ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ คือสิ่งที่มีจริงๆ ทุกกาลสมัย

 
เมตตา
วันที่  3 ธ.ค. 2566
หมายเลข  47037
อ่าน  492

สนทนาธรรม ณ แดนพุทธภูมิ วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย

เพราะฉะนั้น จะประมาทแม้คำดียวที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไม่ได้เลย ก่อนปรินิพพานพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า "จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม" จงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมหมายความว่า เว้นอะไร ไม่ได้เลย

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 322

พระปัจฉิมวาจา

[๑๔๓] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด. นี้เป็นพรปัจฉิมวาจาของพระตถาคต.


พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 800

[๘๖๓] ความประมาท เป็นไฉน

ความปล่อยจิตไป ความเพิ่มพูนการปล่อยจิตไป ในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ หรือความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ติดต่อ ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพให้มาก ความไม่ทำให้เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจจริง ความไม่ประกอบเนืองๆ ความประมาท.ในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย ความประมาท กิริยาที่ประมาท สภาพที่ประมาท สภาพที่ประมาท อันใด มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความประมาท.ความไม่ประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับลักษณะของความประมาท ว่าโดยย่อคือขณะที่ไม่ปราศจากสติชื่อว่าไม่ประมาท

เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้ทุกคนไม่ประมาทในการฟัง คำ ของพระพุทธเจ้า แม้เพียงคำเดียวว่า "ธรรม" พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่มีจริงทั้งหมดมีจริงๆ ซึ่งหมายความว่าสิ่งนั้นเป็นธรรมเพราะมีจริง เพราะฉะนั้น เริ่มไม่ประมาททุกอย่างไม่เว้นเลยที่มีจริงๆ เพราะมีจริงจึงเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด หนทางไม่ประมาท คือเดี๋ยวนี้ คิดพิจารณาไตร่ตรองธรรมมีจริง เพราะฉะนั้น เดี๋ยวนี้อะไรมีจริงซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงจึงเป็นธรรม

เพราะฉะนั้น ถ้าวันนี้ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจก็ไร้ประโยชน์ ต้องเป็นคนตรงที่จะเริ่มรู้ว่า กำลังได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งในสังสารวัฏฏ์เป็นโอกาสที่ยากที่จะได้ฟัง

[เล่มที่ 52] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 49

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๒

๑. มหาจุนทเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระมหาจุนเถระ

[๒๖๘] ได้ยินว่า พระมหาจุนทเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า การฟังดี เป็นเหตุให้การฟังเจริญ การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชนก็เพราะปัญญา ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ฯลฯ


[เล่มที่ 31] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 438

ข้อความบางตอนจาก ...

ปฐมวัชชีสูตร

ว่าด้วยการตรัสรู้และไม่ตรัสรู้อริยสัจ ๔

[๑๖๙๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โกฏิคาม ใน แคว้นวัชชี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดอริยสัจ ๔ เราด้วย เธอทั้งหลายด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฎนี้ตลอดกาลนานอย่างนี้ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ เพราะไม่ได้ตรัสรู้ ไม่ได้แทงตลอดทุกขอริยสัจ ๑ ทุกขสมุทยอริยสัจ ๑ ทุกขนิโรธอริยสัจ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ๑ เราด้วย เธอทั้งหลายด้วย จึงแล่นไป ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏฏ์นี้ตลอดกาลนานอย่างนี้

วันนี้เป็นวันที่พุทธบริษัทได้มาประชุมกันเพื่อที่จะฟังธรรมเพื่อที่จะเข้าใจธรรม เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรม ก็คือว่าเมื่อได้ยินได้ฟัง "คำถาม" ไตร่ตรองจะรู้ว่าผิดหรือถูกก็ต่อเมื่อตอบ นี่เป็นคำเริ่มต้นที่จะเริ่มรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้เข้าใจคำนี้ เพราะฉะนั้น ขอฟังคำตอบซึ่งเป็นประโยชน์ในการฟัง ท่านที่ได้ฟังและไม่ค่อยได้สนใจก็ขอทบทวนอีกครั้งหนึ่งว่า "ธรรม" ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ คือสิ่งที่มีจริงๆ ทุกกาลสมัยแม้เดี๋ยวนี้ก็มี.

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตก เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้า 723

๑๓. โลกสูตร

ว่าด้วยตรัสรู้โลกพร้อมเหตุเกิดและความดับ

[๒๙๓] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตตรัสรู้โลกแล้ว พรากแล้ว จากโลก ตรัสรู้เหตุเกิดโลกแล้ว ละเหตุเกิดโลกได้แล้ว ตรัสรู้ความดับแห่ง โลกแล้ว ทำให้แจ้งความดับโลกแล้ว ตรัสรู้ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่ง โลกแล้ว เจริญปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งโลกแล้ว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดที่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ที่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์เห็นแล้ว ฟังแล้ว ทราบแล้ว รู้แจ้งแล้ว ถึงแล้ว แสวงหาแล้ว ใคร่ครวญแล้วด้วยใจ เพราะสิ่งนั้นพระตถาคตตรัสรู้แล้ว ฉะนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่าพระตถาคต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตย่อมตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณในราตรีใด และย่อมปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสส นิพพานธาตุในราตรีใด ย่อมตรัสบอกแสดงซึ่งพุทธพจน์อันใดในระหว่างนี้ พุทธพจน์นั้นทั้งหมด ย่อมเป็นอย่างนั้นนั่นแลไม่เป็นไปอย่างอื่น ฉะนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่าเป็นพระตถาคต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตตรัสอย่างใด ทำ อย่างนั้น ทำอย่างใด ตรัสอย่างนั้น เพราะเหตุดังนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า พระตถาคต ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตทรงครอบงำโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ อันใครๆ ครอบงำไม่ได้ ทรงเห็นโดยถ่องแท้ ยังอำนาจให้เป็นไป เพราะ เหตุนั้น บัณฑิตจึงกล่าวว่า พระตถาคต


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้า 91

๔. ปทสูตร

บทธรรมที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

[๑๐๓๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดินชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมดย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บท คือ ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งบทธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน.

[๑๐๓๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บทแห่งธรรมทั้งหลายเป็นไฉน ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ได้แก่บทแห่งธรรม คือ สัทธินทรีย์ ... วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้.

จบปทสูตรที่ ๔

ขอเชิญคลิกฟังได้ที่ ...

ฟังธรรมทำไม

ฟังเพื่อรู้ความลึกซึ้งของธรรม

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างยิ่งค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
swanjariya
วันที่ 5 ธ.ค. 2566

กราบเท้าท่านอาจารย์ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลทุกประการค่ะน้องเมตตา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ธ.ค. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง

ยินดีในกุศลจิตครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ