ความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดวิถีจิตกับหลักปฏิจจสมุปบาท
กระผมขอกราบเรียนถามถึง ความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดวิถีจิตกับหลักปฏิจสมุปบาท ในช่วงเกิดผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตามข้อพิจารณาของผมเห็นว่าเป็นอย่างนี้
- ตากระทบรูป เกิดจักษุทวาราวัชชนจิต เป็นกิริยาจิต
- เกิดจักษุปสาทรูปพร้อมกับจักษุวิญญาณ เป็นวิบากจิตทำหน้าที่รู้รูปารมณ์ มีเวทนาเจตสิกเกิดร่วม (เป็นเจตสิกหนึ่งในหลายเจตสิกที่เกิดร่วมกับจักษุวิญญาณ) ทำให้เกิดความรู้สึกทุกข์ หรือ สุข หรืออุเบกขา
- เกิดสัมปฏิจฉันนจิต เป็นวิบากจิตมีสัญญาเจตสิกเกิดร่วม ทำหน้าที่จำได้หมายรู้สิ่งที่เห็นหรือรูุปารมณ์ซึ่งดับไปแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์หรือสุขหรืออุเบกขา
- เกิดสันตีรณจิตทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ที่เห็น มีสังขารเจตสิกปรุงแต่ง มีมนสิการ เกิดร่วม เป็นช่วงเริ่มต้นของการเกิดตัณหา
- เกิดโวฏฐัพพนะจิตทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ว่าจะกระทำอกุศลหรือกุศลหรือกิริยา มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วม เพื่อให้ได้อารมณ์ที่ต้องการ น่าจะเป็นช่วงที่เกิดตัณหา (บางแห่งว่าโวฏฐัพพนะจิตเป็นจิตอันเดียวกับมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นกิริยา ไม่ทราบว่ากิริยาจิตทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ได้หรือไม่) เป็นจิตที่ตัดสินกระทำสิ่งใดหนึ่งชั่ววูบ การฆ่าตัวตาย ก็น่าจะเกิดจากจิตดวงนี้
- เกิดชวนจิต ๗ ขณะจิต ทำอกุศลหรือกุศลหรือกริยาตามที่โวฏฐัพพนะจิตส่งต่อคำตัดสินให้กระทำ
- เกิดตทาลัมพนจิต เป็นจิตที่สะสมกรรมที่ชวนจิตกระทำไว้ และจะส่งผลเป็นวิบากจิตเป็นผลของกรรมที่จะได้รับในโอกาสต่อไป
ความเห็นที่กล่าวมาแล้วนี้ผิด ถูกอย่างไร ขอความกรุณาช่วยแก้ให้ถูกต้องด้วยครับ เพราะความรู้ทางพระอภิธรรมมีน้อยมาก
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก โดยเฉพาะ ปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างที่เป็นปัจจัยต่อกันและกัน เพราะฉะนั้น สำหรับผู้ที่ศึกษาธรรมเบื้องต้น โดยเฉพาะ ยังมีความเข้าใจพระอภิธรรมไม่มากนั้น ไม่ควรที่จะไปเริ่มจากปฏิจจสมุปบาท แต่ควรเริ่มจากพื้นฐานพระอภิธรม ให้เข้าใจอย่างดีแล้วเสียก่อน โดยเฉพาะในเรื่องของจิต ชาติของจิต ประเภทของจิตว่ามีอย่างไรบ้าง เพราะ ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นธรรมคิดเอง คิดเองตามความเข้าใจที่ยังไม่มาก เปรียบเหมือนว่า ยังไม่เข้าใจ พยัญชนะ อักษรไทยถูกต้อง แต่จะไปเริ่มผสมคำ แม้ มีคนบอกว่า คำนี้ ผสมว่าอย่างนี้ อ่านออกเสียงอย่างนี้ แม้จะอ่านออกเสียงถูก แต่ คนนั้น ยังไม่รู้จักตัวอักษรไทยทั้งหมด และ ยังไม่รู้จัก หลักการผสมคำว่าจะอ่านอย่างไร เป็นการจำตามที่คนอื่นบอกเท่านั้น ครับ
ดังนั้น จะต้องเริ่มจากความเข้าใจพื้นฐานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่อง จิต เจตสิก รูป ที่เป็นพื้นฐานพระอภิธรรม ยังไม่ต้องไปไกลที่ ปฏิจจสมุปบาทเลย ครับ เพราะ แม้ให้คำตอบไป ก็จะกลายเป็นการจำเรื่องราว แต่ไม่เข้าใจ ตัวพื้นฐาน คือ จิต เจตสิก รูป ว่าคืออย่างไร มีประเภทอะไรบ้าง เป็นต้น
สำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่คำตอบว่าได้อย่างไร แต่สำคัญที่กลับมาสู่ความเข้าใจใหม่ คือ เริ่มจากเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานพระอภิธรรม และ ลืมไม่ได้เลย ไม่ว่าจะอ่าน ศึกษาพระธรรมเรื่องอะไร ไม่ใช่การเรียนแบบวิชาการทางโลก แต่ ศึกษาพระธรรม หมวดใด เพื่อละความไม่รู้ และ ละคลายความยึดถือว่าเป็นเรา เพราะ ไม่ว่าปฏิจจสมุปบาท หรือ พระอภิธรรม ก็เป็นการแสดงว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรม แต่ละอย่าง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ครับ
ประโยชน์ อยู่ตรงนี้ คือ ละคลายความยึดถือเห็นผิด ว่า มีเรา มีสัตว์ บุคคล ครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เชิญคลิกฟังที่นี่ ครับ
พื้นฐานพระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน
พื้นฐานพระอภิธรรมเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มั่นคง
ต้องมีพื้นฐานพระอภิธรรมที่มั่นคง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งมาก ขอเพียงฟัง ศึกษาด้วยความตั้งใจ ด้วยความอดทน สะสมความเข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย (เก็บเล็กผสมน้อย) ความเข้าใจก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นได้ว่า การฟังพระธรรมในขณะนี้ กับที่ผ่านๆ มาในอดีต ความเข้าใจย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขณะนี้ย่อมเพิ่มมากกว่าที่ผ่านๆ มาอย่างแน่นอน นี่คือ ความเข้าใจย่อมค่อยๆ เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ไม่ว่าจะกล่าวถึง วิถีจิต หรือ กล่าวถึง ปฏิจจสมุปบาท ก็คือ ธรรมที่มีจริงในขณะนี้ พระธรรมทั้งหมดที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด พระธรรมทุกคำแสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษามีความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง
สิ่งที่สำคัญ คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อย่าไปจำ อย่าไปคิด เพื่อที่จะให้เข้าใจในวิถีจิต ช่วงแรกๆ ผมก็พยายามทำอย่างนี้แหละ แต่ต่อมาก็ลืมอีก เพราะขณะที่คิด ขณะที่นึก นั่นแหละ วิถีจิต ได้ทำงานตามวงรอบของปฏิจจสมุปบาท และทุกขณะจนกว่าจะระลึกได้ ด้วยสติปัฏฐานนั่นแหละ วงจรของปฏิจจสมุปบาทจึงจะถูกตัดชั่วคราว ธรรมะของพระพุทธองค์ ต่างจากการศึกษาทางโลกก็ตรงที่ต้องประจักษ์ด้วยตัวเองนั่นแหละ แม้จะพยายามจำ พยายามเข้าใจ แต่ตราบใดที่ไม่ประจักษ์ความจริง ย่อมละคลายความสงสัยในสภาพธรรมะไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เองครูบาอาจารย์บางท่าน จึงไม่อยากที่จะอธิบาย ขยายความในสิ่งที่รู้ไม่ได้ด้วยจินตนาการหรือความคิด เพราะมันคนละอย่างกับความจริงที่เป็น ปรมัตถ์