มีอะไรเป็นเหตุปัจจัย ให้ผู้สอนอยากสอนปฏิจจสมุปบาทแก่สังคม
ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึกซึ้ง แต่มีผู้สอนกันมาก อยากตั้งคำถามว่า อะไรหนอ เป็นเหตุปัจจัยให้ผู้สอนธรรรมะเลือกหัวข้อนี้ หรืออยากสอนเรื่องนี้ อะไรหนอจะส่งเสริมให้ผู้สอนยินดีสอนหัวข้อนี้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ แต่สำหรับผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม เห็นความลึกซึ้งของพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะเป็นผู้ไม่ประมาทในการฟังในการศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบเลย เพราะพระธรรมยาก ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะปฏิจจสมุปบาท เท่านั้น แต่ละเอียด ลึกซึ้ง ทั้งหมด ถ้าเข้าใจผิด ก็เป็นโทษ ซึ่งเป็นโทษกับตนเองก่อน และถ้ามีการกล่าวให้ผู้อื่น เข้าใจผิดเข้าใจคลาดเคลื่อนไปด้วย ก็เป็นโทษกับผู้อื่นอีก และประการที่สำคัญ เป็นการทำลายคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น เรื่องของคนอื่น ก็เป็นเรื่องของคนอื่นจริงๆ แต่สำหรับตนเอง ควรจะเป็นอย่างไร? นี้คือ สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จากแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
สาธุค่ะ แต่ก็ยังอยากทราบว่า การที่ผู้สอนจะสอนปฏิจจสมุบาทได้ ควรมีพื้นฐานในเรื่องใดบ้างค่ะ เช่นตำรา คัมภีร์ พระสูตร บทไหนบ้าง ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเกิดขึ้นได้อย่างไรคะ
เรียนความคิดเห็นที่ ๒ ครับ
ผู้ที่จะกล่าวธรรม ก็ต้องมีความเข้าใจธรรม เข้าใจคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างถูกต้อง พื้นฐานที่สำคัญ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ เคารพในทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกส่วนของพระธรรมคำสอน ประโยชน์ทั้งหมด ประการที่สำคัญ ไม่ใช่ว่า มุ่งศึกษาเพื่อที่จะนำไปสอนผู้อื่น แต่ควรศึกษาเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง เมื่อเป็นโอกาสที่จะเกื้อกูลผู้อื่น ก็เกื้อกูลตามกำลังปัญญาของตน กล่าวธรรม เท่าที่ตนเองเข้าใจ ครับ
ขอเชิญคลิกฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ
ปฏิจจสมุปบาท แผ่นที่ ๑
ปฏิจจสมุปบาท แผ่นที่ ๒
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ฟังจนกว่าจะจรดในความเป็นธรรมะ ไม่หวัง เพื่อละความไม่รู้ ที่สะสมมานานแสนนาน
พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง มีความละเอียด ลึกซึ้ง ยากที่จะเข้าใจ ทั้ง 3 ปิฎก แต่ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้มีความตั้งใจ สามารถที่จะฟังเข้าใจตามได้ แต่ต้องใช้เวลาในการฟัง ในการศึกษา เป็นเวลานาน ค่อยๆ สั่งสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย
สำหรับเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท มีแสดงไว้โดยละเอียดในพระอภิธรรมปิฎก ครับ
พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 433
[๒๕๕] สังขารเกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
วิญญาณเกิดเพราะสังขารเป็นปัจจัย
นามรูปเกิดเพราะวิญญาณเป็นปัจจัย
สฬายตนะเกิดเพราะนามรูปเป็นปัจจัย
ผัสสะเกิดเพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย
เวทนาเกิดเพราะผัสสะเป็นปัจจัย
ตัณหาเกิดเพราะเวทนาเป็นปัจจัย
อุปาทานเกิดเพราะตัณหาเป็นปัจจัย
ภพเกิดเพราะอุปาทานเป็นปัจจัย
ชาติเกิดเพราะภพเป็นปัจจัย
ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เกิดเพราะชาติเป็นปัจจัย ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้
ที่มา ...
[เล่มที่ 77] พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๑
ปฏิจฺจ (อาศัย) + สํ (ด้วยดี, ตามลำดับ) + อุปฺปาท (การเกิดขึ้น) สภาพธรรมที่เกิดขึ้นด้วยดี คือ เป็นไปตามลำดับโดยอาศัยปัจจัย หมายถึง สภาพธรรมที่เป็นเหตุเป็นผล ที่ทำให้เกิดสังสารวัฏฏ์ เป็นการแสดงเรื่องของปัจจัย (เหตุ) และปัจจยุบบัน (ผล) อีกนัยหนึ่ง ซึ่งต่างจากนัยของปัฏฐาน
ปฏิจจสมุปบาท มีองค์ ๑๒ คือ
๐๑. อวิชชา
๐๒. สังขาร
๐๓. วิญญาณ
๐๔. นามรูป
๐๕. สฬายตนะ
๐๖. ผัสสะ
๐๗. เวทนา
๐๘. ตัณหา
๐๙. อุปาทาน
๑๐. ภพ
๑๑. ชาติ
๑๒. ชรา มรณ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส อุปายาส
ความเป็นปัจจัยของปฏิจจสมุปบาท คือ
๐๑. อวิชชา เป็นปัจจัยให้เกิด สังขาร
๐๒. สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิด วิญญาณ
๐๓. วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิด นามรูป
๐๔. นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิด สฬายตนะ
๐๕. สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้เกิด ผัสสะ
๐๖. ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิด เวทนา
๐๗. เวทนา เป็นปัจจัยให้เกิด ตัณหา
๐๘. ตัณหา เป็นปัจจัยให้เกิด อุปาทาน
๐๙. อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิด ภพ
๑๐. ภพ เป็นปัจจัยให้เกิด ชาติ
๑๑. ชาติ เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
การเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น ย่อมมีด้วยประการฉะนี้
อบรมปัญญาให้เข้าใจความจริง จะเป็นประโยชน์ทั้งชาตินี้ และชาติต่อๆ ไป กุศลที่ทำได้เสมอๆ คือ การฟังพระธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีคุณค่ามหาศาลสำหรับชีวิตที่ต้องเดินทางต่อไป อีกแสนไกล และกันดาร
ขอเชิญศึกษาพระธรรม...
รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์
การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)
ข้อคิดสำหรับผู้สอนธรรมะ ที่จะนำเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ไปสอน ครับ
โดยอาจารย์ผเดิม ยี่สมบูรณ์
พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก โดยเฉพาะ ปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เป็นปัจจัยต่อกันและกัน เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมเบื้องต้น โดยเฉพาะ ยังมีความเข้าใจพระอภิธรรมไม่มากนั้น ไม่ควรที่จะไปเริ่มจากปฏิจจสมุปบาท แต่ควรเริ่มจากพื้นฐานพระอภิธรม ให้เข้าใจอย่างดีแล้วเสียก่อน...
ขอเชิญอ่านรายละเอียด ...
ต้องมีพื้นฐานพระอภิธรรมที่มั่นคง
โดยท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
เรื่องพื้นฐานพระอภิธรรม ฟังดูแล้ว รู้สึกเหมือนกับว่าขั้นต้นเหลือเกิน เพราะใช้คำว่า พื้นฐานของพระอภิธรรม แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าเราเข้าใจว่าธรรมคืออะไร เราจะเข้าใจทันทีว่า ถ้าไม่มีพื้นฐานที่มั่นคง เราก็จะศึกษาธรรมได้อย่างที่ไม่ชื่อว่าเข้าใจจริงๆ เพราะว่าเราอาจคิดว่าเป็นเพียงคำ เป็นภาษา หรือเป็นตัวหนังสือ แต่ทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ในสามปิฎกก็เป็นสัจจธรรม คือเป็นธรรมที่มีจริงๆ ที่สามารถที่จะเข้าใจได้ ไม่ว่าในกาลไหน เช่น ในขณะนี้ ก็จะต้องเข้าใจว่าการศึกษาธรรม คือมีสภาพธรรมที่มีจริงๆ และก็กำลังปรากฏ ซึ่งก่อนที่จะได้ศึกษา เราไม่เคยคิดเลยว่าสิ่งซึ่งมีจริงๆ ในขณะนี้ เช่น กำลังเห็น จะอยู่ในพระไตรปิฎก เป็นพระธรรมเทศนาหลากหลายมากมายทั้งสามปิฎก ทั้งๆ ที่วันหนึ่งๆ ก็มีเห็น มีได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แล้วก็มีคิดนึก ซ้ำไปซ้ำมา แต่ทำไมเป็นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มากมายในพระไตรปิฎกและอรรถกถา ก็แสดงว่าธรรมนี้แม้ว่าเป็นสิ่งที่ปรากฏเป็นปกติ แต่ไม่ได้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ถ้าคิดถึงตามความเป็นจริงว่า ก่อนได้ฟัง เราไม่สามารถที่จะได้เห็นพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย เพราะไม่รู้ว่าสามารถที่จะตรัสรู้สิ่งที่มีจริงๆ โดยละเอียดลึกซึ้ง ถูกต้อง จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้หมด ไม่เหลือเลย ซึ่งการที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีกิเลสมากมายสักแค่ไหน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมก็ไม่สามารถจะรู้ได้ ต่อเมื่อได้ฟังพระธรรมเริ่มเห็นความต่างของก่อนฟังกับการที่เริ่มได้ฟัง ว่า ก่อนฟัง ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น มีชีวิตวันหนึ่งๆ ก็เรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ วงศาคณาญาติ บ้านเมือง ข่าวสารต่างๆ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้น เป็นธรรมหรือไม่
บางคนก็เข้าใจว่าธรรมอยู่ที่อื่น ไม่ใช่อยู่ที่สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงแล้ว ธรรมคือในขณะนี้ ศึกษาสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ ให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ยากหรือง่ายลองคิดดู
ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม ...
ก่อนเรียนปรมัตถธรรมคิดว่า ปฏิจจสมุปบาท เข้าใจไม่ได้ แต่พอมาศึกษาที่บ้านธัมมะภาคเหนือ ก็ได้เรียนและรู้จากการสนทนาธรรมว่า เหตุของการเกิด คือ อวิชชา ความไม่รู้ ปุถุชนควรรู้ว่าเกิดมาเพราะความไม่รู้ เมื่อโกรธ เมื่อโลภ ก็มีอวิชชาปิดบัง ธรรมะเป็นเรื่องละเอียด สะสมอกุศลไว้มาก มีกุศลเพียงเล็กน้อยขั้นทาน กุศลเกิดยากมาก แล้วจะหนาแน่นด้วยกิเลสและอวิชชาไปอีกนานเท่าไหร่ ยากมากๆ ที่กุศลจะเกิด ถ้าไม่เริ่มรู้ว่าเป็นธรรมะที่เกิดตามเหตุและปัจจัย เป็นอนัตตาที่ไม่ใช่เรา ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็ยังไม่พ้นปฏิจจสมุปบาทค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว ทรงเห็นความลึกซึ้ง ละเอียด ประณีตอย่างยิ่งของธรรม เป็นการยากที่จะมีผู้รู้ตามได้ แต่เมื่อธรรมมีจริงๆ กำลังปรากฏอยู่ ปัญญาสามารถรู้ได้ แต่ต้องอาศัยการฟังด้วยความเคารพในคำของพระองค์ อดทนและจริงใจที่จะเริ่มฟังไม่ใช่เพื่ออื่นใดทั้งสิ้น แต่เพื่อเข้าใจธรรมที่กำลังมีขณะนี้
[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ [เล่มที่ 25]
ข้อความตอนหนึ่งจาก...
อายาจนสูตร
ความปริวิตกแห่งพระหฤทัยบังเกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ธรรมที่เราตรัสรู้แล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต คาคคะเนเอาไม่ได้ ละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต
ก็หมู่สัตว์นี้แล ยังยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย ก็ฐานะนี้ คือ ความเป็นปัจจัยแห่งธรรม มีสังขารเป็นต้นนี้ เป็นธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น อันหมู่สัตว์ผู้ยินดีด้วยอาลัย ยินดีแล้วในอาลัย เบิกบานแล้วในอาลัย จะพึงเห็นได้ยาก แม้ฐานะนี้ ก็เห็นได้ยาก คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา ธรรมเป็นที่สำรอก ธรรมเป็นที่ดับ นิพพาน ก็ถ้าเราจะพึงแสดงธรรม แต่ชนเหล่าอื่นจะไม่พึงรู้ทั่วถึงธรรมของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความเหน็ดเหนี่อยของเรา ข้อนั้น จะพึงเป็นความลำบากของเรา
ฯลฯ
เราไม่สามารถที่จะไปรู้ใจของบุคคลใดได้ และไม่ใช่ฐานะของเราที่จะรู้ว่า ปัจจัยอะไรที่เป็นเหตุปัจจัยให้ผู้สอนธรรมเลือกหัวข้อ ปฏิจจสมุปบาท หรือหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสอน แต่เราเองสำคัญกว่าว่า ศึกษาธรรมเพื่ออะไร ประโยชน์คืออะไร เพราะไม่ว่าด้วยปัจจัยอะไรที่ผู้สอนเลือกหัวข้อปฏิจจสมุปบาทมาสอน แล้วผู้สอนมีความเข้าใจธรรมหรือเปล่าที่จะไปสอนให้คนอื่นได้เข้าใจธรรมถูกต้องตรงตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง
สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตที่ได้เกิดมาที่ได้เข้าใจธรรม เข้าใจตังจริงๆ ของธรรม ไม่ใช่เรื่องราวของธรรม เพราะการเข้าใจความจริงของธรรมเท่านั้นสามารถนำไปสู่การขัดเกลากิเลส และละกิเลสได้ในที่สุด
ไม่ว่าผู้สอนธรรมจะเลือกหัวข้อใดมาสอนด้วยเหตุปัจจัยใดๆ ก็ตาม โดยไม่มีความเข้าใจธรรม ก็ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นทั้งแก่ผู้ฟัง และตัวผู้สอนเอง การสอนเรื่องราวของธรรมโดยไม่เข้าใจตัวจริงๆ ของธรรมก็เปรียบเหมือนทับพีไม่รู้รสแกง
[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒-หน้าที่ 190
เรื่องพระอุทายีเถระ
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระอุทายีเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ยาวชีวมฺปิ เจ พาโล" เป็นต้น
คนไม่รู้มักถือตัว
ได้ยินว่า พระอุทายีเถระนั้น เมื่อพระเถระผู้ใหญ่หลีกไปแล้ว ไปสู่โรงธรรมแล้ว นั่งบนธรรมาสน์ ต่อมาวันหนึ่ง พวกภิกษุอาคันตุกะเห็นพระอุทายีเถระนั้นแล้วเข้าใจว่า "ภิกษุนี้จักเป็นพระมหาเถระผู้พหูสูต" จึงถามปัญหาปฏิสังยุตด้วยขันธ์เป็นต้นแล้ว ติเตียนท่านผู้ไม่รู้อยู่ซึ่งพระพุทธวจนะอะไรๆ ว่า "นี่พระเถระอะไร อยู่ในพระวิหารเดียวกันกับพระพุทธเจ้า ยังไม่รู้ธรรมแม้สักว่าขันธ์ธาตุและอายตนะ" ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลความเป็นไปนั้นแด่พระตถาคต ลำดับนั้น พระศาสดา เมื่อจะทรงแสดงธรรมแก่พวกภิกษุอาคันตุกะนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
"ถ้าคนพาล เข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตอยู่ แม้จนตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้ธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกงฉะนั้น"
อธิบายว่า เหมือนอย่างว่า ทัพพี แม้คนแกงต่างชนิด มีประการต่างๆ อยู่ จนกร่อนไป ย่อมไม่รู้รสแกงป่า 'นี้รสเค็ม นี้รสจืด นี้รสต่างๆ อยู่จนกร่อนไป ย่อมไม่รู้รสแกงป่า 'นี้รสเค็ม นี้รสจืด นี้รสขม นี้รสขื่น นี้รสเผ็ด นี้รสเปรี้ยว นี้รสฝาด ฉันใด; คนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตลอดชีวิต ย่อมไม่รู้ธรรมมีประการดังกล่าวแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน.
กราบยินดีในความดีของ อ.คำปั่น อ.ฉัตรชัย และทุกๆ ท่านค่ะ