ถ้าไม่รู้จักจิตแต่ละหนึ่งปนกันหมด ก็เป็นเราตลอดไป_สนทนาธรรม ไทย-ฮินดี วันเสาร์ที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๖

 
เมตตา
วันที่  19 ส.ค. 2566
หมายเลข  46402
อ่าน  373

- ขณะนี้มีจิตอะไร? (เห็น) ก่อนเห็นเป็นจิตอะไร? (อาวัชชนะ) ก่อนเห็นเป็นอาวัชชนจิตทางไหน? (จักขุทวาร) ถ้าตาบอดจะมีปัญจทวาราวัชชนจิตไหม? (ถ้าตาบอดไม่มีจักขุทวาราวัชชนะจิต แต่มีทวาราวัชชนจิตอื่นๆ) เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตมีกี่ดวง? (๕ ดวง) บอกว่ามี ๑ แต่รู้ได้ ๕ ทวารได้ไหม? (ได้ครับ) นี่คือความเข้าใจ ชื่อเรียกอะไรก็ได้แต่จิตนี้เกิดขึ้นต้องทำกิจนี้ก่อนเห็น ก่อนได้ยิน ก่อนได้กลิ่น ก่อนลิ้มรส ก่อนรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส.

- จักขุวิญญาณดับแล้ว จิตอะไรเกิดต่อ? (สัมปฏิจฉันนะ) สัมปฏิจฉันนจิตไม่เกิดต่อจากจักขุวิญญาณได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะอะไร? (เหตุผลหลายอย่าง เช่น อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย แลัยังเป็นเพราะกรรมยังให้ผลเป็นวิบากต่อ และยังมีปัจจัยอื่น) เก่งมาก ถูกต้อง.

- เพราะฉะนั้น ขณะนี้สัมปฏิจฉันนะปรากฏหรือเปล่า? (ไม่ปรากฏ) เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้เห็นปรากฏเป็นนิมิตของเห็น แต่ไม่ใช่นิมิตของปัญจทวาราวัชชนะ กับสัมปฏิจฉันนะใช่ไหม? (ครับ) .

- สัมปฏิจฉันนะมีกี่ดวง? (มี ๑ ดวง) หรือ? สัมปฏิจฉันนะมี ๑ หรือ? (คำตอบของอาช่า ว่า ถ้าหลังจากจักขุวิญญาณดับแล้วมีสัมปฏิจฉันนะกี่ดวง ... ) ไม่ใช่ค่ะ สัมปฏิจฉันนะต้องเกิดต่อ และดิฉันถามว่าสัมปฏิจฉันนะไม่เกิดได้ไหม เขาก็ตอบว่าไม่เกิดไม่ได้เพราะว่ามีปัจจัยหลายอย่าง แล้วดิฉันก็ถามว่า สัมปฏิจฉันนะมีกี่ดวง? (ถ้านัยว่าจักขุวิญญาณมี ๒ เป็นผลของอกุศล และผลของกุศลในนัยนั้นก็มีสัมปฏิจฉันนะ ๒ ครับ) ทำไมเป็นนัยล่ะ? (จากคำถาม) จากคำถามอย่างไรก็ตาม ถ้าถามว่าสัมปฏิจฉันนะมีกี่ดวงก็ต้องตอบว่าอย่างไร ไม่ใช่นัยนี้หรือนัยนั้น ถามว่า สัมปฏิจฉันนะมีกี่ดวง? (เขายังตอบว่ามี ๑ แต่ถ้าเป็นกุศลหรืออกุศลก็ต้องมี ๒ ครับ) ถามนะ คิดแล้วก็ตอบ สัมปฏิจฉันนะมีกี่ดวง? (ยังตอบว่า ๑) สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากจะเป็นสัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนะมีกี่ดวง? (๒ ครับ) ต้องไม่ลืมนะไม่ว่าจะถามอย่างไรต้องฟังคำถาม ตอบให้ตรงคำถาม.

- ปัญจทวาราวัชชนจิตมีกี่ดวง? (๑ ดวง) ทำไมไม่มี ๒? (เพราะเป็นกิริยาจิต) หมายความว่าอย่างไร เป็นกิริยาจิต? (เพราะเป็นกุศลก็ไม่ได้ เป็นอกุศลก็ไม่ได้ เป็นกุศลวิบากก็ไม่ได้ เป็นอกุศลวิบากก็ไม่ได้) เพราะอะไร? (ไม่ทราบเหตุผลครับ) เพราะเพียงรู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร เพียงรู้ว่าไม่ใช่ไม่รู้ เพียงเกิดขึ้นรู้ว่าอารมณ์กระทบทวาร ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม หรืออารมณ์ที่ไม่ดีเป็นผลของอกุศลกรรมที่จิตที่เป็นวิบากต้องเกิดขึ้น แต่ปัญจทวาราวัชชนะรู้ทั้งที่เป็นอารมณ์ที่ดีและไม่ดี.

- ใครไม่มีจิตนี้? (ถ้ามีชีวิตก็ต้องมี ไม่มีใครที่ไม่มี) เพราะฉะนั้น ต่อไปจะทราบว่าในโลกที่มีรูปธรรมต้องมีจิตนี้ แต่ในโลกที่ไม่มีรูปเลยอรูปพรหมไม่มีจิตนี้แน่นอน.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ และกราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดีค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เมตตา
วันที่ 19 ส.ค. 2566

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลกทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น หลายโลก และแต่ละหนึ่งก็เป็นโลก เพราะฉะนั้น เราเรียนเพื่อให้รู้ในคุณที่ไม่สิ้นสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะมั่นคง.

- ขอพูดเรื่องความต่างของจิตที่เป็นอเหตุกะนิดหน่อยไม่มาก แต่ให้รู้ถึงความละเอียดลึกซึ้งของธรรม จิตอะไรมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด? (ปัญจวิญญาณ) เพราะฉะนั้น ปัญจทวาราวัชชจิตมีเจตสิกเท่าไหร่ ไม่ใช่จำนวนนะ แต่ถามเทียบกับจักขุวิญญาณโสตวิญญาณ? (ตามที่เข้าใจน่าจะเท่ากันครับ) ถ้าอย่างนั้นทำไมพูดว่า จิต ๑๐ ดวงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุดถ้าเท่ากัน? (คือตอนนั้นไม่ได้คิดถึงปัญจทวราวัชชนจิต แต่เมื่อถามแล้วคิดว่าเท่าๆ กัน) น่าจะ และจะมีคำว่า จิต ๑๐ ดวงมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด จิต ๑ๆ ดวงหมายความว่าอะไร? (แกไม่เคยได้ยินตรงนั้นว่ามี ๑๐ ดวงที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด) แต่เราเคยพูดแต่ไม่ได้บอกชื่อเจตสิกใช่ไหม แต่เขาอาจจะไม่ทันฟังหรือว่าดิฉันจะไม่ได้พูดบ่อยก็ได้ แต่ ณ บัดนี้ให้ทราบว่า จิตทั้งหมดมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยมากกว่า ๑ ดวงแน่นอน แต่ว่าจำนวนน้อยที่สุดที่จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง จิตที่มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ดวง น้อยที่สุด.

- เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ทุกคำที่ได้ฟังเข้าใจขึ้นได้ที่จะค่อยๆ รู้ความต่างกัน แสดงว่าแต่ละหนึ่งจะเป็นเราหรือเป็นอะไรไม่ได้เลย.

- เราฟังคำของพระพุทธเจ้าเพื่อรู้คุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ลึกซึ้ง และทำให้เราสามารถเริ่มเข้าใจความจริงตามลำดับขั้น เพื่อเป็นความเข้าใจที่มั่นคงเป็นพื้นฐานที่รู้ในความละเอียดของแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงธรรมแต่ละหนึ่ง ถ้าไม่พูดอย่างนี้จะเริ่มเห็นพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไหม? (ไม่รู้) .

- กว่าจะเริ่มเข้าใจทีละเล็กทีละน้อยว่า ไม่มีเรา จนกว่าจะหมดความเห็นผิดว่าเป็นเราในทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังปรากฏ.

- ปัญจทวาราวัชชนจิตมีเจตสิกเกิดมากกว่าหรือน้อยกว่าจักขุวิญญาณ? (มากกว่า) เพราะอะไร? (น้อยกว่า ๗ ก็ไม่ได้เมื่อปัญจวิญญาณมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยที่สุด ๗ ดวง เพราะฉะนั้น จิตอื่นจะน้อยกว่านี้หรือเท่านี้ไม่ได้ต้องมากกว่านี้) และเพราะเหตุว่าจักขุวิญญาณสามารถเกิดได้ทวารเดียว แสดงให้เห็นว่าสั้นแสนสั้นที่สุด คือจิตเกิดขึ้นเห็น ๑ ขณะ.

- สัมปฏิจฉันนะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไหร่? (มากกว่า ๗) สัมปฏิจฉันนกุศลวิบาก สัมปฏิจฉันนอกุศลวิบาก มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่ากันไหม? (ไม่เท่ากัน) เดี๋ยวก่อนนะ ฟังดีๆ นะ กุศลวิบาก อกุศลวิบาก ไม่ใช่กุศลกรรม และอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น สัมปฏิจฉันนกุศลวิบากกับสัมปฏิจฉันนอกุศลวิบากมีเจตสิกเท่ากันไหม? (ถ้าพิจารณาดูว่า วิบากไม่ใช่เป็นกุศล อกุศล เพราะฉะนั้น จะเป็นผลของกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมไม่น่าจะต่างกันในแง่เจตสิก) นี่เป็นความคิดว่า ไม่น่า แต่ความจริงต้องไม่ต่างกันเหมือนกับฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เบียดเบียน ทำทุจริตกรรม ทำพุทธบามพระพุทธเจ้าให้ห้ออะไรก็ตามแต่ ให้ผลเป็นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณเท่ากันหมด ไม่ว่ากรรมเล็กหรือกรรมน้อย แต่เวลาให้ผล ผลก็คือว่าเพียงทำให้จิตเหล่านี้เกิดขึ้นรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ.

- สัมปฏิจฉันนะที่โลกมนุษย์กับสัมปฏิจฉันนะที่เทวโลกต่างกันหรือเหมือนกัน? (ครับ) เหมือนกันใช่ไหม? (ใช่) มีเจตสิกประกอบเท่ากันไหม? (เท่ากัน) .

- สัมปฏิจฉันนะในเทวโลกมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวงได้ไหม? (ไม่ได้) ถูกต้อง นี่เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณา คิดไตร่ตรองละเอียดขึ้นๆ แล้วก็จะเข้าใจในเหตุและผลเพิ่มขึ้น.

- อเหตุกจิตทั้งหมดมีเท่าไหร่? (๑๘) เราพูดถึงอเหตุกวิบากจิตกี่ดวงแล้ว? (ตอนนี้เราพูดถึง ๑๒ อเหตุกวิบากจิตแล้ว) เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราจะพูดถึงสันตีรณะที่เกิดต่อจากสัมปฏิจฉันนะ จิตนี้เป็นจิตสุดท้ายของการให้ผลของกรรม เพราะฉะนั้น ๓ จิตนี้เป็นจิตที่เป็นผลของกรรม อย่าลืมนะที่ไม่เกิดกับเหตุ ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย (ท่านอาจารย์ตอนท้ายว่าอย่างไรครับ) หมายความว่าเราพูดถึงอเหตุกะที่เป็นวิบากใช่ไหม เพราะฉะนั้น จิต ๓ ดวงนี้เป็นอเหตุกสันตีรณวิบาก ๓ ดวงสุดท้าย.

- จักขุวิญญาณมีกี่ดวง? (๒ ดวง) รวมทั้งโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณด้วยนะเป็น ๑๐ แล้วอะไรอีก ๒ ที่เป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ (สัมปฏิจฉันนะ) แพราะฉะนั้น สันตีรณะ ๓ พิเศษกว่าวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุทั้งหมดใช่ไหม? (มีอะไรที่ต่างกัน) ต่างกันตรงไหนก่อน? (ต่างกันที่ว่า ถ้าเป็นผลของอกุศลมี ๑ ถ้าเป็นผลของกุศลมี ๒ ครับ) แสดงว่า ผลของกรรมที่ดีให้ผลอย่างอ่อนไม่ประกอบด้วยเหตุแต่ว่าถึงอย่างนั้น ฐานะที่กุศลเกิดยากกว่าอกุศล เพราะฉะนั้น เวลาให้ผลกุศลวิบากแม้ไม่ประกอบด้วยเหตุก็ยังมีมากกว่าในขณะที่เป็นสันตีรณจิตซึ่งเป็นวิบากสุดท้ายของอเหตุกจิต.

- เพราะฉะนั้น วิบากอื่น กุศลวิบากมี ๑ ๑ ๑ แต่สันตีรณะมีกุศลวิบาก ๒ อกุศลวิบาก ๑ เพราะฉะนั้น กรรมให้ผลรู้อารมณ์ที่น่าพอใจเป็นผลของกุศลกรรม รู้อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจเป็นผลของอกุศลกรรม.

- สันตีรณะที่เป็นอเหตุกวิบากมี ๓ เป็นอกุศลวิบาก ๑ และเป็นกุศลวิบาก ๒ ต่างกันที่ ๑ ดวงเป็นสันตีรณะที่เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา อีก ๑ ดวงเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา.

- เท่าที่เราพอจะเข้าใจได้เราก็รู้ว่า อารมณ์ที่ดีหลากหลายมาก บางอย่างก็ดีมาก บางอย่างก็ดีพอสมควรไม่เท่ากัน แม้ว่าอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดีมาก จักขุวิญญาณเพียงเกิดขึ้นเห็น สัมปฏิจฉันนะเพียงเกิดขึ้นรับ สันตีรณะขณะนั้นเกิดขึ้นรู้มากกว่าในอารมณ์นั้นจึงเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนาในอารมณ์ที่ดียิ่ง.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เมตตา
วันที่ 19 ส.ค. 2566

- อุเบกขาสันตีรณะเกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ดีที่น่าพอใจต่อจากสัมปฏิจฉันนะ แต่เมื่ออารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ที่ดีมาก ถึงวาระที่สัมปฏิจฉันนะจะรู้ในอารมณ์นั้นมากกว่าสัมปฏิจฉันนะ ขณะนั้นสันตีรณะจึงรู้อารมณ์นั้นด้วยโสมนัสเวทนา.

- ไม่มีใครรู้ได้ว่า ขณะนี้จักขุวิญญาณรู้อารมณ์ที่ดีหรือดีมาก หรือว่าสัมปฏิจฉันนะรับอารมณ์ที่ดีต่อ หรือว่าสันตีรณะรู้อารมณ์ที่ดีมากด้วยโสมนัสเวทนา ไม่สามารถจะรู้ได้เลยเพราะสั้นมาก และเป็นเพียง ๑ ขณะจิต.

- เคยรับดอกไม้ที่สวยจังสวยมากไหม? (เคย) ขณะนั้นหลังจากที่จักขุวิญญาณดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะดับแล้ว อะไรเกิดต่อ? (เกิดกับโสมนัสเวทนา) ขณะนั้นต้องเป็นโสมนัสสันตีรณกุศลวิบากที่รู้อารมณ์ที่ดีนั้น.

- โสมนัสสันตีรณะเกิดได้กี่ทวาร? ( ... ) อันนี้ยังไม่ได้เรียนจริงๆ นะ แต่เท่าที่เขาทราบ (๕ ครับ) เท่าที่ทราบนะ แต่ยังมีพิเศษเพราะสันตีรณะมีถึง ๓ ดวง เพราะฉะนั้น เราค่อยๆ พูดถึงให้รู้ว่าต่างกันนะ ค่อยๆ ต่างกันทีละน้อย เพราะฉะนั้น สันตีรณะเกิดได้เท่าที่ทราบคือ ๕ ทวาร ทำกิจอะไร? (ท่านอาจารย์ทวนคำถามใหม่ครับ) เพราะฉะนั้น เราพูดถึงที่เรากล่าวถึงแล้วนะว่า สันตีรณจิตทำสันตีรณกิจ อย่าลืมนะทำสันตีรณกิจกี่ทวารเท่าที่ทราบ? (๕ ทวารครับ) เพราะฉะนั้น มีจิตไหนบ้างที่เป็นผลของกรรมที่ทำกิจปฏิสนธิเป็นอเหตุกะ? (สันตีรณะที่ทำปฏิสนธิได้) สันตีรณะมี ๓ ดวง ดวงไหนทำกิจปฏิสนธิ? (อกุศลวิบากกับกุศลวิบาก) อกุศลสันตีรณวิบากเกิดที่ไหน? (อบายภูมิครับ) แสดงให้เห็นว่า จิตอื่นที่เป็นวิบากที่ไม่ประกอบด้วยเหตุไม่สามารถทำปฏิสนธิได้เลยนอกจากสันตีรณอกุศลวิบากซึ่งเป็นกิจสุดท้ายของอเหตุกอกุศลวิบากเท่านั้นที่รู้อารมณ์มากกว่า มากกว่าปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ เพราะฉะนั้น จิตนี้สามารถจะให้ผลเพราะไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะเป็นอกุศลวิบากต้องจิตนี้ที่รู้อารมณ์มากกว่าสุดท้าย ทำให้ปฏิสนธิในอบายภูมิเท่านั้น.

- ขณะเกิดเป็นช้างขณะนั้นจิตอะไรทำปฏิสนธิ? (สันตีรณอกุศลวิบาก) แล้วเกิดเป็นมด อะไรทำกิจปฏิสนธิ? (สันตีรณอกุศลวิบาก) เกิดเป็นเปรตจิตปฏิสนธิเป็นอะไร? (สันตีรณอกุศลวิบาก) เกิดในนรกทุกคนทุกสิ่งในนรกปฏิสนธิจิตเป็นอะไร? (สันตีรณอกุศลวิบาก) แล้วก็อกุศลวิบากจิตจะทำให้เกิดเป็นมนุษย์ได้ไหม? (ไม่ได้) นี่เป็นอเหตุกอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบาก.

- แล้วอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากทำให้เกิดในนรกได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น สันตีรณอเหตุกกุศลวิบากทำกิจปฏิสนธิได้ไหม? (ได้) ปฏิสนธิที่ไหน? (เกิดเป็นมนุษย์แต่พิการ) เก่งมากไม่ลืม เพราะฉะนั้น ต้องจำละเอียดในเหตุผลด้วย เพราะเหตุว่าเป็นมนุษย์ก็จริงแต่เป็นผลของกุศลอย่างอ่อน เพราะฉะนั้น จิตที่ทำปฏิสนธิได้ ก็คือสันตีรณะ เพราะฉะนั้น สันตีรณกุศลวิบากทำให้เกิดเป็นมนุษย์แต่ทำให้เกิดในอบายไม่ได้แต่เป็นมนุษย์พิการ.

- เมื่อเป็นกุศลแม้ว่าเป็นกุศลอย่างอ่อนให้ผล กุศลที่มีกำลังไม่ได้ให้ผลไม่ถึงเวลา แต่ถึงเวลาของกุศลกรรมอย่างอ่อนทำให้เกิดในภูมิมนุษย์ด้วยผลของกรรมของสุคติภูมิแต่ว่าไม่ปกติเป็นคนพิการ บ้า ไบ้ บอด หนวกตั้งแต่เกิด เพราะฉะนั้น ผลของกุศลต้องไม่ไปเกิดในนรกหรือในอบายภูมิ (ท่านอาจารย์ช่วยทวนใหม่) กุศลกรรมแม้อย่างอ่อนก็ไม่สามารถให้ผลไปเกิดในนรก หรืออบายภูมิได้ เพราะฉะนั้น ต้องให้ผลทำให้เกิดได้แต่เป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด

- ปฏิสนธิจิตของคุณอาช่าเป็นสันตีรณกุศลวิบากหรือเปล่า? (ไม่) คุณอาคิ่ลล่ะ? (ไม่) เพราะฉะนั้น เป็นจิตอะไร? (เป็นสันตีรณะไม่ได้แต่เป็นผลของกุศลกรรมที่มีเหตุ) ก็เก่งนะถึงอย่างไรก็พยายามคิดออกมาจนได้.

- เพราะฉะนั้น สันตีรณอกุศลวิบากมีกี่กิจ? (๕ กิจ) อะไรบ้าง? (ถ้าเป็นอกุศลตอนนี้ทบทวนแล้วคือ ๔ ปฏิสนธิ ภวังค์ จุติ และสันตีรณะ) ดีมาก ตอนนี้เราก็พูดเรื่องอเหตุกะที่เป็นวิบากพอสมควรแล้วนะ เพราะฉะนั้น เราจะพูดถึงกิริยาจิต.

- ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดได้กี่ทวาร? (๕ ทวาร) ทำได้กี่กิจ? (๑ กิจ) .

- สัมปฏิจฉันนะเกิดได้กี่ทวาร? (๕ ทวาร) ทำกิจได้กี่กิจ? (๑ กิจ) .

- อเหตุกจิตทั้งหมด จิตอะไรทำกิจได้มากกว่า ๑ กิจ? (สันตีรณะ) นี่เป็นจิตที่สำคัญนะ เรายังมีเรื่องที่ต้องกล่าวถึงสันตีรณจิตอีกต่อไป แต่ให้รู้ว่า อเหตุกะที่เป็นอกุศลวิบากต้องมีเพียง ๗ และสุดท้ายก็คือ สันตีรณกิจที่เป็นอกุศลวิบากอเหตุกะทำกิจปฏิสนธิได้แต่อันอื่นทำไม่ได้.

- เราเรียนเรื่องจิตแต่ละหนึ่งเพื่อไม่ปะปนกัน ว่า เป็นแต่ละหนึ่งจริงๆ ขณะนี้เราจะเริ่มพูดถึงอเหตุกกิริยาจิตซึ่งมี ๓ ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งพูดแล้ว ก่อนเห็นก่อนได้ยินต้องมีจิต ถ้าไม่มีจิตนี้เกิดขึ้นก็จะไม่มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้น ๕ ทวาร.

- เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้เราจะเริ่มพูดถึงจิตที่เป็นกิริยาจิตที่ไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย ใครไม่มีปัญจทวาราวัชชจิต? (คุณมาธุตอบว่า ไม่มี) ในภูมิที่มี ๕ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จะต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดก่อน เพราะฉะนั้น จิตนี้ก็เกี่ยวข้องกับปัญจทวารเท่านั้น.

- อย่าลืมนะ เราไม่เรียกชื่อเฉยๆ แต่เรารู้ความหมายว่า จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ชื่อเป็นกิริยาจิตเพราะสามารถที่จะรู้อารมณ์ที่เป็นผลของกุศลอกุศลได้ แต่ว่าจิตนี้ ก็คือปัญจทวาราวัชชจิตต้องมีในขณะที่เห็น ได้ยินเท่านั้น.

- เพราะฉะนั้น อีก ๒ จิตที่เป็นอเหตุกะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วย แล้วก็ไม่ใช่วิบากแต่เป็นกิริยาจิตคืออะไร? (มโนทวาราวัชชนจิต ..) เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าเราจะไม่พูดถึงวิบากผลของกรรม เราไม่พูดถึงกุศลอกุศลซึ่งเป็นเหตุ แต่เราจะพูดถึงจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งเป็นกิริยาจิตเพราะไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศลไม่ใช่วิบาก แต่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนตามปัจจัย.

- สำหรับกิริยาจิตที่เป็นอเหตุกะไม่มีเหตุเกิดร่วมด้วยมี ๓ คือปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ กล่าวถึงแล้ว และจิตของพระอรหันต์ที่ทำให้เกิดการยิ้มแย้ม หสิตุปาทะ ๑ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ใช่พระอรหันต์ก็เพียงแต่รู้ว่า แม้พระอรหันต์ยิ้มไม่เหมือนยิ้มของปุถุชน และการยิ้มก็มีหลายอย่าง เพราะฉะนั้น จิตนี้เป็นจิตที่ทำให้เกิดการแย้มยิ้มของพระอรหันต์ซึ่งเราจะยังไม่พูดถึง.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เมตตา
วันที่ 19 ส.ค. 2566

- เราจะพูดถึงมโนทวาราวัชชนจิตซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุแต่เป็นกิริยาจิต เราใช้ชื่อเรียกจิตนี้ว่า มโนทวาราวัชชนจิต เพราะเป็นชื่อที่แสดงว่าเป็นอาวัชชนจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ เป็นวิถีจิตแรกทางใจ จึงเป็น มโน (ทางใจ) + ทวาราวัชชนะ จิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ขณะแรกทางใจ.

- เมื่อมีจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์จะขาดมโนทวาราวัชชนจิตไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จิตนี้เป็นวิถีจิตเป็นจิตที่ต้องเกิดขึ้นรู้อารมณ์ ถ้าใช้ชื่อว่า มโน ก็หมายความว่า ทางใจ เพราะวันหนึ่งไม่มีแต่เห็นไม่มีแต่ได้ยินแต่มีคิดนึกด้วย เพราะฉะนั้น ธรรมดาจิตเกิดขึ้นรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น เรามีชื่อเรียกจักขุทวาร โสตทวาร แสดงว่าจิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง แต่แล้วแต่ปัจจัย ถ้าเป็นทางตามีสิ่งกระทบตาก็เป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ทางใจทันทีที่คิดนึกจะต้องมีจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่คิด.

- จิตเป็นสภาพที่ไม่มีรูปร่างเลยแต่เป็นธาตุรู้ที่เกิดขึ้น แต่หลากหลายมากเป็นประเภทต่างๆ แสดงความลึกซึ้งอย่างยิ่งของธาตุรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้จักจิตนี้ (มโนทวาราวัชชนจิต) ต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อยเพราะเป็นจิตที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ที่ปรากฏทุกทวารทุกอย่างทุกขณะ.

- เพราะฉะนั้น เริ่มรู้จักจิตนี้ (มโนทวาราวัชชนจิต) ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะต้องมีจิตนี้เกิด เรียกชื่อนี้ก็จริงแต่ความหมายลักษณะของจิตนี้ คือสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ ทาง.

- เริ่มเห็นความละเอียดความลึกซึ้งของสิ่งที่กำลังมีขณะนี้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงซึ่งถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงไม่สามารถจะรู้ได้เลย.

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เมตตา
วันที่ 19 ส.ค. 2566

- เริ่มต้นฟังเพื่อไม่ลืมทีละเล็กทีละน้อย มโนทวาราวัชชนจิต มีคำว่า มโน + ทวาร + อาวัชชนะ จิตนี้สามารถรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ ทวาร ในสังสารวัฏฏ์สะสมกุศล อกุศลกรรมมากมายประมาณไม่ได้เลย แต่ถ้าจิตนี้ไม่เกิดขึ้นสิ่งที่สะสมมาไม่สามารถที่จะเกิดปรากฏในชีวิตประจำวันได้.

- คุณอาช่า คุณอาคิ่ล คุณมานิช ทุกคน สะสมกุศลอกุศลมามากเท่าไหร่แต่จะเกิดไม่ได้เลยถ้าจิตนี้ไม่เกิดก่อน.

- เพราะฉะนั้น เราจะลำดับการเกิดขึ้นของจิตนี้ตามทวารต่างๆ รูปเกิดดับเร็วมาก รูปรูปหนึ่งเกิดจะดับเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะรูปจึงดับ ถ้ารูปที่เกิดไม่กระทบตาจะไม่เห็นสิ่งนั้นเลย ก่อนรูปกระทบตาขณะนั้นจิตเป็นอะไร? (ภวังค์) เพราะฉะนั้น รูปกระทบภวังค์ก่อน ๑ ขณะ จิต ๑ ขณะดับรูปยังไม่ดับเพราะขณะต่อไปที่เป็นภวังค์เริ่มที่จะไหวเพราะมีสิ่งกระทบ เพราะฉะนั้น กระทบเพียง ๑ ขณะจะรู้อารมณ์ไม่ได้เพราะจิตเกิดดับเร็วมาก.

- เพราะฉะนั้น แสดงให้เห็นว่าไม่มีใครสามารถรู้การกระทบแล้วก็เพียงชื่อ ความรวดเร็วแค่ไหน เดี๋ยวนี้กี่ขณะของภวังค์ กี่ขณะของเห็นวาระต่างๆ ในสิ่งที่ปรากฏเป็นทุกสิ่งทุกอย่างหมด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ความละเอียดยิ่งอย่างรวดเร็วของจิตแสดงให้เห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็วที่สุด เพียงแค่คิดว่ากระทบ กระทบภวังค์ถึง ๓ ขณะก่อนที่วิถีจิตจะเกิด.

- เพราะฉะนั้น เราพูดสั้นๆ ว่ารูปกระทบภวังค์ แต่คำว่ากระทบภวังค์ คือกระทบภวังค์แรกที่ถูกกระทบ และภวังค์ที่ ๒ ก็เริ่มไหวที่จะเปลี่ยนอารมณ์ และภวังค์ที่ ๓ ก็สิ้นสุดของความเป็นภวังค์เพราะเริ่มรู้อารมณ์เป็นจิตขณะแรกที่เป็นวิถีจิตเพราะรู้อารมณ์ที่กระทบทางทวาร.

- เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตเกิดก่อนภวังค์สุดท้ายเพราะภวังค์จะเป็นภวังค์ต่อไปอีกไม่ได้เพราะอารมณ์กระทบ ภวังค์สุดท้ายดับแล้วจิตที่จะเกิดต่อเป็นจิตอื่นไม่ได้นอกจากถ้าเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ต้องเป็นอาวัชชนจิตแล้วแต่ว่าจะเป็นทางไหนเป็นกิริยาจิต.

- เดี๋ยวนี้ที่กำลังเห็น รู้ไหมว่าก่อนเห็นเป็นอาวัชชนจิต ก่อนอาวัชชนจิตเป็นภวังค์.

- ปัญจทวาราวัชชนจิตดับแล้ว จิตเห็นเกิดต่อ จิตเห็นดับแล้ว สัมปฏิจฉันนะเกิดต่อ สัมปฏิจฉันนะดับแล้ว สันตีรณะเกิดต่อ รูปดับหรือยัง? (ยัง) รูปยังไม่ดับแต่จิตที่เป็นอเหตุกะดวงสุดท้าย คือสันตีรณะดับแล้ว เพราะฉะนั้น จิตต่อไปไม่ใช่ผลของกรรมเหมือนอย่างจิต ๑๐ ดวงนั้น และจิตอื่นๆ ที่เป็นอเหตุกะ แต่เป็นกิริยาจิตที่ทำกิจเปิดทางให้กุศลและอกุศลที่มีสะสมมา เมื่อสันตีรณะรู้อารมณ์นั้นมากกว่าจิตอื่นที่เป็นอเหตุกะ แล้วจิตต่อไปเปิดทางให้กุศลและอกุศลเกิด เพราะฉะนั้น เหมือนกับว่าพอเห็นแล้วก็ชอบหรือไม่ชอบแต่ต้องมีจิตที่เกิดก่อนที่เปิดทางให้ จิตนั้นก็คือทำโวฏฐัพพนกิจ หมายความว่าเปิดทางให้กุศลและอกุศลเกิดทางปัญจทวาร หมดทางที่กรรมให้ผลเมื่อสันตีรณจิตดับแต่ว่ากุศลและอกุศลที่สะสมมาสามารถที่จะพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ รู้อารมณ์ที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น จิตที่ทำกิจเปิดทางให้กุศลและอกุศลทำโวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารเปิดทางให้กุศลและอกุศลที่สะสมมาเกิด.

- จิตนี้ จิต ๑ นี้เป็นจิตเดียวที่เปิดทางให้กุศลและอกุศลเกิดได้ เพราะฉะนั้น ในขณะที่คิดก็คิดด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิต เพราะฉะนั้น คิดไม่ใช่รู้อารมณ์ทาง ๕ ทวาร แต่คิดรู้ทางใจ แต่ถ้าจิตนี้ไม่เกิดไม่คิดไม่เปิดทางให้กุศลอกุศลเกิดทางใจ (ท่านอาจารย์ตอนท้ายไม่ค่อยได้ยิน) จิตนี้เปิดทางให้กุศลหรืออกุศลเกิดได้ ที่สะสมมาพร้อมที่จะเกิดเกิดได้ เมื่อจิตนี้เกิดแล้วดับไปไม่ว่าจะเป็นทาง ๕ ทวารหรือทางมโนทวาร เพราะฉะนั้น จิตนี้ต้องเกิดก่อนกุศลและอกุศลทุกครั้งแต่สำหรับพระอรหันต์จิตนี้ต้องเกิดก่อนกิริยาจิตของพระอรหันต์.

- (คุณสุคิน: อาช่าเหมือนมีใครเคยสนทนาแล้วบอกแกว่า ชวนะเท่ากับคิด ถ้ากุศลและอกุศลที่เกิดทางปัญจทวารไม่ใช่เท่ากับคิดหรือในเมื่อเป็นชวนะ ผมเลยบอกว่าตรงนั้นยังรู้รูปอยู่ รูปยังไม่ดับ ยังเป็นทางปัญจทวารไม่ใช่เป็นทางมโนทวารที่เราเรียกว่าคิด) พูดยังไม่ได้หรอกยังไม่ต้องบอกอะไรเขาแต่ให้เขาคิด เพราะฉะนั้น ถ้าเขาถามอย่างนี้นะดิฉันจะถามเขาว่า คุณจะรู้จักชื่อจิตหรือคุณจะรู้จักจิตเข้าใจจิตให้เขาคิดก่อน? (สำคัญเข้าใจครับ) เพราะฉะนั้น ยังไม่พูดชื่อแต่มีจิตแน่นอนและจิตก็เกิดขึ้นหลากหลายทำกิจต่างๆ ไม่มีใครเลยให้รู้ว่าไม่ใช่เรา.

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 158
บทว่า อุเปกฺขาสหคตํ (มโนวิญญาณธาตุสหรคตด้วยอุเบกขา) อธิบายว่า จิตดวงนี้ทั่วไปแก่สัตว์ผู้มีจิตทุกจำพวกในภพทั้ง ๓ ชื่อว่า ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้มีจิตบางพวกหามีไม่ แต่ว่า เมื่อเกิดในปัญจทวารย่อมทำโวฏฐัพพนกิจ เกิดในมโนทวารย่อมทำอาวัชชนกิจ แม้อสาธารณญาณ (ญาณที่ไม่ทั่วไปแก่สัตว์อื่น) ๖ ย่อมรับอารมณ์อันจิตนี้รับแล้วเหมือนกัน จิตนี้ ชื่อว่า มหาคช (ช้างใหญ่) ขึ้นชื่อว่า สิ่งที่ไม่เป็นอารมณ์ ของจิตนี้มิได้มี เมื่อคำถามว่า จิตที่มิใช่สัพพัญญุตญาณ แต่ชื่อว่ามีคติอย่างสัพพัญญุตญาณเป็นจิตดวงไหน พึงตอบว่า จิตดวงนี้ (มโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยอุเบกขา) คำที่เหลือในจิตนี้ พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในจิตดวงก่อน (มโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยโสมนัส) นั่นแหละก็ในสหรคตจิต (มโนวิญญาณธาตุเป็นกิริยาจิตสหรคตด้วยโสมนัส) นั้น ทรงจำแนกสังขารขันธ์มีองค์ ๙ เพราะมีปีติ แต่ในจิตดวงนี้ ทรงจำแนกสังขารขันธ์มีองค์ ๘ เพราะไม่มีปีติ.

ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มได้ที่ ..

ความจริงแห่งชีวิต [53] ปัญจทวาราวัชชนจิต และ มโนทวาราวัชชนจิต

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 19 ส.ค. 2566

- เพราะฉะนั้น ทางตา วิบากจิตสุดท้ายจะเป็นวิบากต่อไปอีกไม่ได้เมื่อมีการรู้อารมณ์ที่กระทบตาที่ยังไม่ดับ เพราะฉะนั้น ไม่ลืมนะวิบากจิตสุดท้ายในวิถีจิตที่เริ่มตั้งแต่ปัญจทวาราวัชชนะ จักขุวิญญาณ สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ ต่อจากนั้นจะเป็นวิบากจิตอีกได้ไหม? (ไม่ได้) เพราะฉะนั้น ถึงเวลาที่จิตที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศล ไม่ใช่ผลของกุศลและอกุศลที่เป็นวิบากเกิด แต่เป็นจิตที่เปิดทางเป็นกิริยาจิต เพราะไม่ใช่กุศล อกุศล วิบาก เพื่อที่จะให้การสะสมความพอใจ ไม่พอใจ ปัญญา อะไรๆ ทุกอย่างที่สะสมมาถึงเวลาที่จะเกิดรู้อารมณ์นั้น ไม่ใช่เกิดเฉยๆ เกิดรู้อารมณ์นั้น ถ้าไม่รู้จิตแต่ละหนึ่งปนกันหมด ก็เป็นเราตลอดไป ไม่ใช่เรียกชื่อจิตให้จำ แต่ให้รู้ว่าวิบากจิตหมดแล้วแต่อารมณ์ยังอยู่ การสะสมความชอบไม่ชอบอะไรๆ ทุกอย่างที่สะสมมาพร้อมที่จะเกิดแต่เกิดทันทีไม่ได้ แต่ต้องมีจิตหนึ่งที่ไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่กุศลและอกุศล เกิดแล้วเปิดทางเกิดก่อนจึงเปิดทางกระทำทางให้กุศล อกุศลพร้อมที่จะเกิดออกมาได้เกิด (อาช่า: โวฏฐัพพนะ) เห็นไหม เรียกชื่อเก่งได้จำได้ถ้าถามให้บอกเรื่องราว ตอบความเป็นจริงได้ไหม.

- เพราะฉะนั้น จิตนี้จึงใช้ภาษาบาลีว่า โวฏฐัพพนะ แปลว่าอะไร หมายความว่าอะไร? (โวฏฐัพพนะต้องเกิดทำกิจอาวัชชนะ เพราะว่าถ้าไม่มีอาวัชชนะ กุศลอกุศลเกิดไม่ได้) ขอโทษนะ อาวัชชนะหมายความว่าเกิดทางทวารนั้นเป็นขณะแรก แต่จิตนี้ไม่ได้เกิดในทางทวารนี้ขณะแรกปัญจทวาราวัชชนะเกิดก่อน เพราะฉะนั้น จิตนี้ไม่ได้ทำหน้าที่อาวัชชนะเลย (เข้าใจแล้วครับว่าทำไมถึงเป็นอาวัชชนะไม่ได้แต่เป็นโวฏฐัพพนะครับ) .

- เพราะฉะนั้น ไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ใช่ไหม? (ครับ) เพราะฉะนั้น ต้องมีจิตที่เกิดก่อนกุศลและอกุศล กุศลอกุศลสะสมมามากมายในจิตออกไม่ได้ถ้าไม่มีอะไรกระทบหรือทำให้รู้อารมณ์ เพราะฉะนั้น การรู้อารมณ์มีทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทางซึ่งเรากำลังกล่าวถึงทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้น ต้องทีละทาง.

- เพราะฉะนั้น เปลี่ยนไม่ได้ความเข้าใจต้องมั่นคงจิตที่เกิดก่อนกุศลและอกุศลไม่ใช่กุศลและอกุศล กิเลสสะสมมามากมายจะเกิดได้อย่างไรในเมื่อจิตที่เป็นผลของกรรมก็ต้องเป็นผลของกรรมไม่ใช่กุศลและอกุศล ต้องละเอียดมากค่ะ.

- เพราะฉะนั้น คราวหน้านะเราได้ยินได้ฟังอะไรมาแล้วแต่เขาเข้าใจแค่ไหนเราจะตาม ต้องไม่ลืมนะไม่ใช่เพียงพูดหรือคิดว่ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่ต้องรู้ว่าพึ่งเมื่อไหร่และพึ่งอะไร สำหรับวันนี้ก็ถึงเวลาแล้วนะก็ยินดีด้วยในกุศลของทุกคนที่ต้องละเอียดขึ้นและเป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นเพียงจำชื่อ.

เชิญคลิกอ่านเพิ่มได้ที่ ..

โวฏฐัพพนกิจ

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
nattawan
วันที่ 21 ส.ค. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
siraya
วันที่ 22 ส.ค. 2566

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 5 ก.ย. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ