๖. อปัณณกสูตร ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด
[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 46
ปฐมปัณณาสก์
รถการวรรคที่ ๒
๖. อปัณณกสูตร
ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 46
๖. อปัณณกสูตร
ว่าด้วยข้อปฏิบัติไม่ผิด
[๔๕๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา (๑) และเหตุแห่งความสิ้นอาสวะทั้งหลายชื่อว่าเป็นอันภิกษุนั้นได้เริ่มแล้วด้วย ธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ เป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอน
๑. ก็ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลายเป็นอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว ... ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ... ดมกลิ่นด้วยจมูกแล้ว ... ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว เป็นผู้ไม่ถือเอาโดยนิมิต (๒) ไม่ถือเอาโดยอนุพยัญชนะ อภิชฌา โทมนัส ธรรมทั้งหลายที่เป็นบาปเป็นอกุศล จะพึงไหลไปตามภิกษุผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจอยู่ เพราะเหตุความไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ อันใด ปฏิบัติเพื่อปิดกั้นเสียซึ่งอินทรีย์ คือ ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจนั้น รักษาอินทรีย์ คือ ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ ถึงความสำรวมในอินทรีย์ คือ ตา ... หู ... จมูก ... ลิ้น ... กาย ... ใจ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทวารอันคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย
(๑) ข้อปฏิบัติไม่ผิด
(๒) ถือโดยนิมิต ได้แก่ รวบถือเอาทั้งหมดในรูปที่ได้เห็น ฯลฯ ว่างาม ท่านเปรียบด้วยกิริยาที่จระเข้ฮุบเหยื่อ ถือโดยพยัญชนะ ได้แก่ เลือกถือเอาเป็นอย่างๆ ในรูป ฯลฯ นั้นว่า คิ้วงาม นัยน์ตางาม จมูกงาม เป็นต้น ท่านเปรียบด้วยกิริยาที่เป็ดไซ้หาเหยื่อ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 47
๒. ก็ภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงกลืนกินอาหาร มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อเมา มิใช่เพื่อประดับ มิใช่เพื่อประเทืองผิว เพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อยังชีวิตให้เป็นไป เพื่อหายความหิว เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ (๑) ด้วยคิดว่า ด้วยการกินอาหารนี้ เราจักระงับเวทนาเก่า (๒) เสียได้ด้วย เราจักไม่ยังเวทนาใหม่ (๓) ให้เกิดขึ้นด้วย ความสมประกอบ ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ
๓. ก็ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอนอย่างไร? ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เวลากลางวัน ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม (๔) ด้วยการจงกรม (๕) ด้วยการนั่ง เวลากลางคืน ตอนยามต้น ก็ชำระจิตจากอาวรณิยธรรม ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตอนยามกลาง สำเร็จสีหไสยาโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าให้เหลื่อมกัน มีสติสัมปชัญญะ ทำอุฏฐานสัญญาไว้ในใจ ตอนยามปลาย กลับลุกขึ้น ชำระจิตจากอาวรณิยธรรมด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้หมั่นประกอบความเป็นผู้ไม่เห็นแก่นอน
นี้แล ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา และเหตุแห่งความสิ้นอาสวะทั้งหลายชื่อว่าเป็นอันภิกษุนั้นได้เริ่มแล้วด้วย.
จบอปัณณกสูตรที่ ๖
(๑) คือ เพื่อให้มีกำลังบำเพ็ญพรหมจรรย์ต่อไป
(๒) ความหิว
(๓) ความอึดอัดเพราะกินเกินประมาณ หรือโทษต่างๆ ที่เกิดเพราะกินไม่รู้จักประมาณ
(๔) ธรรมคือเครื่องกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี คือ นิวรณ์นั่นเอง
(๕) เดินทำกัมมัฏฐาน เพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถไปในตัว
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 48
อรรถกถาอปัณณกสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในอปัณณกสูตรที่ ๖ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า อปณฺณกปฏิปทํ ความว่า พระอริยบุคคลเป็นผู้ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ไม่ผิดพลาด คือ ข้อปฏิบัติที่ดีโดยส่วนเดียว ข้อปฏิบัติที่นำสัตว์ออกจากกาม ข้อปฏิบัติที่ประกอบด้วยเหตุ ข้อปฏิบัติที่มีสาระ ข้อปฏิบัติที่เป็นหลัก (มัณฑปฏิปทา) ข้อปฏิบัติที่ไม่เป็นข้าศึก ข้อปฏิบัติที่เหมาะสม ข้อปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ใช่ปฏิบัติโดยการคาดคะเน (ตักกวิทยา) หรือโดยถือเอาตามนัย. เพราะว่า ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก หรืออุบาสิกา ผู้ถือปฏิบัติอย่างนี้ (ถือโดยตักกะ ถือโดยนัย) จะเสื่อมจากมนุษยสมบัติ เทวสมบัติ และนิพพานสมบัติ. ส่วนผู้ปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา จะไม่เสื่อมจากสมบัติเหล่านั้น.
นายกองเกวียน ๒ พวก
เหมือนในอดีตสมัย เมื่อนายกองเกวียน ๒ พวก เดินทางไปสู่ที่กันดาร นายกองเกวียนผู้โง่เขลา เชื่อคำของยักษ์ ถึงความฉิบหายพร้อมกับพวกพ่อค้า (ส่วน) นายกองเกวียนผู้ฉลาด ไม่เชื่อฟังคำของยักษ์ คิดว่า เราจักทิ้งน้ำในที่ที่เราได้พบน้ำ ดังนี้แล้ว ให้สัญญาณกับพวกพ่อค้า (๑) แล้วจึงเดินทางไป ซึ่งท่านหมายเอากล่าวคาถานี้ ว่า
คนพวกหนึ่งได้กล่าวฐานะที่ไม่ผิด นักคาดคะเนกล่าวฐานะที่สอง (ผิด) นักปราชญ์รู้ฐานะถูกผิดนี้แล้ว ควรถือเอาแต่ฐานะที่ไม่ผิด.
(๑) ปาฐะว่า สตฺถวาเหน สทฺธึ สตฺเถ อนยพฺยสนํ ปตฺเต ฉบับพม่าเป็น พาลสตฺถวาโห สทฺธึ สตฺเถน อพฺยสนํ ปตฺโต แปลตามฉบับพม่า.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 49
บทว่า โยนิ ในคำว่า โยนิ จสฺส อารทฺธา โหติ นี้ เป็นชื่อของส่วนแห่งขันธ์บ้าง เหตุบ้าง ปัสสาวมรรคบ้าง. จริงอยู่ ส่วนแห่งขันธ์ชื่อว่า โยนิ มีมาในคำมีอาทิว่า จตสฺโส โข สาริปุตฺต โยนิโย แปลว่า ดูก่อนสารีบุตร กำเนิดเหล่านี้มี ๔ อย่างแล. เหตุ ชื่อว่า โยนิ ในบทเป็นต้นว่า โยนิ เหสา ภูมิช ผลสฺส อธิคมาย แปลว่า ดูก่อน ภูมิชะ ก็นั้นเป็นเหตุเพื่อบรรลุผล. ปัสสาวมรรค ชื่อว่า โยนิ มีมาในคำมีอาทิว่า น จาหํ พฺราหฺมณํ พฺรูมิ โยนิชํ มตฺติสมฺภวํ แปลว่า เราตถาคตไม่กล่าวผู้ที่เกิดจากช่องคลอด (คือ) เกิดจากมารดา ว่าเป็นพราหมณ์เลย และในคำมีอาทิว่า ตเมนํ กมฺมชวาตา นิวตฺติตฺวา อุทฺธํปาทํ อโธสิรํ สมฺปริวตฺเตตฺวา มาตุ โยนิมุเข สมฺปฏิปาเทนฺติ แปลว่า ลมกัมมชวาต พัดสัตว์นี้นั้นให้มีเท้าขึ้นข้างบน ศีรษะกลับลงข้างล่าง แล้วไปจดอยู่ที่ปากช่องคลอดของมารดา. แต่ในที่นี้ ทรงประสงค์เอาเหตุว่าเป็น โยนิ. บทว่า อารทฺธา ได้แก่ ประคองไว้ คือ ทำให้บริบูรณ์.
พึงทราบวินิจฉัยในบทว่า อาสวานํ ขยาย ดังต่อไปนี้ กิเลส ชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่า ไหลมา. มีอธิบายว่า ไหลมาจากตาบ้าง ฯลฯ จากใจบ้าง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่าอาสวะ เพราะไหลมาจากธรรมจนถึงโคตรภู จากโอกาสโลกจนถึงภวัคคพรหม. อธิบายว่า ทำธรรมเหล่านี้ และโอกาสโลกนั้นไว้ในภายใน เป็นไป. แท้จริง ความหมายว่า ทำไว้ในภายในนี้ เป็นอาการ (ของอาสวะ). ชื่อว่าอาสวะ เพราะเป็นเหมือนเครื่องหมักดองทั้งหลาย มีเหล้าดองเป็นต้น. โดยความหมายว่า หมักไว้นานบ้าง ด้วยว่า แม้ในทางโลกเขาก็เรียกของที่หมักไว้นานมีเหล้าดองเป็นต้นว่าอาสวะ. ก็ถ้าเครื่องหมักดองทั้งหลายมีเหล้าดองเป็นต้นชื่อว่าอาสวะ เพราะอรรถว่าหมักไว้นานแล้วไซร้ กิเลสเหล่านั้นก็ควรเป็นอาสวะเหมือนกัน. สมจริงดังพระพุทธดำรัสที่ตรัสไว้มีอาทิว่า ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 50
ปญฺายติ อวิชฺชาย อิโต ปุพฺเพ อวิชฺชา นาโหสิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นของอวิชชาไม่ปรากฏ ก่อนแต่นี้ อวิชชาไม่มี. อีกอย่างหนึ่ง กิเลสชื่อว่าอาสวะ เพราะไหลไป คือ ประสบสังสารทุกข์ต่อไป ดังนี้บ้าง. ก็ในจำนวนวิเคราะห์ทั้ง ๔ นี้ วิเคราะห์ต้นๆ (วิเคราะห์ ๓ อย่างใช้ได้) ในที่ที่กิเลสทั้งหลายมา (โดยชื่อว่า) อาสวะ แต่วิเคราะห์หลังใช้ได้เฉพาะในกรรม. ก็กรรมกิเลสอย่างเดียวเท่านั้นเป็นอาสวะก็หามิได้ โดยที่แท้แล้ว ถึงอุปัทวนานัปการก็เป็นอาสวะได้. เพราะในพระสูตรทั้งหลาย กิเลสที่มีการวิวาทเป็นมูล มาแล้ว (โดยชื่อว่า) อาสวะ เช่นในประโยคนี้ว่า นาหํ จุนฺท ทิฏฺฐฺธมฺมิกานํเอว อาสวานํ สํวราย ธมฺมํ เทเสมิ แปลว่า แน่ะ จุนทะ เราตถาคตจะไม่แสดงธรรมเพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายในปัจจุบันเท่านั้น.
ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดในภูมิ ๓ และอกุศลธรรมที่เหลือ มาแล้ว (โดยชื่อว่า) อาสวะ เช่นในประโยคนี้ว่า
อาสวะทั้งหลายที่เป็นเหตุให้เข้าถึงความเป็นเทวดา หรือเป็นเหตุให้เป็นคนธรรพ์ เหาะไปในอากาศ เป็นเหตุให้ถึงความเป็นยักษ์ เป็นมนุษย์ และเป็นสัตว์เกิดในน้ำของเราสิ้นแล้ว อาสวะเหล่านั้น เรากำจัดแล้ว ทำให้รากขาดแล้ว.
อุปัทวนานัปการ มีการว่าร้ายผู้อื่น ก่อความวิปฏิสาร การฆ่า การจองจำเป็นต้นก็ดี เป็นเหตุให้ได้รับทุกข์ในอบายก็ดี มาแล้ว โดยชื่อว่าอาสวะ เช่นในประโยคนี้ว่า ทิฏฺธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย แปลว่า เราตถาคตแสดงธรรม
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 51
เพื่อปิดกั้นอาสวะทั้งหลายในปัจจุบัน เพื่อขจัดอาสวะทั้งหลายในภายหน้า. ก็อาสวะทั้งหลายเหล่านี้นั้น ในที่ใดมาแล้วอย่างใด ในที่นั้นพึงทราบอย่างนั้น. เพราะว่าอาสวะเหล่านี้ ในพระวินัยมีมา ๒ อย่างว่า เพื่อปิดกั้นอาสวะในปัจจุบัน ๑ เพื่อขจัดอาสวะในภายหน้า ๑. ในสฬายตนวรรคมีมา ๓ อย่างว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ อาสวะมี ๓ อย่างเหล่านี้ คือ กามาสวะ ๑ ภวาสวะ ๑ อวิชชาสวะ ๑ แต่ในพระสูตรอื่นๆ และในอภิธรรมมีมา ๔ อย่าง พร้อมกับ ทิฏฐาสวะ. โดยบรรยายที่แยกออกไป อาสวะทั้งหลายมี ๕ อย่าง ดังนี้ มีอยู่ ภิกษุทั้งหลาย อาสวะเป็นเหตุให้ไปสู่นรก ๑ อาสวะเป็นเหตุให้ไปสู่กำเนิดดิรัจฉาน ๑ อาสวะเป็นเหตุให้ไปสู่ปิตติวิสัย ๑ อาสวะเป็นเหตุให้ไปสู่มนุษยโลก ๑ อาสวะเป็นเหตุให้ไปสู่เทวโลก ๑. แต่ในที่นี้ กรรมนั่นเองตรัสว่าเป็นอาสวะ. ในฉักกนิบาต อาสวะทั้งหลายมาแล้ว ๖ อย่าง โดยนัยมีอาทิว่า มีอยู่ภิกษุทั้งหลาย อาสวะที่จะพึงละด้วยสังวร. ในสัพพาสวปริยายสูตร อาสวะ ๖ อย่างเหล่านั้นแหละ มีมาเป็น ๗ อย่าง พร้อมด้วยอาสวะทั้งหลายที่จะพึงละด้วยทัสสนะ. แต่ในที่นี้ พึงเข้าใจว่า ทรงประสงค์เอาอาสวะทั้ง ๔ ตามนัยแห่งพระอภิธรรม.
การทำลายอาสวะได้ชั่วขณะก็ดี อาการที่อาสวะสิ้นไปโดยไม่เหลือก็ดี มรรค ผล พระนิพพานก็ดี ตรัสเรียกว่า อาสวักขยะ ในบทว่า ขยาย นี้. จริงอยู่ การทำลายอาสวะได้ชั่วขณะ ตรัสเรียกว่า อาสวักขยะ ดังในประโยคนี้ว่า โย อาสวานํ ขโย วโย เภโท อนิจฺจตา อนฺตรธานํ แปลว่า ความสิ้นไป ความเสื่อมไป การทำลาย ความไม่เที่ยง ความอันตรธานแห่งอาสวะทั้งหลาย (ชื่อว่า อาสวักขยะ).
การละอาสวะ ความสิ้นไปแห่งอาสวะโดยส่วนเดียว การไม่เกิดขึ้นแห่งอาสวะ อาการที่อาสวะสิ้นไป ความไม่มีแห่งอาสวะทั้งหลาย ตรัสเรียกว่า อาสวักขยะ ดังในประโยคนี้ว่า ชานโต อหํ ภิกฺขเว ปสฺสโต อาสวานํ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 52
ขยํ วทามิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายไว้ สำหรับภิกษุผู้รู้อยู่ เห็นอยู่.
มรรค ตรัสเรียกว่า อาสวักขยะ ดังในคาถานี้ว่า
เสกฺขสฺส สิกฺขมานสฺส
อุชุมคฺคานุสาริโน
ขยสฺมึ ปมํ าณํ
ตโต อญฺา อนนฺตรา
เมื่อเราผู้ศึกษาอยู่ ดำเนินไปตามทางอันตรง ในขณะสิ้นอาสวะ ญาณจะเกิดขึ้นก่อน ต่อจากนั้น อรหัตตผลจึงจะเกิด.
ผล ตรัสเรียกว่า อาสวักขยะ ดังในประโยคนี้ว่า ชื่อว่าเป็นสมณะ เพราะสิ้นอาสวะทั้งหลาย.
นิพพาน เรียกว่า อาสวักขยะ ในคาถานี้ว่า
ปรวชฺชานุปสฺสิสฺส
นิจฺจํ อุชฺฌานสญฺญิโน
อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ
อารา โส อาสวกฺขยา.
อาสวะทั้งหลาย ย่อมเจริญแก่ผู้เพ่งเล็งโทษผู้อื่น ชอบยกโทษอยู่เป็นนิตย์ เขาย่อมอยู่ไกลจากพระนิพพาน.
แต่ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อาสวานํ ขยาย โดยทรงหมายถึงผล อธิบายว่า เพื่อประโยชน์แก่อรหัตตผล.
บทว่า อินฺทฺริเยสุ คุตฺตทฺวาโร ความว่า มีทวารอันปิดแล้วในอินทรีย์ทั้งหลาย มีใจเป็นที่ ๖. บทว่า โภชเน มตฺตญฺญู ความว่า รู้ประมาณในโภชนะ อธิบายว่า รู้ประมาณในการรับ การฉัน และการพิจารณา. บทว่า ชาคริยํ อนุยุตฺโต ความว่า เป็นผู้แบ่งกลางคืนกลางวันออกเป็น ๖ ส่วน แล้วประกอบเนืองๆ ซึ่งความเป็นผู้ตื่นใน ๕ ส่วน อธิบายว่า ขะมักเขม้นในการตื่นอยู่นั่นเอง.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 53
พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงวางมาติกาไว้อย่างนี้แล้ว เมื่อจะแจกมาติกานั่นแหละ ตามลำดับที่ทรงวางไว้แล้ว จึงตรัสคำมีอาทิว่า กตญฺจ ภิกฺขเว ภิกฺขุ ดังนี้. บรรดาบทเหล่านั้น เนื้อความของบทว่า จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา เป็นต้น ได้ให้พิสดารแล้วในปกรณ์พิเศษชื่อว่า วิสุทธิมรรค. เนื้อความแห่งบททั้งหลายมีอาทิว่า ปฏิสงฺขา โยนิโส อาหารํ อาหาเรติ เนว ทวาย (ภิกษุพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงจะนำอาหารมา (ฉัน) มิใช่เพื่อจะเล่น) ได้ให้พิสดารแล้วในปกรณ์พิเศษชื่อว่าวิสุทธิมรรคนั้นเหมือนกัน.
บทว่า อาวรณิเยหิ ธมฺเมหิ ความว่า จากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ เพราะนิวรณ์จะกางกั้นจิตไว้ เพราะฉะนั้น นิวรณ์เหล่านั้น จึงตรัสเรียกว่า อาวรณิยธรรม. บทว่า สีหเสยฺยํ กปฺเปติ ความว่า สำเร็จการนอนเหมือนราชสีห์. บทว่า ปาเทน ปาทํ อจฺจาธาย ได้แก่ วางเท้าซ้ายเหลื่อมเท้าขวา. เพราะว่าเมื่อวางเท้าไว้เสมอกัน เข่าจะกระทบเข่า ข้อเท้าก็จะกระทบข้อเท้า ทุกขเวทนาจะเกิดเพราะการกระทบกันนั้น เพราะฉะนั้น เพื่อจะเว้นโทษนั้น เธอจะวางเท้าให้เหลื่อมกันหน่อยหนึ่ง. ด้วยเหตุนั้น จึงตรัสว่า ปาเทน ปาทํ อจฺจาธาย ดังนี้.
บทว่า สโต สมฺปชาโน ความว่า ประกอบด้วยสติและสัมปชัญญะ. ถามว่า ภิกษุนั้น เมื่อหลับจะชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะได้อย่างไร. ตอบว่า ด้วยสามารถแห่งความเป็นไป (ของกัมมัฏฐานก่อนหลับ). เพราะว่า ภิกษุนี้ เมื่อจงกรมในที่จงกรม รู้ตัวว่าง่วงนอน จึงพักกัมมัฏฐานที่กำลังบำเพ็ญอยู่ แล้วนั่งบนเตียง หรือบนแผ่นกระดานหลับไป เมื่อตื่น ก็ตื่นมาบำเพ็ญกัมมัฏฐานในที่ที่พักไว้นั่นแหละอีก เพราะฉะนั้น ถึงเธอจะหลับ ก็ยังชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่. นี้เป็นนัยในมูลกัมมัฏฐานก่อน. ส่วนภิกษุนี้ ชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะ แม้ด้วยกัมมัฏฐานตามที่กำหนด. ถือเอาข้อนี้อย่างไร. อธิบายว่า ภิกษุนี้เมื่อจงกรม รู้ตัวว่าง่วงนอน ก็นอน
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 54
ตะแคงขวาบนแผ่นหินหรือบนเตียง พิจารณาว่า กายไม่มีใจนอนอยู่บนเตียงที่ไม่มีใจ เตียงที่ไม่มีใจก็วางอยู่บนปฐพีที่ไม่มีใจ ปฐพีที่ไม่มีใจก็อยู่เหนือน้ำที่ไม่มีใจ น้ำที่ไม่มีใจก็อยู่เหนือลมที่ไม่มีใจ ลมที่ไม่มีใจก็อยู่บนอากาศที่ไม่มีใจ บรรดาสิ่งเหล่านั้น แม้อากาศก็ไม่รู้ว่าเราอุ้มลมไว้ ถึงลมก็ไม่รู้ว่าเราสถิตอยู่บนอากาศ ถึงลมก็เช่นนั้น ไม่รู้ว่าเราอุ้มน้ำไว้ ฯลฯ เตียงก็ไม่รู้ว่าเรายกกายไว้ กายก็ไม่รู้ว่าเราอยู่บนเตียง เป็นอันว่าสิ่งเหล่านั้น ต่างฝ่ายต่างไม่มีการคำนึงถึงกัน ไม่มีการสนใจกัน ไม่มีการใส่ใจกัน ไม่มีเจตนาหรือไม่มีความปรารถนาต่อกันเลย ดังนี้ เมื่อภิกษุนั้นพิจารณาอยู่อย่างนี้ ปัจจเวกขณจิตนั้น ย่อมหยั่งลงสู่ภวังค์. เธอแม้เมื่อหลับอยู่อย่างนี้ ก็ย่อมชื่อว่ามีสติสัมปชัญญะอยู่.
บทว่า อุฏฺานสญฺํ มนสิกริตฺวา ความว่า ใส่ใจถึงสัญญาที่กำหนดเวลาลุกขึ้นว่า เมื่อดวงจันทร์หรือดวงดาวขึ้นถึงตรงนี้ เราจักลุกขึ้น อธิบายว่า วางสัญญาไว้ในใจ. เพราะว่าเมื่อภิกษุนั้นปฏิบัติอย่างนี้แล้วนอน ก็จะลุกขึ้นได้ตรงในเวลาตามที่กำหนดไว้แล้วนั่นแล.
จบอรรถกถาอปัณณกสูตรที่ ๖