พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. สรณียสูตร ว่าด้วยสถานที่ที่กษัตริย์และภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38633
อ่าน  375

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 25

ปฐมปัณณาสก์

รถการวรรคที่ ๒

๒. สรณียสูตร

ว่าด้วยสถานที่ที่กษัตริย์และภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต

อรรถกถา สรณียสูตร 26

สิ่งประทับใจ ๓ ประการ 26


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 25

๒. สรณียสูตร

ว่าด้วยสถานที่ที่กษัตริย์และภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต

[๔๕๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ ตำบลนี้ ย่อมเป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งพระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก สถานที่ ๓ ตำบลไหนบ้าง? พระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษกประสูติ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งพระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก เป็นตำบลที่ ๑

อีกข้อหนึ่ง พระราชาได้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งพระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก เป็นตำบลที่ ๒

อีกข้อหนึ่ง พระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษกทรงผจญสงคราม ได้ชัยชนะแล้วยึดสนามรบนั้นไว้ได้ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งพระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก เป็นตำบลที่ ๓ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ ตำบล เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งพระราชาผู้เป็นกษัตริย์มุรธาภิเษก

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ ตำบลนี้ก็เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งภิกษุฉันนั้นเหมือนกัน สถานที่ ๓ ตำบลไหนบ้าง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวชเป็นอนคาริยะ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งภิกษุ เป็นตำบลที่ ๑

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุรู้ตามจริงว่า นี่ทุกข์ ... นี่เหตุเกิดทุกข์ ... นี่ความดับทุกข์ ... นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งภิกษุ เป็นตำบลที่ ๒

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 26

อีกข้อหนึ่ง ภิกษุกระทำให้แจ้ง เข้าถึงพร้อมซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลายด้วยความรู้ยิ่งด้วยตนเองอยู่ในปัจจุบันนี้ ณ ตำบลใด ตำบลนี้เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งภิกษุ เป็นตำบลที่ ๓ นี้แล ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ ตำบล เป็นที่ระลึกตลอดชีพแห่งภิกษุ.

จบสรณียสูตรที่ ๒

อรรถกถาสรณียสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสารณียสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

สิ่งประทับใจ ๓ ประการ

บทว่า ขตฺติยสฺส ได้แก่ เป็นกษัตริย์โดยกำเนิด. บทว่า มุทฺธาภิสิตฺตสฺส ได้แก่ ผู้ได้รับมุรธาภิเษกแล้ว ด้วยการอภิเษกเป็นพระราชา. บทว่า สรณียานิ โหนฺติ ความว่า ไม่ถูกลืม. บทว่า ชาโต แปลว่า บังเกิดแล้ว. บทว่า ยาวชีวํ สรณียํ ความว่า ในเวลาที่ยังทรงพระเยาว์อยู่ พระมหากษัตริย์ไม่สามารถจะทรงทราบอะไรๆ ที่เกี่ยวกับพระองค์ได้เลย (ก็จริง) แต่ว่าในเวลาต่อมา ทรงสดับเรื่องราวที่เหล่าพระประยูรญาติ มีพระชนกชนนีเป็นต้น หรือผู้ที่อยู่ด้วยกันทูลว่า พระองค์ทรงพระราชสมภพในชนบทโน้น ในนครโน้น ในวันโน้น ในนักษัตรโน้น ตั้งแต่วันนั้นมา (เรื่องราวที่พระประยูรญาติตรัสเล่าให้ฟัง) เป็นเรื่องราวที่พระองค์จะต้องระลึกไว้ คือ ไม่ทรงลืมตลอดพระชนม์ชีพทีเดียว.

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 27

ความจริง พระเจ้าปากิตนันทะ ไม่มีกิจที่จะต้องกระทำด้วยชาติและฐานะเป็นต้นเลย. แต่ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำเหตุการณ์นี้มา ก็เพื่อจะทรงแสดงบุคคล ๓ จำพวก ซึ่งเปรียบด้วยพระราชานั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงบุคคลเหล่านั้น จึงตรัสคำว่า เอวเมว โข ภิกฺขเว เป็นต้น.

บรรดาบทเหล่านั้น ในบทว่า อนคาริยํ ปพฺพชิโต โหติ นี้ พึงทราบว่า จตุปาริสุทธิศีล อาศัยบรรพชานั่นแล. บทว่า สรณียํ โหติ ความว่า (สถานที่ที่ภิกษุปลงผมและหนวดแล้ว ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือนนี้) เป็นสถานที่ที่ภิกษุจะต้องระลึกไว้ คือ ไม่ลืมตลอดชีวิตเลยทีเดียวอย่างนี้ว่า เราบวชแล้วที่โคนต้นไม้โน้น ในที่จงกรมโน้น ในโรงอุปสมบทโน้น ในวิหารโน้น ในชนบทโน้น ในรัฐโน้น.

บทว่า อิทํ ทุกขํ ความว่า ทุกข์มีเพียงเท่านี้ ไม่มีทุกข์นอกเหนือไปจากนี้. บทว่า อยํ ทุกฺขสมุทโย ความว่า เหตุเกิดทุกข์มีเพียงเท่านี้ ไม่มีเหตุเกิดทุกข์นอกเหนือไปจากนี้. แม้ในสองบทที่เหลือ ก็มีนัยนี้แล.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสโสดาปัตติมรรคไว้ด้วยสัจจะ ๔ ในสูตรนี้ ดังพรรณนามาฉะนี้. ส่วนกสิณบริกรรม และวิปัสสนาญาณ อาศัยมรรคทั้งนั้น.

บทว่า สรณียํ โหติ ความว่า (สถานที่ที่ภิกษุได้สำเร็จเป็นพระโสดาบัน) เป็นสถานที่ที่ภิกษุจะต้องระลึกไว้ คือ ไม่ลืมตลอดชีวิตว่า เราสำเร็จเป็นพระโสดาบันที่ควงต้นไม้โน้น ฯลฯ ในรัฐโน้น. บทว่า อาสวานํ ขยา แปลว่า เพราะความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย. บทว่า อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ได้แก่ ผลสมาธิ. บทว่า ปญฺาวิมุตฺตึ ได้แก่ ผลปัญญา. บทว่า สยํ อภิญฺา สจฺฉิกตฺวา ความว่า การทำให้ประจักษ์ด้วยปัญญาอัน

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 28

วิเศษยิ่งด้วยตนเองทีเดียว. บทว่า อุปสมฺปชฺช วิหรติ ได้แก่ ได้อยู่. บทว่า สรณียํ ความว่า ธรรมดาว่า สถานที่ที่ตนเองได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นสถานที่ที่ภิกษุจะต้องระลึกไว้ คือ ไม่ลืมตลอดชีวิตว่า เราได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ที่ควงต้นไม้โน้น ฯลฯ ในรัฐโน้น.

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจบพระธรรมเทศนาตามอนุสนธิ ดังว่ามานี้แล.

จบอรรถกถาสรณียสูตรที่ ๒