อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

 
สารธรรม
วันที่  18 ก.ย. 2565
หมายเลข  44041
อ่าน  222

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า

ณ พระวิหารเชตวัน ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตในพระนคร สาวัตถี ท่านพระราหุลเป็นปัจฉาสมณะ ตามหลังพระผู้มีพระภาคไป และพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทท่านพระราหุล ทำให้ท่านกลับไป เพราะเห็นว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสโอวาทแก่ท่านแล้ว ท่านก็ควรที่จะเจริญสมณธรรม

เมื่อท่านกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วบอกกับท่านพระราหุลว่า

ดูกร ราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

เวลาที่อ่านพระสูตรตอนแรกๆ ก็อาจจะข้ามพยัญชนะ ไม่ค่อยได้คิดถึงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดบุคคลนั้นจึงได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่าอย่างนั้น แต่ว่าถ้าท่านอ่านซ้ำหลายๆ ครั้ง อาจจะเกิดความแจ่มแจ้งถึงเหตุถึงผลได้ และเข้าใจได้โดยตลอดว่า เพราะเหตุใดท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวกับท่านพระราหุลอย่างนั้น แต่เมื่อท่านพระราหุลออกจากที่เร้น ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วก็กราบทูลถามว่า

อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

แสดงว่าท่านพระราหุล เจริญอานาปานสติภาวนาตลอดเวลาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของรูป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านพระราหุลท่านก็ได้บรรพชาอุปสมบทเจริญสติปัฏฐานเป็นเวลานาน ไม่ใช่เป็นเวลาเล็กน้อย แต่ว่าท่านพระภิกษุในครั้งโน้นท่านมีศรัทธาออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เจริญสติปัฏฐานกันวันแล้ววันเล่าทีเดียว แต่การที่จะละคลายการยึดถือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นสิ่งที่ยาก เป็นสิ่งที่ต้องเจริญเป็นเวลานาน

พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของรูป คือ ธาตุดินส่วนต่างๆ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างในปฏิกูลมนสิการบรรพ ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยความว่า ส่วนต่างๆ เหล่านั้นเป็นปฐวีธาตุภายใน

แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน ปฐวีธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ

ต่อไปเป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ อากาศธาตุ

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ราหุล เธอจงเจริญภาวนา คือ อบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้างลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

ไม่ว่าจะเป็นท่านพระราหุล หรือท่านพระภิกษุในครั้งโน้นซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีวิบากกรรมที่ได้สะสมที่จะได้รับกระทบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เมื่อกิเลสยังมีเป็นเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ จักไม่ครอบงำ ก็เพราะเหตุว่าผู้นั้นเจริญสติ

ข้อความต่อไปเป็นอาโปธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระราหุลโดยนัยเดียวกันว่า

ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้างลงในน้ำ น้ำจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน การศึกษาพระไตรปิฎกก็เกื้อกูลความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น เพราะไม่ว่าจะเจริญอบรมจิตใจให้เสมอด้วยน้ำก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่ว่าจะกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิตด้วยทิฏฐิ ตัณหา มานะได้

สำหรับการเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟก็เหมือนกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

เป็นปกติธรรมดา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น มากขึ้น การละคลายมากขึ้น จิตก็ย่อมจะเสมอกับแผ่นดิน เสมอกับน้ำมากยิ่งขึ้น เสมอกับไฟมากยิ่งขึ้น

สำหรับเรื่องของการเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ก็โดยนัยเดียวกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

ต่อไปเป็นการเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ซึ่งเป็นโดยนัยเดียวกัน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

ที่ว่าอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ก็เพราะเหตุว่าอากาศนั้นแทรกซึมไปทั่วหมด อากาศจึงไม่ได้เลือกที่จะอึดอัด ที่จะระอา ที่จะแทรกซึมแต่เฉพาะสิ่งนั้นสิ่งนี้ แต่ว่าเมื่อเป็นผู้ที่เจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ จิตก็มั่นคง ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

ส่วนข้อความต่อไปก็เกื้อกูลกับท่านผู้ที่เจริญสติปัฏฐานด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ราหุล เธอจงเจริญเมตตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเจริญเมตตาภาวนาอยู่ จักละพยาบาทได้

เธอจงเจริญกรุณาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญกรุณาภาวนาอยู่ จักละวิหิงสาได้

เธอจงเจริญมุทิตาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญมุทิตาภาวนาอยู่ จะละอรติได้

เธอจงเจริญอุเบกขาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอุเบกขาภาวนาอยู่ จะละปฏิฆะได้

เธอจงเจริญอสุภภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอสุภภาวนาอยู่ จักละราคะได้

เธอจงเจริญอนิจจสัญญาภาวนาเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญอนิจจสัญญาภาวนาอยู่ จักละอัสมิมานะได้

ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคได้ให้ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติภาวนา พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระสูตรนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค

ตามธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น เพราะได้ฟังธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ มีข้อความในพระสูตร แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงของธาตุทั้ง ๔ เป็นธาตุมนสิการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 97

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 98


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ