พระสูตรเกี่ยวกับประโยค ‘ควรข่มคนที่ควรข่ม’
สนใจจะอ่านพระสูตรที่เกี่ยวกับ ประโยค ‘ข่มคนที่ควรข่ม’ ซึ่งพระพุทธเจ้า ทำด้วยกุศลจิต รบกวนทางมูลนิธิบอกชื่อพระสูตร เพื่อจะไปค้นต่อไปค่ะ ขอบคุณค่ะ
การกระทำทุกอย่างในพระพุทธศาสนา เป็นการกระทำที่จะต้องพิจารณาถึงจิตว่าเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล
ต้องเข้าใจลักษณะของวิตกเจตสิกโดยละเอียด มิฉะนั้นจะเข้าใจพระธรรมผิดและเป็นโทษได้ เช่นข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค โอฆตรณสูตร ที่มีข้อความแสดงว่า พระเทศนาของพระผู้มีพระภาคมี ๒ อย่าง คือ ทรงแสดงโดยนิคคหมุข ทรงกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม และอนุคคหมุข ทรงกล่าวยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง
ผู้คิดผิดก็คิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ควรกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม
สำหรับพระผู้มีพระภาคแล้วที่จะไม่ทรงกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย ประโยชน์นั้นไม่มีเลย ถ้าเป็นผู้พิจารณาโดยละเอียดย่อมจะเห็นพระมหากรุณาคุณ รู้ว่าขณะใดควรที่จะทรงแสดงธรรมในลักษณะใด และบางคนฟังเผิน ก็รีบไปข่มบุคคล ผู้ควรข่ม เพราะเข้าใจว่าข้อความนี้กล่าวว่าอย่างนี้ ก็ต้องรีบไปข่มคนที่ควรข่ม ด้วยอกุศลจิตที่อยากจะข่ม
นี่ก็เป็นเรื่องของนานาความคิดจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ศึกษาพระธรรมโดยละเอียด จะไม่รู้วาระจิตของตนเอง คือ ไม่ได้พิจารณาจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่รอบคอบจะรู้ว่า คำพูดอาจจะน่าฟังแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือคำพูดที่ไม่ตรงและไม่เกื้อกูลกับบุคคลอื่น ก็ไม่ควรที่จะกล่าว แต่ถ้าเป็นธรรมที่ถูกต้องและผู้ฟังสามารถพิจารณาเหตุผลได้ ก็ควรมีเมตตาใคร่ที่จะให้ผู้ที่มีอกุศลรู้ตัวว่ามีอกุศล เพราะฉะนั้น ก็ข่มด้วยเหตุผลของพระธรรม ไม่ใช่ข่มด้วยอธรรม นี่เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาจิตของตนเองโดยละเอียด
ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1734
สิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์ พระผู้มีพระภาคไม่ทรงกระทำ นี่แน่นอนที่สุด เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่ฉลาด จะพิจารณาถึงประโยชน์ก่อน ก่อนที่จะกระทำ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ต้องทราบว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ไหม
ที่มา อ่าน และฟังเพิ่มเติม ...
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 35
ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้งหลายแล้วแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ เพื่อต้องการจะตรัสสิ่งที่สัตว์ยังมิได้รู้มิใช่หรือ.
ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าแทงตลอดสัพพัญญุตญาณ เพื่อทรงพระประสงค์จะตรัสคำเพียงเท่านี้หามิได้.
ก็เทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๒ อย่าง คือ แสดงโดยนิคคหมุขะ และ อนุคคหมุขะ
ในบรรดา ๒ อย่างนั้น บุคคลเหล่าใดมีความถือตัวว่าเป็นบัณฑิต ย่อมสำคัญในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ว่ารู้แล้ว ดุจพราหมณ์ ๕๐๐ ที่บวชเป็นบรรพชิต เพื่อข่มมานะของพราหมณ์และบรรพชิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมเช่นกับพระสูตรทั้งหลายมี มูลปริยายสูตร เป็นต้น นี้ชื่อว่า นิคคหมุขเทศนา.
พระดำรัสนี้ สมดังที่ตรัสไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวข่มบุคคลผู้ควรข่ม เราจักยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง ภิกษุใดมีธรรมเป็นสาระ ภิกษุนั้นจักดำรงอยู่ดังนี้.
ส่วนชนเหล่าใด เป็นผู้ตรง ใคร่ต่อการศึกษา พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมแสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้น กระทำให้เป็นผู้รู้ได้ง่าย เช่นในสูตรทั้งหลายมี อากังเขยยสูตร เป็นต้น ทั้งยังชนเหล่านั้นให้ปลอดโปร่งใจ เช่นในคำว่า ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง ... ด้วยโอวาทอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการศึกษาอันเรากล่าวแล้ว ด้วยอนุสาสนีอันเรากล่าวแล้ว ดังนี้ นี้ชื่อว่า อนุคคหมุขเทศนา.
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ข่มบุคคลที่ควรข่ม นั้น เป็นการกล่าวข่มขี่โดยธรรม ซึ่งเป็นการกล่าวข่มขี่เพื่อชี้ให้เห็นโทษ เมื่อผู้มีปัญญา เห็นโทษ เห็นความพลั้งพลาดของผู้อื่นแล้วมีความหวังดี กล่าวชี้แจงเพื่อให้เห็นโทษ เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาความไม่ดีนั้น นี้คือ ความเป็นจริงของผู้ที่กล่าวข่มขี่โดยธรรม เพื่อชี้ให้เห็นโทษตามความเป็นจริง ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒ - หน้าที่ ๒๙๑ ดังนี้
“บทว่า นิคฺคยฺหวาทึ ความว่า ก็อาจารย์บางท่าน เห็นมารยาทอันมิบังควรก็ดี ความพลั้งพลาด ก็ดี ของพวกศิษย์ มี สัทธิวิหาริก (ผู้อยู่ร่วมกับพระอุปัชฌาย์) เป็นต้นแล้ว ไม่อาจเพื่อจะพูด ด้วยเกรง ว่า "ศิษย์ผู้นี้อุปัฏฐากเราอยู่ ด้วยกิจวัตร มีให้น้ำบ้วนปาก เป็นต้น แก่เรา โดยเคารพ; ถ้าเรา จักว่าเธอไซร้ เธอจักไม่อุปัฏฐากเรา ความเสื่อมจักมีแก่เรา ด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้ ย่อมหาชื่อว่าเป็นผู้กล่าวนิคคหะ ไม่, เธอผู้นั้น ชื่อว่า เรี่ยราย (โปรย) หยากเยื่อ ลงในศาสนานี้. ส่วนอาจารย์ใด เมื่อเห็นโทษปานนั้นแล้ว คุกคาม ประณาม (เพื่อให้เห็นโทษ) ลงทัณฑกรรม (ลงโทษ) ไล่ออกจากวิหาร ตามสมควรแก่โทษ ให้ศึกษาอยู่ อาจารย์นั้น ชื่อว่า ผู้กล่าวนิคคหะ (ข่มขี่โดยธรรม) แม้เหมือนอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า. สมจริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสคำนี้ไว้ว่า “ดูกร อานนท์ เราจักกล่าวข่มๆ , ดูกร อานนท์ เราจักกล่าวยกย่องๆ ผู้ใดเป็นสาระ ผู้นั้น จักดำรงอยู่ได้”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง และสิ่งที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ไม่ได้อยู่ไกลเลย แต่อยู่ทุกขณะ เพราะทุกขณะเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ที่ควรฟังควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถูกต้องว่าเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสประการต่างๆ ยังมีกิเลสอยู่ครบทั้งโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ โทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจไม่พอใจ โมหะ ความหลงความไม่รู้ เป็นต้น ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีความประพฤติที่ไม่ดีทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นธรรมดา เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม ถ้าเป็นบรรพชิตก็มีการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ เช่น รับเงินทอง เป็นต้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ ก็มีการล่วงศีล ทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ เป็นต้น ทั้งหมด เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เป็นอกุศล มีโทษเท่านั้น
ตามความเป็นจริงแล้ว โดยความเป็นปุถุชนซึ่งเป็นผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ไม่มีใครที่ไม่เคยทำผิด ที่สำคัญ ทำผิดแล้ว จะรู้สึกตัวหรือเปล่าว่าเป็นผู้ทำผิด บุคคลผู้ที่มีปัญญาเข้าใจสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง พร้อมทั้งมีเมตตาความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดีเพื่อที่จะให้รู้ถึงโทษนั้นตามความเป็นจริง จึงกล่าวข่มขี่โดยธรรม เป็นการชี้ให้เห็นว่า โทษ เป็นโทษ มีจิตอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อบุคคลผู้หลงผิด ผู้กระทำผิดประการต่างๆ เพื่อให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศล แล้วตั้งมั่นในกุศล เมื่อคนอื่นไม่รู้ว่าเป็นโทษ จึงกล่าวให้ได้เข้าใจตามความเป็นจริง ท่านจึงเสียสละเวลาเพื่อที่จะแนะนำ ตักเตือน ชี้แนวทางที่ถูกต้องให้ เป็นการกล่าวให้ได้รู้ถึงโทษของความประพฤติที่ไม่ดีนั้นตามความเป็นจริง กระจายความจริงให้ได้รู้ในทุกที่ทุกสถาน เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่เห็นประโยชน์จากคำแนะนำ เห็นประโยชน์จากการกล่าวข่มขี่โดยธรรม ย่อมทำให้เป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้น แล้วมีความจริงใจที่จะประพฤติปฏิบัติตามขัดเกลากิเลสของตนเอง โดยเป็นผู้กลับตัวกลับใจเสียใหม่ ละสิ่งที่ไม่ดี สะสมแต่สิ่งที่ดีงามต่อไป ทั้งหมดทั้งปวง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ใครเลย
โดยปกติ ถ้าเป็นผู้ที่มีเหตุมีผล ในเมื่อตนทำผิดพูดผิดเป็นคนไม่ตรง เมื่อมีบุคคลอื่นคอยตักเตือน คอยชี้ให้เห็นถึงความผิด ก็ย่อมจะเป็นผู้มีปกติชอบใจต่อผู้คอยตักเตือนนั้น เพราะถ้าไม่เตือนด้วยพระธรรมแล้วใครจะเตือน บุคคลผู้ที่คอยตักเตือนนั้น กล่าวข่มขี่โดยธรรม เป็นบัณฑิต เมื่อคบกับบัณฑิตเช่นนี้ ย่อมจะพบแต่คุณอันประเสริฐอย่างเดียว จะไม่พบกับความเสื่อมเลย เพราะเป็นผู้เกื้อกูลให้ห่างไกลจากความประพฤติที่ผิดทั้งหลาย ในทางตรงกันข้ามถ้าเป็นผู้ที่ไม่เห็นประโยชน์ ไม่มีความสำนึกผิด ย่อมจะเพิ่มกิเลสให้กับตนเอง คือ ไม่พอใจในคำแนะนำดังกล่าวนั้น โกรธผู้ที่คอยตักเตือนด้วย และยังทำผิดต่อไป หมักหมมสิ่งสกปรกลงในจิตต่อไปอีก ยากที่จะเกื้อกูลได้ อีกประการหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่มุ่งลาภสักการะ กลัวเสื่อมจากลาภสักการะ คนอื่นจะทำผิดอย่างไร ก็ไม่กล้าเตือน กลัวเขาจะไม่ชอบ บุคคลประเภทนี้ เป็นคนพาล เป็นผู้ที่เกลี่ยหรือโปรยหยากเยื่อซึ่งเป็นสิ่งสกปรกลงในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ทำประโยชน์ทั้งกับตนเองและบุคคลอื่นเลย
เพราะฉะนั้นแล้ว โอกาสใดที่สมควรแก่การตักเตือนแนะนำในสิ่งที่ดี ก็ควรที่จะตักเตือน ควรที่จะแนะนำด้วยจิตที่ประกอบด้วยเมตตา แต่ถ้าเมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว แนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แล้ว ทำอย่างดีที่สุดแล้ว เขาไม่รับฟัง กลับแสดงความโกรธให้ปรากฏ ก็ขอให้พิจารณาถึงความที่แต่ละบุคคลมีกรรมเป็นของของตน สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้นใครๆ ก็ยับยั้งไม่ได้
ความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นกุศล แม้จะมีการแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น กล่าวข่มขี่โดยธรรม หวังประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็เพราะปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นั่นเอง แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง รากฐานที่สำคัญที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ คือ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพ ไม่ประมาทในคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลวิริยะของอาจารย์ฉัตรชัยอย่างยิ่ง
ยินดีในกุศลของคุณ CANUCH และทุกๆ ท่านด้วยครับ