พระปิณโฑละ บวชเพราะเสาะแสวงหาก้อนข้าว

 
chatchai.k
วันที่  7 มี.ค. 2565
หมายเลข  42715
อ่าน  69

ขอกล่าวถึงทุกข์ของพระราชาองค์หนึ่งใน อรรถกถาภารทวาชสูตรที่ ๔ ซึ่งมีข้อความว่า

ภิกษุนั้น ชื่อว่าปิณโฑละ เพราะบวชเสาะแสวงหาก้อนข้าว ในสมัยที่ท่านเป็นพราหมณ์ผู้สิ้นเนื้อประดาตัว ท่านเห็นลาภ และสักการะของภิกษุสงฆ์จึงออกบวชเพื่อต้องการก้อนข้าว ท่านถือเอาบาตรภาชนะขนาดใหญ่เที่ยวไป ท่านดื่มข้าวยาคู เต็มภาชนะ เคี้ยวกินขนมเต็มภาชนะ บริโภคข้าวเต็มภาชนะ

สมัยต่อมา ท่านเจริญอินทรีย์บรรลุพระอรหันต์ ท่านจึงชื่อว่าปิณโฑละ เพราะบวชเพื่อต้องการก้อนข้าว แต่โดยโคตร ชื่อว่าภารทวาชะ เหตุนั้นรวมชื่อทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่า ปิณโฑลภารทวาชะ ดังนี้

วันหนึ่งพระเถระเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสร็จภัตตกิจแล้วคิดว่า ในฤดูร้อน จักนั่งพักกลางวันในที่เย็นๆ

พระอรหันต์มีทุกข์ไหม มี ทุกข์อะไร ทุกข์กาย

ต้องเยียวยาไหม ถ้าสามารถจะกระทำได้ ก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นทุกข์กายไป เพราะฉะนั้น แม้ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะท่านก็เห็นว่า จักนั่งพักกลางวันในที่เย็นๆ

ท่านจึงได้เหาะเที่ยวไปในพระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน ริมฝั่งแม่น้ำคงคา นั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง

ฝ่ายพระเจ้าอุเทนทรงดื่มมหาปานะตลอด ๗ วัน

นี่คือชีวิตที่ต่างกันของผู้ที่ยินดีในความสุขด้วยการพอใจในรส

ในวันที่ ๗ ทรงรับสั่งให้ตกแต่งพระราชอุทยาน แล้วทรงแวดล้อมด้วยข้าราชบริพารหมู่ใหญ่เสด็จไปพระราชอุทยาน ทรงบรรทมบนพระแท่นบรรทมที่ลาดไว้ ใต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง นางสนมบำเรอคนหนึ่งนั่งนวดฟั้นพระบาทจนพระราชาบรรทมหลับ

เมื่อพระราชาบรรทมหลับแล้ว เหล่าหญิงร้องรำทั้งหลายก็คิดว่า ในเวลาที่พระราชาบรรทมหลับ เราควรจะสนุกรื่นเริงกัน

เป็นชีวิตปกติธรรมดา ไม่ใช่เฉพาะของนางสนมกำนันในสมัยโน้น แม้ทุกท่านในสมัยนี้ ก็เช่นเดียวกัน

หญิงร้องรำเหล่านั้นได้เข้าไปยังอุทยาน เที่ยวกินผลไม้น้อยใหญ่ ประดับดอกไม้อยู่ เมื่อเห็นท่านพระปิณโฑลภารทวาชะก็ต่างห้ามกัน และกันว่า อย่าทำเสียงดัง แล้วนมัสการท่านพระเถระ

ท่านพระเถระได้แสดงธรรมแก่หญิงเหล่านั้น โดยนัยว่า พวกเธอพึงละความริษยา พึงบรรเทาความตระหนี่ เป็นต้น

นี่ก็เป็นอัธยาศัยของแต่ละบุคคล เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็ควรจะได้ฟังธรรมที่เหมาะแก่อัธยาศัย

นางสนมผู้นั่งนวดฟั้นพระบาทของพระราชานั้นอยู่ ก็เขย่าพระบาทปลุกพระราชาขึ้น พระราชาก็ตรัสถามว่า หญิงร้องรำเหล่านั้นไปไหน

หญิงนั้นทูลว่า หญิงร้องรำเหล่านั้น นั่งล้อมพระสมณะองค์หนึ่ง

พระราชาทรงพระพิโรธเหมือนเกลือใส่เตาไฟ กระทืบพระบาท ทรงพระดำริว่า เราจะให้มดแดงกัดสมณะนั้น

นี่คือความโกรธ เป็นทุกข์ไหม ไม่น่าจะเป็นทุกข์เลย แต่ก็เป็นทุกข์ใจเมื่อได้ยินคำที่ไม่น่าพอใจ หรือได้เห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ

เมื่อพระราชาเสด็จไป ได้ทอดพระเนตรเห็นรังมดแดงบนต้นอโศก ทรงเอา พระหัตถ์กระชากลงมา รังมดแดงขาดตกลงบนพระเศียรพระราชา ทั้งพระวรกาย ได้เป็นเสมือนเกลื่อนไปด้วยแกลบข้าวสาลี และเป็นเสมือนถูกประทีปด้ามเผาเอา

พระเถระทราบว่าพระราชากริ้ว จึงเหาะกลับไปด้วยฤทธิ์ หญิงแม้เหล่านั้น ก็ลุกขึ้นไปใกล้ๆ พระราชา ทำทีเช็ดพระวรกาย จับมดแดงที่ตกลงที่พื้น โยนไปที่ พระวรกาย และเอาหอกคือปากแทงมดดำมดแดงเหล่านั้นว่า นี้อะไรกัน พระราชาเหล่าอื่นเห็นบรรพชิตทั้งหลายแล้วไหว้ แต่พระราชาพระองค์นี้ ทรงประสงค์จะทำลายมดแดงบนศีรษะ

คือ แทนที่เห็นพระเถระแล้วจะไหว้ กลับมากังวลกับการทำลายมดแดงบน พระเศียร

พระราชาทรงเห็นความผิด จึงรับสั่งให้เรียกคนเฝ้าสวนมาตรัสถามว่า บรรพชิตรูปนี้ แม้ในวันอื่นๆ มาในที่นี้หรือ

คนเฝ้าพระราชอุทยานกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า

พระราชาตรัสว่า ในวันที่ท่านมาในที่นี้ เจ้าพึงบอกเรา

อีก ๒ - ๓ วัน ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะก็มานั่งที่พระราชอุทยาน เมื่อคนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นก็คิดว่า นี้เป็นบรรณาการใหญ่ของเรา จึงรีบไปกราบทูลพระราชา

พระราชาเสด็จลุกขึ้น ทรงห้ามเสียงสังข์ และบัณเฑาะว์เป็นต้น ได้เสด็จไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์ผู้มีชื่อเสียง และได้ขอให้ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะแสดงธรรม ซึ่งท่านพระปิณโฑลภารทวาชะก็ได้แสดงธรรมว่า

พระผู้มีพระภาคตรัสให้เป็นผู้คุ้มครองทวาร ๖

ก็ยังมีโอกาสที่รู้ว่า ผิด และเห็นว่าสิ่งใดควร จนกระทั่งได้ฟังพระธรรม


ที่มา ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 1500


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ