ความรู้สึกสับสน

 
สุทัศน์
วันที่  23 มิ.ย. 2550
หมายเลข  4079
อ่าน  2,078

พยายามศึกษาธรรมะจากการถามตอบในบอร์ดกระดานสนทนา รู้สึกว่าได้ประโยชน์พอสมควร แต่รู้สึกสับสนเมื่อมีการตอบถึงสำนักอื่นว่าไม่ถูกต้อง เลยไม่รู้จะ เชื่อใคร ขออนุญาตที่ถามคำถามนี้เพราะสับสนจริงๆ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

ควรศึกษาตามหลักคำสอนโดยตรงคือพระไตรปิฏก

ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะอบรมความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป ควรศึกษาตามหลักคำสอนโดยตรงคือพระไตรปิฏก และคำอธิบายจากอรรถกถาด้วย เพื่อเป็นเครื่องตรวจสอบในการศึกษา และปฎิบัติว่า ตรงตามคำสอนหรือไม่ เพราะอาจารย์ต่างๆ ท่านนำมาสอนเพียงบางส่วน เท่านั้น ยังมีอีกมากมายที่ท่านยังไม่นำมาสอน ฉะนั้น ควรเป็นผู้ละเอียดและอดทนในการศึกษาพระสัทธรรม อันละเอียดลึกซึ้งลุ่มลึก ถ้าขาดความละเอียดย่อมไม่อาจ จะเข้าถึงความละเอียดลึกซึ้งของพระสัทธรรมได้

จาก ..ธรรมทัศนะ วันที่ : 28-08-2549

คลิกอ่านที่นี่

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

พระธรรมลึกซึ้งรู้ตามเห็นตามได้ยาก

ดังข้อความปรากฏในคำนำของหนังสือพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยว่า พระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่ลึกซึ้งรู้ตามเห็นตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่อาจรู้ได้ด้วยการตรึกละเอียด เป็นธรรมอันบัณฑิตจะรู้ได้ (พระสูตร และอรรถกถาแปล มัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสก์ เล่มที่ ๓ ภาคที่ ๒)

จาก ..ธรรมทัศนะ วันที่ : 07-04-2550 คลิกอ่านที่นี่

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าควรศึกษาตามลำดับคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ลำดับแรกควรศึกษาพระธรรมคำสอนให้เข้าใจก่อน เมื่อศึกษาเข้าใจ การรู้สภาพธรรมตามที่ทรงแสดงเรียกว่า การปฏิบัติ ผลของการปฏิบัติละกิเลสได้ตามลำดับขั้น เป็นปฏิเวธ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 119

ข้อความบางตอนจาก โพธิราชกุมารสูตร

ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึกเป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

ผู้ที่ศึกษาธรรมต้องมีความอดทน

ไม่มีบุคคลผู้ใดที่จะสามารถรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ โดยไม่มีการฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรมการฟังพระธรรมจะทำให้เรามีความเข้าใจในสภาพธรรมตาม ความเป็นจริงมากขึ้น จากการเป็นผู้ที่ไม่เคยรู้ ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น ฉะนั้น ผู้ที่ศึกษาธรรม ต้องมีความอดทนในการที่จะศึกษา ในการที่จะฟัง พิจารณาไตร่ตรองความลึกซึ้งของพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550
 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

ไม่ประมาทในการเจริญกุศลและฟังธรรมทุกๆ วัน

ให้คิดถึงความตายบ่อยๆ ชีวิตมีอยู่แต่ลมหายใจเข้าออกเท่านั้น ถ้าลมหายใจเข้า แล้วไม่ออกก็ตาย ความตายไม่มีนิมิต ไม่มีเครื่องหมายเพราะเราไม่รู้ว่าจะตายเวลาเช้าหรือเวลาเย็น วันนี้แข็งแรงดีพรุ่งนี้อาจจะป่วยตายด้วยโรคลมก็ได้ หรือหัวใจวายตาย ไม่มีใครรู้ว่าจะตายอย่างไรพิจารณาถึงพระพุทธเจ้า ก็ยังต้องปรินิพพานเลย ท่านผู้มีฤทธิ์ เช่น พระโมคคัลลาน ก็ปรินิพพาน พิจารณาถึงสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ์ เช่น พระเจ้าอโศก เวลาท่านใกล้จะตายก็เหลือแค่ผลมะขามป้อมครึ่งผลที่เป็นสมบัติ นอกนั้นก็เป็นของคนอื่นที่ท่านว่าสมบัติผลัดกันชม ไม่มีใครเป็นเจ้าของการพิจารณาถึงความตายบ่อยๆ ทำให้ไม่ประมาทในการเจริญกุศลและฟังธรรมทุกๆ วัน

จาก .. ธรรมทัศนะ วันที่ : 27-03-2550

คลิกอ่านที่นี่

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

ประมาณ ๔๐ ปีที่แล้ว เวลา ๖ โมงเช้า ผมเปิดวิทยุฟังได้พบรายการแนวทางเจริญวิปัสสนา รู้สึกน่าสนใจมาก จึงพยายามจดโน๊ตลงในสมุด ทั้งๆ ที่ไม่เข้าใจในพระธรรมเลย สมัยก่อนนั้น คลื่นวิทยุในที่บางแห่งก็รับยาก เวลาผ่านไป ชีวิตการเรียนการทำงาน สุขทุกข์ ฟังพระธรรมบ้าง ไม่ฟังบ้างผ่านไปโดยลำดับ บางครั้งชีวิตล้มลุกคลุกคลาน อุตตลุด ไม่ได้ฟังพระธรรมหลายปีเมื่อได้ฟังอีกถึงกับน้ำตาไหล จวบจนปัจจุบันฟังพระธรรมรู้เรื่องเข้าใจ เพราะเหตุในปัจจุบันเกื้อกูลไม่ว่ารายการทางวิทยุ หรือเอ็มพีสาม ขอเพียงให้เรามีความตั้งใจมั่น อย่าไหลไปตามนายช่างเรือน ความต้องการ ที่จะนำไปสู่หนทางอื่น ซึ่งไม่มีแม้แต่แสงแห่งความเข้าใจ สะสมการฟังไปเรื่อยๆ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ แล้ววันหนึ่งท่านจะเริ่มเข้าใจ ขอเพียงแค่เข้าใจเพียงแค่นั้นจริงๆ แล้ว ท่านจะรู้ว่าความเข้าใจในพระธรรมนั้นเหนือกว่าทรัพย์สมบัติใดในโลก และเป็นลาภอันประเสริฐแล้วที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังธรรม สมควรแก่ธรรม

โดยสมาชิก : pairojj วันที่ : 24-06-2550

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

จริงๆ แล้วไม่ต้องสับสน ธรรมเป็นเรื่องของเหตุและผล ฟังที่ใดก็ตามที่นั่นสอนให้เข้าใจความจริงหรือเปล่า เข้าใจได้แค่ไหน ที่สำคัญต้องเป็นป้ญญาของตัวเองจึงจะตัดสินได้ว่าที่ไหนถูก ที่ไหนผิด ขอให้อดทนฟังแนวทางเจริญวิปัสสนา บรรยาย โดยอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ต่อไป แล้วจะค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในที่สุดก็จะรู้ หนทางเองค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

เชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

นี้เป็นคำสอนของพระศาสดา [มหาปรินิพพานสูตร]

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
neo
วันที่ 24 มิ.ย. 2550

อย่าสับสนเลยครับ ที่สุดแล้วไม่ว่าจะสำนักไหนๆ ก็ยึดหลักมาจากพระไตรปิฎกด้วยกัน ทั้งนั้น อาจจะไม่ครบ๔๙ เล่ม หรือ ๙๑ เล่มก็ตาม ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ศึกษาธรรม ถึงจะนำ ข้อความบางตอน หรือคัดมาจากตอนใดตอนหนึ่งของพระสูตร พระวินัย หรือพระอภิธรรมมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ว่ากันไป ถึงแม้จะเป็นการฟังธรรมในระดับชาวบ้าน หรือระดับผู้มีภูมิปัญญาขึ้นมาหน่อย แต่จุดมุ่งหมายของสำนักต่างๆ ก็อาจเป็นการให้ผู้ฟัง ได้เข้าใจพระธรรมมากบ้าง น้อยบ้าง ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของตนเอง แต่ถ้าสำนักไหน แสวงหาประโยชน์ไปในทางอื่น ก็เป็นบาปอกุศลกรรม ของเขาครับ

ถ้าไม่มีเวลาอ่านหรือศึกษา จากพระไตรปิฎกของมหามงกุฎราชวิทยาลัย ทั้งหมด ๙๑ เล่ม ลองเจียด เวลามาฟังการสนทนาธรรม บรรยายธรรมจาก มศพ. ทางวิทยุน่ะครับ ถ้าฟังทุกวันได้ก็จะดี เราต้องอาศัยการฟังให้เข้าใจเสียก่อน ต้องฟังให้มากๆ ถ้าเราเข้าใจปริยัติโดยถ่องแท้แล้ว อันนี้ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละบุคคล การที่จะไปปฎิบัติโดยการนั่งหลับตานั้น เห็นทีจะยาก เพียงแค่เราใช้จิตจดจ่อลมหายใจเข้าออก หรือภาวนาคำต่างๆ อันนั้นได้แค่เพียงจิต สงบนิ่งเท่านนั้น

ถ้าจะหวังได้ฌานก็ลืมไปได้เลย เพราะเป็นการยากยิ่งนัก เสียเวลาเปล่า บางทีนั่งไปนั่งมา ก็โงนเงน โยกเยก เผลอๆ สัปหงกหลับไปเลยก็มี ควรศึกษาพระธรรมให้เข้าใจก่อนครับ ให้ได้ปริยัติ แล้วค่อยปฎิบัติครับ หนทางยังอีก ยาวไกลค่อยๆ สั่งสมไปน่ะ ครับ อนาคตกาลภายภาคเบื้องหน้า ถ้าผู้ใฝ่ในธรรมแล้ว ย่อมถึง นิพพานเป็นที่สุด

ขอความเจริญจงมีในธรรม

พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ธรรมะทั้งหลายล้วนเป็นอนัตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
shumporn.t
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

พุทธศาสนา เป็นคำสอนของผู้รู้ ฟังคำสอนของผู้รู้ย่อมได้ความรู้ ความเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เข้าใจในอะไร เข้าใจความเป็นจริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มีของจริงมีลักษณะอาการปรากฏให้รู้ได้จริงๆ ความจริงย่อมเป็นความจริงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสำนักไหนถ้าสอนตรงตามความเป็นจริง ย่อมไม่ทำให้ผู้ฟังสับสนเลย เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง สุขมีจริง ทุกข์มีจริง โกรธมีจริง เมตตามีจริง สิ่งที่มีจริงมีลักษณะมีอาการปรากฏให้รู้ได้ และสิ่งที่มีจริงนี้ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ ทรงแสดงความจริง เพื่อที่จะให้คนอื่นค่อยๆ มีความเข้าใจถูกมีความเห็นถูก คือ ปัญญาตั้งแต่ต้น แล้วปัญญาก็มีหนทางของปัญญาที่จะค่อยๆ เจริญ จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ความจริงของ สภาพธรรมได้

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
พุทธรักษา
วันที่ 25 ก.ย. 2550

ขอเรียนถาม. พระภิกษุที่แสดงธรรม ตามแนวทางของตน โดยเข้าใจว่าสิ่งนั้นถูกต้อง ด้วยเจตนาดี และมีคนเชื่อตามมากมาย ถือว่าผิดหรือไม่.

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
study
วันที่ 25 ก.ย. 2550

ถ้าแสดงธรรมที่ผิดจากหลักธรรม แต่เข้าใจว่าถูก เพราะความไม่รู้ ย่อมมีโทษ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
คนส่งสาร
วันที่ 29 ก.ย. 2550

ถ้าเป็นการอบรมเจริญปัญญาเพื่อละก็ถูก ไม่ใช่ก็ผิด

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
PUM
วันที่ 2 ต.ค. 2550

เห็นด้วยกับคุณ wannee.s และทุกๆ ท่านครับ ...

ธรรมเป็นเรื่องของเหตุและผล ... และพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้แล้ว ... ให้พุทธบริษัทยึดพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระพุทธองค์หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

เพราะฉะนั้น สำนักใดสอนถูกหรือผิดให้ยึดตามพระธรรมวินัยเป็นเกณฑ์ คำสอนต้องไม่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัยหรือพระไตรปิฎก ... และเมื่อปฏิบัติตามแล้วย่อมเป็นไปเพื่อการละคลาย กิเลสได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 15 ม.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ