ต้องไม่หวัง เพราะหวังคือโลภะ

 
เมตตา
วันที่  1 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47032
อ่าน  417

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ @ลัคเนา เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖

เพราะฉะนั้น ที่สำคัญที่สุดต้องไม่ลืมว่า ไม่ใช่เพื่อทรัพย์สมบัติสิ่งหนึ่งสิ่งใดมหาศาลที่จะครองโลกครองประเทศหรือครองอะไรเลย แต่เพื่อเข้าใจความจริงซึ่งชาตินี้มีโอกาสที่จะไตร่ตรองที่จะรู้ความจริง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่สามารถให้ความเข้าใจของพระองค์แก่ใครได้ เพราะเหตุว่า พระองค์ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะให้ใครเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างนั้นหรือ? หรือว่าให้ใครได้ฟังแล้วเห็นความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งเป็นกัลยาณมิตรสูงสุด เพราะฉะนั้น พวกเราก็เช่นเดียวกันมีความเป็นเพื่อนมีความหวังดี และต้องไม่ลืมแต่ละคำ ทุกคำของพระองค์ไม่ได้นำความติดข้อง ความไม่รู้ ความหลง แต่ให้เริ่มเข้าใจถูกต้อง ว่า ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่ว ๑ ขณะจิต เดี๋ยวนี้ใครจะตายก็ได้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ตายแต่กลัวตาย แล้วทำอย่างไร? แสวงหาสมบัติเพื่อที่จะไม่ใช่ของเขาเลย ตายไปก็เอาไปไม่ได้ แล้วเกิดมาเพื่อตายจริงไหม? มีใครเว้นที่เกิดแล้วไม่ตายไม่ว่าใครทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เกิดเพื่อตายเมื่อไหร่ก็ได้ เดี๋ยวนี้ก็ได้ แล้วสิ่งที่ประเสริญที่สุดในชีวิต ก็คือว่าสามารถรู้ความจริงซึ่งไม่มีโอกาสจะรู้ได้ด้วยตัวเองเลย

เพราะฉะนั้น ทุกคำฟังด้วยความเคารพ เพื่อละ ต้องไม่ลืม ไม่ใช่เพื่อต้องการ พยายามขวนขวายที่จะเข้าใจ ว่า ไม่มีเราขณะที่กำลังเห็น แต่เป็นเราแม้ขณะที่จำ แม้ขณะที่คิด แม้ขณะที่รู้สึกมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้น ต้องไม่หวัง เพราะหวังคือโลภะ ใครจะหวังบ้างไหม? เพราะต้องการโลภะมาเยอะๆ ไม่ว่าจะหวังอะไร ความติดข้องทั้งนั้น ซึ่งถ้าไม่ละไม่มีทางรู้ความจริงซึ่งเป็นอริยสัจจธรรม.

เพราะฉะนั้น ทุกคำสอดคล้องกับความจริงทั้งหมด เพราะเหตุว่า เป็นความจริงที่เปลี่ยนไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็หวังว่าทุกคนจะค่อยๆ เข้าใจ มีสิ่งใดที่คิดว่ายังไม่เข้าใจแต่เป็นความละเอียดลึกซึ้งค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ เพราะเดี๋ยวนี้ยังไม่เข้าใจความจริงถึงที่สุด เพียงแต่เริ่มได้ยิน คำ ซึ่งต้องเคารพสูงสุด ธรรมเป็นอนัตตา เท่านี้ค่ะ จากความไม่รู้จนถึงความเป็นพระอรหันต์

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ 392

ผู้เห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระตถาคต

ดังได้สดับมา ท่านวักกลิเถระนั้น เกิดในตระกูลพราหมณ์ในกรุงสาวัตถี เจริญวัยแล้ว, เห็นพระตถาคตเสด็จเข้าไปเพื่อบิณฑบาต แลดูพระสรีระสมบัติของพระศาสดาแล้ว ไม่อิ่มด้วยการเห็นพระสรีระสมบัติ, จึงบรรพชาในสำนักพระศาสดา ด้วยเข้าใจว่า " เราจักได้เห็นพระตถาคตเจ้าเป็นนิตยกาล ด้วยอุบายนี้ " ดังนี้แล้ว, ก็ยืนอยู่ในที่อันตนยืนอยู่แล้ว สามารถเพื่อจะแลเห็นพระทศพลได้, ละกิจวัตรทั้หลาย มีการสาธยายและมนสิการในพระกัมมัฏฐานเป็นต้น เที่ยวมองดูพระศาสดาอยู่. พระศาสดาทรงรอความแก่กล้าแห่งญาณของท่านอยู่ จึงไม่ตรัสอะไร (ต่อ) ทรงทราบว่า " บัดนี้ ญาณของเธอถึงความแก่กล้าแล้ว" จึงตรัสโอวาทว่า " วักกลิ ประโยชน์อะไรของเธอ ด้วยการเฝ้าดูกายเน่านี้, วักกลิ คนใดแลเห็นธรรม, คนนั้น (ชื่อว่า) เห็นเรา (ผู้ตถาคต) คนใดเห็นเรา (ผู้ตถาคต) , คนนั้น (ชื่อว่า) เห็นธรรม. "


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้าที่ 473

[๖๒๔] ท่านพราหมณ์ อาตมาย่อมเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ อาตมาเป็นผู้ไม่ประมาท ตลอดคืนและวัน นมัสการอยู่ตลอดคืนและวัน อาตมา ย่อมสำคัญการไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้านั้นนั่นแล.

[๖๒๕] คำว่า อาตมาย่อมเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ ความว่า บุรุษผู้มีนัยน์ตาพึงแลเห็น มองเห็น แลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู ซึ่งรูปทั้งหลาย ฉันใด อาตมาแลเห็น มองเห็น แลดู ตรวจดู เพ่งดู พิจารณาดู ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว ฉันนั้น เหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาตมาย่อมเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์ นั้นด้วยใจ เหมือนเห็นด้วยจักษุ.

[๖๒๘] คำว่า ย่อมสำคัญการไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้านั่นแหละ ความว่า เมื่ออาตมาเจริญด้วยพุทธานุสสตินั้น จึงสำคัญพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า เป็นผู้ไม่อยู่ปราศ คือ เป็นผู้ไม่อยู่ปราศแล้ว คือ อาตมารู้ ทราบ รู้ทั่ว รู้แจ้ง รู้ชัด อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาตมาย่อมสำคัญการไม่อยู่ปราศจากพระพุทธเจ้านั้นนั่นแหละ

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

พระพุทธศาสนาเพื่อละ

ได้เห็นพระพุทธเจ้า หรือไม่ - มิลินทปัญหา

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

ความหวัง

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
swanjariya
วันที่ 3 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดียิ่งในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ