การเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนหรือผิดไปนั้น มีไม่น้อยเลย

 
สารธรรม
วันที่  16 ต.ค. 2565
หมายเลข  44730
อ่าน  198

จะเห็นได้ว่า การเข้าใจธรรมคลาดเคลื่อนหรือผิดไปนั้น มีไม่น้อยเลย และมีในลักษณะต่างๆ กัน เช่น ถ้าจะไม่กล่าวถึงในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน จะกล่าวถึงความเข้าใจธรรมทั่วๆ ไป บางท่านก็คิดว่า ทานไม่มีประโยชน์เลย ให้แล้วก็หมดไป ผู้ที่เข้าใจอย่างนี้ก็มี และเป็นผู้ที่ไม่ให้ทาน เพราะว่าไม่เห็นประโยชน์ของทาน บางคนเข้าใจผิดในการให้ แม้ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเองก็ยังถูกบุคคลอื่นเข้าใจผิด

ใน สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค กุลสูตรข้อ ๖๒๐ มีข้อความว่า

สมัยหนื่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบท พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จถึงนาฬันทคาม ได้ยินว่า สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกอัมพวัน ใกล้นาฬันทคาม สมัยนั้นแล ชาวนาฬันทคามมีภิกษาหาได้ยาก เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยสลาก (บัตรปันส่วน)

สมัยนั้นแล นิครณฐ์นาฏบุตรอาศัยอยู่ในนาฬันทคาม พร้อมด้วยบริษัท นิครณฐ์เป็นอันมาก ครั้งนั้นนายบ้านนามว่าอสิพันธกบุตร สาวกนิครณฐ์ เข้าไปหานิครณฐ์นาฏบุตรยังที่อยู่ ไหว้แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วนิครณฐ์-นาฏบุตรได้พูดกับนายคามณีอสิพันธกบุตรว่า

มาเถิด นายคามณี จงยกวาทะแก่พระสมณโคดม กิตติศัพท์อันงามของท่านจักขจรไปอย่างนี้ว่า นายคามณีอสิพันธกบุตร ยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้

นายคามณีก็ถามว่า

ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะยกวาทะแก่พระสมณโคดม ผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากอย่างไร

นิครณฐ์นาฏบุตรก็กล่าวว่า

มาเถิดท่านคามณี จงเข้าไปหาพระสมณโคดม ครั้นแล้วจงกล่าวกะพระสมณโคดมอย่างนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยายมิใช่หรือ ถ้าพระสมณโคดมถูกท่านถามอย่างนี้แล้ว ทรงพยากรณ์อย่างนี้ว่า อย่างนั้นนายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยาย

ท่านจงกล่าวกะพระสมณโคดมนั้น อย่างนี้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้น ทำไมพระผู้มีพระภาคกับพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมากจึงเที่ยวจาริกอยู่ในนาฬันทคามอันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยฉลากเล่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น

ดูกร นายคามณี พระสมณโคดมอันท่านถามปัญหา ๒ เงื่อนนี้แล้ว จะไม่อาจคาย จะไม่อาจกลืนได้เลย

อสิพันธกบุตรก็รับคำนิครณฐ์นาฏบุตร แล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลตามที่นิครณฐ์นาฏบุตรได้สั่งสอนให้กราบทูลทุกประการ

ได้ทูลถามว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยายมิใช่หรือ

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

อย่างนั้น นายคามณี ตถาคตสรรเสริญความเอ็นดู การตามรักษา ความอนุเคราะห์สกุลทั้งหลายโดยเอนกปริยาย

ซึ่งอสิพันธกบุตร ก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเช่นนั้น ทำไมพระผู้มีพระภาคกับพระภิกษุสงฆ์ เป็นอันมาก จึงเที่ยวจาริกอยู่ในนาฬันทคาม อันเกิดทุพภิกขภัย เลี้ยงชีวิตอยู่ได้โดยฝืดเคือง เกลื่อนกลาดด้วยกระดูก ต้องจับจ่ายด้วยฉลากเล่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติเพื่อตัดรอนสกุล เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น

พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติผิดหรือถูกในการประทับที่ใกล้เมืองนาฬันทคาม ซึ่งขณะนั้นมีทุพภิกขภัย ชาวบ้านฝืดเคืองเป็นอันมาก ถ้าไม่เข้าใจเหตุผลเรื่องของกุศลกรรมและกุศลวิบาก อกุศลกรรมและอกุศลวิบาก ก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อน และอาจจะคิดว่า พระผู้มีพระภาคทรงปฏิบัติผิด

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร นายคามณี แต่ภัทรกัปป์นี้ไป ๙๑ กัปป์ที่เราระลึกได้ เราไม่รู้สึกว่าเคยเบียดเบียนสกุลไหนๆ ด้วยการถือเอาภิกษาที่สุกแล้วเลย อนึ่งเล่า สกุลเหล่าใดมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก มีทองและเงินมาก มีทรัพย์ คือ เครื่องอุปกรณ์มาก มีทรัพย์ คือ ข้าวเปลือกมาก สกุลทั้งปวงนั้นเจริญขึ้นเพราะการให้ทาน เพราะสัจจะและสัญญมะ

ดูกร นายคามณี เหตุปัจจัย ๘ อย่าง เพื่อความคับแค้นแห่งสกุลทั้งหลาย คือ สกุลทั้งหลายถึงความคับแค้นจากพระราชา ๑ จากโจร ๑ จากไฟ ๑ จากน้ำ ๑ และทรัพย์ที่ฝังไว้เคลื่อนจากที่ ๑ ย่อมวิบัติเพราะการงานที่ประกอบไม่ดี ๑ทรัพย์ในสกุลเกิดเป็นถ่านไฟ ๑ คนในสกุลใช้จ่ายโภคทรัพย์เหล่านั้นฟุ่มเฟือย ให้พินาศสูญหายไป ๑ ความไม่เที่ยงเป็นที่ ๘

ดูกร นายคามณี เหตุปัจจัย ๘ อย่าง เหล่านี้มีอยู่ ผู้ใดพึงว่าเราอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคปฏิบัติเพื่อให้สกุลขาดสูญ เพื่อให้สกุลเสื่อม เพื่อให้สกุลคับแค้น ดังนี้ ผู้นั้นยังไม่ละวาจานั้น ยังไม่ละความคิดนั้น ยังไม่สละทิฏฐินั้น ต้องดิ่งลงในนรกแน่แท้

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว นายคามณีอสิพันธกบุตรได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะจนตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเจ้าข้า

เหตุที่ทำให้ฝืดเคือง มีชีวิตที่ลำบากยากไร้นั้นมีแล้วในอดีต ไม่ใช่ว่า ผู้มีพระภาคไปทรงเบียดเบียนบุคคลเหล่านั้น บุคคลเหล่านั้นจึงได้เกิดทุพภิกขภัย หรือมีชีวิตที่ฝืดเคือง นี่เป็นกรรมที่ได้กระทำไว้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงอนุเคราะห์ เพราะถึงแม้ว่าจะมีวัตถุไทยธรรมน้อย แต่สามารถที่จะสละให้ได้ ขณะจิตนั้นก็เป็นกุศลจิต อย่าสับสนระหว่างเหตุกับผล เวลาที่เห็นใครมีชีวิตลำบากยากไร้ขัดสน แล้วคิดว่า เป็นเพราะเหตุที่พระภิกษุบิณฑบาต หรือว่าเบียดเบียน ความเข้าใจอย่างนั้นไม่ถูก แต่การที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ใกล้นาฬันทคามนั้น เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลที่ไม่ได้กระทำบุญไว้ในอดีตได้กระทำ และผลที่ดีที่เกิดจากการถวายไทยธรรม หรือถวายภัตตาหารแก่พระองค์ ก็จะเกิดขึ้น

จะเห็นได้ว่า อสิพันธกบุตรซึ่งเป็นนายบ้าน ยอมจำนนต่อเหตุผล จึงสามารถละทิ้งความเห็นผิด แต่ถ้าบุคคลใดถึงแม้ว่าจะศึกษาพระธรรม แต่ไม่พิจารณาเหตุผล ไม่ถือเหตุผลเป็นประมาณ ย่อมจะไม่ละความเห็นผิด แม้ในขณะที่ให้ทาน สติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป เป็นการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อย่าเข้าใจผิดว่า การเจริญวิปัสสนาหรือการเจริญสติปัฏฐานนั้นให้ทานไม่ได้ ขอให้ดูชีวิตของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขามิคารมารดา ซึ่งเป็นพระอริยสาวก ท่านให้ทานอย่างมากทีเดียว

พระอริยสาวกที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ เป็นเสกขบุคคล ต้องเจริญสติปัฏฐานต่อไป เจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปต่อไปจนกว่าจะเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงขึ้น เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและวิสาขามหาอุบาสิกานั้น ท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ท่านไม่หลงเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ และท่านก็ถวายทานเป็นอันมาก ไม่ใช่เจริญสติปัฏฐานแล้วให้ทานไม่ได้ มิฉะนั้นแล้วก็จะไม่ใช่ชีวิตปกติประจำวัน เพราะเหตุว่าการที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงต้องเป็นการรู้สภาพชีวิตจริงๆ เป็นปกติในชีวิตประจำวัน

อย่างจิตตานุปัสสนา บรรพที่ไม่ใช่สราคจิต ระลึกรู้ในขณะที่จิตเป็นกุศล ในขณะที่จิตเป็นวิบาก การที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆ ได้กลิ่นต่างๆ รู้รสต่างๆ รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสต่างๆ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้หนึ่งผู้ใดเลย เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้ทำไว้ เพราะฉะนั้น สติระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ไปกั้น ไปสร้างอะไรขึ้นมาปิดบังสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 166

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 167


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ