การกระทำอมตะให้แจ้ง หมายความว่าย่อมสามารถรู้แจ้งนิพพานได้

 
สารธรรม
วันที่  17 ก.ย. 2565
หมายเลข  43998
อ่าน  180

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ฉันทสูตร มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ ย่อมละความพอใจในกายนั้นได้ เพราะละความพอใจได้จึงเป็นอันชื่อว่า ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

ส่วนข้อความต่อไปก็โดยนัยเดียวกัน คือ พิจารณาเวทนา จิต ธรรม เมื่อเธอพิจารณาเห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม ย่อมละความพอใจในเวทนา ในจิต ในธรรมเพราะละความพอใจได้ จึงเป็นอันชื่อว่า ทำให้แจ้งซึ่งอมตะ

ถึงแม้เวลานี้ยังไม่รู้สึกว่าหน่าย คลายความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในนาม ในรูป ที่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะทีละเล็กทีละน้อย แต่วันหนึ่ง เมื่อรู้มากขึ้นก็ต้องละความยินดีความพอใจ ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน ซึ่งเมื่อละก็เป็นการกระทำอมตะให้แจ้ง หมายความว่าย่อมสามารถรู้แจ้งนิพพานได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 91


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ