พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย

พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์ (อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต)

  ข้อความที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 594

พระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าในปัณณาสก์

ว่าด้วยปฏิปทา ๓

[๕๙๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่าง ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ อาคาฬหปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างหยาบช้า ๑ นิชฌามปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างเหี้ยมเกรียม ๑ มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอย่างกลาง ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาคาฬหปฏิปทาเป็นไฉน? บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โทษในกามไม่มี เขาย่อมถึงความเป็นผู้ตกไปในกาม ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นิชฌามปฏิปทาเป็นไฉน? อเจลกบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไร้มารยาท เลียมือ เขาเชิญให้มารับภิกษาก็ไม่มา เขาเชิญให้หยุดก็ไม่หยุด ไม่รับภิกษาที่เขาแบ่งไว้ก่อน ไม่รับภิกษาที่เขาทำเฉพาะ ไม่รับภิกษาที่เขานิมนต์ ไม่รับภิกษาปากหม้อ ไม่รับภิกษาจากปากกะเช้า ไม่รับภิกษาคร่อมธรณีประตู ไม่รับภิกษาคร่อมท่อนไม้ ไม่รับภิกษาคร่อมสาก ไม่รับภิกษาที่คนสองคนกำลังบริโภคอยู่ ไม่รับภิกษาของหญิงมีครรภ์ ไม่รับภิกษาของหญิงที่กำลังให้ลูกดูดนม ไม่รับภิกษาของหญิงผู้คลอเคลียบุรุษ ไม่รับภิกษาที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับภิกษาในที่ที่ได้รับเลี้ยงดูลูกสุนัข ไม่รับภิกษาในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่ม ไม่รับปลา ไม่รับเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มน้ำหมักดอง เขารับภิกษาที่เรือนหลังเดียว เยียวยาอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวบ้าง รับภิกษาที่เรือน ๒ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๒ คำบ้าง ... รับภิกษาที่เรือน ๗ หลัง เยียวยาอัตภาพด้วยข้าว ๗ คำบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อยใบเดียวบ้าง เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย

 
  ข้อความที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 595

๒ ใบบ้าง ... เยียวยาอัตภาพด้วยภิกษาในถาดน้อย ๗ ใบบ้าง กินอาหารที่เก็บค้างไว้วันเดียวบ้าง ๒ วันบ้าง ... ๗ วันบ้าง เป็นผู้ประกอบด้วยความขวนขวายในการบริโภคภัตที่เวียนมาตั้งกึ่งเดือนเช่นนี้ อเจลกนั้น เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่างเป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัยเป็นภักษาบ้าง มีเง่าและผลไม้ในป่าเป็นอาหารบ้าง บริโภคผลไม้หล่นเยียวยาอัตภาพ อเจลกนั้น ทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอกรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง ผ้ากำพลทำด้วยขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยขนปีกนกเค้าบ้าง เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือ ประกอบความขวนขวายในการถอนผมและหนวดบ้าง เป็นผู้ยืน คือ ห้ามอาสนะบ้าง เป็นผู้กระโหย่ง คือ ประกอบความเพียรในการกระโหย่งบ้าง เป็นผู้นอนบนหนาม คือ ความสำเร็จการนอนบนหนามบ้าง เป็นผู้อาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง คือ ประกอบความขวนขวายในการลงน้ำบ้าง เป็นผู้ประกอบความขวนขวายในการทำร่างกายให้เดือดร้อนกระสับกระส่ายหลายวิธีดังกล่าวมา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า นิชฌามปฏิปทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ เป็นผู้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

 
  ข้อความที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 596

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้แล.

[๕๙๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ อาคาฬหปฏิปทา ๑ นิชฌามปฏิปทา ๑ มัชฌิมาปฏิปทา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อาคาฬหปฏิปทาเป็นไฉน ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นิชฌามปฏิปทาเป็นไฉน? ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า นิชฌามปฏิปทา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มัชฌิมาปฏิปทาเป็นไฉน? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ยังฉันทะให้เกิด พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตตั้งจิตไว้ เพื่อยังธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพื่อความตั้งมั่น ไม่เสื่อมสูญ เพิ่มพูนไพบูลย์ เจริญ บริบูรณ์แห่งกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ... เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยฉันทสมาธิและปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยจิตสมาธิและปธานสังขาร เจริญอิทธิบาทอันประกอบด้วยวิมังสาสมาธิและปธานสังขาร ... เจริญสัทธินทรีย์ วิริยินทรีย์ สตินทรีย์ สมาธินทรีย์ ปัญญินทรีย์ ... เจริญสัทธาพละ วิริยพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ ... เจริญสติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ... เจริญสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทา ๓ อย่างนี้แล.

 
  ข้อความที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 597

ว่าด้วยธรรม ๓ อย่างหลายนัย

[๕๙๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องตกนรก เหมือนกับถูกนำเอาไปฝังไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องตกนรก เหมือนกับถูกนำเอาไปฝังไว้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปสถิตไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑ ... ลักทรัพย์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการลักทรัพย์ ๑ พอใจในการลักทรัพย์ ๑ ... งดเว้นจากการลักทรัพย์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑ พอใจในการงดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑ ... ประพฤติผิดในกามด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการประพฤติผิดในกาม ๑ พอใจในการประพฤติผิดในกาม ๑ ... งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑ พอใจในการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑ ... พูดเท็จด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการพูดเท็จ ๑ พอใจในการพูดเท็จ ๑ ... งดเว้นจากการพูดเท็จด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากการพูดเท็จ ๑ พอใจในการงดเว้นจากการพูดเท็จ ๑ ... กล่าวคำส่อเสียดด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในคำส่อเสียด ๑ พอใจในคำส่อเสียด ๑ ... งดเว้นจากคำส่อเสียดด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากคำส่อเสียด ๑ พอใจในการงดเว้นจากคำส่อเสียด ๑ ... กล่าวคำหยาบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในคำหยาบ ๑ พอใจในคำ-

 
  ข้อความที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 598

หยาบ ๑ ... งดเว้นจากคำหยาบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากคำหยาบ ๑ พอใจในการงดเว้นจากคำหยาบ ๑ ... กล่าวคำเพ้อเจ้อด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในคำเพ้อเจ้อ ๑ พอใจในคำเพ้อเจ้อ ๑ ... เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการงดเว้นจากคำเพ้อเจ้อ ๑ พอใจในการงดเว้นจากคำเพ้อเจ้อ ๑ ... เป็นผู้ละโมบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความละโมบ ๑ พอใจในความละโมบ ๑ ... ไม่มากด้วยความละโมบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความไม่ละโมบ ๑ พอใจในความไม่ละโมบ ๑ ... มีจิตพยาบาทด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความพยาบาท ๑ พอใจในความพยาบาท ๑ ... มีจิตไม่พยาบาทด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความไม่พยาบาท ๑ พอใจในความไม่พยาบาท ๑ ... มีความเห็นผิดด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความเห็นผิด ๑ พอใจในความเห็นผิด ๑ ... ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ต้องได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปดำรงไว้ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ มีความเห็นชอบด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในความเห็นชอบ ๑ พอใจในความเห็นชอบ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ต้องได้ขึ้นสวรรค์ เหมือนกับเชิญเอาไปดำรงไว้.

[๕๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพื่อรู้ราคะด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ สุญญตสมาธิ ๑ อนิมิตตสมาธิ ๑ อัปปณิหิตสมาธิ ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพื่อรู้ราคะด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพื่อกำหนดรู้ราคะ ฯลฯ เพื่อความสิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป เพื่อความสำรอก เพื่อความดับ เพื่อความสละ เพื่อความสละคืนราคะ จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพื่อความ

 
  ข้อความที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 599

รู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไปรอบ เพื่อละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อความเสื่อมไป เพื่อความสำรอก เพื่อความดับ เพื่อความสละ เพื่อความสละคืนโทสะ โมหะ โกธะ อุปนาหะ มักขะ ปลาสะ อิสสา มัจฉริยะ มายา สาเถยยะ ถัมภะ สารัมภะ มานะ อติมานะ ทมะ ปมาทะ จึงควรเจริญธรรม ๓ ประการนี้ ฉะนี้แล.

จบติกนิบาต

อรรถกถาพระสูตรที่ไม่สงเคราะห์เข้าเป็นปัณณาสก์

ในสูตรทั้งหลายต่อจากนี้ไป พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อาคาฬฺหา ปฏิปทา ได้แก่ ปฏิปทาที่ย่อหย่อน คือ หละหลวม ได้แก่ ยึดถือไว้อย่างมั่นคงด้วยอำนาจโลภะ บทว่า นิชฺฌามา ได้แก่ ปฏิปทาที่ตึงมากไป คือ แผดเผาตน ทำตนให้ร้อนรน ด้วยสามารถแห่งอัตตกิลมถานุโยค. บทว่า มชฺฌิมา ได้แก่ ปฏิปทาที่ไม่หย่อน ไม่ตึง อยู่ตรงกลาง.

บทว่า อเจลโก คือ ไม่มีผ้า ได้แก่ เป็นคนเปลือย. บทว่า มุตฺตาจาโร ได้แก่ ปล่อยปละละเลยอาจาระ. เขาเป็นผู้เว้นจากอาจาระของกุลบุตร ในทางโลภ ในกิจส่วนตัวทั้งหลาย มีการถ่ายอุจจาระเป็นต้น ยืนถ่ายอุจจาระ ยืนถ่ายปัสสาวะ ยืนเคี้ยว ยืนกิน. บทว่า หตฺถาวเลขโน ความว่า เนื้อก้อนข้าวในมือหมดแล้ว (นักบวชเปลือยมีปฏิปทาตึงนั้น) ก็ใช้ลิ้นเลียมือ หรือไม่ก็ถ่ายอุจจาระแล้วเป็นผู้มีความสำคัญในมือนั้นแหละว่าเป็นน้ำ เอามือเช็ด (ทำความสะอาด). นักบวชเปลือย ชื่อว่า น เอหิภทนฺติโก เพราะหมายความว่า เมื่อประชาชนกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอท่านได้โปรดมาเพื่อรับ

 
  ข้อความที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 600

ภิกษาเถิด ดังนี้ ก็ไม่มา. นักบวชเปลือย ชื่อว่า นติฏฺภทนฺติโก เพราะหมายความว่า แม้เมื่อประชาชนกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น นิมนต์หยุดยืนอยู่ก่อน ท่านผู้เจริญ ก็ไม่ยอมหยุดยืน. เล่ากันว่า นักบวชเปลือยนั้น ไม่ยอมทำทั้งการมาและการหยุดยืนทั้งสองนั้น ก็เพราะกลัวว่า จักเป็นการทำตามคำพูดของคนนิมนต์นั้น. บทว่า อภิหฏํ ได้แก่ ภิกษาที่เขาถือมาให้ก่อน (ที่ตนจะไปถึง). บทว่า อุทฺทิสฺส กตํ ได้แก่ ภิกษาที่เขาบอกว่า คนเหล่านี้ทำเจาะจง (ถวาย) พวกท่าน. บทว่า นิมนฺตนํ ความว่า นักบวชเปลือยถูกเขานิมนต์อย่างนี้ว่า ขอนิมนต์เข้าไป (รับภิกษา) ยังตระกูล ถนนหรือหมู่บ้านชื่อโน้น ก็ไม่ยินดี คือ ไม่รับแม้ภิกษา. บทว่า น กุมฺภิมุขา ได้แก่ ไม่รับภิกษาที่เขาคดจากหม้อมาให้. บทว่า กโฬปิ ในคำว่า นกโฬปิมุขา ได้แก่ หม้อข้าว หรือกระเช้า. นักบวชเปลือยจะไม่รับภิกษาจากหม้อข้าว หรือกระเช้าแม้นั้น. ถามว่า เพราะเหตุไรจึงไม่รับ ตอบว่า เพราะคิดว่า หม้อและกระเช้าอาศัยเราจึงได้กระทบกับทัพพี. บทว่า น เอลกมนฺตรํ ความว่า ไม่รับภิกษาที่เขายืนคร่อมธรณีประตูถวาย. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะคิดว่า บุคคลนี้อาศัยเราแล้วจึงได้การยืนคร่อมธรณีประตู. แม้ในท่อนไม้และสากก็มีนัยนี้แล.

บทว่า ทฺวินฺนํ ความว่า เมื่อคนสองคนกำลังบริโภคกันอยู่ เมื่อคนหนึ่งลุกขึ้นให้ก็ไม่รับ. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะคิดว่า มีอันตรายแต่คำข้าว. ส่วนในบทว่า น คพฺภนิยา เป็นต้น พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ สำหรับหญิงมีครรภ์ ทารกที่อยู่ในท้องจะได้รับการกระทบกระเทือน. สำหรับหญิงที่กำลังให้ลูกดื่มน้ำนม อันตรายเนื่องจากการดื่มน้ำนมจะมีแก่ทารก. สำหรับหญิงที่อยู่กับชายอื่น อันตรายแห่งความกำหนัดยินดีจะมี เพราะเหตุนั้น ดังว่ามานี้ นักบวชเปลือยจึงไม่รับภิกษา (จากหญิงเหล่านี้). บทว่า น สงฺกิตฺตีสุ ได้แก่ ในภัตรที่เขาระบุให้ทำ.

 
  ข้อความที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 601

เล่ากันว่า ในสมัยข้าวยากหมากแพง สาวกของอเจลกก็รวบรวมเอาข้าวสารเป็นต้นจากที่นั้นๆ มาหุงเป็นข้าวสวย เพื่อประโยชน์แก่อเจลกทั้งหลาย อเจลกผู้รังเกียจ ก็ไม่ยอมรับจากภัตรนั้น. บทว่า น ยตฺถ สา ความว่า ในที่ใดสุนัขปรากฏตัวด้วยหวังว่าจะได้ก้อนข้าว ในที่นั้น อเจลกจะไม่ยอมรับภิกษาที่ยังไม่ได้ให้แก่สุนัขนั้นแล้วนำมาให้ตน. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะคิดว่า อันตรายแห่งก้อนข้าว (ที่ไม่ได้ก้อนข้าว) จะมีแก่สุนัขนั้น. บทว่า สณฺฑสณฺฑจาริณี ได้แก่ แมลงวันบินไปเป็นกลุ่มๆ. อธิบายว่า ถ้าผู้คนทั้งหลายเห็นอเจลกแล้ว เข้าไปสู่โรงครัวด้วยคิดว่า จักถวายแก่อเจลกนี้ และเมื่อผู้คนเหล่านั้นเข้าไป แมลงวันที่จับอยู่ตามปากกระเช้าเป็นต้น ก็จะบินขึ้นไปเป็นกลุ่มๆ อเจลกจะไม่รับภิกษาที่นำมาจากที่ที่แมลงวันบินขึ้นไปนั้น. ถามว่า เพราะเหตุไร. ตอบว่า เพราะคิดว่า อันตรายในที่หากินของแมลงวันเกิดเพราะอาศัยเรา. บทว่า น ถูโสทกํ ได้แก่ น้ำดื่มที่ทำด้วยเครื่องปรุง คือ ข้าวกล้าทุกชนิด. ก็ในที่นี้ การดื่มสุราเท่านั้นมีโทษ. แต่อเจลกนี่มีความสำคัญในน้ำดื่มทุกชนิดว่า มีโทษ. อเจลกใดรับภิกษาในเรือนหลังเดียวแล้วกลับ อเจลกนั้นชื่อว่า เอกาคาริก อเจลกใดเลี้ยงอัตภาพด้วยข้าวคำเดียวเท่านั้น อเจลกนั้นชื่อว่า เอกาโลปิกะ. แม้ในอเจลกประเภท ทวาคาริกะ เป็นต้น ก็มีนัยนี้แล.

บทว่า เอกิสฺสาปิ ทตฺติยา ได้แก่ ในถาดใบเดียว ที่ชื่อว่า ทตฺติ ได้แก่ ถาดใบเล็กๆ ใบเดียวที่ผู้คนใส่ภิกษาอันเลิศวางไว้. บทว่า เอกาหิตํ ได้แก่ อาหารที่งดรับประทานมื้อหนึ่ง. บทว่า อฑฺฒมาสิกํ ได้แก่ อาหารที่งดรับประทานครึ่งเดือน. บทว่า ปริยายภตฺตโภชนํ ได้แก่ การบริโภคภัตรที่เขาถวายตามวาระ คือ การบริโภคภัตรที่เขานำมาให้ตามวาระของกันอย่างนี้ คือ ตามวาระวันเดียว ตามวาระ ๒ วัน ตามวาระ ๗ วัน ตามวาระครึ่งเดือน

 
  ข้อความที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 602

บทว่า สากภกฺโข เป็นต้น มีความหมายดังกล่าวแล้วแล. บทว่า อุพฺภฏฺโก แปลว่า ผู้ยืนอยู่ข้างบน. บทว่า อุกฺกุฏิกปฺปธานมนุยุตฺโต ได้แก่ ผู้ประกอบความเพียรในอิริยาบถกระโหย่ง แม้เมื่อกิน ก็เดินกระโหย่งไป คือ กระโดดๆ ไป. บทว่า กณฺฏกาปสฺสยิโก ความว่า ตอกหนามเหล็กหรือหนามธรรมดาไว้ในพื้นดิน แล้วลาดหนังบนหนามนั้น ทำการเคลื่อนไหวอิริยาบถ มีการยืน และการจงกรมเป็นต้น. บทว่า เสยฺยํ ได้แก่ แม้เมื่อนอนก็สำเร็จการนอนอย่างเดียวกันนั้น. บทว่า สายํ ตติยมสฺส ได้แก่ ประกอบการพยายามลงอาบน้ำ มีเวลาเย็นเป็นครั้งที่ ๓ คือ วันละ ๓ ครั้ง คือ เช้า กลางวัน เย็นอยู่ ด้วยคิดว่า เราจักลอยบาป.

บทว่า กาเย กายานุปสฺสี เป็นต้น พึงทราบตามนัยที่กล่าวแล้ว ในอรรถกถาเอกนิบาตในหนหลัง. บทว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว มชฺฌิมาปฏิปทา ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทานี้ไม่เข้าไปใกล้ที่สุดโต่ง ๒ อย่าง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค. อีกอย่างหนึ่ง ปฏิปทาที่พ้นไปจากที่สุดโต่ง คือ สัสสตทิฏฐิ และอุจเฉททิฏฐิ พึงทราบว่า เป็นมัชฌิมาปฏิปทา. บทว่า สมนุญฺโ ได้แก่ มีอัธยาศัยเสมอกัน.

บทว่า ราคสฺส ได้แก่ ราคะเนื่องในเบญจกามคุณ. บทว่า อภิญฺาย แปลว่า เพื่อรู้ยิ่ง. วิปัสสนาแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ด้วยสมาธิทั้ง ๓ มีบทว่า สุญฺโต สมาธิ เป็นต้น. แท้จริงวิปัสสนาได้ชื่อเหล่านี้ ก็เพราะไม่มีการยึดถือว่าเที่ยง นิมิตว่าเที่ยง และความปรารถนาว่าเที่ยง. บทว่า ปริญฺาย แปลว่า เพื่อกำหนดรู้. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้แล.

จบติกนิบาตวรรณนา

ในอรรถกถา อังคุตตรนิกาย ชื่อ มโนรถปูรณี