พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

๗. ปฐมราชสูตร ว่าด้วยท้าวโลกบาลตรวจโลก

 
บ้านธัมมะ
วันที่  20 ต.ค. 2564
หมายเลข  38659
อ่าน  412
  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 162

๗. ปฐมราชสูตร

ว่าด้วยท้าวโลกบาลตรวจโลก

[๔๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในดิถีที่ ๘ แห่งปักษ์ พวกอำมาตย์บริวารของมหาราชทั้งสี่เที่ยวดูโลกนี้ ดิถีที่ ๑๔ แห่งปักษ์ พวกบุตรของมหาราชทั้งสี่เที่ยวดูโลกนี้ วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำนั้น มหาราชทั้งสี่เที่ยวดูโลกนี้ด้วยตนเอง (เพื่อสำรวจ) ว่า ในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา บำรุงสมณพราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานอุโบสถ ถือปฎิชาครอุโบสถ ทำบุญมีจำนวนมากอยู่หรือ ถ้าในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนน้อย มหาราชทั้งสี่ก็บอกแก่คณะเทวดาดาวดึงส์ผู้นั่งประชุมในสุธัมมาสภาว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนน้อย เพราะข้อที่บอกนั้น คณะเทวดาดาวดึงส์ก็เสียใจ (บ่นกัน) ว่า ทิพยกายจักเบาบางเสียละหนอ อสุรกายจักเต็มไป แต่ถ้าในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนมาก มหาราชทั้งสี่ก็บอกแก่คณะเทวดาดาวดึงส์ ณ สุธรรมสภาว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลมารดาบิดา ฯลฯ ทำบุญมีจำนวนมาก เพราะข้อที่บอกนั้น คณะเทวดาดาวดึงส์ก็ชื่นชม (แสดงความยินดี) ว่า ทิพยกายจักบริบูรณ์ละพ่อคุณ อสุรกายจักเบาบาง.

จบปฐมราชสูตรที่ ๗

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 163

อรรถกถาปฐมราชสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปฐมราชสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :-

เทวดาตรวจดูโลกมนุษย์

บทว่า อมจฺจา ปาริสชฺชา ได้แก่ ปาริจาริกเทวดา (เทวดารับใช้). บทว่า อิมํ โลกํ อนุวิจรนฺติ ความว่า ได้ยินว่า ในวัน ๘ ค่ำ ท้าวสักกเทวราชทรงบัญชาท้าวมหาราชาทั้ง ๔ ว่า ท่านทั้งหลาย วันนี้เป็นวัน ๘ ค่ำ ท่านทั้งหลายจงท่องเที่ยวไปยังมนุษยโลก แล้วจดเอาชื่อและโคตรของมนุษย์ที่ทำบุญมา. ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น ก็กลับไปบัญชาบริวารของตนว่า ไปเถิดท่านทั้งหลาย ท่านจงท่องเที่ยวไปยังมนุษยโลก เขียนชื่อและโคตรของมนุษย์ที่ทำบุญลงในแผ่นทองแล้วนำมาเถิด. บริวารเหล่านั้นทำตามคำบัญชานั้น ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อิมํ โลกํ อนุวิจรนฺติ ดังนี้. บทว่า กจฺจิ พหู เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้เพื่อแสดงอาการตรวจตราดูของเทวดาเหล่านั้น. จริงอยู่ เทวดาทั้งหลายท่องเที่ยวไปตรวจตราดูโดยอาการดังกล่าวมานี้.

การรักษาอุโบสถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโปสถํ อุปวสนฺติ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายอธิษฐานองค์อุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง. บทว่า ปฏิชาคโรนฺติ ความว่า ทำการ (รักษา) ปฏิชาครอุโบสถ. ชนทั้งหลายเมื่อทำการ (รักษา) ปฏิชาคร

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 164

อุโบสถนั้น ย่อมทำด้วยการรับและการส่งวันอุโบสถ ๔ วันในกึ่งเดือนหนึ่ง (คือ) เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๔ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๖ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๗ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๙ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๓ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๑๕ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวันแรม ๑ ค่ำ.

บทว่า ปุญฺานิ กโรนฺติ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายทำบุญ มีประการต่างๆ มีการถึงสรณะ รับนิจศีล บูชาด้วยดอกไม้ ฟังธรรม ตามประทีปพันดวง และสร้างวิหาร เป็นต้น. เทวดาเหล่านั้นท่องเที่ยวไปอย่างนี้ แล้วเขียนชื่อและโคตรของมนุษย์ผู้ทำบุญลงบนแผ่นทอง แล้วนำมาถวายท้าวมหาราชทั้ง ๔. บทว่า ปุตฺตา อิมํ โลกํ อนุวิจรนฺติ ความว่า (โอรสของท้าวมหาราชทั้ง ๔) ท่องเที่ยวไป (ตรวจดู) เพราะถูกท้าวมหาราชทั้ง ๔ ส่งไปตามนัยก่อนนั่นแล. บทว่า ตทหุ แปลว่า ในวันนั้น. บทว่า อุโปสเถ แปลว่า ในวันอุโบสถ.

บทว่า สเจ ภิกฺขเว อปฺปกา โหนฺติ ความว่า บริษัทอำมาตย์ของท้าวนหาราชทั้ง ๔ เข้าไปยังคาม นิคม และราชธานีเหล่านั้นๆ. ก็เทวดาที่อาศัยอยู่ตามคาม นิคม และราชธานีเหล่านั้นๆ ทราบว่า อำมาตย์ของท้าวมหาราชทั้งหลายมาแล้ว ต่างก็พากันถือเครื่องบรรณาการไปยังสำนักของเทวดาเหล่านั้น.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 165

เทวดาอำมาตย์เหล่านั้น รับเครื่องบรรณาการแล้ว ก็ถามถึงการทำบุญของมนุษย์ทั้งหลาย ตามนัยที่กล่าวไว้ว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย มนุษย์จำนวนมากยังเกื้อกูลมารดาอยู่หรือ? เมื่อเทวดาประจำคาม นิคม และราชธานี รายงานว่า ใช่แล้ว ท่านผู้นิรทุกข์ ในหมู่บ้านนี้ คนโน้น และคนโน้น ยังทำบุญอยู่ ก็จดชื่อและโคตรของมนุษย์เหล่านั้นไว้ แล้วไปในที่อื่น.

ต่อมาในวัน ๑๔ ค่ำ แม้บุตรของท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็ถือเอาแผ่นทองนั้นแล้วท่องเที่ยวไป จดชื่อและโคตรตามนัยนั้นนั่นแล. ในวัน ๑๕ ค่ำ อันเป็นวันอุโบสถนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ก็จดชื่อและโคตรลงไปในแผ่นทองนั้นนั่นแล้วตามนัยนั้น. ท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้นทราบว่า เวลานี้มีมนุษย์น้อย เวลานี้มีมนุษย์มาก ตามจำนวนแผ่นทอง. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาข้อนั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า สเจ ภิกฺขเว อปฺปกา โหนฺติ มนุสฺสา ดังนี้.

เทวดาชั้นดาวดึงส์

บทว่า เทวานํ ตาวตึสานํ ความว่า เทวดาทั้งหลายได้นามอย่างนี้ว่า (ดาวดึงส์) เพราะอาศัยเทพบุตร ๓๓ องค์ ผู้เกิดครั้งแรก. ส่วนกถาว่าด้วยการอุบัติของเทวดาเหล่านั้น ได้อธิบายไว้แล้วอย่างพิสดารในอรรถกถาสักกปัญหสูตรในทีฆนิกาย. บทว่า เตน คือ เพราะการบอกนั้น หรือเพราะมนุษย์ผู้ทำบุญมีน้อยนั้น. บทว่า ทิพฺพา วต โภ กายา ปริหายิสฺสนฺติ ความว่า เพราะเทพบุตรใหม่ๆ ไม่ปรากฏ หมู่เทวดาก็จักเสื่อมสิ้นไป เทวนครกว้างยาวประมาณหนึ่งหมื่นโยชน์อันน่ารื่นรมย์ ก็จักว่างเปล่า. บทว่า ปริปูริสฺสนฺติ อสุรกายา ความว่า อบาย ๔ จักเต็มแน่น. ด้วยเหตุนี้

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 166

เทวดาชั้นดาวดึงส์จึงเสียใจว่า พวกเราจักไม่ได้เล่นนักษัตรท่ามกลางหมู่เทวดาในเทวนครที่เคยเต็มแน่น. แม้ในสุกปักษ์ก็พึงทราบความหมายโดยอุบายนี้แล.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว สกฺโก เทวานมินฺโท ดังนี้ ทรงหมายถึงเวลาที่พระองค์เป็นท้าวสักกเทวราช. อีกอย่างหนึ่ง ท่านกล่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสหมายถึงอัธยาศัยของท้าวสักกะพระองค์หนึ่ง. บทว่า อนุนยมาโน แปลว่า เตือนให้รู้สึก. บทว่า ตายํ เวลายํ คือ ในกาลนั้น.

นิพัทธอุโบสถ

ในบทว่า ปาฏิหาริยปกฺขญฺจ นี้ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ อุโบสถที่รักษาติดต่อกันตลอดไตรมาสภายในพรรษา ชื่อว่าปาฏิหาริยปักขอุโบสถ. เมื่อไม่สามารถ (จะรักษา) อุโบสถตลอดไตรมาสนั้นได้ อุโบสถที่รักษาประจำตลอดเดือนหนึ่งในระหว่างวันปวารณาทั้ง ๒ บ้าง เมื่อไม่สามารถ (จะรักษา) อุโบสถประจำตลอดเดือนหนึ่งนั้นได้ (อุโบสถ) กึ่งเดือนหนึ่งตั้งแต่วันปวารณาแรกบ้าง ก็ชื่อว่าปาฎิหาริยปักขอุโบสถเหมือนกัน. บทว่า อฏฺงฺคสุสมาคตํ แปลว่า ประกอบด้วยองคคุณ ๘. บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า สัตว์แม้ใดพึงเป็นเช่นเรา. เล่ากันว่า ท้าวสักกะทราบคุณของอุโบสถมีประการดังกล่าวแล้ว จึงละสมบัติในเทวโลก ไปเข้าจำอุโบสถเดือนละ ๘ วัน.

อีกนัยหนึ่ง บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า สัตว์แม้ใดพึงเป็นเช่นเรา. อธิบายว่า พึงปรารถนาเพื่อได้รับมหาสมบัติ. ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ก็บุคคลสามารถที่จะได้รับสมบัติของท้าวสักกะด้วยอุโบสถกรรมเห็นปานนี้.

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 167

อธิบายบทว่า วุสิตวา เป็นต้น

บทว่า วุสิตวา ได้แก่ มีการอยู่จบแล้ว. บทว่า กตกรณีโย ได้แก่ ทำกิจที่ควรทำด้วยมรรค ๔ อยู่. บทว่า โอหิตภาโร ได้แก่ ปลงขันธภาระ กิเลสภาระ และอภิสังขารภาระอยู่. บทว่า อนุปฺปตฺตสทตฺโถ ความว่า อรหัตตผลเรียกว่า ประโยชน์ของตน บรรลุประโยชน์ของตนนั้น. บทว่า ปริกฺขีณภวสํโยชโน ความว่า ชื่อว่ามีสังโยชน์เครื่องผูกสัตว์ไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว เพราะสังโยชน์ที่เป็นเหตุให้ผูกสัตว์แล้วฉุดคร่าไปในภพทั้งหลายสิ้นแล้ว. บทว่า สมฺมทญฺาวิมุตฺโต ความว่า หลุดพ้นเพราะรู้โดยเหตุ โดยนัย โดยการณะ.

บทว่า กลฺลํ วจนาย แปลว่า ควรเพื่อจะกล่าว. บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า แม้บุคคลใดจะพึงเป็นพระขีณาสพเช่นกับเรา บุคคลแม้นั้นพึงเข้าจำอุโบสถเห็นปานนี้ คือ เมื่อรู้คุณของอุโบสถกรรมพึงอยู่อย่างนี้. อีกนัยหนึ่ง บทว่า โยปสฺส มาทิโส นโร ความว่า สัตว์แม้ใดพึงเป็นเช่นกับเรา. อธิบายว่า พึงปรารถนาเพื่อได้รับมหาสมบัติ. ในบทนี้มีอธิบายดังนี้ว่า ก็บุคคลสามารถที่จะได้รับสมบัติของพระขีณาสพด้วยอุโบสถกรรมเห็นปานนี้.

จบอรรถกถาราชสูตรที่ ๗