พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๒. อานันทสูตร ว่าด้วยการเข้าเจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38654
อ่าน  378

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 109

ปฐมปัณณาสก์

เทวทูตวรรคที่ ๔

๒. อานันทสูตร

ว่าด้วยการเข้าเจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ

อรรถกถาอานันทสูตร 110

ลักษณะของนิพพาน 111


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 34]


  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 109

๒. อานันทสูตร

ว่าด้วยการเข้าเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ

[๔๗๑] ครั้งนั้นแล ท่านอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง ท่านอานนท์ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า จะพึงมีหรือ พระพุทธเจ้าข้า การได้สมาธิแห่งภิกษุอย่างที่เป็นเหตุให้อหังการ มมังการ และมานานุสัย ไม่พึงมีในกายอันมีวิญญาณนี้ และ ... ในสรรพนิมิตภายนอก อนึ่ง เมื่อภิกษุเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันใดอยู่ อหังการ มมังการ และมานานุสัย ย่อมไม่มี ภิกษุพึงเข้าถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันนั้นอยู่ (มีหรือ).

"มีได้ อานนท์ การได้สมาธิอย่างนั้น ... "

"มีอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า ... "

อานนท์ ความตรึกอย่างนี้ ย่อมมีแก่ภิกษุในศาสนานี้ว่า นั่นละเอียด นั่นประณีต นี่คืออะไร นี่คือธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 110

สละอุปธิทั้งหมด เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่หมดกำหนัด เป็นที่ดับ คือ นิพพาน มีอย่างนี้แล อานนท์ การได้สมาธิอย่างนั้น ...

ก็แล คำที่เราหมายเอาความที่กล่าวมานี้ ได้กล่าวในปุณณกปัญหา ในปารายนวรรคว่า

ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ ของผู้ใด ไม่มี เพราะพิจารณาเห็นอารมณ์อันยิ่งและหย่อนในโลก เรากล่าวว่า ผู้นั้นซึ่งเป็นคนสงบ ไม่มีโทษดุจควัน ไม่มีทุกข์ใจ ไม่มีความหวัง ข้ามชาติและชราได้ ดังนี้.

จบอานันทสูตรที่ ๒

อรรถกถาอานันทสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในอานันทสูตรที่ ๒ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า ตถารูโป แปลว่า ชนิดนั้น. บทว่า สมาธิปฏิลาโภ แปลว่า การได้เอกัคคตาแห่งจิต. ในบทว่า อิมสฺมึ จ สวิญฺาณเก นี้ พึงทราบอธิบายว่า ในร่างกายทั้งสองฝ่าย คือ ทั้งของตนและของคนอื่น ที่พระอานันทเถระเจ้ากล่าวไว้ว่า อิมสฺมึ (นี้) โดยรวม (ร่างกายทั้งสอง) เข้าด้วยกัน เพราะมีความหมายว่า เป็นสวิญญาณกะ (มีวิญญาน) เหมือนกัน. บทว่า อหงฺการมมงฺการมานานุสยา ได้แก่ กิเลสเหล่านี้ คือ ทิฏฐิคืออหังการ ๑ ตัณหาคือมมังการ ๑ อนุสัยคือมานะ ๑. บทว่า นาสฺสุ

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 111

แปลว่า ไม่พึงมี. บทว่า พหิทฺธา จ สพฺพนิมิตฺเตสุ ได้แก่ ในนิมิตทั้งหมดในภายนอกเห็นปานนี้ คือ รูปนิมิต ๑ สัททนิมิต ๑ คันธนิมิต ๑ รสนิมิต ๑ โผฏฐัพพนิมิต ๑ สัสสตาทินิมิต (นิมิตว่าเที่ยงเป็นต้น) ๑ ปุคคลนิมิต ๑ ธรรมนิมิต ๑.

บทว่า เจโตวิมุตฺตึ ปญฺาวิมุตฺตึ ได้แก่ ผลสมาธิ และผลญาณ. บทว่า สิยา แปลว่า พึงมี. บทว่า อิธานนฺท ภิกฺขุโน ความว่า ดูก่อนอานนท์ ภิกษุในศาสนานี้.

ลักษณะของนิพพาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงพระนิพพานจึงตรัสว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ดังนี้. ก็นิพพานชื่อว่าสันตะ เพราะกิเลสทั้งหลายสงบ. นิพพานชื่อว่า สันตะ เพราะจิตตุปบาทของผู้แอบอิงสมาบัติโดยคำนึงว่า พระนิพพานเป็นแดนสงบ แล้วนั่งตลอดทั้งวัน เป็นไปว่า สงบแล้วนั่นแหละ ดังนี้บ้าง.

บทว่า ปณีตํ ความว่า นิพพานชื่อว่าประณีต เพราะจิตตุปบาทของบุคคลที่นั่งเข้าสมาบัติย่อมเป็นไปว่า ประณีต. แม้บทว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้น ก็เป็นไวพจน์ของนิพพานนั้นเหมือนกัน.

ก็จิตตุปบาทของบุคคลผู้นั่งเข้าสมาบัติทั้งวัน โดยคำนึงว่า ความสงบแห่งสังขารทั้งหมด ดังนี้ ย่อมเป็นไปว่า "ระงับสังขารทั้งปวง" ฯลฯ อนึ่ง เพราะความไม่มีแห่งตัณหา กล่าวคือเครื่องร้อยรัดไว้ในภพ ๓ อันได้นามว่า นิพพาน จิตตุปบาทของบุคคลผู้นั่งเข้าสมาบัติในนิพพานนั้น ย่อมเป็นไปว่า นิพพาน เพราะเหตุนั้น นิพพานจึงได้นามว่า สพฺพสงฺขารสมโถ เป็นต้น. ก็ในการพิจารณาคือการคำนึงทั้งแปดอย่างนี้ ในที่นี้จะคำนึงอย่างเดียวก็ได้ ๒ อย่างก็ได้ ทั้งหมดก็ได้เหมือนกัน.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 112

บทว่า สงฺขาย คือ รู้ด้วยญาณ. บทว่า ปโรปรานิ ตัดบทเป็น ปรานิ จ โอปรานิ จ อธิบายว่า อัตภาพของบุคคลอื่น และอัตภาพของตนเป็นต้น ชื่อว่าประ (คือ อัตภาพของบุคคลอื่น) และชื่อว่าโอประ (คือ อัตภาพของตน.) บทว่า ยสฺส คือ ของพระอรหันต์ใด. บทว่า อิญฺชิตํ คือ ความหวั่นไหว ได้แก่ ความกวัดแกว่ง คือ ความดิ้นรน ๗ อย่างเหล่านี้ (๑) คือ ความหวั่นไหวเพราะราคะ ความหวั่นไหวเพราะโทสะ ความหวั่นไหวเพราะโมหะ ความหวั่นไหวเพราะมานะ ความหวั่นไหวเพราะทิฏฐิ ความหวั่นไหวเพราะกิเลส และความหวั่นไหวเพราะทุจริต. บทว่า นตฺถิ กุหิญฺจิ คือ ไม่มีในอารมณ์ไหนๆ คือ แม้ในอารมณ์อย่างหนึ่ง.

บทว่า สนฺโต ได้แก่ (บุคคลนั้น) ชื่อว่าสงบ เพราะกิเลสที่เป็นข้าศึกสงบ. บทว่า วิธูโม ได้แก่ ปราศจากควัน มีกายทุจริตเป็นต้น. บทว่า อนีโฆ ได้แก่ ปราศจากเครื่องคับแค้นมีราคะเป็นต้น. บทว่า นิราโส ได้แก่ ไม่มีตัณหา. บทว่า อตาริ ได้แก่ ข้าม คือ ข้ามพ้น ได้แก่ ล่วงเลย. บทว่า โส ได้แก่ พระอรหันตขีณาสพนั้น. ในบทว่า ชาติชรํ นี้ แม้พยาธิและมรณะก็พึงทราบว่า ทรงหมายเอาแล้วเหมือนกันด้วยศัพท์ว่า ชาติ ชรา นั่นเอง. อรหันตผลสมาบัตินั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วทั้งในพระสูตร ทั้งในคาถา ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้แล.

จบอรรถกถาอนันทสูตรที่ ๒


(๑) ความหวั่นไหว ๗ อย่าง คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต