าอนนุโลมิกะ เพราะหมายความว่า ไม่เหมาะสมแก่ศาสนา. ในกายกรรมอันไม่เหมาะสมนั้น. บทว่า กายกมฺเม ได้แก่ ในกายทุจริต มีปาณาติบาตเป็นต้น.

อีกอย่างหนึ่ง กายทุจริตนั้นเป็นของหยาบ แต่ภิกษุสามารถจะชักชวนให้สมาทานในกายทุจริตเป็นต้นนี้ได้ คือ ชักชวนให้สมาทานคือให้ยึดถือในกรรมเห็นปานนี้ว่า การนอบน้อมทิศทั้งหลายสมควร การทำพลีกรรมให้ภูตย่อมควร แม้ในวจีกรรม มุสาวาทเป็นต้นเป็นของหยาบ แต่ภิกษุนั้นจะชักชวนให้สมาทานในวจีกรรมเห็นปานนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการพูดเท็จแก่คนโง่นี้ว่า ไม่มี เพราะไม่ประสงค์จะให้ (๑) ของของตนแก่ผู้อื่น ก็ควรพูดได้. แม้ในมโนกรรม อภิชฌาเป็นต้นก็เป็นของหยาบ แต่ภิกษุเมื่อบอกกัมมัฏฐานผิดพลาดไป ก็ไม่ชื่อว่าชักชวนให้สมาทานในมโนกรรมอันสมควร เหมือนพระเถระชาวทักษิณวิหาร ฉะนั้น.


* ปาฐะว่า อทาตุกาโม ฉบับพม่าเป็น อทาตุกาเมน แปลตามฉบับพม่า

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 23

พระเถระชาวทักษิณวิหาร

เล่ากันมาว่า บุตรขุนนางคนหนึ่ง เข้าไปหาพระเถระนั้นแล้วถามว่า บุคคลเมื่อจะเจริญเมตตา ควรเจริญเมตตาในบุคคลเช่นไรก่อน. พระเถระไม่ยอมบอกถึงบุคคลผู้เป็นสภาคและวิสภาคกัน แต่กลับบอกว่า ในบุคคลผู้เป็นที่รัก. บุตรขุนนางนั้น มีภรรยาเป็นที่รักใคร่. เขาจึงแผ่เมตตาไปหานาง พลางถึงความคลุ้มคลั่ง.

ถามว่า ก็ภิกษุผู้บอกกัมมัฏฐานนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมากอย่างไร.

ตอบว่า ก็เพราะบริวารชนของภิกษุเห็นปานนี้มีสัทธิวิหาริกเป็นต้น และมีอุปัฏฐากเป็นต้น รวมทั้งเทวดาที่เหลือ ผู้เป็นมิตรของเทวดาเหล่านั้นๆ เริ่มต้นตั้งแต่อารักขเทวดาของบริวารชนเหล่านั้น จนกระทั่งถึงพรหมโลก ต่างจะพากันทำตามที่ภิกษุนั้นทำแล้วเทียว ด้วยคิดว่า ภิกษุนี้ไม่รู้แล้วจักไม่ทำ ภิกษุนี้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

ในธรรมฝ่ายขาว พึงทราบกายกรรมและวจีกรรม ด้วยสามารถแห่งเจตนาทั้งหลาย มีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้นนั่นแล. ฝ่ายภิกษุผู้บอกกัมมัฏฐานมิให้คลาดเคลื่อน ชื่อว่าสมาทานให้ดำรงอยู่ในธรรมที่เหมาะสม เหมือนพระติสสเถระผู้ชำนาญใน ๔ นิกาย ชาวโกลิตวิหารฉะนั้น.

พระติสสเถระ

เล่ากันว่า พระทัตตาภยเถระ ผู้เป็นพี่ชายคนโตของพระติสสเถระนั้น อยู่ในเจติยวิหาร เมื่อโรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้น ให้เรียกพระน้องชายมา แล้วบอก ว่า คุณ คุณช่วยบอกกัมมัฏฐานสักข้อหนึ่งที่เบาๆ แก่ผมทีเถิด.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 24

พระน้องชายเรียนว่า หลวงพี่ขอรับ ประโยชน์อะไรด้วยกัมมัฏฐานข้ออื่น หลวงพี่ควรกำหนดกวฬิงการาหาร.

พระพี่ชายถามว่า คุณ กวฬิงการาหารนี้มีประโยชน์อย่างไร.

พระน้องชายตอบว่า หลวงพี่ขอรับ กวฬิงการาหารเป็นอุปาทายรูป และเมื่อเห็นอุปาทายรูปอย่างหนึ่งแล้ว อุปาทายรูป ๒๓ ก็ย่อมปรากฏชัดด้วย.

พระพี่ชายนั้น ได้ฟังดังนี้นั้นแล้ว ตอบว่า คุณ กัมมัฏฐานเท่านี้ก็เห็นจะพอเหมาะแหละนะ ดังนี้แล้ว ส่งพระน้องชายนั้นกลับไป กำหนดกวฬิงการาหาร แล้วกำหนดอุปาทายรูป กลับไปกลับมา ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์. ทันใดนั้น พระพี่ชายก็เรียกพระเถระน้องชายนั้น ผู้ซึ่งยังไม่ทันออกไปพ้นนอกวิหารเลยมาบอกว่า คุณ คุณเป็นที่พึ่งอย่างใหญ่หลวงของผมแล้วนะ ดังนี้แล้ว บอกคุณที่ตนได้แล้วแก่พระเถระน้องชาย.

บทว่า พหุชนหิตาย ความว่า ก็บริวารชนของภิกษุแม้นี้ มีสัทธิวิหาริกเป็นต้น ต่างพากันทำตามสิ่งที่ภิกษุนั้นทำแล้วเทียว ด้วยคิดว่า ภิกษุนี้ไม่รู้แล้วจักไม่ทำ อุปัฏฐากเป็นต้นก็เหมือนกัน เทวดาทั้งหลาย คือ อารักขเทวดาของบริวารชนเหล่านั้น ภุมมเทวดาผู้เป็นมิตรของอารักขเทวดาเหล่านั้น และอากาศเทวดาผู้เป็นมิตรของภุมมเทวดาเหล่านั้น รวมถึงเทวดาที่บังเกิดในพรหมโลก ก็พากันทำตามสิ่งที่ภิกษุนั้นทำแล้วเหมือนกัน ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก ด้วยประการฉะนี้.

จบอรรถกถาญาตกสูตรที่ ๑